“สรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เป็นฉบับ ไร้เดียงสา มีแต่เรื่องขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง และ หมกเม็ด” -พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

“สรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เป็นฉบับ ไร้เดียงสา มีแต่เรื่องขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง และ หมกเม็ด” -พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

การสอบสวนต้องเริ่มจากหลักว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ และการจะแจ้งข้อหาในประเทศที่เจริญเขาจะใช้หลัก พิสูจน์จนสิ้นสงสัย Proof to beyond reasonable doubt แต่ของเราใช้หลักนี้เฉพาะในการพิพากษา ทำไมไม่คิดว่าเราพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยตั้งตั้งแต่ชั้นสอบสวนก่อนแจ้งข้อหาตามหลักสากล

นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร.สั่งราชการได้ ท่านก็บอกว่าผู้ว่าฯเป็นนายกฯของจังหวัด ผู้ว่าฯ ที่สั่งราชการได้ทุกหน่วย ยกเว้นตำรวจ ตำรวจกลายเป็นองค์กรอิสระในจังหวัด จึงไม่แปลกใจที่เห็นนายอำเภอ ผู้ว่าฯ อดหลับอดนอนไปจับสถานบันเทิงเอง เพราะสั่งตำรวจไม่ได้ บอกให้ตำรวจรู้ก็ไม่ได้ด้วย

คดีจะมีหลักฐานว่าผู้ต้องหากระทำความผิดหรือไม่ไม่ต้องสนใจ ให้รีบฟ้องไปก่อน มันวิปริตไหม

สรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เป็นฉบับ ไร้เดียงสา มีแต่เรื่องขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง และ หมกเม็ด…”

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผู้เขียนหนังสือ “วิกฤติตำรวจและงานสอบสวน จุดดับกระบวนการยุติธรรม” กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน?”จัดโดย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ปัญหากระบวนการยุติธรรมประเทศไทยในปัจจุบันที่สำคัญก็คือ อำนาจสอบสวนดำเนินคดีอาญาได้ถูกผูกขาดในทางพฤตินัยเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหน่วยเดียวและยังขาดการตรวจสอบจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง แม้หน่วยหน่วยอื่นจะมีอำนาจอยู่บ้าง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ปปช. ปทท.หรือกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ถือเป็นเพียงส่วนน้อย ในประเทศที่เจริญทั่วโลก อำนาจการสอบสวนจะกระจายไปทุกกระทรวง ทบวง กรม ทุกกระทรวงจะมีทั้งตำรวจและอำนาจสอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายในความรับผิดชอบของเขา

 

ต้องเข้าใจว่าคำว่า “ตำรวจ” ไม่ได้หมายถึงตำรวจแห่งชาติ ตำรวจเป็นบทบาทหน้าที่หรือ Function เพราะฉะนั้น ข้าราชการกระทรวง ทบวง กรมใดที่ทำหน้าที่ตรวจตรารักษากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา หรือ กฎหมายเฉพาะทาง ก็ถือว่าเป็นตำรวจด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ไม่เรียกว่าเป็นตำรวจ เพราะยังมีการหวงคำนี้ ในอดีตเทศกิจก็เคยใช้คำว่า “ตำรวจเทศกิจ” ซึ่งก็คือ City police ทำหน้าที่ตรวจตรารักษากฎหมายในความรับผิดชอบ 26  ฉบับ

 

อย่างคุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หรือ คุณวิเชียร ชิณวงษ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็ทำหน้าที่เป็นตำรวจ มีอำนาจสืบ จับ บางคนบู๊กว่าตำรวจเสียอีก ทั้งที่ไม่มียศด้วย งานตำรวจไม่สามารถจะจัดรูปแบบโครงสร้างองค์กรและหน่วยแบบทหารได้ ทหารทำงานเป็นหน่วย แต่ตำรวจโดยทั่วไปทำงานเป็นบุคคล ทหารนั้น ถ้าหัวหน้าหน่วยไม่สั่ง ปฏิบัติไม่ได้ แต่ตำรวจต้องทำงานโดยดุลยพินิจของตัวเอง มีอำนาจตามกฎหมายรองรับการตัดสินใจเมื่อปฏิบัติถูกต้อง แต่เราไปเอาโครงสร้างทหารมาใช้กับตำรวจก็เลยเกิดปัญหามากมายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

 

งานสอบสวนกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของเราก็ถูกสั่งแบบทหาร ซ้ำหลายกรณี คนสั่งก็ไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรด้วย เพราะไม่มีลายลักษณ์อักษรเป็นหลักฐาน

 

สำหรับร่าง พ.ร.บ..ตำรวงแห่งชาตินี้ สิ่งที่เราอยากจะเห็นก็ไม่ปรากฏเช่น การกำหนดให้ตราพระราชกฤษฎีกาโอนหน่วยตำรวจและงานสอบสวนเฉพาะทางไปให้กระทรวงทบวงที่รับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ เพราะได้ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม ตั้งแต่ปี 45 รวมทั้งใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 47 มาตรา 6 บัญญัติว่า งานใดที่มีกระทรวงทบวงกรมใดเป็นเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบก็ให้ตราพระรากฤษฎีกาโอนไปและให้มีอำนาจสอบสวนโดยอัตโนมัติด้วย ไม่ต้อง ร่าง พ.ร.บ.เสนอให้สภาพิจารณาแต่อย่างใด นอกจากนั้นในยุค คสช.ที่มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ขึ้น มีตัวแทนประชาชนจากทุกจังหวัดร่วม ก็ได้มีมติให้โอนไป 11 หน่วยอย่างชัดเขน เช่น ตำรวจทางหลวง ตำรวจจราจร ตำรวจน้ำ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำรวจเศรษฐกิจ ตำรวจเทคโนโลยี ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ฯลฯ

 

ประธาน สปช.ได้รายงานมติให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาและนำเข้า ค.ร.ม.มีมติรับทราบส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกันดำเนินการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 เพราะฉะนั้น เรื่องการโอนหน่วยตำรวจเหล่านี้ จึงไม่ต้องคิดอะไรมาก กำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จตามมติ สปช.เลย แต่ตามร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ กลายเป็นว่า บัญญัติไว้เฉพาะตำรวจรถไฟ ยุบใน1ปี ตำรวจป่าไม้ ใน 2ปี ส่วนตำรวจจราจรโอนให้ กทม. และเทศบาลนครภายใน 5 ปี มันไม่สมกับยุค 4.0

 

ความจริงทั้ง 11 หน่วยควรกำหนดเป็นสามระยะ คือ 1 ปี 2 ปี ยากหน่อยก็ 3 ปีและไม่ควรเกิน 5 ปี ไม่ต้องมาพิจารณาอะไรกันอีกให้เสียเวลา รีบปฏิรูปให้มันเข้าที่เข้าทางโดยเร็ว ความเดือดร้อนของประชาชนก็จะลดน้อยลง วันเวลาที่ผ่านไปล้วนแต่ก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ทั้งสิ้น

 

อย่างเทศกิจ มีคดีที่ กทม. แจ้งความต่อสถานีตำรวจ 88 แห่ง .ค้างอยู่นับหมื่นกว่าคดี เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและสิ่งก่อสร้าง กฎหมายสิ่งแวดล้อม และสาธารณะสุขฯลฯ ตำรวจก็อ้างว่างานเยอะ ถ้างานเยอะก็ให้หน่วยที่รับผิดชอบเขาทำซิ อย่าง กทม. เขาก็พร้อมจะทำและอยากจะทำด้วย เขตต่างๆ 50 เขต สอบสวนได้ทันที มีนิติกรที่เขารู้และชำนาญงานสอบสวนเฉพาะทางอยู่แล้ว แต่เขาไม่มีอำนาจ การปฏิรูปก็แค่ออกกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติในการสอบสวนตาม พ.ร.บ.กรุงเทพมหานคร มาตรา 90 เท่านั้น แต่ความจริงแม้ไม่ออกกฎกระทรวง ผมว่า กทม.ก็มีอำนาจสอบสวนนะ เพราะ กทม.มีอำนาจเปรียบเทียบปรับอยู่ การเปรียบเทียบปรับไม่ใช่อำนาจสอบสวนหรือ เรื่องของเรื่องคืออัยการเขาอาจจะงง ปกติมีแต่ตำรวจสอบสวน พอ กทม.สอบสวนส่งสำนวนไปให้ฟ้อง เลยงงๆ ตีกลับ คดีก็เลยค้างอยู่มากมายปัญหาคาราคาซังจนทุกวันนี้ ถ้ามีอำนาจสอบสวนก็แก้ปัญหาตรงนี้ได้ คุณป้าก็ไม่ต้องเอาขวานไปจามรถ เพราะแกพึ่งกฎหมายไม่ได้

 

สำหรับหลักประกันความอิสระของพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้เขียนไว้ ส่วนที่มีการแยกสายงานสอบสวนก็ดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ที่ไม่บัญญัติหลักประกันความอิสระ อาจเพราะเขาไม่ต้องการให้พนักงานสอบสวนมีอิสระจริง จึงไม่บัญญัติไว้ เพียงแยกสายงานแต่ให้อยู่ในระบบยศแบบเดิม คำว่าอิสระจึงเป็นเพียงคำพูดที่สวยหรูเท่านั้น

 

ที่สำคัญคือ โครงสร้างตำรวจจังหวัด ก็ไม่มี ปัจจุบันตำรวจคิดว่าตนเป็นข้าราชการส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งตำรวจไม่ได้ ทุกวันนี้ ผบก.จังหวัดส่วนใหญ่ประมาณว่าน่าจะร้อยละ 80 ไม่เข้าร่วมประชุมจังหวัดที่ผู้ว่าฯเป็นประธาน และมีมากขึ้นทุกวัน คิดกันว่าขึ้นต่อกองบัญชาการ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับจังหวัด สิ่งที่ควรมีกลับไม่มี เพราะเขาอาจกลัวตำรวจจะไปเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วมันแปลกตรงไหน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร.สั่งราชการได้ ท่านก็บอกว่าผู้ว่าฯเป็นนายกฯของจังหวัด ผู้ว่าฯ ที่สั่งราชการได้ทุกหน่วย ยกเว้นตำรวจ ตำรวจกลายเป็นองค์กรอิสระในจังหวัด จึงไม่แปลกใจที่เห็นนายอำเภอ ผู้ว่าฯ อดหลับอดนอนไปจับสถานบันเทิงเอง เพราะสั่งตำรวจไม่ได้ บอกให้ตำรวจรู้ก็ไม่ได้ด้วย นี่คือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

 

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา สิ่งที่ขาดหายไป คือพนักงานสอบสวนเฉพาะทางไม่เกิดขึ้น จริงๆ ประเด็นนี้ เขียนไว้ประโยคเดียวเท่านั้น จบข่าวเลย คือ “กระทรวง ทบวง กรมที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายใด ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นด้วย โดยไม่ตัดอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่จะสอบสวนดำเนินคดีตามปกติที่เคยปฏิบัติ” ตำรวจก็สอบสวนเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่คดีที่หน่วยต่างๆ เขามีความพร้อมต้องการสอบสวนเองก็ให้ทำได้ เขามีความรู้ความเข้าใจกฎหมายเฉพาะทางที่รับผิดชอบดีกว่าตำรวจเสียอีก ไม่เห็นว่าจะทำให้เกิดความเสียหายหรือประชาชนต้องตกนรกยิ่งกว่าเดิมตรงไหนเลย

 

ส่วนระบบงานสอบสวนในมาตรา 14, 15 ก็ยังไม่เห็นหลักประกันว่าจะทำให้เกิดความสุจริตและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงการจับแพะจับแกะจะไม่เกิดขึ้นตรงไหน เพราะตำรวจยังเป็นผู้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับเหมือนเดิม โดยไม่มีการตรวจสอบพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการตามหลักสากล ไปเขียนให้ดูดีนิดหน่อยที่ระบุว่า “จะแจ้งข้อหาที่ยังมิได้มีหลักฐานพอสมควรที่แสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาน่าจะได้กระทำความผิดมิได้” จริงๆ ไม่ต้องเขียน เพราะ ป.วิ.อาญามีอยู่แล้ว พยายามทำให้ดูดี แต่ไม่มีอะไร และยังผิดหลักสากล การสอบสวนต้องเริ่มจากหลักว่า ”ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์” หรือ Presumption of innocence และการจะแจ้งข้อหาในประเทศที่เจริญเขาจะใช้หลัก “พิสูจน์จนสิ้นสงสัย” Proof to beyond reasonable doubt แต่ของเราใช้หลักนี้เฉพาะในการพิพากษา ทำไมไม่คิดว่า เราพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยตั้งตั้งแต่ชั้นสอบสวนก่อนแจ้งข้อหาตามหลักสากลได้ไหม ก็สอบไปเรื่อยๆ คนก็ไม่เดือดร้อนตกเป็นแพะแกะ เพราะยังไม่มีการแจ้งข้อหา แต่ทันทีที่แจ้งข้อหาก็จะเดือดร้อน ตั้งแต่พิมพ์มือ ประวัติอาชญากรรมติดไปจนตายไม่มีทางลบ แม้อัยการจะสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง ก็เดือดร้อน ไปขอวีซ่าตรวจสอบประวัตก็เจอ เกิดความเสียหายไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา จำเลย รวมทั้งผู้เสียหายในคดีที่สั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้องมากมาย

 

ส่วนบทบาทอัยการก็ยังไม่ได้ถูกกำหนดให้ตรวจสอบการสอบสวนอย่างแท้จริงจริง ทำท่า เหมือนให้อัยการเข้ามาได้ แต่ต้องเป็นคดีมีโทษขั้นต่ำ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นคดีฆ่า และเข้าได้เมื่อตำรวจแจ้งข้อหาเรียบร้อยแล้ว ต่ำกว่านั้นก็เข้าไม่ได้ เช่น คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกถึงห้าปี รวมถึงคดีที่มีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็เข้าตรวจสอบไม่ได้ อย่าง คดีฆาตกรรมอำพราง 2,500 ศพอัยการเข้ามาไม่ได้ เพราะตำรวจสอบสวนแบบไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด ไม่มีการแจ้งข้อหาใครเลย

 

โดยหลักการคดีที่มีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่ว่าคดีใหญ่หรือเล็ก แม้กระทั่งคดีจราจร อัยการก็ต้องเข้ามาดูมาสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ ตามหลักสากล การสอบสวนและการฟ้องคดีต้องเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ประเทศไทยผิดหลัก ทำให้เป็นคนละส่วนกัน อยากถามว่าเมื่อตำรวจสอบสวนแล้วจะหอบเอาสำนวนไปไหน สุดท้ายต้องส่งให้อัยการเพื่อฟ้องคดีทั้งนั้น แล้วจะมานั่งหวงกลัวอัยการจะเห็นพยานหลักฐานระหว่างการสอบสวนทำไม จริงๆ แล้วคดีที่มีโทษจำคุกห้าปีขึ้นไปหรือคดีที่มีปัญหาความสำคัญ ก็ควรกำหนดให้อัยการเข้ามาได้มาตรวจที่เกิดเหตุด้วย

 

ในการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญานั้น การเห็นที่เกิดเหตุสำคัญที่สุด เพราะมิเช่นนั้นจะเหมือนคดี ”กระโดดตึกศาลตาย” ที่อัยการสั่งสอบเพิ่มสองสามครั้งตามที่ปรากฏในสำนวน ก็ได้พยานหลักฐานแค่นั้น อัยการก็ไม่รู้ว่ายังมีพยานหลักฐานอะไรที่ไม่ได้อยู่ในสำนวนอีก เพราะตำรวจบอกมีแค่นั้น พอฟ้องก็สั่งฟ้องไป เมื่อศาลยกฟ้อง จะโทษอัยการที่สั่งฟ้องหรือศาลยกฟ้องก็ไม่ได้ นี่คือปัญหาสำคัญที่อัยการไทยไม่มีโอกาสเห็นที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานทั้งหมด เห็นเฉพาะเท่าที่ตำรวจรวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น

 

นอกจากนี้ยังมีการหมกเม็ดที่ให้อัยการมา ”ร่วมสอบสวน” ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 258 (ง) บัญญัติให้ “ตรวจสอบการสอบสวน” การใช้คำว่าร่วมสอบสวน นี่หมายถึงให้อัยการมาช่วยสอบสวน แล้วให้พนักงานสอบสวนเป็นพระเอกหรืออย่างไร เช่น ตำรวจนัดอัยการวันไหนก็ต้องมาใช่ไหม โดยมีพนักงานสอบสวนเป็นผู้บริหารคดี เป็นการวางยาเพื่อให้มีปัญหาต่ออัยการหรือไม่ แล้วก็ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำที่ให้อัยการมานั่งช่วยตำรวจสอบสวน มันต้องตรวจสอบ อัยการจะเข้ามาตรวจสอบหรือไม่ด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ แต่ถือว่าต้องความรับผิดชอบต่อผลของคดีที่จะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง เหมือนการทำหน้าที่ของ สตง. แต่การเขียให้ร่วมสอบสวน เป็นเหมือนการหมกเม็ดให้ทำงานไม่ได้ แล้วสุดท้ายอัยการยอมแพ้ บอกว่าไม่เอาแล้วมาตรานี้ คนไม่พอ เวลาไม่มี สุดท้ายอาจจะกลายเป็นแบบนั้นหรือไม่?

 

การสอบสวนนั้น หัวใจจริงๆอยู่ที่การแจ้งข้อหา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายยังไม่มีความเข้าใจว่า หลักในการจะฟ้องคดีหรือแจ้งข้อหา จะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะไปสู่การพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้ หรือ Proof to beyond reasonable doubt อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นแล้วเท่านั้น เมื่อเกิดเหตุ คุณจะรวบรวมพยานหลักฐานอะไรทำอะไรก็ทำไป ไม่มีใครเดือดร้อน

 

ทุกวันนี้ ใช้หลักโบราณ แค่มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิด ตำรวจเชื่อ ส่วนใครจะไม่เชื่อ ไม่รู้ หรือไม่มีหลักฐานน่าเชื่อ ก็ทำให้มีขึ้นมาได้ โดยเฉพาะพยานบุคคล สอบให้พูดแบบนั้น แบบนี้ จิตปกติหรือไม่ก็แล้วแต่ อัยการไม่มีโอกาสรู้ ความจริงไปปรากฏเอาข้างหน้า ศาลท่านก็ออกหมายจับผู้ต้องหาให้ตามที่ตำรวจยื่นคำร้องขอ

 

กระบวนการยุติธรรมบ้านเราเปรียบเหมือนสายน้ำหรือประตูสู่ความยุติธรรมที่มียักษ์ยืนคุมประตูอยู่ ถ้าเขาไม่เปิดประตูก็ไม่มีใครเข้าไปได้ หรือ ถ้ำไม่ปล่อยน้ำมา ความยุติธรรมก็ไม่ไหลมา เช่นการไม่รับคำร้องทุกข์ดำเนินการสอบสวน นอกจากนั้น การสอบสวนก็ยังเป็นอัตวิสัยมาก ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยี มีวิทยาศาสตร์ ดีเอ็นเอ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังต้องพึ่งพยานบุคคล และการสอบปากคำพยานในความเป็นจริงมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง ยิ่งถ้าไม่สุจริตจะบันทึกกันอย่างไรก็ได้ การกำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือประจักษ์พยาน ก็ไม่มีปรากฏในร่างฉบับนี้ ในคดีต่างๆ นั้น ผู้เสียหายสำคัญที่สุด เพราะอยู่ในฐานะประจักษ์พยานด้วย ในอนาคตไม่ควรมีการบันทึกปากคำในกระดาษด้วยซ้ำ เพราะมันคลาดเคลื่อนและบางกรณีก็เป็นนิยายไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ต่อให้ทำโดยสุจริตก็มีความคลาดเคลื่อนสูง บันทึกภาพและเสียงซิครับ เห็นหน้าตา การถาม ถามอย่างไร ถามนำไหม ขู่ไหม คนตอบ ตอบ อย่างไร พูดสิบคำ บันทึกสองคำ หรือที่บันทึกอยู่โดยที่ไม่ได้พูดก็มี นี่คือปัญหา แล้วอัยการก็รับเอกสารนี้ไปพิจารณาสั่งคดี แม้กระทั่งศาล

ต้องเข้าใจว่า ความยุติธรรมคือ “ยุติตามความจริง” แต่ปัญหาปัจจุบันคือมันยุติตามสิ่งที่ไม่จริง หรือจริงไม่หมด ไม่ครบถ้วน

 

ที่ร้ายก็คือมาตรา 22 คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ต้องส่งให้ผู้บังคับการสอบสวนจังหวัดตรวจสอบ เมื่อก่อนเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ แล้วมีประกาศคสช.ที่ 115 ให้เป็นอำนาจผู้บัญชาการตำรวจภาค ซึ่งก็เกิดความชุลมุนวุ่นวายจนถึงทุกวันนี้ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจ สำนวนจากทุกจังหวัดก็ไปกองที่ตำรวจภาคมากมาย กลายเป็นปัญหาทางธุรการ ตอนนี้ ก็เลยอยากให้เป็นของผู้บังคับการสอบสวนจังหวัด ทั้งที่ผู้บังคับการสอบสวนคือผู้มีอำนาจส่งสำนวนให้อัยการ ซึ่งโยงกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติด้วย เป็นการเขียนหมกเม็ดไว้ และ พ.ร.บ.สอบสวนกำหนดให้ผู้บังคับการสอบสวนมีความเห็นแย้ง ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา ถ้าจะเกิดความเสียหายก็ให้อัยการฟ้องไปก่อน

 

หมายความว่า คดีจะมีหลักฐานว่าผู้ต้องหากระทำความผิดหรือไม่ไม่ต้องสนใจ ให้รีบฟ้องไปก่อน มันวิปริตไหม ซึ่งเมื่อผู้บังคับการสอบสวนเสนออัยการเห็นควรฟ้องไปแล้ว พออัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้อง ก็ให้ผู้บังคับการสอบสวนซึ่งไม่ใช่หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาเห็นแย้งอัยการจังหวัดได้ แล้วเขาจะเห็นไปอย่างอื่นได้อย่างไร ก็ต้องแย้งลูกเดียว แย้งกันไปแย้งกันมา คดีไม่จบสักที เหมือนที่สำนวนให้ตำรวจภาคพิจารณาทุกวันนี้ ก็โชว์ฝืมือแย้งหาตำรวจที่เป็นจบนิติศาสตร์มานั่งเขียนแย้งกันใหญ่ ประชาชนก็เดือดร้อน

 

ทุกวันนี้ การสั่งคดีฟ้องของอัยการก็ผิดหลักสากลอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่ถือหลักว่า มีหลักฐานพอฟ้อง ก็สั่งฟ้องไป จริงๆ อัยการจะต้องถือหลักสากล ว่าจะสั่งฟ้องต่อเมื่อมีความมั่นใจว่าจะสามารถแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้เท่านั้น

 

หมายความว่าเมื่อฟ้องแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษเกือบร้อยหรือ 99 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศเราคดีที่อัยการฟ้องแล้วจำเลยสู้คดี ศาลลงโทษประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นี่เป็นความเดือนร้อนของประชาชนแสนสาหัส ศาลยกฟ้องไม่ใช่ความยุติธรรม เพราะหากเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ได้รับความเดือดร้อน ผู้กระทำผิดจริงลอยนวลไม่ถูกลงโทษ หรือหากจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ก็ถูกฟอกเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ สร้างความคับแค้นใจให้ผู้เสียหาย นี่เป็นความเสียหายที่ร้ายแรงมาก เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนล้าหลัง อัยการไม่มีโอกาสเห็นพยานหลักฐานตรวจสอบการสอบสวนให้แน่ใจตั้งแต่เกิดเหตุ ปัญหาแก้ไขได้ แต่ก็ไม่ทำกัน

 

ก็ขอสรุปว่า ร่าง พรบ.การสอบสวนฯ เป็นฉบับ ไร้เดียงสา มีแต่เรื่องขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง และ หมกเม็ด