ตำรวจตั้งด่านขวางถนน ประชาชนเดือดร้อน รถชน ใครรับผิดชอบ? -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ตำรวจตั้งด่านขวางถนน ประชาชนเดือดร้อน รถชน ใครรับผิดชอบ? -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์


ปัญหาที่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะ คนยากจน ผู้ขี่รถจักรยานยนต์และรถบรรทุกส่วนใหญ่ต้องเผชิญด้วยความรู้สึก น่ารำคาญ อยู่แทบทุกวันคือ การตั้งด่าน ของตำรวจ สารพัดประเภท

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว .ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์  ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขตบางซื่อ ดุสิต ก็ได้บุก สน.เตาปูน ขอพบ ผกก. บอกความเดือดร้อนของประชาชนจากการตั้งด่านของตำรวจทั้งกลางวันกลางคืน

ก็ต้องขอขอบคุณ .ส.ธณิกานต์ แทนประชาชนทั้งประเทศมา ณ ที่นี้

ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์

หลายแห่งมีการนำสิ่งกีดขวางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรวยยาง หรือแผงเหล็กป้ายไฟมาวางบน ทางหลวงแผ่นดิน   บีบช่องทางจราจรจากสามสี่เลน ให้เหลือเพียงหนึ่งหรือสองช่อง

ต่อปัญหาการตั้งด่านนี้ ตำรวจอ้างกันแต่ว่า เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งและนโยบายของผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือเพื่อป้องกันอาชญากรรมและกวดขันวินัยจราจร

แต่ใครๆ ก็รู้ว่า วัตถุประสงค์สำคัญก็คือ การทำยอดค่าปรับจราจร ตามเป้าตามที่ตำรวจผู้ใหญ่กำหนดไว้

ซึ่งในความเป็นจริงหลายระดับได้ ส่วนแบ่ง ในรูปของ ส่วย มากกว่าตำรวจผู้ปฏิบัติงานตามท้องถนนคนใด!

รถทุกคันที่แล่นผ่านไปมา ไม่ว่าตำรวจจะพบการทำผิดกฎหมายหรือไม่ จึงถูกเรียกให้หยุด ขอตรวจค้น ขอดูใบขับขี่ หรือขอ ตรวจฉี่ หาสารเสพติด แม้กระทั่ง ขอตรวจความเมา สารพัด

คนไทยส่วนใหญ่รับรู้วิธีปฏิบัติเช่นนี้มานานหลายปี  จนมีบางคนคิดว่าเป็นเรื่องที่ตำรวจมีอำนาจทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายไปแล้ว?

รัฐธรรมนูญ มาตรา 38 บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทาง 

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานตรวจค้นประชาชนในที่สาธารณะได้ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 93 ที่บัญญัติว่า

“ห้ามมิให้ค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นเมื่อ มีเหตุอันควรสงสัย ว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของเพื่อจะใช้ในการกระทำผิด ได้มาโดยการกระทำผิด หรือมีไว้เป็นความผิด”

เหตุอันควรสงสัยต้องเกิดจาก พฤติการณ์ หรือ การกระทำ ของบุคคลนั้นอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ว่าขณะนั่ง เดิน หรือขับรถในทางสาธารณะ

ไม่ใช่เรื่องที่ตำรวจคนใดจะ นึก หรือ คิด เอาเองแต่อย่างใด

เช่น เห็นผู้ชายวัยรุ่นตัวผอมๆ หรือมีรอยสักตามร่างกาย ถุงพะรุงพะรัง หรือ เป็นนักเรียนอาชีวะ คนต่างด้าวแล้ว ตำรวจทึกทักเอาว่านั่นคือเหตุอันควรสงสัย

แม้กระทั่งพูด มั่ว หลอกประชาชนว่า ได้รับรายงานจาก สายลึกลับ ว่า จะมีคนร้ายขนของผิดกฎหมายผ่านมาทางนี้ เพื่อให้ตนมีอำนาจตรวจค้น?

ทางหลวงต่างๆ ไม่ว่าประเภทใด รัฐได้ใช้เงินภาษีของประชาชนมากมายสร้างขึ้นมาก็โดยหวังว่าจะทำให้ประชาชนได้ใช้สัญจรกันด้วยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเจริญก้าวหน้าขึ้น

ไม่ได้สร้างมาเพื่อให้ข้าราชการไม่ว่าหน่วยใดใช้เป็นที่ตั้งด่าน หารายได้ ทำมาหากินกันแต่อย่างใด!

ตำรวจตั้งด่าน

จึงได้มีการตรา พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ขึ้น คุ้มครองทางให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษรุนแรง

ที่สำคัญคือ มาตรา 39 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล      

ผู้ฝ่าฝืนมี โทษจำคุกถึงสามปี ตามมาตรา 71 

และหากเป็นกรณีมีเกิดอุบัติเหตุจากการตั้งด่าน ก็ต้องรับผิดทางอาญาฐาน กระทำประมาท เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือตาย รวมทั้งต้อง ชดใช้ทางแพ่งฐานกระทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ด้วย

สรุปว่า การที่ตำรวจจะมีอำนาจ เรียก บุคคลใดใน ที่ หรือ ทางสาธารณะ ขอตรวจค้นตัวนั้น สามารถกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายดังนี้

1.ป.วิ อาญา มาตรา 93 เมื่อ มีเหตุอันควรสงสัย ว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของได้มาโดยการกระทำผิดหรือมีสิ่งผิดกฎหมายในความครอบครอง

2.พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 142 เมื่อ “ตำรวจผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานจราจร พบการกระทำผิดกฎหมายจราจรแล้ว อย่างหนึ่งอย่างใด จึงมีอำนาจเรียกให้หยุดรถขอตรวจใบขับขี่และ ออกใบสั่ง ให้ไปชำระค่าปรับที่ ตามพนักงานสอบสวนท้องที่ เปรียบเทียบ

หากเป็นกรณี “มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับรถนั้นเมา” (ไม่ใช่ดื่มเหล้า) เช่น ขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร หรือขับรถเกิดอุบัติเหตุ ก็มีอำนาจสั่งให้ทดสอบเพื่อวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ ตาม มาตรา 142 วรรคสอง

เมื่อปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าวแล้วเจ้าพนักงานสั่งให้ทดสอบ หากไม่ยินยอม ก็จะถูกสันนิษฐาน ว่าขับรถในขณะเมาสุราตามวรรคสี่ ตำรวจมีอำนาจจับกุมดำเนินคดีได้ทันที

3.พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามยาเสพติด มาตรา 56/1 โดยตำรวจผู้มีอำนาจต้องได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าพนักงาน ปส.” (มีบัตร ปส.แสดงได้) รวมทั้ง มีความจำเป็นและเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลนั้นเสพสารเสพติด

สำหรับวิธีการตรวจค้นหรือตรวจสอบไม่ว่าตามกฎหมายฉบับใด เจ้าพนักงานสามารถทำได้ด้วยวิธีสังเกตบุคคลหรือรถแต่ละคันที่แล่นผ่านไปมาว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ แล้วขับรถตามเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินแจ้งให้หยุด พร้อมบอกเหตุผลที่เรียก เช่นที่ปฏิบัติกันในประเทศที่เจริญทั่วโลก

ไม่มีตำรวจคนใดหรือระดับใดมีอำนาจใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการ ตั้งด่าน นำสิ่งกีดขวางมาวางบนถนน เรียกให้รถทุกคัน “หยุด” ขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งผิดกฎหมายในความครอบครองหรือได้ทำผิดกฎหมายจราจรหรือกฎหมายยาเสพติดแล้วอย่างที่ปฏิบัติกันทุกวันนี้แต่อย่างใด

ตำรวจผู้ใหญ่คนไหนที่อ้างความเห็นกฤษฎีกาบอกว่าตำรวจสามารถ “ตั้งด่าน” ได้โดยชอบ?

ก็ ลองตอบคำถามของประชาชนง่ายๆ ว่า ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุรถชนกันมีคนเจ็บหรือตาย ใครคือผู้รับผิดชอบทางอาญาและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

คนขับรถ หรือ ตำรวจผู้ปฏิบัติ รวมทั้ง ผู้บังคับบัญชาที่สั่งตั้งด่าน ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ทางหลวง มาตรา 39 ดังกล่าว?

สิ่งที่ตำรวจปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่ว่าระดับใดกันมานานนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่จะได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายทั้งอาญาและแพ่งแต่อย่างใด! 

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ที่มา: ไทยโพสต์  คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, August 26, 2019