‘วิระชัย’ฟ้อง’จักรทิพย์’ผิดม.157กลั่นแกล้งเหตุคลิปหลุดเสียงสนทนาเรื่อง’สุรเชษฐ์’ยันไม่เป็นความลับราชการ

‘วิระชัย’ฟ้อง’จักรทิพย์’ผิดม.157กลั่นแกล้งเหตุคลิปหลุดเสียงสนทนาเรื่อง’สุรเชษฐ์’ยันไม่เป็นความลับราชการ

 

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563  ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา อายุ 57 ปี รอง ผบ.ตร.ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อายุ 60 ปี รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในความผิดฐาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือผู้หนึ่งผู้ใดได้ประโยชน์

 

คำฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า โจทก์รับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2523 ปัจจุบันเป็น รอง ผบ.ตร.อาวุโสลำดับที่ 1 ส่วน พล.ต.อ.จักรทิพย์ จำเลยเป็น ผบ.ตร. มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายภายใต้อำนาจหน้าที่ที่ตนมี แต่จำเลยกลับใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กลั่นแกล้งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยมีพฤติการณ์เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2563 ได้เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่รถยนต์ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ถือเป็นคดีสำคัญ เพราะเป็นการกระทำความผิดอาญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. ผู้เสียหายเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชน  เนื่องจากในขณะเกิดเหตุดังกล่าว จำเลยไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักร โจทก์ในขณะนั้นรักษาราชการแทนจำเลยในตำแหน่ง ผบ.ตร..มีฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักร และมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมการปฏิบัติราชการทั้งปวงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแทนตามกฎหมาย ดังนั้นโจทก์จึงเข้าไปควบคุม กำกับ และเร่งรัดการสืบสวนเพื่อจับกุมคนร้ายได้โดยเร็ว

 

นอกจากนี้ ขณะที่จำเลยอยู่ในต่างประเทศก็ได้โทรศัพท์ติดต่อมายังโจทก์ เมื่อเวลา 21.30 น ซึ่งโจทก์เข้านอนแล้ว ไม่สะดวกที่จะจดบันทึกรายละเอียดในการสนทนา เพราะเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน จึงต้องใช้การบันทึกเสียงแทนการจดบันทึกการสนทนา เพราะเห็นว่ากรณีคำแนะนำที่สำคัญและเป็นประโยชน์ที่จะได้นำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานต่อไป

 

จากบทสนทนาดังกล่าว เห็นได้ว่าจำเลยได้พูดระบายความรู้สึกในใจของจำเลยที่มีต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ และตำหนิการกระทำของโจทก์ที่เข้าไปควบคุมคดีนี้ การสนทนาดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสั่งการทางราชการ เพราะขณะนั้นจำเลยอยู่ต่างประเทศ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายสั่งการโจทก์ได้และบทสนทนาดังกล่าวไม่ใช่ความลับทางราชการ เพราะความลับทางราชการตามกฎหมาย คือข้อมูลข่าวสารที่มีคำสั่งมิให้เปิดเผย อยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐและมีการกำหนดชั้นของความลับไว้เป็นลำดับ ซึ่งหากพิจารณาบทสนทนาแล้วไม่ได้มีการระบุหรือสั่งการอย่างใดว่าเป็นความลับทางราชการ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 5 ที่ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ข้อมูลข่าวสารลับ”ไว้ดังกล่าว

 

ช่วงเช้าวันต่อมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้ติดตามสอบถามความคืบหน้าของคดีดังกล่าว โจทก์จึงได้แจ้งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ทราบว่าคดีดังกล่าว จำเลยได้ติดตามความคืบหน้าของคดีอย่างใกล้ชิดและตำหนิไม่ให้โจทก์เข้าไปควบคุมดูแลคดีนี้อีก โจทก์ได้ส่งมอบคลิปเสียงสนทนาดังกล่าวให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีโดยตรงเพื่อให้ไปติดตามผลการสอบสวนได้อย่างถูกต้อง และเพื่อประโยชน์ของการสืบสวนสอบสวน โจทก์ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการ เพราะคลิปเสียงสนทนาดังกล่าวไม่เป็นความลับราชการและไม่ทำให้ผู้รับฟังเกลียดชังจำเลยหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับจะเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อจำเลย เพระการพูดของจำเลยในคลิปสนทนาเป็นการยกย่องและเชื่อมั่นการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาที่พูดในทำนองว่านครบาลมีความสามารถทำคดีนี้ได้อยู่แล้ว ผู้ที่ได้รับความอับอายในคลิปเสียงคือโจทก์ไม่ใช่จำเลย และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในกรณีคลิปสนทนานี้ถูกเผยแพร่คือโจทก์ไม่ใช่จำเลย อีกทั้งโจทก์ไม่เคยเผยแพร่คลิปสนทนาดังกล่าวไปยังบุคคลอื่น

 

ต่อมามีผู้ไม่หวังดีนำคลิปเสียงสนทนาดังกล่าวไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ให้จำเลยไม่พอใจโจทก์เป็นอย่างมาก ประกอบกับเป็นช่วงเวลาระยะเวลาที่จะมีการแต่งตั้ง ผบ.ตร.แทนจำเลยที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน ที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเพราะโจทก์มีอาวุโสเป็นอันดับ 1 และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้ง จำเลยไม่ต้องการให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้ง จึงได้ดำเนินการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เพื่อให้โจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือไม่เหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. เพื่อให้รองผบ ตร.ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของจำเลยได้รับการแต่งตั้งแทนโจทก์ เป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต โดยอาศัยโอกาสที่ตนเองมีหน้าที่กระทำการที่อาจผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ

 

เมื่อวันที่ 21 ม.ค 2563  จำเลยในฐานะ ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 24/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับคลิปโทรศัพท์สั่งการคดียิงรถ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ และเนื้อหาการพูดคุยระหว่างจำเลยกับโจทก์ โดยคำสั่งอ้างว่าเป็นความลับทางราชการ การลักลอบบันทึกและนำมาเผยแพร่ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อพนักงานสอบสวน

 

และระหว่างวันที่ 21-23 ม.ค.2563 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้โจทก์ต้องไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 22/2563 ลงวันที่ 23 ม.ค.2563 ทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ได้

 

ต่อมาระหว่างวันที่ 1-24 ก.ค.2563 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามให้ดำเนินคดีกับโจทก์ ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 74 และวันที่ 24 ก.ค.ต่อเนื่องกัน จำเลยได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 383/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงโจทก์ โดยในคำสั่งดังกล่าวได้หยิบยกเอาข้อสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 24/2563 มีข้อสรุปว่ามีมูลเพียงพอรับฟังได้ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยร้ายแรง การออกคำสั่งดังกล่าวของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจตนาให้โจทก์ต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว้ากระทำความผิดวินัยร้ายแรง เพื่อใช้เป็นเหตุให้จำเลยสามารถออกคำสั่งสำรองราชการโจทก์ และทำให้โจทก์หมดสิทธิเข้ารับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

กระทั่งวันที่ 29 ก.ค.2563 จำเลยได้ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387/2563 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจสำรองราชการ โดยมีคำสั่งให้โจทก์สำรองราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การกระทำของจำเลยจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 เหตุเกิดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน กทม.

 

ทั้งนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้คำฟ้องไว้เพื่อตรวจคำฟ้องและนัดฟังคำสั่งว่าจะรับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ เวลา 09.30 น.