สะเทือนตุลาการ!ผู้พิพากษา’คณากร’เขียนจดหมายลาย้ำปมแทรกแซงศาลชั้นต้นก่อนยิงตัวตายที่บ้านพัก จ.เชียงใหม่

สะเทือนตุลาการ!ผู้พิพากษา’คณากร’เขียนจดหมายลาย้ำปมแทรกแซงศาลชั้นต้นก่อนยิงตัวตายที่บ้านพัก จ.เชียงใหม่

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 มีนาคม 2563 นายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่เคยใช้อาวุธปืนยิงตนเองในห้องพิจารณาคดีที่ 4 ที่ศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 ได้เขียนจดหมายลาถึงเพื่อนผู้พิพากษารุ่นที่ 46 (ผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 46) ลงวันที่ 5 มี.ค.2563 เรื่อง “ขออนุญาตลาเพื่อนๆ” เรียน “ผู้พิพากษารุ่นที่ 46 ทุกท่าน” ระบุว่าสืบเนื่องจากผมนายคณากร เพียรชนะ ใช้อาวุธปืนยิงตนเองที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ทั้งแถลงการณ์ผ่านสื่อออนไลน์แจ้งให้ประชาชนทราบถึงการที่นายเพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 แทรกแซงผลคำพิพากษา รายละเอียดตามคำแถลงการณ์ 25 หน้า ของผม

ต่อมาผมถูกตั้งกรรมการสอบสวนและยังถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งผมเชื่อว่า การดำเนินคดีกับตัวผมเพิ่งจะเริ่มต้น ทั้งยังต้องออกจากราชการเป็นแน่ การสูญเสียหน้าที่การงานที่รักนั้นคือการสูญเสียตัวตน ซึ่งสภาพร่างกายและจิตใจของผมไม่อาจรับไหว

ผมขอยืนยันกับเพื่อนๆ ทุกท่านว่า สิ่งที่ทำลงไปผมทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน และไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน

ผมเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาอันดับที่ 103 แต่ได้ออกไปเป็นอันดับที่ 1 (ไชโย) คงไม่มีใครอยากเป็นอันดับที่ 2 ธรรมดาครับ มีพบย่อมมีจาก เสียดายนิดนึงที่ไม่ค่อยได้ติดต่อกับเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ ขอโทษด้วยที่ไม่ได้ไปงานเลี้ยงรุ่นด้วย คิดว่าเพื่อนๆ คงไม่สนใจ แต่ผมคิดผิด เห็นได้ชัดเมื่อเกิดเหตุกับผม เพื่อนๆ หลายคนมาให้กำลังใจ ซื้อของมาให้กิน พาไปกินข้าวพาไปกินเหล้า ช่วยฝากฝังให้อยู่ดีๆ หาเพื่อนใหม่ให้ก็มี (นะ)

ความเป็นเพื่อนๆ นี่ก็แปลก ไม่พบเจอกันตั้งนาน แต่เมื่อพบก็สนิท ขอบคุณในความรักความห่วงใยที่เพื่อนๆ มีให้ผมนะครับ หากมีสิ่งใดที่ผมเคยทำให้เพื่อนๆ ไม่สบายใจหรือไม่พอใจ ผมขอโทษมา ณ ที่นี้ (ชาตินี้จะไม่ทำอีกแล้ว)

ชีวิตคือการเดินทาง เส้นทางบนโลกในปัจจุบันของผมได้ขาดลงแล้ว ยินดีกับผมด้วย ผมได้ไปก่อน เล่ากันว่าบนสวรรค์ 1 วันเท่ากับ 1 ปีบนโลกมนุษย์ ถ้าไม่คลาดเคลื่อนนี่อีกไม่กี่วันเราก็เจอกันอีกแล้วล่ะสิ ช่วงนี้ผมโสด ระหว่างรอเมียตามขึ้นมา ผมไปคุยเล่นกับนางฟ้าก่อนนะครับ ลาก่อนเพื่อนๆ ที่รักทุกท่าน ด้วยรักและผูกพัน

นายคณากร เพียรชนะ

นายคณากร เพียรชนะ

นายคณากร ยังเขียนจดหมายถึงเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทย ระบุว่า ผมขอยืนยันกับเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านว่า สิ่งที่ทำลงไปผมทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน และไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน

ในอดีตที่เราใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ถูกร่างขึ้นโดย ส.ส.ร. ประชาชนและนักวิชาการทั้งหลายต่างยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมา ท่านคงสงสัยว่าขณะใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวทำไมจึงไม่ให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้น เพราะอะไร หรือ ส.ส.ร. รู้ว่าการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอาจเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค

ขออนุญาตถามเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยง่ายๆ ว่าสิ่งที่ผมทำลงไปจนถูกสอบวินัยและตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญานี้ ท่านพบความชั่วหรือความเลวอยู่ในการกระทำของผมบ้างหรือไม่ ขอทุกท่านตอบในใจเบาๆ ก็พอ ส่วนผมรู้คำตอบมาตั้งแต่ต้นแล้ว เสียดายที่ท่านไม่ใช่ผู้ตัดสิน

ในวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ผมไม่คิดว่าจะมีชีวิตรอด แต่วันนั้นสวรรค์ทรงเมตตาให้ผมมีชีวิตอยู่ต่อ เข้าใจว่าทรงมีพระประสงค์ให้มาอยู่กับครอบครัวสักระยะหนึ่งเท่านั้น ผมจึงจัดการซ่อมแซมแต่งบ้านบางส่วนให้เรียบร้อยขึ้น เพื่อให้สองแม่ลูกอยู่อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น สอนลูกให้เข้มแข็ง สอนให้เป็นคนดีว่า “คนดี คือ คนที่ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และประชาชนภายในกรอบของศีลธรรม”

วันที่ 6-7 มีนาคม 2563 เป็นวันดี ลูกปิดเทอมได้หนึ่งสัปดาห์ สมควรแก่เวลา ก่อนหน้านี้ฝึกดับขันธ์บางส่วนมาก่อนแล้ว ดับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ยังดีกว่าดับไม่ลง จึงตัดใจดับขันธ์ทั้งห้าด้วยกำลัง

ชีวิตเป็นเพียงแค่การเดินทาง ร่างกายที่แท้ไม่ใช่ของเรา ท้ายที่สุดย่อมเสื่อมสภาพกลับไปเป็นธาตุทั้งสี่ การพลัดพรากจากหน้าที่การงานหรือคนที่รักก็เช่นกัน ท้ายที่สุดย่อมต้องจาก เหลือไว้แต่ความดีในความทรงจำของผู้อื่น เพื่อดับทุกข์ จึงขอลาจากไปในเวลานี้แม้จะก่อนเวลาอันควร

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน ลาก่อน

ลงชื่อ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาฯ และผู้ต้องหา

ป.ล. ท่านที่เมตตาผม ท่านสามารถส่งวิญญาณผมให้ไปสู่สุคติได้ โดยให้ทุนการศึกษาแก่ลูกของผม ที่บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชีนายคณากร เพียรชนะ เลขบัญชี 714-236993-0

นายคณากร เพียรชนะ

ต่อมา นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่านายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองอีกครั้งเข้าที่บริเวณหัวใจ เหตุเกิดขึ้นเวลาประมาณ 07.00 – 08.00 น. ที่บ้านพักส่วนตัวนายคณากรในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นช่วงที่ภรรยาของนายคณากรออกไปส่งลูกข้างนอก นายคณากรจึงตัดสินใจยิงตัวเองด้วยอาวุธปืนเข้าที่บริเวณหัวใจ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อภรรยากลับมาพบเหตุ จึงแจ้งรถพยาบาลนำร่างของนายคณากรไปส่งโรงพยาบาลดอยสะเก็ด แต่อาการสาหัส ทางโรงพยาบาลดอยสะเก็ดจึงทำการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ขณะนี้ตัวนายคณากรอยู่ห้องฉุกเฉิน แพทย์ทำการช่วยชีวิตอยู่ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมเมื่อทราบข่าวก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยดูอาการอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ผู้อำนวยการศาลภาค 5 ติดตามดูแลอาการที่โรงพยาบาลพร้อมรายงานมาตลอด ซึ่งตนได้รายงานให้ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้รับทราบแล้ว

ต่อมาเวลา 10.47 น. นายสราวุธ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่านายคณากรเสียชีวิตลงในเวลา 10.45 น. โดยจากนี้จะมีการนำศพของนายคณากรไปชันสูตรที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตามขั้นตอนอีกครั้ง

นายสราวุธ ยังให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นมาในการสอบวินัย นายคณากรว่า ครั้งแรกเมื่อเกิดขึ้นที่ผู้พิพากษาคณากรก่อเหตุยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี และมีการไลฟ์สดลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 และได้มีหนังสือแถลงถึงความเครียดการพิจารณาคดี ที่อ้างว่ามีการแทรกแซงการตรวจสำนวนโดยผู้บังคับบัญชานั้น หลังจากนั้นตนรายงานข้อเท็จจริงที่รวบรวมในเบื้องต้นให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ทราบทันที โดยที่ประชุม ก.ต.ก็มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทุกประเด็น ทั้งการก่อเหตุ และกรณีแทรกแซงการพิจารณาพิพากษา ซึ่งผลการสอบสวนข้อเท็จจริงก็สรุปว่า การก่อเหตุของท่านคณากร มีการนำอาวุธปืนเข้าไปภายในบริเวณศาลและก่อเหตุภายในอาคารศาลอาจจะผิดวินัย ที่ประชุม ก.ต.จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย

ซึ่งระหว่างนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและเป็นไปตามขั้นตอน จึงให้ย้ายท่านคณากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา มาช่วยราชการปฏิบัติหน้าที่ในกองผู้ช่วยศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ โดยทำหน้าที่ช่วยตรวจดูสำนวน เพียงแต่จะไม่ได้นั่งบัลลังก์พิจารณาคดีเหมือนศาลชั้นต้น ซึ่งปัจจุบันก่อนเกิดเหตุการณ์ยิงตัวเองครั้งล่าสุด การสอบวินัยยังดำเนินอยู่ตามขั้นตอน ยังไม่ได้มีมติใดออกมา ส่วนการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้น ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนก็รวบรวมพยานหลักฐานอยู่ และเคยมีหนังสือแจ้งขออนุญาตประธานศาลฎีกาในการจะดำเนินคดีอาญาแล้ว

สำหรับประเด็นแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ในการตรวจสอบชั้นแรกของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเห็นว่าไม่มีมูล ไม่ปรากฏเรื่องการแทรกแซง ซึ่งที่ประชุม ก.ต.รับทราบผลรายงานตามนั้น แต่มีข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเรื่องของระบบการตรวจสำนวนที่ต้องพิจารณาว่ามีปัญหาปรับแก้หรือไม่

ดังนั้นจึงให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาประเด็นระบบตรวจสำนวน ที่ให้มีผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. รวมทั้งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. (ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการออกระเบียบ-กฎหมายสนับสนุนการทำหน้าที่ศาลยุติธรรม) เป็นคณะกรรมการ

เมื่อถามถึงปัญหาความเครียดของผู้พิพากษาในการปฏิบัติหน้าที่ตัดสินคดี กระทั่งนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เคยแถลงนโยบายเมื่อครั้งขึ้นดำรงตำแหน่ง เห็นควรจะให้มีการตรวจประเมินสุขภาพทางจิตทุก 5 ปี นายสราวุธ ชี้แจงว่า เดิมในการตรวจสุขภาพของผู้พิพากษามีอยู่แล้ว ส่วนการประเมินสุขภาพจิตก็จะมี 2 ช่วง คือเมื่อสอบผ่านเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา กับช่วงที่พ้นจากตำแหน่งบริหารแล้วจะแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส หลังเกิดเหตุการณ์เพื่อเป็นการระวังป้องกันและดูแลผู้พิพากษา ประธานศาลฎีกาจึงให้มีการออกระเบียบที่ชัดเจน เพื่อให้มีการประเมินสุขภาพจิตของผู้พิพากษาทุกๆ 5 ปี

“ที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) โดยนางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ได้นำเสนอร่างระเบียบหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินสมรรถภาพทางกายและจิตใจข้าราชการตุลาการ ให้ที่ประชุม ก.ต.พิจารณาไปครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ได้ตั้งข้อสังเกตไปบางจุดให้ปรับปรุงแก้ไข โดยจะมีการนำร่างระเบียบฯ นำเสนอที่ประชุม ก.ต.พิจารณาอีกเป็นครั้งที่สองในวันที่ 16 มี.ค.นี้”นายสราวุธ

เมื่อถามว่า การก่อเหตุฆ่าตัวตายของผู้พิพากษา จากที่มีการอ้างความเครียดจากงานพิจารณาพิพากษาคดี เคยเกิดขึ้นหรือไม่ กรณีของผู้พิพากษาคณากรเป็นครั้งแรกหรือไม่ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ตอบว่า เหตุการณ์ฆ่าตัวตายของผู้พิพากษา ในอดีตก็เคยมีที่ท่านผู้พิพากษากระโดดตึกอาคารศาลเสียชีวิต แต่เหตุจะเกิดจากความเครียดในการปฏิบัติหน้าที่เพียงใดนั้น ไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน ส่วนกรณีของผู้พิพากษาคณากร ตนก็ไม่อาจกล่าวถึงสาเหตุได้ว่าเหตุที่แน่ชัดเป็นอย่างไร โดยเมื่อได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่กองผู้ช่วยศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ได้ติดตามดูแลเรื่องการทำงาน ซึ่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ยังเห็นว่าผู้พิพากษาคณากรไม่ได้แสดงออกความเครียดใดๆ ส่วนตัวผู้พิพากษาคณากร ครั้งแรกที่เกิดเหตุช่วงรักษาตัวนั้น แพทย์ได้ประเมินสุขภาพทางจิตด้วยแล้ว ก็ไม่มีรายงานเรื่องสุขภาพทางจิตแต่อย่างใด

ถามถึงการช่วยดูแลครอบครัวข้าราชการตุลาการที่เสียชีวิต จะมีอย่างไรบ้าง นายสราวุธ กล่าวว่า ในส่วนของการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นล่าสุดกับผู้พิพากษา นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา กำชับให้ดูแลครอบครัวผู้พิพากษาอย่างดีที่สุด ซึ่งก็จะมีเรื่องสิทธิประโยชน์ผู้พิพากษาที่จะได้รับ ซึ่งเราก็จะตรวจสอบให้ครบถ้วน เพื่อส่งต่อให้ทายาทตามกฎหมาย