‘หมายจับ’ ต้องปฏิรูปอย่างไร  เพื่อไม่ให้ศาลถูกตำรวจใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งประชาชนได้

‘หมายจับ’ ต้องปฏิรูปอย่างไร  เพื่อไม่ให้ศาลถูกตำรวจใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งประชาชนได้

ยุติธรรมวิวัฒน์
       

 หมายจับ ต้องปฏิรูปอย่างไร      เพื่อไม่ให้ศาลถูกตำรวจใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งประชาชนได้

                                                                                                                                                                                               

                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

                ต่อปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ ล้าหลังของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชั้นการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน 

รวมทั้งการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ที่หลายกรณีผลคดีไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่แม้กระทั่งชาวต่างชาติขาดความเชื่อถือเชื่อมั่น เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกันอย่างเร่งด่วนขณะนี้

นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ คงต้องรีบตัดสินใจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในการนำความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

อย่างปัญหาคดีบอสที่ตำรวจใช้เวลาสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งที่ดำเนินการเองและต้องเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานอัยการหลายครั้งนานหลายปี จนบอสได้หลบหนีออกนอกประเทศไปถึงไหนๆ ไม่สามารถติดตามตัวมาได้ หรือแม้กระทั่งสืบรู้ที่อยู่จนถึงขณะนี้

คดีใดบิดเบือนได้ยาก เช่นข้อหา ชนแล้วหลบหนี ซึ่งจะมีผลต่อคดีหลัก ถูกสันนิษฐานว่าเป็นฝ่ายขับรถประมาท 

ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็ใช้วิธีปล่อยให้ข้อหานี้ขาดอายุความห้าปีไป!

และสุดท้ายเมื่อรองอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งเด็ดขาด ไม่ฟ้อง ข้อหาขับรถประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เนื่องจาก พยานหลักฐานที่ตำรวจสอบสวนรวบรวมไว้มีข้อสงสัยและไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้อย่างชัดเจน

เป็นเหตุทำให้นายกรัฐมนตรีต้องออกมาพูดว่า คดีบอส ผมไม่โอเค

ก็ได้เกิดกระบวนการสืบหาหลักฐานใหม่ โดยอัยการได้สั่งให้สอบปากคำพยานและรวมหลักฐานที่ ตำรวจผู้รับผิดชอบไม่ได้สอบบันทึกหรือปกปิดไว้ เพื่อให้สามารถสั่งฟ้องคดีได้ตามกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 147

วมทั้งได้มีการสั่งตั้ง กรรมการตรวจสอบ ความผิดของตำรวจผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ทั้งที่เป็น การปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือบกพร่องต่อหน้าที่ ทั้งที่มีอำนาจทำเองได้ ไม่ต้องรอให้ใครสั่งมา แต่กลับปล่อยให้เวลาผ่านไปเกือบ 8 ปี

ซึ่งประชาชนอยากรู้ว่า มีตำรวจระดับใดบ้างที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำให้บอสพ้นจากการถูกฟ้องลงโทษทางอาญาไปในทุกข้อหาเช่นนี้

คณะกรรมการที่ประชาชนคิดหวังว่าน่าจะทำให้ความจริงปรากฏได้มากที่สุดก็คือ ชุดที่ ดร.วิชา มหาคุณ เป็นประธาน

ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ คำให้การของ .ต.อ.ธนสิทธิ์  แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์กองพิสูจน์หลักฐานที่พูดถึง พลตำรวจเอกนอกราชการ คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้จัดการและแนะนำให้รู้จักกับ ดร.ที่บอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องยานยนต์ในห้องประชุมของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานพร้อมกับตำรวจชั้นนายพลที่เป็นผู้บังคับบัญชาอีกหลายคนในช่วง ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ซึ่งการพูดถึงวันพบกันที่แน่นอนย้อนหลังไปหลายปีนั้นอาจคลาดเคลื่อนได้ และไม่ใช่สาระสำคัญที่ใครจะโมเมสรุปว่าไม่ได้มีการพบกันจริง และ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์น่าจะนอนฝันไปแต่อย่างใด?

สื่อและประชาชนก็ต้องติดตามดูกันว่า สุดท้ายจะมีตำรวจระดับใด โดยเฉพาะผู้ที่เป็น ตำรวจชั้นนายพล คนใด ถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ถูกศาลออกหมายจับ และลงโทษวินัยร้ายแรง ไล่ออกจากราชการ ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญบ้างหรือไม่?

ในอีกปัญหาหนึ่งซึ่งขณะนี้มีผู้คนจำนวนมากเกิดความคับแค้นใจต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของชาติอย่างยิ่งก็คือ

การที่ประชาชนโดยเฉพาะบุคคลผู้เรียกร้องหาประชาธิปไตย แม้กระทั่งขอให้มีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ได้ถูกตำรวจเสนอศาล ออกหมายจับ โดยปราศจากพยานหลักฐานการกระทำผิดทางอาญาที่ชัดเจนกันมากมาย

โดยเฉพาะข้อกล่าวหาตาม มาตรา 116 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ที่บัญญัติว่า

“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

โดยตำรวจผู้ใหญ่ได้อาศัยช่องว่างของกฎหมาย ในมาตรา 66 แห่ง .วิ อาญาล้าหลัง ที่บัญญัติว่า “เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังนี้”

(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตรา โทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี  หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

ปัญหาสำคัญก็คือ คำว่า หลักฐานตามสมควร ที่บัญญัติไว้นั้นคืออะไร?

เป็นพยานหลักฐานที่จะสามารถทำให้พนักงานอัยการ สามารถสั่งฟ้องผู้ต้องหาและพิสูจน์การกระทำผิดต่อศาลให้พิพากษาลงโทษจำเลยผู้ถูกฟ้องคดีได้ตามมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมสากล หรือไม่?

การปฏิรูปกฎหมาย ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ให้การ ออกหประมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา และ “เสนอศาลออกหมายจับ” ต้องผ่านการตรวจพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการตามหลักสากลที่ปฏิบัติกันในประเทศที่เจริญทั่วโลก จึงเป็นเรื่องจำเป็นต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยอย่างยิ่ง

สร้างหลักประกันว่า จะไม่มีประชาชนคนใดไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติถูกตำรวจออกหมายเรียกหรือเสนอให้ศาลออกหมายจับได้ง่ายๆ แล้วสุดท้าย  อัยการสั่งไม่ฟ้อง ต้องได้รับความเดือดร้อนระหว่างตกเป็นผู้ต้องหาอย่างแสนสาหัส

หรืออาจเป็นจำเลย ถูกคุมขังหรือต้องประกันตัว ระหว่างพิจารณา แต่ว่าศาลได้พิพากษายกฟ้องเนื่องจากอัยการไม่สามารถพิสูจน์ความผิดให้ศาลลงโทษได้อย่างปราศจากข้อสงสัยกันเช่นทุกวันนี้

ปัจจุบัน ความผิดที่ก่อให้ปัญหาประชาชนถูกศาลออกหมายจับกันง่ายๆ ก็คือ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ข้อหานำความเข้าสู่ระบบ มีโทษจำคุก ถึงห้าปี

รวมทั้งความผิดตาม กฎหมายอาญามาตรา 116 ที่มีโทษจำคุกถึง เจ็ดปี

แค่มีคนอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการนำข้อความซึ่งไม่มีใครทราบว่าจริงหรือเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์หรือแม้กระทั่งแค่ส่งไลน์แชร์กัน

รวมทั้งกรณีที่มีผู้อ้างว่าเป็นผู้รักชาติไปแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน พร้อมหลักฐานว่าคนนี้คนนั้นมีคำพูดหรือการกระทำใดๆ อันเป็นการก่อให้ความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

ส่วนเรื่องจะเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ หรือ ถึงขั้นจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในแผ่นดิน ที่เป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 116 หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนอะไรในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด?     ตำรวจผู้ใหญ่ที่เป็น พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ จะสั่ง พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้รีบไปยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายจับนำมาถือไว้ก่อน

ซึ่งส่วนใหญ่ เมื่อศาลตรวจสอบเข้าหลักเกณฑ์อัตราโทษสูงถึงสามปีตามที่กฎหมายกำหนด ก็มักจะออกหมายจับให้ แต่ไม่ได้มีความหมายที่จะทำให้ตำรวจหรือใครนำไปสรุปว่าผู้ต้องหาน่าเป็นผู้กระทำผิดอย่างแน่นอน ไม่งั้นศาลจะออกหมายจับให้อย่างไร?

เมื่อตำรวจได้หมายจับจากศาลแล้ว ก็นำมาถือไว้ ใครจะมาพบหรือขอมอบตัวอะไร ก็ไม่สนใจ

 แต่หากต้องการจะจับใครไม่ว่าดึกดื่นจะเข้านอนหรือตอนเช้า ผู้ถูกออกหมายจับกำลังขับรถจะไปทำธุระหรือส่งลูกเมียตอนไหน 

 ก็จะสามารถได้ตะครุบตัวให้เกิดความเดือดร้อนอับอายผู้คนได้ทุกเวลา!.

  

หมายจับ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 24 ส.ค. 2563