ย้อนปมปัญหาศาลจำคุกเจ้าอาวาสวัดกัลยาฯทุบโบราณสถาน ปชช.แจ้งความ22คดีแต่ตำรวจ-อัยการร่วมกันสอบสวนล้มคดี

ย้อนปมปัญหาศาลจำคุกเจ้าอาวาสวัดกัลยาฯทุบโบราณสถาน ปชช.แจ้งความ22คดีแต่ตำรวจ-อัยการร่วมกันสอบสวนล้มคดี

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ และคอลัมนิสต์ “เสียงประชาชน ปฏิรูปตำรวจ”  กล่าวถึงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง สั่งจำคุกเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรฯ 1ปี6เดือน ในคดีทุบทำลายโบราณสถาน ว่า การทำลายโบราณสถานวัดกัลยาณมิตรฯ อายุกว่า 200 ปี ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศเป็นโบราณสถาน ได้เริ่มขึ้นนับแต่พระพรหมกวีเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี 2545 ได้มีการสั่งให้ทุบทำลายอย่างต่อเนื่องถึงปี 2554 จนหายไปต่างกรรมต่างวาระ เช่น หอระฆัง หอไตร ศาลาราย และกุฏิโบราณ รวม 22 รายการ ซึ่งพระพรหมกวีทราบดีอยู่แล้วว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นโบราณสถานของชาติ เนื่องจากอธิบดีกรมศิลปากรได้มีหนังสือแจ้งให้ทราบระหว่างการทุบทำลายเป็นระยะๆ

 

“ในที่สุดได้มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีพระพรหมกวีตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน รวม 22 คดี แต่ละคดีมีโทษจำคุกถึงสิบปี แต่ ผกก.สน.บุปผาราม ผบก.น.8 และ ผบช.น. ได้ดำเนินการสอบสวน ล้มคดี  ช่วยไม่ให้พระพรหมกวีต้องรับโทษรวม 18 คดี โดยสรุปเสนอให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างเหตุผลว่า การทำลายโบราณสถานดังกล่าว พระพรหมกวีไม่ได้มีเจตนาทำลายโบราณสถาน แต่เป็นการกระทำเพื่อพัฒนาวัด ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย”

 

พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวต่อว่า ทำให้ในประมาณปี  2554 เครือข่ายประชาชนวัดกัลยาฯ นำโดย ดร.เชียรช่วง กัลยาณมิตร ได้ไปกล่าวโทษต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินคดีพนักงานสอบสวน, ผกก.สน.บุปผาราม, ผบก.น.8 และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ขณะดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.น. ผู้ดำเนินการสอบสวนโดยมิชอบเสนอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุผลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งพนักงานอัยการผู้สั่งไม่ฟ้องทั้ง 18 คดีด้วย แต่จนกระทั่งป่านนี้ ป.ป.ช.ก็ยังไม่ได้วินิจฉัยแต่อย่างใด

 

“การกล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานทั้งตำรวจและอัยการผู้สั่งคดีโดยมิชอบต่อ ป.ป.ช.ดังกล่าว ทำให้คดีที่เหลืออีก 4 คดี อัยการไม่กล้าสั่งไม่ฟ้องเช่นเดิม แต่ได้สั่งฟ้องทั้งหมด และศาลได้มีคำพิพากษาจำคุกพระพรหมกวี 3 ปีในคดีหนึ่ง ยังเหลืออีก 3 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าทั้งปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนโดยมิชอบของ ผกก.สน.บุปผาราม, ผบก.น.8 และ บช.น. โดย พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ในขณะนั้น ป.ป.ช.จะวินิจฉัยเมื่อใด และผลเป็นอย่างไร รวมทั้งคดีที่เหลืออีก 3 คดีของพระพรหมกวี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลด้วย” พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาในคดีระหว่างพนักงานอัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพระพรหมกวี เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นจำเลย ในคดีที่ สน.บุปผาราม รวบรวมสำนวนพร้อมความเห็นส่งพนักงานอัยการ ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2562 หมายเลขดำ อท.34/2562 ในความตาม พ.ร.บ.วัตถุโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 4, 8, 10, 32, 35 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2504 มาตรา 45 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84, 93

 

โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พ.ร.บ.วัตถุโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 10, 32 วรรคสอง, 35 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ มาตรา 84 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 3 ปี ปรับ 60,000 บาท

 

จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษา อาชีพ สิ่งแวดล้อมของจำเลย ซึ่งเป็นพระภิกษุ เป็นผู้ปฏิบัติตนอยู่ในศีล ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหลวง เพื่อทำการปรับปรุงพัฒนาวัด และยังจัดตั้งโรงเรียนสงฆ์อีกด้วย การที่จำเลยบูรณปฏิสังขรณ์วัด ทำให้ทัศนียภาพของกุฏิสงฆ์ ศาลาภายในวัด สวยงามดังเดิม ตลอดจนภาพลักษณ์ของวัดมีความปลอดภัยมากขึ้น สมกับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำชาติไทย ประกอบกับไม่มีเรื่องของการทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

 

สำหรับคดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า จำเลยเป็นอาวาสวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่บำรุงรักษาจัดกิจการและสาธารณสมบัติของวัด ได้บังอาจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ด้วยการร่วมกับพวกซึ่งแยกไปดำเนินคดียังศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอีกส่วนหนึ่ง ก่อนใช้ให้นายฉลอง ไทยขำ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2364/2559 ของศาลอาญาธนบุรี ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษไปแล้ว กับพวกอีกหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ด้วยการใช้ จ้างวาน ยุยงส่งเสริมให้ ทำลายทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าและทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งกุฏิคณะ 1 จำนวน 1 หลัง และศาลาราย จำนวน 1 หลัง ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ภายในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร อันเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ที่จำเลยต้องมีหน้าที่ดูแลจัดการให้เป็นไปด้วยดีตามกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันก่อให้นายฉลองกับพวกร่วมกันกระทำความผิด ดังได้ร่วมกันทุบทำลายทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าไร้ประโยชน์ซึ่งกุฏิสงฆ์คณะ 1 และศาลารายดังกล่าว อันเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วตามกฎหมาย โดยไม่รับอนุญาตเป็นหนังสือหรือเป็นการทำตามคำสั่งจากอธิบดีกรมศิลปากร

 

“การกระทำความผิดสำเร็จดังสมเจตนาของจำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้ใช้จ้างวาน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกับพวกดังกล่าวก็ให้ใช้นายฉลอง กับพวกกระทำความผิด ทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ด้านการคุ้มครองดูแลรักษาซ่อมแซม อันเป็นการบูรณะหรือรักษาไว้ให้คงสภาพเดิมซึ่งโบราณสถานเพื่อเป็นประโยชน์คุณค่าในทางศิลปะประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดีอันเป็นทรัพย์มรดกที่มีค่ายิ่งของชาติ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย”