นายกรัฐมนตรีต้องแก้ปัญหาหัวหน้าตำรวจไม่เข้าประชุมจังหวัด – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

นายกรัฐมนตรีต้องแก้ปัญหาหัวหน้าตำรวจไม่เข้าประชุมจังหวัด – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

นายกรัฐมนตรีต้องแก้ปัญหาหัวหน้าตำรวจไม่เข้าประชุมจังหวัด

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ไปประชุมมอบนโยบายและ แนวทางปฏิรูปตำรวจ ที่สำนักงานปทุมวันเป็นครั้งแรก หลังจากที่ชี้แจงต่อสภาว่าจะกำกับดูแลด้วยตนเอง

กำชับอย่างขึงขังว่า ต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่งอย่างเด็ดขาด!

อันที่จริง มันไม่ควรจะมี หรือแม้กระทั่ง ได้ยิน ด้วยซ้ำ  เพราะถือเป็น อาชญากรรมราชการ ที่ต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาด ไม่จำเป็นต้องมีใครพูดกำชับอะไรให้อายชาวโลกแต่อย่างใด?

เพราะไม่เคยได้ข่าวว่าตำรวจประเทศไหนมีปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง “เจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น” เหมือนประเทศไทย!

คำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ตำรวจส่วนใหญ่และลูกเมียอยากฟังอย่างมากก็เช่น ต่อไปตำรวจทุกคนไม่ต้อง วิ่งเต้น หรือ ส่งส่วย ไม่ว่าจะเป็นรายเดือน หรือเทศกาลให้กับผู้บังคับบัญชาคนไหน

หรือต้องช่วย ขายพระ ซื้อ บัตรกอล์ฟ บัตรมวย และกีฬากายกรรมเจ้าประจำสารพัด เพื่อจะได้อยู่ในตำแหน่งต่อ เลื่อนขึ้น รวมทั้งถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายให้ครอบครัวเดือดร้อนกันเช่นที่ผ่านมา

งานสอบสวนก็จะสร้าง หลักประกันความเป็นอิสระ  ไม่ให้ผู้บังคับบัญชาสามารถแทรกแซงหรือสั่งให้ สอบสวนสร้างพยานหลักฐานเท็จ หรือแม้กระทั่ง สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน ได้

โดยเริ่มต้นใช้วิธีออกหลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่ชัดเจนในวาระที่จะถึงนี้

แต่กลับไม่ได้ยิน?

อันที่จริง นายกรัฐมนตรีสามารถนำข้อกำหนดการแต่งตั้งโยกย้ายที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับที่นายมีชัยเสนอไปเมื่อปลายปี 2561 ซึ่งบอกว่าให้เวลา ผบ.ตร. 1 เดือน เสนอทั้งหมดมาเพื่อพิจารณา

นำบางส่วนมาออกเป็น กฎ ก.ตร.บังคับใช้ได้ทันที

ไม่ปล่อยให้ตำรวจผู้ใหญ่ หลอกให้งง หลงพูดว่า การแต่งตั้งมีหลักเกณฑ์ดีอยู่แล้ว

คือที่บอกว่าได้จัดโควตาให้พวก อาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์  เพื่อความเป็นธรรม

แต่ไม่พูดว่าอีก 67 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอ้างว่าเป็นพวกเก่งดีมีความสามารถนั้น ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการวัดและพิจารณา?

เท่ากับว่า ในส่วนนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการ วิ่งเต้น หรือแม้กระทั่ง ต่อรองการตอบแทน เป็นเงินหรือทรัพย์สินรวมทั้ง บุญคุณต่างๆ อย่างสลับซับซ้อนได้เช่นเดิม!

อันที่จริง อาวุโสในการทำงานคือครองตำแหน่งมานานกับความสามารถนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ใช้เป็นหลักนำ 100 เปอร์เซ็นต์มาแต่ไหนแต่ไรในทุกหน่วยงาน แม้กระทั่งวงการทหารก็ทราบกันดี

แต่เมื่อประมาณยี่สิบปีที่ผ่านมา ได้ถูกตำรวจผู้ใหญ่เครือข่าย พ่อค้าตำแหน่ง ซึ่งวงการตำรวจเรียกว่า แก๊งเนคไท! บอกว่าเป็นคนละเรื่องกัน และมีการแก้ไขหลักเกณฑ์แต่งตั้งให้ เอาอาวุโสไว้หลังสุด

การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจจึงชุลมุนวุ่นวายมีปัญหาการซื้อขายนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกกฎ ก.ตร. แบ่งให้พวกอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์เพื่อลดแรงกดดัน แต่ที่เหลือ 67 เปอร์เซ็นต์ยังคงไม่มีหลักเกณฑ์เช่นเดิม

นอกจากปัญหาการแต่งตั้งตำรวจซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่ แต่ในภาพรวมของแนวทางปฏิรูปอาจกล่าวได้ว่า นายกฯ เดินมา ถูกทิศ

เช่นคำพูดว่า ตำรวจระดับบังคับบัญชามีมากแล้ว

อันที่จริงนายพลตำรวจประเทศไทยมีมากเกินไปด้วยซ้ำ และ หลายตำแหน่งหลายหน่วยไม่ได้มีคุณค่าและความจำเป็นอะไรต่อสังคมเลย!

ประเทศไทยมีประชากร 67 ล้าน แต่มีตำแหน่งนายพลตำรวจทั้งประเทศถึง 500 คน

ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาล้าหลังใกล้เคียงกันอย่าง อินโดนีเซีย มีประชากร 250 ล้าน ยังมีนายพลตำรวจ ไม่ถึง 200 คน

และประเทศที่เจริญส่วนใหญ่ไม่มีตำรวจยศนายพล  เนื่องจากเขาถือว่า ตำรวจเป็นงานพลเรือน ไม่ควรมียศแบบทหาร เพราะทำงานรักษากฎหมาย กระจายไปให้มีอยู่ทุกกระทรวง ทบวง กรม

อย่าง หัวหน้าตำรวจ กรุงลอนดอน หรือ Police commissioner ซึ่งปัจจุบันคือ นาง Cressida Dick นั้น ควบคุมตำรวจตรวจตรารักษากฎหมายอยู่กว่า 40,000 คน  ทำงานตามคำสั่งและนโยบายของนายกเทศมนตรีผู้ที่ได้รับการเลือกจากประชาชน

กรมการจังหวัด

สำหรับ กองบัญชาการตำรวจภาคไทยซึ่งมีนายพลตำรวจอยู่มากมายแต่ละแห่งนับสิบคนนั้น เป็นที่รู้กันในวงการตำรวจว่าเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็นอะไร!

ถ้ายุบเสียได้ นอกจากจะประหยัดเงินภาษีได้ถึงปีละ 7,000-8,000 ล้าน

 ยังจะทำให้งานตำรวจในทุกจังหวัดดีขึ้นอย่างมาก  อบายมุขทุกชนิดและบ่อนการพนันอาจไม่มีการเปิดเลยด้วยซ้ำ!

ให้ตำรวจในจังหวัดตรวจตรารักษากฎหมายตามนโยบายและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดภายใต้การตรวจสอบประเมินผลของประชาชนเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลก

แทนที่หัวหน้าสถานีจะต้องตื่นแต่เช้ามืดเดินทาง “พร้อมซอง” ไปประชุมทุกเดือนที่ตำรวจภาค หรือแม้กระทั่งนั่งรอ “คอนเฟอเรนซ์” จาก ผบช. และผู้บังคับบัญชาส่วนกลางที่อยู่ห่างไกล และแทบจะไม่รู้ปัญหาอะไรในแต่ละจังหวัดอย่างแท้จริงเลย

 มีปัญหาหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจไม่ทราบก็คือ

ปัจจุบันผู้บังคับการตำรวจจังหวัดส่วนใหญ่ อาจกล่าวได้กว่าร้อยละ 90 ทั่วประเทศ ไม่เข้าประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด หรือที่เรียกว่า “กรมการจังหวัด” ที่ ผู้ว่าฯ เป็นประธาน มีหัวหน้าหน่วยงานกว่า 30 หน่วยและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องนับร้อยคนให้ความสำคัญเข้าประชุมด้วยตัวเองกันทุกเดือนอย่างพร้อมเพรียง

แต่จะมอบหมายให้ รอง ผบก. ผกก.อก. หรือแม้กระทั่งรอง ผกก. ไปประชุมแทนทุกเดือน!

ผู้ว่าฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทุกหน่วยในจังหวัด รับผิดชอบงานทุกด้านตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินจะสอบถามปัญหา เช่น ยาเสพติด แหล่งอบายมุข ปัญหาสาธารณสุข อุบัติเหตุจราจรหรือการสอบสวนคดีอะไรต่อผู้บังคับการ เพื่อให้แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนตามที่หน่วยราชการต่างๆ รายงานก็ไม่ได้!

นี่ เป็นปัญหาที่นายกรัฐมนตรีต้องสั่งการแก้ไขโดยเร็ว ไม่ว่าจะทำเป็นหนังสือ หรือสั่งด้วยวาจาอย่างหนึ่งอย่างใด

ให้ผู้บังคับการตำรวจเข้าประชุม “กรมการจังหวัด” ด้วยตัวเองทุกครั้ง

รับรู้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแล้วนำไปแก้ไข รายงานเป็นหนังสือให้ผู้ว่าฯ ทราบ

อย่างเช่นปัญหาบ่อนพนันใหญ่ในอำเภอเมืองสงขลาและทั่วประเทศอีกมากมาย ที่ผู้คนพูดกันว่า  “เคลียร์ทุกหน่วยแม้กระทั่งผู้ว่าฯ” แล้ว เช่น “บ่อนบ่อระกำ” คนเล่นเป็นร้อยในแต่ละวันนั้น

ผู้ว่าฯ ต้องมีอำนาจสั่ง ผบก.ตำรวจจังหวัดให้จับกุมได้ รายงานผลตามกำหนด

ให้ผู้ว่าฯ ส่งรายงานการประชุม (ผ่านปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) เพื่อทราบปัญหาของแต่ละจังหวัดทุกเดือน.

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, August 12, 2019