นานาชาติไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมไทย’พรรคอนาคตใหม่’จะปฏิรูปอย่างไร?-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

นานาชาติไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมไทย’พรรคอนาคตใหม่’จะปฏิรูปอย่างไร?-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

นานาชาติไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมไทย’พรรคอนาคตใหม่’จะปฏิรูปอย่างไร?

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปัจจุบันนั้นแสนประหลาด

ประชาชนลงคะแนนไปแล้ว รัฐก็ยังประกาศผลโดยเร็วไม่ได้ เพราะ กกต.ไม่รู้จะนับและคำนวณกันอย่างไร? มีการโต้แย้งกันไปมาเรื่องปัญหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

สื่อหลายสำนัก โดยเฉพาะ คุณสุทธิชัย หยุ่น และคุณวราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ดำเนินรายการสถานี Thai PBS ตั้งโต๊ะวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งและสูตรการจัดรัฐบาลทุกวันกันจนเหนื่อย!

ก่อนเลือกตั้ง ทำไม กกต.ทั้ง 7 คน จึงไม่ศึกษาบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญรวมทั้งกฎหมายประกอบ ให้ตกผลึก กันเสียก่อน ไม่มีใครอธิบาย?

ในการจัดรัฐบาล ตัวแปรสำคัญขณะนี้กลายเป็นว่า   พรรคประชาธิปัตย์ จะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและอีกหลายพรรคที่พร้อมเสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา   เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่?

เพื่อทำให้รัฐบาลได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ที่พอกล้อมแกล้มพูดว่า ได้ฉันทานุมัติจากประชาชนส่วนใหญ่

ไม่ดันทุรังใช้เพียงเสียง .ว.ลากตั้ง 250 คน เพื่อไปตายเอาดาบหน้าที่จะสร้างปัญหาให้เกิดตามมามามาย

แต่ปัญหาคือ คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจอย่างไรในการเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ หัวหน้าคณะปฏิวัติ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 และจนถึงขณะนี้ เป็นนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบการบริหารประเทศต่อไป

รวมทั้งต้องยอมรับนโยบาย “กัญชาเสรี” ของพรรคภูมิใจไทย ในการอนุญาตให้ประชาชน สูบ กิน เพื่อรักษาโรคร้าย ที่เชื่อกันว่าจะทำให้หายได้ รวมทั้งเกิดความเพลิดเพลินเจริญใจและส่งออกเป็นรายได้ ปลูกไว้บ้านละ 6 ต้น” ตามที่ติดประกาศไว้ตอนหาเสียงทั่วประเทศจนทำให้ได้คะแนนมาไม่น้อยด้วย!

แม้กรรมการบริหารและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนอยากจะเข้าร่วมรัฐบาลใจจะขาด บางคนรีบสรุปว่า  การที่ หัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ประกาศจุดยืนต่อประชาชนไว้ก่อนเลือกตั้งว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่สืบทอดอำนาจรัฐประหาร เพราะถือว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

ไม่ใช่มติพรรคที่กรรมการบริหารและสมาชิกจะต้องยึดถือหรือให้ความสนใจแต่อย่างใด!

แต่จะนับว่าเป็นเรื่อง “เสียหลักการของพรรค” ที่มีอุดมการณ์ยืนหยัดต่อต้านอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบที่ประชาชนเคยเชื่อมั่นตลอดมาหรือไม่?

                แล้วต่อไปคำพูดของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องต่างๆ อีกมากมาย ประชาชนจะเชื่อถือได้อย่างไร?

ระยะนี้นายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถือว่าประสบชัยชนะในการเลือกตั้งทั้ง ส.ส.แบบเขตและบัญชีรายชื่อ เหนือทุกพรรค จนเกินความคาดหมาย

ไม่ว่าใครจะคิดหรือวิจารณ์อย่างไร ก็ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่เบื่อ พรรคการเมืองแนวคิดเก่า ทุกพรรค  และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศ อย่างรวดเร็ว ตามที่หัวหน้าพรรคประกาศไว้ในหลายเรื่อง

คำว่า “ค่อยเป็นค่อยไป” เพื่อซื้อเวลา ไม่สามารถใช้หลอกเด็กรุ่นใหม่เช่นเดิมได้อีกต่อไป!   

แต่หลังชนะเลือกตั้งไม่กี่วัน นายธนาธรกลับถูกตำรวจออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหากรณีที่มีผู้ไปแจ้งความตั้งแต่ปี 2558 ว่ากระทำผิดอาญาข้อหาปลุกปั่นยุยงประชาชนและมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกินสิบคน เหตุเกิดที่หน้า สน.ปทุมวันในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน   

เวลาผ่านมาร่วม สี่ปี แต่ตำรวจไม่ได้มีการออกหมายเรียกนายธนาธรไปรับทราบข้อหาดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งที่ ป.วิ อาญา มาตรา 130 บัญญัติไว้ว่า ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า…..

และมาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อจะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือ ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

ตำรวจผู้ใหญ่อ้างว่า ที่คดีล่าช้ามาจนกระทั่งป่านนี้  เพราะมีปัญหาเรื่องการบริหารงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้มีการโยกย้ายและเปลี่ยนตัวกันไปมา!

ตอนนั้นไม่ถือเป็นคดีสำคัญหรืออย่างไร ทำไมจึงปล่อยให้เวลาผ่านไปเกือบสี่ปี

                และทำไมตอนนี้จึงกลายเป็น เป็นคดีสำคัญ ขึ้นมาได้ ต้องเร่งออกหมายเรียกฯ ดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอให้อัยการสั่งคดี

                นอกจากนั้น ก็มีนายพลตำรวจหลายคนที่ไม่ได้เป็น “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย” ให้ความสนใจไปเดินกันจนชุลมุนที่ สน.ปทุมวันในวันที่นายธนาธรไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก          

ระบบงานสอบสวนการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาของไทยที่สามารถสอบสวนแบบ ช้า หรือ เร็ว รวมทั้ง เก็บดอง ไว้นานเท่าใดก็ได้และไม่น่าเชื่อถือเช่นนี้

จึงไม่น่าแปลกใจที่ ทูต 11 ประเทศ และอีก 2 องค์กรระหว่างประเทศ จะเกิดความไม่ไว้ใจต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ได้ส่งผู้แทนไปสังเกตการณ์ซักถามปัญหาและวิธีดำเนินการที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

อย่างแค่ปัญหาการออกหมายเรียกผู้ต้องหาตามแบบฟอร์มของตำรวจ ประชาชนคนที่ถูกเรียกไม่มีโอกาสรู้จากข้อความตามหมายเลยว่า ตนเองได้ไปกระทำความผิดตามข้อหาเรื่องอะไร เหตุเกิดวัน เดือน ปี และสถานที่ใด มีรายละเอียดในการกระทำอย่างไร?

เพื่อผู้ที่มั่นใจว่าตนไม่ได้กระทำผิดจะได้เตรียมข้อมูลและพยานหลักฐานไปแสดงความบริสุทธิ์ของตนต่อพนักงานสอบสวนได้อย่างถูกต้องในวันที่ต้องไปพบตามหมาย

จะต้องเตรียมเงินหรือหลักทรัพย์ไปใช้ในการประกันตัวหรือไม่ จำนวนเท่าใดก็ไม่รู้?

                ขู่กันแต่ว่า ถ้าใครไม่มาตามหมายเรียก 2 ครั้ง ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จะเสนอศาลออกหมายจับท่าเดียว!

นอกจากนั้น เมื่อตำรวจแจ้งข้อหาต่อประชาชนแล้ว   ผลสุดท้ายอัยการจะ สั่งฟ้อง รวมทั้ง ศาลพิพากษาลงโทษ หรือไม่?

ก็ไม่มีใครแน่ใจ แม้กระทั่งพนักงานสอบสวนและอัยการเอง!

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาประเทศไทยต้องได้รับการปฏิรูป แก้ไขกฎหมาย ป.วิ อาญา เกี่ยวกับการสอบสวนให้สอดคล้องกับระบบสากล 

ทำให้ประชาชนทั้งคนไทยและนานาชาติเกิดความเชื่อถือเชื่อมั่นว่า

เมื่อตำรวจออกหมายเรียกผู้ต้องหามา ด้วยความเห็นชอบของอัยการ แล้ว

                คดีจะถูก สั่งฟ้อง ให้ศาลพิพากษาลงโทษได้อย่างปราศจากข้อสงสัย (Proof to beyond reasonable doubt) แน่นอนเท่านั้น.     

 

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ Monday, April 08, 2019