‘หมายเรียก’ ‘หมายจับ’ ออกง่าย ‘ไร้คนรับผิดชอบ’ เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง

‘หมายเรียก’ ‘หมายจับ’ ออกง่าย ‘ไร้คนรับผิดชอบ’ เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง

‘หมายเรียก’ ‘หมายจับ’ ออกง่าย ‘ไร้คนรับผิดชอบ’ เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                                                                     พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เหตุการณ์ พ.ต.ท.กิตติกานต์ แสงบุญ  สารวัตรตำรวจหน่วยงานสันติบาล เกิดอาการเครียดจนคลุ้มคลั่งและยิงปืนขึ้นในบ้าน

ได้ถูกตำรวจจำนวนมากล้อมอยู่นาน และสุดท้ายได้บุกเข้าไปในบ้านยิงจนเสียชีวิต!

เรื่อง ยังคงเป็นปริศนาคาใจ ผู้คนว่า จำเป็นหรือไม่ในการที่ตำรวจต้องบุกเข้าไปยิง คนป่วยทางจิต จนถึงแก่ความตายในบ้าน

โดยไม่ได้มีพฤติการณ์ทำร้ายหรือฆ่าใคร หรือจะเกิดอันตรายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นนี้!

ตำรวจมีวิธีอื่นในการเข้าจับกุมและควบคุมตัวคนป่วยโดยไม่ต้องยิงให้ตายได้หรือไม่?

และเขาเครียดจนเกิดอาการคลั่ง เพราะเหตุใดกันแน่?

หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นคนขายของชำอยู่ละแวกบ้านบอกว่า หลังจากถูกย้ายครั้งสุดท้ายเมื่อไม่นาน เขาก็มีอาการเครียดจัดอย่างเห็นได้ชัด!

จากที่เคยซื้อเบียร์ไปดื่มวันละ 2 ขวด ก็เพิ่มเป็น 4 ขวด และไม่มองหน้าทักทายใครเช่นแต่ก่อน จนกระทั่งวันเกิดเหตุ

นี่คือ ปากคำพยานคนหนึ่ง ซึ่งพูดในรายการ โหนกระแส ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 หลังเกิดเหตุใหม่ๆ

แต่ตำรวจผู้ใหญ่กลับไม่ได้ให้ความสนใจต่อคำพูดของพยานเช่นนี้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแต่อย่างใด?

คงมุ่งให้ข่าวว่า สารวัตรกานต์มีปัญหาส่วนตัวเรื่อง รักไม่สมหวัง!

และน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการ คลั่ง ขึ้นดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาการทำงานหรือการถูกแต่งตั้งโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรมอะไรแต่อย่างใด?

เป็นคำพูดที่เชื่อถือได้หรือไม่ ประชาชนคนไทยทั้งประเทศล้วนตอบไม่ยาก!

สังคมไทยในปัจจุบัน ปัญหาที่ผู้คนเห็นว่ารัฐต้องแก้ไขเพราะสร้างความอึดอัดใจให้ประชาชนมากที่สุดก็คือ “ความยุติธรรม”

โดยเฉพาะเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญา

ประชาชนทั่วไปถูกตำรวจ “ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา” หรือเสนอศาลออกหมายจับกัน “แสนง่าย”!

โดยเฉพาะ หมายเรียก

แค่มีใครไปกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาไม่ว่าฉบับและมาตราใด มีโทษมากหรือน้อยเท่าใด

ตำรวจก็สามารถ ออกหมายเรียก ให้ไปพบตามนัดเพื่อรับทราบข้อหาและพิมพ์มือเพื่อบันทึกประวัติอาชญากรรมได้

โดยในหมายก็ไม่ได้ระบุพฤติการณ์ว่าบุคคลนั้นได้กระทำผิดเรื่องอะไร ที่ใด วันเวลาใด และอย่างไร ทำให้รัฐหรือใครได้รับความเสียหายมากน้อยเท่าใด?

ใครไม่มาตามหมายเรียกสองครั้ง ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะได้รับและสะดวกในการไปพบตามเรียกหรือไม่

ตำรวจก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการไปเสนอศาลออกหมายจับได้ทันที!

ซึ่งส่วนใหญ่ศาลก็จะออกให้ เมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่าได้ออกหมายเรียกไปสองครั้ง  เชื่อว่าน่าจะมีพฤติการณ์หลบหนีตามที่พนักงานสอบสวนอ้าง

ถือว่าเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ อาญามาตรา 66 คือ

 (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น

ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

นั่นมีความหมายว่า การกระทำความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกเกินสามปีขึ้นไป ตำรวจไทยสามารถเสนอศาลให้ออกหมายจับได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกก่อนแต่อย่างใด

แต่ปัญหาสำคัญคือ เมื่อได้ออกหมายเรียกบุคคลใดมาแจ้งข้อหา หรือออกหมายจับ และจับตัวมาได้แล้ว

อัยการไม่ได้สั่งฟ้องทุกคดีและศาลก็ไม่ได้มีคำพิพากษาลงโทษทุกคนแต่อย่างใด?

มีจำนวนไม่น้อยที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และศาลยกฟ้อง

แต่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนเสียหายของประชาชนคนที่ถูกออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือว่าเป็น “ผู้ถูกจับ” ซึ่งอาจไม่ได้รับการประกันนั้น แม้แต่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนหรือ ตำรวจผู้ใหญ่ผู้ไม่ต้องรับผิดชอบ ในการสั่งด้วยวาจาให้ไปออกหมายเรียก หรือให้รีบไปเสนอศาลออกหมายจับ

การออกหมายเรียกผู้ต้องหาและการออกหมายจับประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่

ต้องแก้ไข ป.วิ อาญา สร้างหลักประกันว่า  เมื่อพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกใครเป็นผู้ต้องหา หรือว่าเสนอศาลออกหมายจับแล้ว

อัยการจะสามารถสั่งฟ้องและพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้

ยุติการออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือว่าศาลออกหมายจับแล้วอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง

ทำให้ผู้คนได้รับความเดือดร้อนอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบแม้แต่คนเดียวเช่นปัจจุบัน.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 20 มี.ค. 2566