ห้าพรรคการเมืองใหญ่ กับนโยบายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

ห้าพรรคการเมืองใหญ่ กับนโยบายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

ห้าพรรคการเมือง

 

                       ห้าพรรคการเมืองใหญ่

        กับนโยบายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน

                                                            

                                                   พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ปัญหาการแต่งตั้งตำรวจแบบ “ย้อนยุค” ที่ “รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด” ทำให้การแต่งตั้งและโยกย้ายตำรวจระดับรองผู้บังคับการไปจนถึงรองสารวัตรประจำปีแทนคนที่เกษียณเป็นไปอย่างล่าช้ายิ่ง ควรจะออกคำสั่งได้ตั้งแต่เดือนตุลา. เลื่อนแล้วเลื่อนอีกมาจนกระทั่งป่านนี้

จึงเพิ่งมีคำสั่งออกมาเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จากเก้าพันกว่าตำแหน่ง

อีกทั้งเพียงสิบกว่าวันก็จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ซึ่งถือว่ามีความสำคัญในการชี้ชะตาและทิศทางของบ้านเมืองเป็นอย่างมาก

หัวหน้าสถานีคนเก่าที่รู้พื้นที่ รู้จักบุคคล รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติดและความขัดแย้งต่างๆ ของประชาชนดี หลายคนถูกสั่งย้ายออกไป

เอาคนใหม่ที่วิ่งเต้นอยากเลื่อนตำแหน่ง แต่ไม่รู้พื้นที่  ไม่รู้จักใคร ตั้งแต่กำนันผู้ใหญ่บ้านและ แม้กระทั่งตำรวจในสถานีหรือจังหวัดนั้น มาปฏิบัติงานแทน!

ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการเขียนต่อท้ายไว้ว่า “ให้คำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2562 โดย ให้โอนอัตราเงินเดือนเดิมไปตั้งจ่ายสำหรับตำแหน่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2562 เป็นต้นไป 

ซึ่งน่าจะหมายความว่า แม้มีคำสั่งให้ย้ายตั้งแต่ 8 มีนาคม แต่ก็ยังไปรับตำแหน่งไม่ได้ เพราะอัตราเงินเดือนยังไม่ได้โอนไป คงต้องรอให้ถึงวันที่ 1 เมษายน เพื่อให้การเลือกตั้งผ่านไปก่อน!

ส่งผลทำให้ตำรวจโดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานกันอย่างละล้าละลัง

เพราะเมื่อชื่อหัวหน้าหน่วยถูกสั่งย้ายมีผลตามกฎหมายไปแล้ว แม้ตัวทำงานอยู่ เพราะยังเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ไม่ได้ แต่ตำรวจด้วยกันรวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนก็ไม่อยากให้ความสนใจหรือคิดพึ่งพาอาศัยอะไรในอนาคตอีกต่อไป

ตำรวจส่วนใหญ่สนใจและพูดคุยกันแต่ว่า นายใหม่ของตนคือใคร นิสัยใจคอเป็นอย่างไรแน่?

จะดี หรือ “แย่” กว่าคนเก่ามากน้อยเพียงใด?           นอกจากนั้น แต่ละคนทั้งที่ย้ายไปย้ายมาข้ามจังหวัดแม้กระทั่งภูมิภาค ถ้าได้เลื่อนตำแหน่งหรือย้ายได้ดีเป็นตามเป้า ก็คึกคัก

หลายคนตื่นเต้น ขับรถพาญาติพี่น้องไปจอดซุ่มใกล้สถานีล่วงหน้า ประเมินพื้นที่ว่าสภาพเศรษฐกิจและแหล่งอบายมุขมีมากน้อยเพียงใด?

ตรงกับข้อมูลที่มีคนบอกว่า น่าอยู่ น่ามาปฏิบัติงานเป็นผู้รักษากฎหมาย แทนคนเดิมที่ถูกย้ายไปหรือไม่

ส่วนคนที่ผิดหวังไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ต้องซ้ำชั้นอยู่ที่เดิม ซ้ำ “ถูกข้ามหัว ข้ามอาวุโส” การแต่งตั้งไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ทุกคนเรียกกันว่าเป็น “กฎหมายสูงสุดของประเทศ” 

            รวมทั้งคนที่ถูกเตะกระเด็นออกไปข้ามหน่วยข้ามจังหวัดหรือภูมิภาคอย่างไร้เป้าหมาย ไร้อนาคต ต่างก็เดินคอตกกะปลกกะเปลี้ย เสียขวัญเสียกำลังใจ ไม่อยากทำงานการหรือพูดจากับใคร?

            ทุกปีจะมีตำรวจตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่ตกอยู่ในอาการเช่นนี้ คาดว่าไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของผู้ถูกสั่งแต่งตั้งทั้งหมด ส่งผลให้ตำรวจผู้น้อยที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนนับแสนคนได้รับผลกระทบตามไปด้วย

บางคนที่อายุราชการเหลืออีกไม่กี่ปีเกิดความท้อใจ   ยื่นใบลาออก แต่ไม่ยอมบอกเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา!      บางคนที่มีจิตใจเป็นนักสู้ ก็อยู่ระหว่างตรึกตรอง มองและปรึกษาหาลู่ทางร้องทุกข์และฟ้องคดีต่อศาลปกครอง            รวมทั้งพิจารณาเรื่องการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในฐานะเป็นผู้ถูกเมิดสิทธิคนหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ตามมาตรา 213 

            ส่วนคนที่คิดว่ายังมีอนาคต มีนาย มีพรรคพวก หรือมีรุ่นอุปถัมภ์ ก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้พร้อมสำหรับการแต่งตั้งครั้งต่อไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่จะมาถึง

ข้าวของไม่ต้องขนอะไรไปให้มากมาย เพราะอีกไม่นาน ก็ต้องวิ่งย้ายกันอีกแล้ว!

ช่วงนี้แต่ละพรรค นอกจากกำลังหาเสียงกับประชาชนจะทำโน่นทำนี่แม้กระทั่งเรื่อง “กัญชาเสรี” ปลูกได้บ้านละ 6 ต้น!

บางพรรคให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศ ที่สำคัญก็เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นการใช้ ระบบอาสาสมัคร

ทำให้คนยากจนได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมเหมือนประเทศส่วนใหญ่ในโลก

รวมทั้ง ลดจำนวนนายพล ลงให้เหลือหนึ่งในสาม และการปฏิรูปด้านอื่นๆ อีกมากมายที่หลายพรรคหาเสียงไว้

ก็ต้องนับว่าเป็นนโยบายที่โดนใจคนรุ่นใหม่และประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน รวมทั้งผู้รักความเป็นธรรมอยู่ไม่น้อย

แต่ปัญหาสำคัญของประเทศเรื่องหนึ่งซึ่งประชาชนเรียกร้องต้องการให้รัฐปฏิรูปมากที่สุดก็คือ ตำรวจและระบบงานสอบสวน พรรคการเมืองใหญ่หลายพรรคกลับไม่พูดถึง

ได้ยินแต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น ที่พูดจากับประชาชนชัดเจนเรื่อง “ตำรวจจังหวัด”

            ให้ตำรวจอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีคณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัดที่หัวหน้าหน่วยราชการเกี่ยวข้องและตัวแทนประชาชนร่วมเป็นกรรมการ

            “มีอำนาจตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมไปถึงให้ความเห็นชอบในสั่งแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนเงินเดือน และลงโทษทางวินัยตำรวจในจังหวัดตั้งแต่ระดับ ผกก.ลงมาทุกคน”

            และเห็นด้วยในเรื่องการโอนตำรวจ 11 หน่วย และงานสอบสวนความผิดเฉพาะทางไปให้กระทรวงและกรมที่รับผิดชอบ

รวมทั้ง การแยกงานสอบสวนตามกฎหมายอาญาออกจากตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรม สร้างหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ลักษณะเดียวกับพนักงานอัยการในฐานะเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม

สำหรับ พรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พรรคพลังประชารัฐ  จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ได้ยินการพูดเรื่องปฏิรูปตำรวจอย่างชัดเจนแต่อย่างใด?

พรรคพลังประชารัฐอาจคิดว่า แนวทางปฏิรูปมีอยู่แล้วตามร่างกฎหมายแก้ไข ป.วิ อาญา ว่าด้วยการสอบสวน ที่นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธานคณะกรรมการเสนอและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อเกือบสองเดือนที่ผ่านมา

รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้รับจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างใหม่เสนอเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ และยังไม่ได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด

หากหลังเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะได้นำร่างกฎหมายทั้งสามฉบับนี้เข้าสู่สภาตราเป็นกฎหมายได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร?

ก็เป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไป พร้อมคำถามว่า แล้วทำไมเกือบห้าปีที่ผ่านมา ปัญหาตำรวจและการสอบสวนจึงไม่ได้ถูกปฏิรูปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบงานอย่างแท้จริงเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนเลย?.

 

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, March 11 , 2019