วงสัมมนา ยันป.วิ อาญาไทยไม่มีปัญหา แต่อัยการสั่งฟ้องตาม’นิยายสอบสวน’ของตร. ชำแหละการเก็บพยานหลักฐานไร้การตรวจสอบ

วงสัมมนา ยันป.วิ อาญาไทยไม่มีปัญหา แต่อัยการสั่งฟ้องตาม’นิยายสอบสวน’ของตร. ชำแหละการเก็บพยานหลักฐานไร้การตรวจสอบ

 

วงสัมมนา “วิรุตม์” ยันป.วิ อาญาไทยไม่ได้มีปัญหา แต่ความเข้าใจและการใช้ทั้งของตำรวจและอัยการไม่ถูกต้อง อัยการส่วนใหญ่ถือหลัก “พอฟ้อง” สั่งฟ้องตาม “นิยายสอบสวน” ของตำรวจ  “ดร.วิเชียร” แนะศึกษา รูปแบบ อัยการเกาหลีใต้ที่มีอำนาจสั่งคดีและสอบสวนเพิ่มเติม  “ดร.น้ำแท้” ชำแหละขั้นตอนการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานไร้การตรวจสอบจากหน่วยงานอื่น ไม่ได้มาตรฐานสากล ชี้คดีฆ่าสว.ทล.หากทำลายกล้องวงจรปิดเพื่อบิดเบือนคดีเรียกรับสินบนตามอำเภอใจก็ได้

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ. ห้องประชุบ 120 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จัดสัมนาวิชาการ เรื่อง  กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีปัญหา หรือ “ความเข้าใจและการบังคับใช้ไม่ถูกต้อง”

 

ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รองอัยการสูงสุด ดร.อดิศร ไชยคุปต์ หัวหน้าผู้ตรวจการอัยการ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี  สำนักงานอัยการสูงสุด รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท  คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผศ.ร.ต.อ.ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดำเนินรายการโดย นายเอกรัฐ ตะเคียนนุช ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง PPTV

 

โดยพ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า ตำรวจไทยสร้างปัญหาต่อประชาชนเพิ่มมากขึ้นนับแต่แยกออกจากกระทรวงมหาดไทยในปี 2547 และร้ายแรงขึ้นทุกวัน  ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดพลาดสร้างความเสียหายต่อสังคมอย่างยิ่ง  เพราะทำให้ตำรวจไทยขาดตรวจสอบควบคุมจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง  และตำรวจก็ไม่เกรงใจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเช่นแต่ก่อน  เวลานี้ร้อยละ 90 ผบก. ไม่เข้าประชุมจังหวัดที่ ผวจ. เป็นประธานด้วยตัวเองเลย  ลามไปถึง ผกก.ก็ไม่เข้าประชุมอำเภอด้วยเช่นกัน

 

“การขึ้นตรงต่อนายกฯ โดยไม่มีหน่วยงานรองรับ นายกฯ ควบคุมอะไรไม่ได้จริง  กต.ตร.ที่บอกมีไว้ตรวจสอบ ก็ไม่มีความหมาย เพราะไม่ได้เขียนให้มีอำนาจอะไร  และให้ตำรวจเป็นคนเสนอแต่งตั้งเอง  แล้วเขาจะตั้งคนที่มาตรวจสอบเขาหรือ จึงมีแต่พวกพ่อค้าเป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั่งพวกสีเทา สีดำ!”

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า   แต่ก่อนผู้นำสูงสุดเรียก “อธิบดีกรมตำรวจ” ก็เปลี่ยนเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” เช่นเดียวกับสามกองทัพ ทำให้รู้สึกใหญ่โตโอ่อ่าขึ้น  สื่อเรียก ตร.ผู้ใหญ่เป็น “บิ๊ก” นั่น บิ๊กนี่ เหมือนทหารกันมากมาย  ผบ.ตร.ไปนั่งประชุมประจำเดือนกับสามเหล่าทัพ  สร้างจิตสำนึกที่ไม่ถูกต้อง  หลงคิดว่าตำรวจเป็นพวกเดียวกับทหาร

 

เลขาธิการสป.ยธ. กล่าวว่า   คำว่า “ตำรวจ” ไม่ได้หมายถึงตำรวจแห่งชาติ แต่เป็น “บทบาทหน้าที่” ตำรวจไม่มียศมีอยู่แล้วทุกกระทรวง เช่น เจ้าท่า ป่าไม้ ประมง ขนส่ง ทางหลวง สรรพสามิตร แม้กระทั่งตำรวจสภา ตำรวจศาล  ตำรวจจึงเป็นงานพลเรือน  จะจัดองค์กรแบบกองทัพไม่ได้  การฝึกตำรวจโดยเอาไปเรียนเตรียมทหาร นั่นผิดอย่างมาก เพราะเขา “เตรียมทหาร” เพื่อการฆ่าและทำลาย ไม่ได้ “เตรียมตำรวจ” ที่ต้องฝึกการรักษาชีวิตคนและความยุติธรรม เป็นเจ้าพนักงานยุติธรรมตามกฎหมาย งานสอบสวนจึงเสียหาย เพราะคนไม่รู้กฎหมายเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนกันทุกระดับ คนจบปริญญากฎหมาย ต้องทำตามคำสั่งของคนไม่มีความรู้ทางกฎหมายผู้จบการศึกษา รร. นรต. วุฒิรัฐประศาสนศาสตร์ พงส. ถูกสั่งให้เขียน “นิยายสอบสวน” ให้อัยการอ่าน  ส่วนใหญ่ก็ต้องจำใจทำทั้งนั้น

 

พ.ต.อ.วิรุตม์  กล่าวด้วยว่า   อัยการไทยไม่มีโอกาสเห็นพยานหลักฐาน ร้อยละ 99 ก็สั่งฟ้องคดีไปตามที่ตำรวจเสนอ  สั่งฟ้องแล้วก็ไปยืนเป็นพวกเดียวกับตำรวจผู้เขียนนิยายสอบสวน และ “สู้ตายในศาล” แม้จะรู้ภายหลังว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิด  ก็ไม่ถอนฟ้อง เพราะเป็นเรื่องใหญ่ในระบบอัยการ และเป็นการประจานความผิดพลาดของตนเอง!

 

“ทางแก้ไขแท้จริง ไม่ยาก นอกจากมีรายงานและร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญาว่าด้วยการสอบสวนที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนไปแล้ว  สภาฯชุดนี้สามารถ หยิบขึ้นมาพิจารณาผ่านเป็นกฎหมายได้เลย  สาระก็คือให้อัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญหรือที่มีปัญหาตั้งแต่เกิดเหตุ นอกจากนั้น อสส.ยังสามารถทำได้ด้วยการออก “ระเบียบการสั่งฟ้องคดี” ต้องมั่นใจว่าจะสามารถพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้เท่านั้น  ไม่ใช่ถือหลักพยานหลักฐาน “พอฟ้อง” ตามที่ตำรวจเสนอเช่นปัจจุบันสร้างความเดือดร้อนทั้งต่อผู้ต้องหาผู้บริสุทธิ์ และผู้เสียหายก็คับแค้นใจเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

ผศ.ร.ต.อ.ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เสนอว่า ควรศึกษา รูปแบบ อัยการ ของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีอำนาจ ในการสั่งคดี และมีอำนาจหน้าที่ งบประมาณและเจ้าหน้าที่ ในการสั่งสอบ เพิ่มเติม ให้ตำรวจดำเนินการ รวมถึงสามารถ ดำเนินการเองได้ ทั้งนี้ ทำให้การเข้าถึงความจริงเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ การสั่งฟ้อง และการดำเนินคดีในชั้นศาล ผู้ต้องหา ที่กระทำผิด มักจะไม่รอดพ้น เงื้อมมือของกฎหมาย ซึ่งต่างจากกรณีของประเทศไทย ที่อัยการไม่มี อำนาจ หน้าที่ งบประมาณ เช่นนั้น

 

ผศ.ร.ต.อ.ดร. วิเชียร ยังได้เสนอ ในเรื่องของ การปรับปรุงประสิทธิภาพ ของพนักงานสอบสวน ในชั้นของตำรวจ ให้มีความรู้ความเข้าใจทางกฎหมาย เพื่ออำนวยความยุติธรรม ให้กับประชาชน ที่เป็นทั้งผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ยังกล่าวถึง การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย ว่า การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามกฎหมาย ฉบับนี้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ทีหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจ ยังไม่คุ้นชินและมีท่าทีที่จะหลีกเลี่ยง ดังนั้นจำเป็นต้องมีภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าตรวจสอบการ ทำงานอย่างใกล้ชิด

 

ด้านดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี  สำนักงานอัยการสูงสุด  กล่าวว่า ในการจัดงานสัมมนาเรื่อง “กฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มีปัญหา หรือว่า ความเข้าใจและการใช้ไม่ถูกต้อง”   เพื่อสร้างความเข้าใจทั้งปรัชญาและแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อยกระดับมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยให้ก้าวหน้าทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยมีข้อสรุปจากการสัมมนา ดังนี้

 

ปัจจุบันสังคมไทยกำลังประสบปัญหากับการแสวงหาความยุติธรรมทางอาญาอย่างร้ายแรง  ดังคำกล่าว “ความยุติธรรม ล่าช้า ราคาแพง และเข้าถึงยาก” กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยได้รับการออกแบบและปฏิรูปโดยนักกฎหมายจากประเทศฝั่งตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกาในสมัยรัชการที่  5 แต่ภายหลังจากการยกร่างเสร็จแล้ว นักกฎหมายไทยก็ใช้ประมวลกฎหมายที่ชาติตะวันตกยกร่างให้ไว้กันเอง โดยอาจจะไม่สามารถเข้าใจปรัชญาตรรกะพื้นฐานและทางปฏิบัติทั้งหมดที่สำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ในการแสวงหาความจริงอย่างรวดเร็วเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ถูกต้องตรงกับความจริงที่เกิดขึ้น เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐจับและฟ้อง “แพะ” ให้ศาลพิพากษาลงโทษผู้บริสุทธิ์  หรือ ยกฟ้องปล่อยให้ผู้กระทำผิดจริงลอยนวลเนื่องจากพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักที่จะสามารถพิสูจน์ความผิดจนปราศจากข้อสงสัย  ส่งผลทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีเกิดขึ้นตลอดมาและเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐอย่างร้ายแรง

 

“แม้เจ้าพนักงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะยืนยันว่าได้ทำหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนตามขั้นตอนและระเบียบของกฎหมายครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว พบว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนทั้งทางวิชาการ ทางปฏิบัติ ตรรกะและปรัชญาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา”

 

โดยสรุปจากการสัมมนาพบว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ขั้นตอนการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ไม่ได้มาตรฐานสากลตามหลักห่วงโซ่แห่งการครอบครองพยานหลักฐาน (Chain of Custody) และถูกปกปิดซ่อนเร้นโดยเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ปราศจากการควบคุมตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงจากสาธารณะและแม้แต่พนักงานอัยการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดในการสืบพยานให้ปราศจากข้อสงสัยเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษ ไม่มีการเปิดเผยพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัยพยานและไม่เสียหายต่อการสืบสวนตามหลัก Disclosure of Evidence เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมีส่วนร่วมในการค้นหาความจริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากสาธารณะ ทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนสามารถทำลายพยานหลักฐานในคดีได้อย่างง่ายดาย”

 

ดร.น้ำแท้ กล่าวว่า สังคมและประชาชนต้องฝากความยุติธรรมไว้กับเจ้าหน้าที่ผู้บงการคดีและต้องสวดมนต์ภาวนาหรืออ้อนวอนให้เจ้าหน้าที่ผู้บงการแนวทางการสืบสวนสอบสวนจะทำงานด้วยความตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงหรือเฝ้ารอคอยความยุติธรรมจากความเมตตาของเจ้าหน้าที่นั้น ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ผู้บงการคดีต้องการทำลายพยานหลักฐาน เช่น หากเจ้าหน้าที่ในคดีสังหารสารวัตรที่นครปฐม ต้องการทำลาย server ของกล้องวงจรปิดเพื่อบิดเบือนคดีเพื่อเรียกรับสินบนหรือผลประโยชน์ก็ทำได้ตามอำเภอใจไร้การตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นๆอย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์เลย ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบความยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ (The Rule of Law) ทำลายความเชื่อมั่นสาธารณะ (public Trust) อย่างร้ายแรงทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือเชื่อมั่นในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ

 

“เกิดคำถามต่อรัฐบาลปัจจุบันว่า “สังคมไทยจะต้องสวดมนต์ภาวนาหรืออ้อนวอนให้เจ้าหน้าที่ผู้บงการแนวทางการสืบสวนสอบสวนไม่ทำลายพยานหลักฐานและทำงานด้วยความตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงหรือจะต้องอดทนเฝ้ารอคอยความเมตตาของเจ้าหน้าที่นั้นในการให้ความยุติธรรมอีกนานเท่าไร?” ดร.น้ำแท้ กล่าว