แทรกแซงคำพิพากษา ไม่น่ากลัวเท่า การสอบสวนตามสั่งแบบทหาร-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

แทรกแซงคำพิพากษา ไม่น่ากลัวเท่า การสอบสวนตามสั่งแบบทหาร-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

แทรกแซงคำพิพากษา ไม่น่ากลัวเท่า การสอบสวนตามสั่งแบบทหาร

                              พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เหตุการณ์ที่นายคณากร ผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดยะลาพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการใช้อาวุธปืนยิงที่หน้าอกด้านซ้ายข้างบัลลังก์ หลังอ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 5 คนในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น ถือเรื่องใหญ่ในสังคมที่กำลังถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ และ “มโน” กันไปต่างๆ นานา

เพราะนอกจากคำพิพากษาที่อ่านแล้ว ก็ยังมี “คำแถลงการณ์” ถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายความยาว 25 หน้า เผยแพร่ ประกอบด้วย

สรุปความในใจว่า เนื่องจากถูกแทรกแซงจากอธิบดีในการเขียนคำพิพากษา โดยมีความเห็นให้ลงโทษประหารชีวิตแทนการยกฟ้องตามร่างที่ส่งไปให้ตรวจพิจารณา

แต่นายคณากรเห็นว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากคดีไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอต่อการ “พิสูจน์จนสิ้นสงสัย” ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่ยอมปฏิบัติตาม ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คนไปตามดุลยพินิจและการวินิจฉัยของตน

ซึ่งท่านเข้าใจว่า การไม่ปฏิบัติคำแนะนำของอธิบดีเช่นนั้น จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการรับราชการ อาจถูกกลั่นแกล้งสอบสวนลงโทษทางวินัย หรือโยกย้ายให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนึ่งอย่างใดจนหมดอนาคตเป็นแน่

ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะฝ่ายที่ยืนฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลก็เชื่อว่า น่าจะมีการแทรกแซงคำพิพากษาในคดีดังกล่าวจริง และเกิดขึ้นในหลายคดีมากมาย ถือเป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 188 วรรคสอง  ที่บัญญัติคุ้มครองสอดคล้องหลักสากลไว้ว่า

“ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาอรรถคดีตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว   เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง”

แต่ถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญทุกมาตราก็เป็นเพียงการบัญญัติหลักการไว้กว้างๆ เพราะหลายเรื่องในความจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด

ความเป็นอิสระในการทำงานของข้าราชการสายวิชาชีพเฉพาะทาง โดยเฉพาะเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย จึงต้องพิจารณาระบบบริหารตั้งแต่การจัดงบประมาณ การบริหารงานบุคคล เลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง แต่งตั้งโยกย้าย และการลงโทษทางวินัยว่า แต่ละหน่วยมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมเพียงใด?

อย่างในระบบศาล ได้มีการออกระเบียบและหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลที่ชัดเจนไว้แทบทุกเรื่อง

เช่น ผู้มีอำนาจจะสั่งย้ายหรือสั่งให้ผู้พิพากษาไปปฏิบัติราชการที่อื่น โดยที่เจ้าตัวไม่สมัครใจไม่ได้ เว้นมีเหตุ หากให้อยู่ในตำแหน่งนั้นต่อไปจะเกิดความเสียหายต่อราชการที่มีหลักฐานชัดเจน

การเลื่อนตำแหน่ง ก็ใช้หลักอาวุโสอย่างเคร่งครัด สำหรับบุคคลที่ไม่มีความประพฤติเสียหายปรากฏ ก็ได้เลื่อนตำแหน่งตามลำดับอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น ก่อนออกคำสั่งขั้นสุดท้าย ก็ต้องผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต. ให้ความเห็นชอบอีกด้วย

ทำให้การกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายให้ผู้พิพากษาคนใดเพื่อให้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียอนาคต หรือการหาเรื่องจับผิดเพื่อตั้งกรรมการสอบสวนลงโทษทางวินัย ไม่เลื่อนเงินเดือน ไม่ใช่เรื่องที่ผู้บังคับบัญชาจะกระทำได้ง่ายๆ เหมือนข้าราชการฝ่ายอื่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตำรวจและทหารทั่วไป

ยิ่งถึงขนาดคิดว่า ถ้าไม่พิพากษาตามสั่งหรือตามคำแนะนำแล้ว อาจส่งผลทำให้ถูกไล่ออกหรือปลดออก ยิ่งแทบเป็นไม่ได้!

ประเด็นสำคัญของการเรียกร้องในแถลงการณ์ก็คือ ต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบให้ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรมีกระบวนการตรวจสอบก่อนอ่านคำพิพากษา ไม่ว่าโดยอธิบดีหรือระดับใด เพราะเห็นว่าเป็นการทำให้ไม่มีอิสระจริงตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ในความเป็นจริง การที่ศาลกำหนดให้ผู้พิพากษาต้องส่งร่างคำพิพากษาไปให้อธิบดีตรวจสอบ และมีความเห็นใน คดีสำคัญ ก่อนอ่านให้คู่ความฟังนั้น เป็นระเบียบที่ถูกกำหนดไว้และใช้เป็นการทั่วไปมานานแล้ว

และก็ไม่ได้ให้มีอำนาจ “สั่ง” ให้ผู้พิพากษาต้องปฏิบัติตามความเห็นนั้นแต่อย่างใด ใครจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้

นั่นหมายความว่า ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไทยยังมีอยู่ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 188 วรรคสอง และหลักการพื้นฐานสากลของสหประชาชาติ ที่บัญญัติว่า

“ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาต้องได้รับการประกันโดยรัฐ และถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของรัฐ  รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องเคารพและรักษาความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ”

ส่วนปัญหาเรื่อง “ทัศนคติและความคิดในใจ” ของผู้พิพากษาแต่ละคนว่าฝักใฝ่นิยมตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองใด มีความเข้มแข็งทางความคิด สามารถใช้ดุลยพินิจไปตามพยานหลักฐานด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง ไม่เป็นไปตามแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความกลัว “ความอยาก” รวมทั้ง “อคติ” ทั้งปวง ไม่ว่าทางบวกและลบแง่ใด ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการศึกษาและจิตใจของแต่ละคน ซึ่งคงไม่มีใครไปสืบค้นนำมาใช้เป็นหลักฐานอะไรในการกล่าวหากันได้ง่ายๆ

ปัญหาที่สังคมควรกังวลและเอาใจใส่อย่างแท้จริงยิ่งกว่าปัญหาการแทรกแซงคำพิพากษาก็คือ

“ระบบการสอบสวน”

เนื่องจากตำรวจผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนทุกคนในประเทศไทยอยู่ในระบบการปกครองแบบมีชั้นยศและวินัยเช่นเดียวกับทหาร!

ทุกคนสามารถถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษทางวินัยด้วยข้อหาสารพัดกันแสนง่าย การเลื่อนตำแหน่งแต่งตั้งโยกย้ายก็ไร้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่  ทำให้ทุกคนต้องจำใจปฏิบัติตามคำสั่งทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายด้วยกันแทบทั้งสิ้น!

อย่างคดีมีคนถูกฆ่าถึง 5 ศพนี้ ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานไป เสนอศาลออกหมายจับตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามชั้นยศและระบบการปกครองแบบทหารกันอย่างไร จึงทำให้เมื่ออัยการสั่งฟ้องไปตามที่เสนอแล้ว ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกคนได้ เนื่องจากพยานหลักฐานต่างๆ มีพิรุธและข้อสงสัยมากมาย?

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์ 5 คนที่ต้องถูกจับดำเนินคดีอยู่นานหลายปี หรือหากกรณีเป็นผู้กระทำผิดจริงก็ลอยนวลไป

ใครคือผู้รับผิดชอบระหว่าง “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ” และ “อัยการผู้สั่งฟ้องคดี”?  

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

โดยหลักการ เมื่อพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ไม่สิ้นสงสัย การที่ศาลพิพากษายกฟ้องก็ถูกต้องแล้ว เป็นไปตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 227 ที่บัญญัติว่า

“ให้ศาลใช้ดุลยพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

ในประเทศที่เจริญทั่วโลก ล้วนไม่มีปัญหาเรื่อง “อัยการสั่งไม่ฟ้อง” หรือ “ศาลพิพากษายกฟ้อง” ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับความเดือดร้อน คนร้ายเดินลอยนวลกันมากมายเหมือนประเทศไทย!

เนื่องจากเขาถือหลัก “ให้พิสูจน์จนสิ้นสงสัย” (Proof beyond reasonable doubt) ในชั้นสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน “ภายใต้การตรวจสอบควบคุม” ของอัยการผู้มีหน้าที่นำพยานหลักฐานไปฟ้องต่อศาลพิสูจน์ความผิดด้วยกันทั้งสิ้น

นอกจากนั้น ก่อนการเสนอศาลออกหมายจับบุคคลใด อัยการต้องมีหน้าที่ตรวจพยานหลักฐานและมั่นใจว่า เมื่อเสนอให้ศาลออกหมายจับตัวบุคคลใดมาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้อย่างแน่นอนเท่านั้น

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จึงไม่ใช่เรื่องมุ่งเน้นไปที่ศาล

 เพราะปัญหาแท้จริงอยู่ที่ “การสอบสวนภายใต้ระบบการบังคับบัญชาตามชั้นยศและวินัยแบบทหาร”

ซ้ำยังปราศจากการตรวจสอบควบคุมจากภายนอกไม่ว่าฝ่ายใดอย่างสิ้นเชิงต่างหาก!  

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : Monday, October 07, 2019