คดีควายหาย สองผัวเมียกลายเป็น’แพะ’ถูกขังนาน 8 เดือน ได้อย่างไร? – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

คดีควายหาย สองผัวเมียกลายเป็น’แพะ’ถูกขังนาน 8 เดือน ได้อย่างไร? – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

คดีควายหาย สองผัวเมียกลายเป็น แพะ ถูกขังนาน 8 เดือน ได้อย่างไร?

 

                                                                                              พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ช่วงนี้มีเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความยุติธรรมเป็นข่าวใหญ่อยู่สองคดีคือ กรณีที่ นางพิมพ์ชนก ภรรยานายฐานะพล เสาวคนธ์ ถูกตำรวจแม่อาย จว.เชียงใหม่ 7 คน ยัดข้อหา จับตัวไปคุมขังไว้ในป้อมยามตำรวจ เรียกค่าไถ่ 500,000 บาท แต่ต่อรองกันไปมาจนเหลือ 300,000

เหตุเกิดตั้งแต่ 3 ก.พ.63 รวมเวลาเกือบ 4 เดือน!

แต่จนกระทั่งป่านนี้ การสอบสวนคดีอาญาของตำรวจภูธรภาค 5 ก็ยังไปไม่ถึงไหน?

มีแต่คำพูดเลื่อนลอยของตำรวจผู้ใหญ่ว่า จะ ให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย? และอยู่ระหว่างสอบสวนทางวินัย

แต่ในส่วนคดีอาญา ตำรวจได้ รับคำร้องทุกข์แบบมีเลขคดี ในวันที่ไป แจ้งความกล่าวโทษต่อ ผบช.ภ. 5 แล้วหรือไม่ นายฐานะพลเองก็ไม่แน่ใจ?

ซ้ำยังถูกเรียกไปสอบปากคำซ้ำซาก ทั้งที่ได้เคยให้ไว้อย่างละเอียดพร้อมหลักฐานต่างๆ ไปหมดแล้ว 

ถามโน่นถามนี่ พิมพ์บ้างไม่พิมพ์บ้าง ไม่จบสิ้น  แสนเบื่อหน่าย!

ในวันที่ 31 มี.ค.63 นายฐานะพลจึงทำหนังสือถึง ผวจ.เชียงใหม่ ให้ใช้อำนาจ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมตามประกาศ คสช.ที่ 96/2557 และ ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการออกไว้ในฐานะผู้รักษาการณ์ตาม ป.วิ อาญา สั่งให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเข้าควบคุมการสอบสวนคดีนี้ตามกฎหมาย

แต่ผู้ว่าฯ กลับ ละล้าละลังในการใช้อำนาจดังกล่าว   เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้มีปัญหา และตำรวจก็ไม่ยอมส่งสำนวนให้ตรวจสอบตามที่สองฝ่ายถือปฏิบัติกันตลอดมาแต่ปี 2509

เนื่องจากใน ปี 2556 ได้ถูกคนที่เป็น ผบ.ตร.ขณะนั้น ออกคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย ห้ามไม่ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอตรวจสอบเมื่อแจ้งมา ใครฝ่าฝืนจะถูกลงทัณฑ์ทางวินัย!

ส่งผลทำให้อำนาจสอบสวน ถูกผูกขาดไว้กับตำรวจแห่งชาติในทางพฤตินัยอย่างเบ็ดเสร็จ ก่อให้เกิดปัญหาต่อประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวน  สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมของชาติมากว่า 6 ปี!

และจนกระทั่งบัดนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้สั่งการ หรือ ควบคุมให้ตำรวจปฏิบัติตามกฎหมาย ตามที่ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยรายงานปัญหาให้ทราบไว้เมื่อหลายปีก่อนแต่อย่างใด?

ปัจจุบันเมื่อมีประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการสอบสวนอะไร ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอส่วนใหญ่จึงทำกันเพียงมีหนังสือแจ้งให้ ผบก.ตำรวจ หรือหัวหน้าสถานีตรวจสอบรายงานมาให้ทราบเท่านั้น

ทำหน้าที่กันไม่ต่างจาก นายไปรษณีย์ แต่อย่างใด!

ในวันที่ 13 พ.ค. นายฐานะพลและภรรยาได้ไปติดตามเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพร้อม ชูป้าย ทวงถามความยุติธรรมว่า โควิดคิดว่าแย่ แต่ถ้าถูกตำรวจรีดทรัพย์ แย่ยิ่งกว่า

ขณะนี้ไม่มีใครตอบได้ว่า ในส่วนคดีอาญา รัฐบาลโดย ตำรวจแห่งชาติ หรือ ป.ป.ท. จะ ออกหมายเรียก ตำรวจทั้ง 7 มาแจ้งข้อหา หรือเสนอศาล ออกหมายจับ เหมือนกรณีประชาชนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญากันเมื่อใด?

จะใช้เวลานานกี่เดือน หรือกี่ปี?

นี่คือความเดือดร้อนและความอยุติธรรมต่อประชาชน ผู้เสียหายในกรณีที่ต้องแจ้งความกล่าวหาตำรวจว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ!

ในส่วนของ ผู้ต้องหา ยิ่งมีผู้คนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวอีกมากมาย

เช่น ในกรณีสองผัวเมียคือนายบุญเลี้ยง มงคลกุล และนางสมมารถ คามวาสี ถูกตำรวจ สภ.ชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์  เสนอศาลออกหมายจับข้อหาลักควาย 3 ตัวของนายกำจัด  นวชาติ คนในพื้นที่ใกล้กัน

นายบุญเลี้ยงถูกจับเพราะมีหลักฐานว่าขับรถปิกอัพไปจอดอยู่ริมถนนห่างจากบริเวณที่ควายของนายกำจัดผูกไว้และหายไปประมาณ 1 กม.

พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งจากปากคำของนายกำจัดที่ยืนยันหลังจากไปขอให้ เจ้าแม่อรอุมา หรือ ร่างทรง ประจำหมู่บ้านช่วยชี้แนะ บอกรูปพรรณสัณฐานคนร้ายได้ตรงกับรูปร่างหน้าตานายบุญเลี้ยงและภรรยา!

หลังจากนั้น ก็ได้มีการสอบ พยานแวดล้อม เพิ่มอีก 6 ปาก ยืนยันตรงกันว่าเห็นสองผัวเมีย จอดรถอยู่ในบริเวณที่ควายหายไปเช่นกัน 

ตำรวจสอบสวนแล้วเชื่อมั่นว่าทั้งสองเป็นคนร้ายลักควาย 3 ตัวไปแน่นอน

จึงเสนอศาลให้ออกหมายจับทันที      

เมื่อจับตัวตามหมายมาได้ เนื่องจากนายบุญเลี้ยงและภรรยาไม่ได้หลบหนีไปไหน ก็ได้ให้การปฏิเสธ โดยบอกว่ารถปิกอัพของตนที่บรรทุกควายสองตัวซึ่งซื้อมาใหม่ได้ไปเกิดอุบัติเหตุขับตกคูน้ำในบริเวณนั้น ทำให้ควายทั้งสองเตลิดหายไปด้วย และไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับควาย 3 ตัวของนายกำจัดที่หายไปแต่อย่างใด

แต่ตำรวจพูดแข็งขันว่ามีพยานหลายปากยืนยัน  ประกอบกับนายบุญเลี้ยงและภรรยา มีปัญหาถูกดำเนินคดีเรื่องลักควายในจังหวัดบุรีรัมย์อีกสองท้องที่

จึงทำให้เชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นผู้กระทำผิดแน่นอน และเป็นคนร้ายสำคัญ

จึงไม่ยอมให้ประกันตัว ซ้ำ ยังค้านต่อศาลเมื่อถึงเวลาต้องนำตัวไปฝากขังอีกด้วย

นายบุญเลี้ยงและภรรยาถูกคุมตัวส่งตัวเข้าเรือนจำทันที ไม่มีโอกาสได้พบเพื่ออธิบายเรื่องราวต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอและนายอำเภอ

หรือ แม้กระทั่งอัยการ เพื่อบอกเล่าความจริงอะไรที่ตำรวจไม่ยอมรับฟังและจด บันทึกไว้ให้ปรากฏ

ทำให้ถูกอัยการได้สั่งฟ้องคดีไปตามที่ตำรวจสรุปคล้าย นิยายสอบสวน ส่งให้พิจารณา!

แต่ต่อมา ศาลได้ พิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีเป็นอันถึงที่สุด

สรุปว่านายบุญเลี้ยงและภรรยา คือผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกตำรวจจับตัวไปคุมขังอยู่ในเรือนจำนานถึง 8 เดือน ส่วนคนร้ายลักควายตัวจริงยังคงลอยนวลต่อไป!

กระทรวงยุติธรรมบอกว่า รัฐมีมาตรการเยียวยาต่อผู้บริสุทธิ์ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพเช่นนี้ โดยมีสิทธิ์ไปรับเงิน  ค่าติดคุก วันละ 500 บาทได้ ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงของปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยแต่อย่างใด

สองผัวเมียต่างร่ำไห้หลังพ้นมลทิน บอกว่า ถ้าตำรวจสอบสวนอย่างรอบคอบ ก็จะรู้ว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้อง และไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับใครอีก!

อย่างไรก็ตาม หลังศาลพิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ ตำรวจผู้ใหญ่ก็ยังปักใจเชื่อ ว่า สองผัวเมียน่าจะเป็นคนร้ายลักควายในคดีนี้ เนื่องจากยังมีกรณีถูกดำเนินคดีลักษณะเดียวกันอีกสองท้องที่

แต่ทั้งสองกรณี พยานหลักฐานอะไรก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน!

คดีหนึ่ง หลังควายหาย เจ้าของสงสัยว่าเป็นนายบุญเลี้ยง จึงได้โทรศัพท์ไปหา แต่ไม่ยอมรับสาย กลับ ได้ยินแต่เสียงกำลังต้อนควาย เชื่อว่าเป็นของตนแน่!

อาชีพตระเวนรับซื้อควายในภาคอีสานหรือ “นายฮ้อย” ประเทศไทย ก็ไม่ต่างจาก พ่อค้าของเก่า

เสี่ยงต่อการตกเป็นผู้ต้องหาต่อตำรวจได้ง่าย โดยเฉพาะข้อหา ลักทรัพย์หรือรับของโจร

เพราะไม่รู้ว่าควายหรือของเก่าที่มีคนเอามาขาย ถูกใครลักขโมยมาแต่เมื่อใดบ้างหรือไม่?

แม้ควายหลายตัวจะถูกลักมา แต่การกระทำผิดอาญาทุกเรื่องต้องมีเจตนาโดยรู้อยู่อย่างชัดแจ้งว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกขโมยมาขายให้ตน

แล้วมีหรือที่คนขายของซึ่งลักขโมยมาจะพูดเช่นนั้น?

การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรอบด้านด้วยจิตใจที่เป็นธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์หรือเจตนาแท้จริงของผู้ที่ถูกกล่าวหาจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

แต่สำหรับระบบสอบสวนคดีอาญาที่ล้าหลังของไทย  หากตำรวจปักใจเชื่อว่าใครทำผิดแล้ว

 แม้พยานหลักฐานจะไม่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งรู้ในเวลาต่อมาว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำ ก็ต้องหาวิธีสอบสวนสรุปสำนวนเสนอให้อัยการสั่งฟ้องให้ได้!

หลังจับตัวนายบุญเลี้ยงกับภรรยา ตำรวจก็สอบสวนวกวนไปมาจนน่ารำคาญ

เลยตัดบทไปว่า ไม่ขอให้ปากคำอะไรในชั้นสอบสวน  แต่จะไปให้การชั้นศาลแทน เช่นเดียวกับ ครูจอมทรัพย์!

เป็นเหตุให้อัยการไม่มีพยานหลักฐานหรือแม้กระทั่งข้อมูลอะไรจากฝ่ายผู้ต้องหาในการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องหรือให้สอบสวนเพิ่มเติม

 ทำได้เพียงสั่งฟ้องไป ปล่อยให้ผู้ต้องหาไปให้การพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลเอาเอง

นอกจากนั้น ปัญหาสำคัญและร้ายแรงในปัจจุบันก็คือ  การ สั่งไม่ฟ้อง อาจถูกผู้บัญชาการตำรวจภาคทำ ความเห็นแย้งแบบมั่วๆ เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหากับตนเองตามมาได้

นี่คือ ระบบงานสอบสวนที่วิปริตของไทย

ที่ ส่งผลให้บุคคลผู้ไม่ได้กระทำผิดต้องติดคุกอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณา หรือแม้กระทั่งโดยคำพิพากษาของศาลกันมากมายในปัจจุบัน!.

คดีควายหาย

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 18 พ.ค. 2563