‘ปฏิรูปการสอบสวนคดีอาญา’   ไม่ต้องแก้มาตรา 112

‘ปฏิรูปการสอบสวนคดีอาญา’   ไม่ต้องแก้มาตรา 112

     

ยุติธรรมวิวัฒน์
                                   

          “ปฏิรูปการสอบสวนคดีอาญา”    ไม่ต้องแก้มาตรา 112

 

                                พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

      

                ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ตกอยู่ในอาการเครียดและเกลียดชังระแวงระวังซึ่งกันและกัน ไม่รู้ใครเป็นใคร!

เพราะผลการเลือกตั้งทั่วไปที่คนไทยโดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวอดทนรอกันมานาน เกือบ 9 ปี  และปรากฏว่า พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.มากที่สุด คือ 151 คน จากจำนวน 500

เหนือความคาดหมายของหลายฝ่าย แม้แต่พรรคที่มั่นใจว่าจะ “แลนด์สไลด์” กลับกลา

ยเป็นพรรคลำดับสอง

แต่พรรคอันดับหนึ่งซึ่งสามารถรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่งถึง 313 กลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้

เพราะไม่ผ่าน “ด่านนรก” ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ที่กำหนดให้ร่วมลงคะแนนกับผู้แทนราษฎร 500 คน รวมเป็น 750 และต้องได้เสียงถึง 375

ตาม บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่กลุ่มคณะรัฐประหารได้ “อำนวยการร่าง” ขึ้นอย่างวิปริต!

เป็นสาเหตุและต้นตอก่อให้เกิดวิกฤตขึ้นในชาติ โดยไม่มีใครรู้ว่า “ระเบิดเวลา” หรือความขัดแย้งครั้งใหญ่ในสังคมไทย สุดท้ายจะจบลงอย่างไร?

นอกจากนั้นแต่ละวันเดือนปีที่ผ่านไปโดยไม่มีรัฐบาลรับผิดชอบการบริหารบ้านเมืองให้เป็นเรื่องเป็นราว ล้วนสร้างความเสียหายต่อชาติอย่างไม่อาจประเมินค่าได้

เหตุผลที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เลือกนายพิธาให้เป็นนายกฯ แม้กระทั่ง คนมียศนายพล หลายคนกล้าๆ กลัวๆ ใช้วิธี งดออกเสียง หรือ ไม่เข้าประชุม ซึ่งแท้จริงก็คือ การไม่เห็นชอบ

คำอธิบายที่ได้ยินจากการอภิปรายก็คือ เป็นหัวหน้าพรรคที่มีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พวกเขาไม่ต้องการให้ใครหยิบยกขึ้นพิจารณาหรือแตะต้อง

มีความหมายคล้ายกับว่า ถ้าพรรคก้าวไกลไม่มีนโยบายแก้กฎหมายมาตรานี้ ส.ว.ส่วนใหญ่ก็จะเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งจนถึงขั้นจัดตั้งรัฐบาลได้

เป็นเหตุผลที่พูดเพื่อให้พวกเขาดูดี โดยไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น

หลังการยึดอำนาจตั้งแต่ สนช. มาจนถึง ส.ว.แต่งตั้ง ส่วนใหญ่ล้วนได้รับการ กลั่นกรองโดยผู้นำคณะรัฐประหาร มีการรับรองจากผู้เกี่ยวข้อง เป็นอย่างดีแล้วว่า เป็นผู้ที่สามารถไว้ใจได้!

หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดผ่านสื่อของผู้มีอำนาจคนหนึ่งว่า จะตั้งใคร ก็ต้องคุมได้!

ฉะนั้น จึงไม่มีบุคคลใดที่มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมหรือปฏิรูปกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชนแท้จริงอะไรที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในจำนวน 250 คนแต่อย่างใด

ฉะนั้น ไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะมีนโยบายแก้มาตรา 112 หรือไม่ ก็ใช่ว่าพวกเขาจะลงคะแนนให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีกันง่ายๆ หรือแทบเป็นไปไม่ได้

แกนนำพรรคก้าวไกลหลายคนจึงไม่ควรดิ้นรนหรือพยายามติดต่อขอให้ใครไปช่วยพูดคุยกับ ส.ว. ขอให้เขาช่วยเลือกให้เสียอารมณ์และเวลาเช่นที่ผ่านมา

กฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น อันที่จริงไม่ได้มีปัญหาและความจำเป็นที่ใครจะต้องคิดแก้ไขอะไรในเวลานี้แต่อย่างใด

ไม่ว่าจะเป็นลักษณะความผิดหรืออัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสามปีถึงสิบห้าปีที่บางคนบอกว่าสูงเกินไป เนื่องจากถูกแก้ไขโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในปี 2519

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นเพราะ การสอบสวนแบบมั่วๆ ของตำรวจไทยที่ทำกันมานาน

ตั้งแต่การ ออกหมายเรียกผู้ต้องหา และ เสนอศาลออกหมายจับ ประชาชนแสนง่าย!

หัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้ไม่มีความรู้ทางกฎหมายไม่กล้าแยกแยะว่า การกระทำใดเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การใดเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่วิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นในเชิงวิชาการ หรือการพูดคุยของผู้คนที่ไม่เข้าข่ายความผิดกฎหมายอะไร

รวมไปถึง อัยการไทย ส่วนใหญ่ก็มีปัญหา  แม้ไม่แน่ใจหรือเห็นว่าไม่เป็นความผิด ก็ไม่กล้า

“สั่งไม่ฟ้อง” ให้ความยุติธรรมกับประชาชน

คิดกันเพียงให้พ้นตัวแบบอัยการโบราณว่า ผิด-ถูก ค่อยไปว่ากันในชั้นศาล!

เป็นกระบวนการยุติธรรมวิปริตที่หลายคดีบุคคลผู้ไม่ได้กระทำผิดอาญาต้องถูกตำรวจออก หมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือว่าศาล ออกหมายจับ อย่างไม่เป็นธรรมเดือดร้อนกันแสนสาหัสตลอดมา

ส่วนคนที่กระทำความผิดจริง ไม่ว่าจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้

ผู้คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นใจอะไร เมื่อทำผิดกฎหมาย ทุกคนก็ต้องได้รับโทษตามที่รัฐบัญญัติไว้

หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าตัวบทมาตราและอัตราโทษในเรื่องนี้ไม่มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมสมัยใหม่จำเป็นต้องมีการแก้ไข ซึ่งในความเป็นจริง ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นไม่ว่าประเด็นใด

พรรคก้าวไกลควรหันไปให้ความสำคัญกับการ ปฏิรูประบบการสอบสวน ให้เป็นไปด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพในทุกคดีจะดีกว่า

ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสามมาตรา คือ

               1.การออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการตรวจพยานหลักฐาน  โดยอัยการต้องมั่นใจว่าเมื่อแจ้งข้อหาหรือจับตัวบุคคลใดมาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงได้

               2.อัยการมีอำนาจตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญหรือคดีที่มีปัญหาประชาชนร้องเรียนว่าพนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่เกิดเหตุ

                3.กระทรวงทบวงกรมที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายใด ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นอีกส่วนหนึ่งด้วย โดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจยังมีหน้าที่และอำนาจในการสอบสวนตามปกติ

แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา เพียงสามมาตรานี้  ปัญหาการดำเนินคดีมาตรา 112 และอีก 397 มาตราตามกฎหมายอาญา รวมทั้ง พ.ร.บ.ที่มีโทษอาญา แบบมั่วๆ รวมไปถึง การสอบสวนล้มคดี ของตำรวจไทย

รวมไปถึงการ สั่งฟ้องแบบป้องกันตัว ของอัยการไทยจะหมดไป

เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาญาของชาติครั้งใหญ่

ที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความสงบสุขและมีความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 17 ก.ค. 2566