อัยการยังมีความน่าเชื่อถือ’ดร.น้ำแท้’ชี้คดี’บอส’3 เดือนฟ้องได้แล้วถ้าอัยการเห็นหลักฐานที่เกิดเหตุ

อัยการยังมีความน่าเชื่อถือ’ดร.น้ำแท้’ชี้คดี’บอส’3 เดือนฟ้องได้แล้วถ้าอัยการเห็นหลักฐานที่เกิดเหตุ

 

สังคมยังคงเกาะติดและวิพากษ์วิจารณ์ผลพวงคดี วรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทกระทิงแดง หลังจากอัยการและตำรวจสั่งไม่ฟ้องและยุติคดี ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ขณะที่ทั้งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด ต่างก็มีการตั้งคณะกรรมการอิสระ และคณะทำงานมาตรวจสอบเรื่องการสั่งคดีดังกล่าวรวมเป็น 3 คณะ ท่ามกลางข้อเคลือบแคลงสงสัยของสังคมว่าการสอบสวนทำคดี หรือการสั่งคดีดังกล่าวมีเงื่อนงำน่าสงสัย

ทัศนะและมุมมองของคนในวงการ อัยการแผ่นดิน ด้วยกันเอง ที่สะท้อนผ่าน ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง จังหวัดสุพรรณบุรี อัยการและนักวิชาการที่เข้าไปมีบทบาทการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมผ่านหลายบริบท

เมื่อเราถามมุมมองถึงเรื่อง คดีวรยุทธ อยู่วิทยา ทาง อัยการ-น้ำแท้ ให้ความเห็นกว้างๆ ไว้ว่า กระบวนการสอบสวนคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา มันเริ่มผิดพลาดมาตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานอื่นไปร่วมเก็บพยานหลักฐาน ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐจากฝ่ายอื่นไปร่วมรับรู้พยานหลักฐาน ไม่มีหน่วยงานอื่นที่สามารถเข้าไปร่วมรู้เห็นในคดีได้ มันเลยทำให้คดีนี้ถูกเก็บเป็นเวลาหลายปี แทนที่คดีลักษณะแบบนี้เป็นเรื่องไม่ยากเลย หากว่าเกิดเหตุแล้วมีหลายหน่วยงานไปเห็นด้วย เช่นมีอัยการไปร่วมเห็นพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ซึ่งคดีลักษณะแบบนี้ผมว่า 3 เดือนก็ฟ้องได้แล้ว 3 เดือนก็จบตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ถ้าไม่มีการดึงสำนวนไว้หลายปี พอดึงไว้รอจนคดีขาดอายุความถึงส่งอัยการ พออัยการสั่งสอบเพิ่มเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่ม ก็ไม่สอบให้ คดีก็ขาดอายุความ

คดีนายวรยุทธถอดบทเรียนคือ หากอัยการเข้าไปตรวจสอบพยานหลักฐาน ได้เข้าไปตรวจสอบการทำคดีตั้งแต่แรก เรื่องนี้ฟ้องได้ภายใน 3 เดือนจบไปแล้ว

เรื่องนี้เป็นความบกพร่องของกระบวนการ เพราะมีการออกแบบไม่ให้คนสั่งคดีไปรู้เห็นตั้งแต่เกิดเหตุเหมือนอย่างพวกคดีจำนำข้าว ทำสำนวนอยู่ 5 ปี แล้วจู่ๆ มาส่งสำนวนให้อัยการเลยส่งมา 2,000 คดี อัยการกองคดีทุจริตไม่ได้เตรียมอัตรากำลังสำหรับการรับสำนวนคดี 2,000 คดี โดยให้เวลาในการพิจารณาสำนวนสั่งคดีภายใน 2-3 เดือน อัยการก็โวยวายว่าทำไม่ทัน จะทำยังไงให้ทัน

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไทยไม่เคยเรียนรู้ ไม่เคยมีสติปัญญาหาทางออกว่า แล้วก่อนหน้านี้เก็บสำนวนไว้ทำไมตั้ง 5 ปี ทำไมไม่ให้อัยการมาดูตั้งแต่แรก หากให้อัยการมาร่วมดูสำนวนตั้งแต่แรก มันก็จะไม่มีการจู่โจมทางสำนวน

สมมุติไม่อยากให้ใครโดนฟ้อง ก็เก็บสำนวนไว้แล้วมาส่งอัยการตอน 2-3 วันสุดท้าย ส่งมา 2,000 คดี ส่งมาตอนใกล้หมดเวลา โดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาเขียนไว้ว่า หากคดีใกล้หมดอายุความ ให้อัยการสั่งฟ้องไปตามความเห็นของตำรวจ ก็ทำให้หากอยากเล่นงานใคร เช่น อยากเล่นงาน นาย ก. ก็เก็บสำนวนไว้ใกล้ๆ รอจนใกล้หมดอายุความ แล้วไปส่งสำนวนให้อัยการ พออัยการเห็นสำนวนแล้วมองว่ามีอีกหลายประเด็นควรต้องสอบสวนเพิ่มเติม ต้องหาพยานหลักฐานเพิ่ม แต่ปรากฏไม่ทันแล้วเพราะพรุ่งนี้จะขาดอายุความ แต่หากมีการให้อัยการไปร่วมรับรู้ตั้งแต่แรก ปัญหาทุกอย่างมันจบหมดเลย เช่น เรื่องส่งสำนวนเร่งด่วน เรื่องคดีขาดอายุความ

การให้อัยการไปร่วมรับรู้ไปดูคดีตั้งแต่แรกจะเข้ากับหลักสากล มันจะไม่มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาแบบทุเรศทุรังแบบประเทศไทย จะไม่มีกระบวนการสอบสวนคดีแบบวิปริตวิปลาสแบบในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีตลอด แล้วบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เอามานั่งเป็นกรรมการชุดอะไรต่างๆ โง่ทั้งนั้น ไม่มีความรู้ อาศัยว่าอยู่นาน อายุมาก แต่ไม่เข้าใจตรรกะพวกนี้

                -ข้อเสนอที่ให้อัยการเข้าไปร่วมรับรู้คดีตั้งแต่แรก แต่ที่ผ่านมาก็มีเสียงสะท้อนว่า อัยการไม่มีความพร้อมเรื่องอัตรากำลัง หากจะให้มาร่วมดูพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุตั้งแต่แรก โดยเฉพาะหากเกิดเหตุในต่างจังหวัด?

พร้อมอยู่แล้ว อัยการจะทำเฉพาะคดีที่เช่น 1.ตำรวจเป็นผู้ต้องหาหรือตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คดีแบบจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีชาวอเมริกันผู้ถูกตำรวจผิวขาวฆาตกรรม ตำรวจถอยไปเลยไม่ต้องยุ่ง อัยการของเขาเข้าไปทำหมดเลย 2.คดีที่ประชาชนร้องขอ เช่น ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องขอความเป็นธรรมมาแล้วอัยการลงไปดู ถ้าตำรวจยอมทำตามที่ประชาชนเรียกร้องขอความเป็นธรรม ตำรวจก็ทำคดีไปต่อ 3.คดีที่มีความสำคัญ หากอัยการเห็นว่าคดีนี้มีความสำคัญต้องเข้าไปดู ก็เข้าไปเลย

กระบวนการยุติธรรม หลักสำคัญคือต้องค้นหาความจริง เพื่อให้ได้ความยุติธรรม แต่ต้องหาความจริงให้ได้ก่อน ทุกฝ่ายต้องการความจริง แล้วอัยการจะได้ความจริงได้อย่างไร ก็ควรให้อัยการเข้าไปร่วมค้นหาความจริงตั้งแต่แรกด้วย หรือจะแค่ให้อัยการมานั่งอ่านสำนวนที่ตำรวจพึงใจจะส่งอะไรมาให้อัยการหรือไม่พึงใจส่งอะไรมาให้ อัยการก็ทำได้แค่อ่านที่ส่งมาเท่านั้นหรือ ทุกวันนี้เป็นเพียงการอ่านสำนวน-ดูพยานหลักฐานเท่าที่ตำรวจพึงใจจะส่งให้ อัยการก็จะรู้เท่าที่ตำรวจพึงพอใจจะส่งให้ แบบนี้กระบวนการยุติธรรมไทยพัง ซึ่งต่างประเทศไม่ได้วางระบบไว้แบบนี้

ในต่างประเทศ หลักสำคัญข้อแรกคือ อัยการต้องรู้หน้าที่ก่อนว่าอัยการมีหน้าที่ค้นหาความจริง แล้วการค้นหาความจริง วิธีการที่ดีที่สุดเป็นแบบไหน ให้รออ่านที่ส่งมาหรือ ก็ไม่ใช่แล้ว แต่ควรให้อัยการลงไปดูได้ มันพลิกกันแค่ตรงนี้ พอลงไปดูได้ แล้วพอลงไปดูได้ ถามว่า ไปดูตอนไหนดีที่สุด จะให้ไปดูตอนหลังเกิดเหตุไปแล้วสิบปี หรือดูตอนหลังเกิดเหตุใหม่ๆ เลย หลักก็ต้องให้เข้าไปร่วมดูได้ตั้งแต่หลังเกิดเหตุใหม่ๆ เพราะพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุมันคือตัวบอกได้ เพราะคนยังไม่ทันได้คิดโกหก-ได้เห็นเลยว่ามีพยานกี่คน-ได้เห็นสภาพที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร มันน่าเชื่อถือกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ เราวิเคราะห์ได้หมดเลย ความเกี่ยวพันระหว่างที่เกิดเหตุกับคนเสียชีวิตในคดีอาญาจะเป็นตัวบอกความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น

กระบวนการยุติธรรมที่อัยการต้องค้นหาความจริงและสิ่งที่ดีที่สุดในการค้นหาความจริง คือการไปดูที่เกิดเหตุทันที ได้พยานหลักฐานใหม่ๆ สดๆ พออัยการรู้ตรงนี้ ก็ปิดช่องในการที่จะทำให้มีการทำลายพยานหลักฐาน ปิดช่องที่จะบิดเบือนคดี ปิดหมดเลย ซึ่งหากเป็นเรื่องสำคัญ จริงๆ ไม่ใช่แค่อัยการฝ่ายเดียว ฝ่ายปกครองต้องลงไปดูอีก เพราะเขาเป็นคนในพื้นที่ ย่อมรู้ข้อมูลว่าคนที่เกี่ยวข้องมีแบ็กกราวด์อย่างไร คบค้าสมาคมกับใครอยู่ มีเบื้องหลังทำอะไรผิดกฎหมายหรือไม่ เขาก็จะรู้

เมื่อทุกคนเห็นพยานหลักฐานทุกอย่างเหมือนกันหมด มันก็ไม่มีใครทำลายพยานหลักฐานได้ ทำให้คดีมันเดินไปไว หากพยานหลักฐานครบถ้วนจนอัยการเห็นว่าเพียงพอแล้ว ก็ทำให้จะไม่มีการดึงสำนวนไว้ 4-5 ปี จนคดีขาดอายุความแบบที่เกิดขึ้น

คดีบอส-กระทิงแดง ก็หลักนี้ คืออัยการไม่เห็นสำนวนตั้งแต่แรก ไม่เห็นพยานหลักฐานตั้งแต่แรก ก็รอตำรวจถือสำนวนไว้ จนเมื่อตำรวจส่งมา ก็ไม่มีกลิ่นของความจริงอยู่

                -การที่มีพยานบุคคล 2 คนเข้ามาในสำนวนหลังเกิดเหตุผ่านไปหลายปี ที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์บนท้องถนน ในเชิงวิชาการถือว่าคำให้การของพยานทั้ง 2 คนดังกล่าวที่โผล่มา มีความน่าเชื่อถือทางคดีหรือไม่?

เรื่องนี้ไม่ต้องวิชาการเลย เอาแค่ตรรกะพื้นๆ เลย ถามว่ามาโผล่อะไรกันตอนนี้ แล้วก็มีการไปตรวจสอบดูกล้องวงจรปิดตรงถนน เพื่อดูว่าพยาน 2 คนดังกล่าวอยู่จริงหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้อยู่จริง ก็จะมีความผิดอีก หากไปช่วยให้ผู้อื่นไม่ต้องรับโทษทางอาญา เรื่องนี้ก็ต้องรอพิสูจน์ความจริงว่าเขาอยู่ตรงที่กล่าวอ้างหรือไม่ และหากอยู่จริง สิ่งที่พูดคือความจริงหรือไม่ ก็ต้องดู 2 ประเด็นนี้

ต่อข้อถามที่ว่า เคสคดีนายวรยุทธ เห็นช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรมตรงไหนที่ควรแก้ไข อุดช่องโหว่ไว้ น้ำแท้-อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง จังหวัดสุพรรณบุรี ตอบว่า ช่องโหว่ก็ยังเห็นกันเหมือนเดิมว่า ถ้าให้อัยการเข้าไปดูตั้งแต่แรก คดีนี้สามารถสั่งคดีจบได้ภายใน 3 เดือนแล้ว อย่างที่ไม่มีใครวิ่งเต้นทัน พูดง่ายๆ วิ่งเต้นไม่ทัน เพราะตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานก็บอกว่าเขาส่งรายงานการตรวจสอบที่เกิดเหตุไปหลังเกิดเหตุแค่ 1 สัปดาห์ก็ส่งไปแล้ว หากเป็นแบบนี้ อัยการก็จะได้รายงานสดๆ มาเลย แล้วเก็บรายงานนั้นไว้ อัยการก็จะมีหลักฐานพวกนี้ในมือ

คำสั่งนายกฯ ตั้ง ‘วิชา’แทรกแซงการสั่งคดีอัยการ!

สำหรับกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการอิสระมาตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนายวรยุทธดังกล่าว โดยให้ วิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. เป็นประธาน เรื่องนี้ น้ำแท้-อัยการ มีความเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีเป็นการแทรกแซงการทำงาน แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพราะโดยหลักทั่วไปแล้วการสั่งคดีของอัยการ ถามว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะรู้ไหมว่าตรรกะการสั่งคดีของอัยการจะสั่งฟ้องต่อเมื่อ มั่นใจว่าจะได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษแน่นอน อัยการถึงจะมีความเห็นมีคำสั่งฟ้อง อย่างการฟ้องโดยที่อัยการไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ คำว่าไม่แน่ใจ คือผู้ต้องหาอาจจะผิดหรืออาจจะถูก หากว่าเขาเป็นคนบริสุทธิ์ แล้วเราเอาทรัพยากรทุกอย่างไปเล่นงานคนบริสุทธิ์ แล้วปล่อยคนชั่วลอยนวล คือหากเปรียบเป็นบริษัทก็เจ๊งล้มละลายเลย คือลงทุนไปผิดเป้า เป้าหมายการปราบปรามอาชญากรรมก็ไม่ได้ คนชั่วก็ลอยนวล แถมยังไปดำเนินคดีคนบริสุทธิ์ เพราะความไม่มั่นใจว่าเขาผิดหรือถูกกันแน่แล้วไปฟ้องคดี คือความเสียหายหากเขาเป็นคนบริสุทธิ์ แต่หากว่าเขาเป็นคนผิดจริง แล้วยังไม่มั่นใจในพยานหลักฐาน แปลว่าพยานหลักฐานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่กลับรีบฟ้อง จนศาลตัดสินยกฟ้อง การปราบปรามอาชญากรรมก็ไม่บรรลุผลอีก เพราะเอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ สมมุติว่าผิดจริง แล้วเมื่อศาลตัดสินไปแล้ว จะกลับมาฟ้องอีกไม่ได้ ดำเนินคดีอีกไม่ได้ เพราะฟ้องได้ครั้งเดียว แต่การไม่ฟ้องยังทำให้มีโอกาสกลับมาฟ้องได้อีก อย่าง “บอส” เอาง่ายๆ ไม่กล้ากลับมาหรอก หากกลับมาแล้วอัยการสั่งสอบไว้ ก็นำหลักฐานนั้นเข้ามา กรณีอัยการเรียกสอบเอง โดยให้นำพยานหลักฐานที่หายไป เช่นเรื่อง “ความเร็วรถ” เข้ามาสอบใหม่ได้ โดยเป็นหลักฐานใหม่ต้องเป็นหลักฐานที่เอาผิดในประเด็นที่เขาถูกกล่าวหา คือเรื่องขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แล้วสอบเสร็จ อัยการสั่งฟ้อง ออกหมายจับ คราวนี้หนีไม่ทันเลย

-แต่คนในสังคมไม่เชื่อถืออัยการและตำรวจที่ตั้งคณะทำงานสอบสวนกันเอง จึงต้องการให้มีคณะกรรมการอิสระมาตรวจสอบ?

เรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วย ผมว่าเป็น ลิงแก้แห คือเอาคนไม่รู้ตรรกะไม่รู้เรื่องคดีมาทำ ก็ลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง พอแก้เรื่องนี้ก็กลายเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม วันหนึ่งอยากได้อะไรขึ้นมาแล้วอัยการไม่ฟ้อง ก็ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบการสั่งคดีอีกที แล้วมันจะมีอิสระอย่างไร ขัดแย้งรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญให้อัยการมีดุลยพินิจโดยอิสระ อันนี้คือหลักที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เรื่องนี้แปลว่าไปแทรกแซงดุลยพินิจของอัยการในเรื่องความเป็นอิสระ ควรให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ในการพิสูจน์ให้เห็นว่าคำสั่งนั้นชอบหรือไม่ชอบ ด้วยเหตุผลอย่างไร สังคมต้องการคำอธิบาย

การตั้งคณะทำงานของอัยการมาตรวจสอบถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะอัยการจะรู้ระเบียบ ขั้นตอนของอัยการเอง ถึงสังคมจะมีข้อเคลือบแคลงสงสัยอย่างไร วิธีแก้ก็ต้องแก้ให้ถูกหลัก ไม่ใช่แก้แบบลิงแก้แห  แก้แบบคนไม่มีความรู้ แก้ที่ปลายเหตุ

หวังสภาผลักดันแก้ ป.วิ อา

ให้อัยการร่วมสอบคดีตั้งแต่แรก

-เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้อัยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีตั้งแต่แรกเริ่ม ที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฯ มีความเป็นมาอย่างไร และตอนนี้อยู่ขั้นตอนไหน?

คือคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ที่เดิมนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน ซึ่งมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่ทำเรื่องต่างๆ ในวงงานของกรรมาธิการ เช่นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ก็มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่มีผมเป็นอนุกรรมาธิการอยู่ด้วย ทางอนุกรรมาธิการมีการคุยกันเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ที่ก็เห็นว่าก่อนหน้านี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ชุดอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้ศึกษาเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ที่ทำไว้พอสมควร มีหลักการที่ดีพอสมควร ที่จะแตกต่างจากร่างแก้ไขของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ตำรวจทำกันเองแล้วส่งให้รัฐบาล ทางอนุกรรมาธิการก็นำร่างของคณะกรรมการชุดนายอัชพรมารีโนเวตเป็นฐาน แล้วปรับแต่งเนื้อหาให้ดีขึ้น

หัวใจสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว ที่ทำออกมาคือ กำหนดให้มีการร่วมสอบสวนระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในคดีบางประเภทได้ตั้งแต่แรกเริ่ม ได้รู้เห็นพยานหลักฐานตั้งแต่แรก โดยร่างที่มีการเสนอไปมีการให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าตรวจสอบการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป และคดีที่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในคดีร้องขอ อย่างกรณีที่ตำรวจทำผิดแล้วประชาชนร้องขอ ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม อัยการก็เข้าไปดูได้

อย่างไรก็ตาม ในร่างที่เสนอไปมันก็มีอุปสรรคตรงที่เขียนไว้ว่า ให้เข้าไปในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ซึ่งถามว่าคดีที่มีโทษจำคุกห้าปีขึ้นไป หากตำรวจซื่อสัตย์ทำตรงไปตรงมา อัยการต้องเข้าไปไหม มันก็ไม่จำเป็น เพราะอัยการไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำคดีทุกคดี แต่อัยการทุกประเทศในโลกถูกออกแบบมาเพื่อให้ลงไปตรวจสอบการสอบสวนว่ามันเกิดความเป็นธรรมหรือไม่ ลงไปดูพยานหลักฐานตั้งแต่เกิดเหตุ ว่าพยานหลักฐานในคดีถูกรวบรวมครบถ้วนหรือไม่ ถ้าหน่วยงานนั้นเราทำงานด้วยกันมา เรารู้ว่าไม่มีปัญหา ตรงไปตรงมา พวกคดีพื้นๆ พยานหลักฐานไม่ได้ซับซ้อนอะไร เราก็รู้ว่า ไม่จำเป็นต้องลงไปดู เราก็ปล่อยตำรวจทำ

การไปล็อกว่าคดีที่มีโทษจำคุกห้าปีขึ้นไปแล้วอัยการต้องเข้าไปทุกเรื่อง มันเป็นภาระเกินไป ทั้งที่ไม่จำเป็น ทั้งที่หากให้อัยการเข้าไปดูในคดีสามลักษณะคือ คดีที่ตำรวจเกี่ยวข้อง, คดีที่ประชาชนร้องขอความเป็นธรรม, คดีที่มีความสำคัญ เพียงเท่านี้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม รายละเอียดดังกล่าวก็ยังอาจปรับแก้ไขได้ เพราะหลังที่ประชุมสภาได้รับรองรายงานข้อเสนอดังกล่าวและถูกส่งไปที่รัฐบาล ซึ่งตามขั้นตอนก็ต้องรอเวลา 60 วันหลังรัฐบาลรับเรื่องว่ารัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่ หากรัฐบาลไม่รับไปผลักดันสภามีหน้าที่ทวงถาม หากรัฐบาลไม่ทำ ส.ส.ก็ร่วมกันลงชื่อไม่น้อยกว่า 20 คนเสนอเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวเข้าสภาได้

-องค์กรอัยการควรต้องมีการปฏิรูปตัวเองอย่างไรบ้าง?

อัยการมีหน้าที่ค้นหาความจริง ความจริงที่ปรากฏตรงหน้าแล้วจะปฏิเสธว่ามันมีอยู่แค่นี้ ผมรู้อยู่แค่นี้ ผมจึงสั่งอย่างนี้ ไม่พอ ไม่สมศักดิ์ศรี กับบทบาทภาระหน้าที่ของความเป็นอัยการที่ได้มาตรฐานสากล  งานแบบนี้ยังไม่ได้มาตรฐานสากล

หัวใจสำคัญของการอำนวยความยุติธรรม ในขั้นแรกต้องได้พยานหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อน ในชั้นสอบสวนฟ้องคดีจึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้อัยการซึ่งมีหน้าที่สั่งคดีได้รับพยานหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วน ทุกประเทศในโลกอัยการซึ่งมีภารกิจในการนำคนผิดมาดำเนินคดีลงโทษและปกป้องคนบริสุทธิ์ไม่ให้ต้องรับโทษ ล้วนตระหนักว่าตนเองมีหน้าที่ค้นหาความจริง จึงทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานโดยตนเอง และโดยมีตำรวจเป็นผู้ช่วยปฏิบัติตามคำสั่งในการรวบรวมพยานหลักฐาน

เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมในท้องที่ใด หลายภาคส่วนทั้งอัยการ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง พิสูจน์หลักฐาน แพทย์นิติเวช ฯ ล้วนรับทราบเหตุอาชญากรรมและเข้าตรวจสอบพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุได้ ทำให้ไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งบิดเบือนความจริง ทำลายทำให้พยานหลักฐานสูญหาย เพื่อช่วยคนชั่วไม่ให้ต้องรับโทษหรือยัดข้อหาคนบริสุทธิ์ให้ต้องเสียหายตามอำเภอใจ อัยการไม่ต้องรอเวลาและจำกัดการรับรู้เฉพาะพยานหลักฐานที่ตำรวจพึงพอใจจะรวบรวมให้ไว้ในสำนวนเท่านั้น สามารถรวบรวมพยานหลักฐานที่ตำรวจไม่อยากให้รับรู้ได้ด้วย แต่นักกฎหมายไทยทั้งสายวิชาการและสายปฏิบัติขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงในหลักการพื้นฐานข้อนี้ จึงไปสอนกันผิดๆ ต่อๆ ไปว่าการสอบสวนเป็นหลักการถ่วงดุล ตำรวจเก็บรวบรวมและรู้เห็นพยานหลักฐานแต่เพียงผู้เดียว อัยการมีหน้าที่ถ่วงดุลจึงต้องรอสั่งคดีตามพยานหลักฐานที่ตำรวจพึงพอใจส่งให้ในสำนวนเท่านั้น นี่คือระบบสอบสวนในกระบวนการยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐ “ให้ชั่วแค่ไหนก็ทำเลวไม่ได้”

ความอ่อนด้อยทางความรู้เช่นนี้ส่งผลต่อการออกแบบกฎหมายแบบวิปริตในยุคต่อๆ มา เช่น การแก้ไข ป.วิ อาญา มาตรา 145/1 เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อความเพี้ยนฝังรากลึกไปนาน จึงนำมาซึ่งการต่อต้านอย่างรุนแรงต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือขัดขวางทุกหนทางที่อัยการหรือหน่วยงานอื่นๆ จะไปตรวจสอบการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตั้งแต่เกิดเหตุ

ก่อนปี 2534 ทั้งอัยการและตำรวจสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมทั้งตำรวจ  อัยการ ฝ่ายปกครองล้วนเข้าถึงพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ จึงไม่มีใครสามารถบิดเบือนความจริงทำลายพยานหลักฐานได้ ความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนจับต้องได้ ราคาถูก ไม่มีค่าใช้จ่าย คนจนคนรวยได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมาย พอปี 2541 มีการก่อตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรับผิดชอบการดำเนินคดีรวบรวมพยานหลักฐานตามลำพัง ทำให้อัยการและฝ่ายปกครองไม่ทราบเหตุอาชญากรรม ไม่รู้เห็นพยานหลักฐานจนกว่าตำรวจจะส่งสำนวน นานเท่าไรก็ไม่มีกฎหมายจำกัด ไม่รู้เรื่องจะสั่งสอบสวนเพิ่มเติมอะไรก็ไม่ได้ หลายๆ ครั้งไม่ได้รับผลสอบสวนเพิ่มเติมอีกด้วย

-ถึงตอนนี้สังคมยังเชื่อถือ ศรัทธา ไว้ใจอัยการได้ไหม ตาชั่งเอียงหรือไม่?

(นิ่งคิด) ผมว่าโดยภาพรวม ตลอดเวลาที่ผ่านมาอัยการทำหน้าที่ในช่วงที่สังคมมีความแตกแยก การเมือง มีการกล่าวร้ายให้ร้ายทำลายกัน ผมคิดว่าองค์กรอัยการวางตัวได้เหมาะสม อย่างบรรดา ส.ส.ในสภาที่ผมได้สัมผัส เขาก็บอกว่าอัยการวางตัวได้เป็นกลางและเหมาะสม คือไม่เข้าข้างใดจนน่าเกลียด  โดยส่วนตัวถ้ามองอัยการโดยภาพรวม ไม่นับคดีนายบอส ผมว่าอัยการยังมีความน่าเชื่อถือในระดับที่ดี  ผมว่าคนดีคนเลวมีอยู่ทุกองค์กรในสังคม ผมไม่ได้บอกว่าอัยการดีหมดทุกคน ที่ไม่ดีก็มีแน่นอน แต่มันก็มาถึงจุดที่เราต้องสร้างระบบที่คนชั่วทำเลวไม่ได้ เราไม่มาหวังหรอกว่าคนคนนี้จะดีไหม จะดีจริงไหม  จะดีจนตลอดรอดฝั่งไหม คนดีจะทนแรงยั่วยุของสิ่งล่อใจได้แค่ไหน ถ้าเราไปพึ่งคนดีมันมีความไม่ยั่งยืน  เราต้องหันมาพึ่งระบบ เราต้องออกแบบระบบยุติธรรมที่ให้ชั่วแค่ไหนก็ทำเลวไม่ได้ เช่น อย่างที่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ที่บอกข้างต้น คือไม่ต้องไว้ใจใคร เป็นวิอาญาแบบไม่ไว้ใจใคร แต่ให้มีระบบตรวจสอบโปร่งใส แบบนี้แหละคือกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ประเทศเราเปลี่ยนแปลง เกิดกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ไว้หน้าใคร คือการเมืองก็ไม่กล้าทำชั่ว เพราะทำชั่วยังไงก็ไม่รอด จะใหญ่จะมีอำนาจก็ถูกดำเนินคดีแบบตรงไปตรงมา คนก็จะเกรงกลัวการทำชั่วการทุจริตเพราะจะถูกดำเนินคดีหมด.

โดย               วรพล กิตติรัตวรางกูร

                                                                   ปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ แทบลอยด์ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2563