เขาไม่ใช่ตำรวจแล้ว! ‘ดร.สังศิต’ จัดหนัก คลิปตำรวจไทยบริการนักท่องเที่ยวจีน ทรยศต่อประชาชน

เขาไม่ใช่ตำรวจแล้ว! ‘ดร.สังศิต’ จัดหนัก คลิปตำรวจไทยบริการนักท่องเที่ยวจีน ทรยศต่อประชาชน

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2566 ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เพยแพร่บทความ เรื่อง เขาไม่ใช่ตำรวจแล้ว มีเนื้อหาดังนี้

เขาไม่ใช่ตำรวจแล้ว!

คลิป “ตำรวจไทย” ที่กำลังเป็น Viral ในประเทศจีน

“สาวจีน” ทดสอบใช้บริการ “ตำรวจไทย” ว่าใช้เงินซื้อได้ทุกอย่างตามคำร่ำลือจริงหรือไม่
‘สุดขำ’ มีตำรวจไปรับถึงประตูเครื่องบิน เดินนำทาง ยกกระเป๋า เปิดประตูรถให้ ขับรถนำเปิดไฟฉุกเฉินไซเรน จยย. 6,000 รถเก๋ง 7,000 แป๊บเดียวถึงที่พัก สะดวกสมคำร่ำลือจริงๆ!

ล่าสุด ตำรวจยอมรับแล้วว่าเป็นเรื่องจริง และรู้ตัวตำรวจที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน แล้ว จะดำเนินการสอบสวนทางวินัยต่อไป

ผมดูคลิปนี้ครั้งแรกแล้วไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริง น่าจะเป็นการทำคลิปเพื่อสร้างความขบขันเสียมากกว่า ถ้าบอกว่าเป็นคลิปของสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จัดทำขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผมคิดว่าคลิปนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวจากจีนให้มาเมืองไทยมากขึ้น เพราะเป็นการแฝงอารมณ์ขันของคนไทย

มันจะเป็นไปได้อย่างไรกันที่ตำรวจจะไปต้อนรับสาวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปถึงประตูเครื่องบิน คนที่จะได้รับเกียรติเช่นว่านี่ได้ต้องเป็นแขกระดับเวรี่วีไอพี หรือไม่ก็ต้องเป็น ระดับนายกรัฐมนตรีของประเทศเท่านั้น

ที่ทำให้ผมยิ่งไม่เชื่อก็คือนายตำรวจคนนี้ไปรับกระเป๋าแบบใช้อภิสิทธิ์ ให้ด้วย แถมบริการยกกระเป๋าจนถึงรถแท็กซี่ ผมคิดว่าเป็นการล้อเลียน หรือสร้างความสนุกสนาน ขบขันตามนิสัยของคนไทย ว่าการบริการของคนไทยต่อนักท่องเที่ยวจีนนั้นเป็นระดับวีไอพีเสมอไป ขอเพียงให้ ลองมาเที่ยวเมืองไทยสักครั้งเถิดครับ

พฤติกรรมของตำรวจนักท่องเที่ยวคนนี้ที่ช่างรู้จักเอางาน เอาตำแหน่งหน้าที่ อำนาจ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือของทางราชการมาทำมาหากินได้อย่างกลมกลืนเป็นธรรมชาติมากจนดูเหมือนว่าจะกลายเป็นงานปกติของตัวเองในชีวิตประจำวันนั้น เราควรมองตำรวจคนนี้ในฐานะที่เป็นตัวแทนที่ดี หรือเป็นตัวอย่างในการศึกษาที่ดี (sample) ในการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของตำรวจทั่วๆ ไปได้อย่างไร?

สำหรับเรื่องนี้คำถามสำคัญที่สุดคือทำไม? หรืออะไรคือเบื้องหลังพฤติกรรมที่จูงใจให้เกิดกระทำขึ้นของนายตำรวจผู้นี้?

การสืบสวนน่าจะช่วยให้เราเข้าใจสาเหตุเบื้องหลังแห่งการกระทำของเขาได้ ตั้งแต่สาเหตุเงินเดือนและรายได้ไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายของครอบครัวสูงขึ้น มีหนี้สินต้องหาเงินไปชดใช้ ติดการพนัน ภูมิหลังมาจากครอบครัวที่ยากจนจึงต้องการสร้างเนื้อสร้างตัว มีความต้องการใช้เงินฉุกเฉินเพราะมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย เห็นว่าเป็นการกระทำผิดเพียงเล็กๆ น้อยๆ การมีตำแหน่งหน้าที่ในสำนักงาน เป็นตำรวจที่มีอำนาจบางระดับ อาจเป็นแรงจูงใจที่นำไปสู่การใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่คำถามว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง ของแรงจูงใจนายตำรวจคนนี้ไม่อยู่ในประเด็นที่ผมจะพูดถึงณ ที่นี้

ถ้าเราจะบอกว่า “ตำรวจคนนี้ไม่ใช่ตำรวจแล้ว” ได้หรือไม่ ?

ถ้ามองในแง่กฎหมาย แบบนักกฏหมาย ที่ร่ำเรียนกฎหมายมา คงจะตอบว่าไม่ได้ เพราะเขาเป็นตำรวจจริงๆ เขาสอบเข้ารับราชการโดยผ่านทั้งการสอบข้อเขียน การตรวจสุขภาพและผ่านเกณฑ์ต่างๆ จนกระทั่งได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจอย่างถูกต้องตามกฎหมายเรียบร้อยแล้วทุกประการ ฉะนั้นจะบอกว่าๆ เขาไม่ได้เป็นตำรวจ จึงไม่ได้!

คำถามคือ อะไรคือหลักเกณฑ์ชี้วัดถึงความเป็นตำรวจในตัวของตำรวจคนหนึ่ง?

เครื่องแบบของตำรวจสามารถระบุความเป็นตำรวจในตัวของเขาเองได้หรือไม่ ? ในทางกายภาพหรือด้วยการดูจากสายตาจากชุดเครื่องแบบตำรวจที่เขาสวมใส่อยู่นั้น เขาดูเป็นตำรวจจริง แต่การ ที่จะพิจารณาว่าเขาเป็นตำรวจที่มีความสำนึกและรับผิดชอบเรื่องการดูแลทุกข์สุขของประชาชน และเขาได้ปฏิบัติตามนั้น หรือไม่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า

ระเบียบวินัย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายต่างๆ ของตำรวจสามารถเป็นเครื่องมือวัดความเป็นตำรวจได้หรือไม่ ว่าเขาเป็นตำรวจจริงๆ หรือเปล่า?

ผมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้อาจไม่เป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าเขาเป็นตำรวจหรือไม่เป็นตำรวจ เพราะการฝึกฝนระเบียบวินัยก็ดี หรือการแสวงความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ของตำรวจก็ดี แม้คนทั่วไปก็อาจสร้างทักษะและ คุณสมบัติเหล่านั้นขึ้นมาภายในตัวเองได้เช่นเดียวกันกับตำรวจทั่วไป ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นตำรวจจริงๆ ตามกฎหมายก็ตาม

ถ้าเช่นนั้นยังมีคุณสมบัติไหนหรือตัวชี้วัดอะไรอีกที่จะแสดงให้เห็นว่าคนๆ หนึ่งเป็นตำรวจจริง ? การผ่านโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือการอบรมจากสถาบันตำรวจเป็นการกำหนดความเป็นตำรวจของคนๆหนึ่งได้หรือไม่? การผ่านโรงเรียนตำรวจหรือการอบรมจากสถาบันตำรวจสำหรับผู้ที่จะมาเป็นตำรวจนั้น ย่อมดีกว่าผู้ที่ไม่เคยผ่านการอบรมและผ่านการศึกษาวิชาตำรวจเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ผ่านการศึกษาและการอบรมวิชาตำรวจแล้วจะกลายเป็น “ตำรวจจริงๆ” จากมุมมองในความเป็นจริงของสังคม

สำหรับผมแล้ว คนที่เป็นตำรวจหรือความเป็นตำรวจโดยวิชาชีพ ตามที่สังคมหรือรัฐมอบหมายให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดนั้น ก่อนอื่นทั้งหมดคือมีจิตใจที่รักความยุติธรรมและปรารถนาที่จะเห็นคนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน จะร่ำรวยล้นฟ้าหรือเป็นเพียงคนข้างถนน ควรได้รับการปฏิบัติต่อกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันและอย่างเป็นธรรม

ที่ผมกล่าวว่าตำรวจต้องปฏิบัติต่อคนอย่างเท่าเทียมกันและอย่างเป็นธรรมนั้น ก็คือดูผู้ที่กระทำความผิดตามความเป็นจริงด้วยประกอบกันไป มิใช่ยึดถือแต่ตัวบทกฏหมายว่าคือความถูกต้องที่สุดตามที่บัญญัติไว้แล้ว กฎหมายดีแล้ว ถูกต้องแล้วไม่ต้องสงสัยอะไรอีกแล้วไม่ต้องสนใจบริบทความเป็นจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกแล้วกฎหมายว่าอย่างไร สิ่งนั้นคือความถูกต้องที่สุดของโลกนี้แล้ว เหมือนกับคำสอนของศาสนาบางศาสนาที่บอกว่า ก่อนอื่นคุณต้องเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก และคุณห้ามตั้งข้อสงสัย ใดๆทั้งสิ้น ถ้าคุณไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง และ ยังตั้งคำถามต่อว่าแล้วใครเป็นผู้สร้างพระเจ้า คุณก็ไม่สามารถถามคำถามต่อไปได้แล้ว

การดูบริบทตามความเป็นจริงประกอบกันกับการกำหนดความผิดตามกฏหมายต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน ไม่เช่นนั้นแล้วความยุติธรรม ตามกฏหมายอาจไม่เป็นธรรมกับประชาชนก็ได้

ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งขี่จักรยานไปโรงเรียนแล้วบังเอิญไปชนกับเศรษฐีที่เดินอยู่บนถนน กับคนหาเช้ากินค่ำคนหนึ่งที่กำลังเดินอยู่อย่างเซ่อซ่า จนนักเรียนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ในกรณีนี้ ถ้าตำรวจปรับเศรษฐีที่เดินอย่างเรินเร่อ เป็นเงิน 1000 บาท เศรษฐีคงยินดีจ่ายเงินโดยไม่มีปัญหา แต่กับคนหาเช้ากินค่ำที่มีรายได้วันละ 300 บาท การถูกปรับเป็นเงิน 500 บาท แม้จะ กล่าวได้ว่าเป็นความเท่าเทียมกันตามกฏหมาย แต่อาจจะไม่เป็นธรรมกับบุคคลผู้นี้ เพราะการสูญเสียเงินถึง 500 บาทภายในวันเดียว อาจทำให้ครอบครัวของเขาเกิดวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมทันที มันกลายเป็นเรื่องโกลาหลใหญ่โตภายในครอบครัว เพราะในวันนั้นลูกๆ ที่บ้านอาจไม่ได้กินข้าวอิ่ม หรือได้กินข้าวแต่ไม่ค่อยจะมีกับข้าวให้กิน ผัวเมียอาจจะต้องทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะมีเงินใช้ไม่พอ ดังนั้นสำหรับตำรวจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมจึงต้องเป็นบุคคลที่มีดุลยพินิจและมีวุฒิภาวะอย่างเพียงพอที่จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมยุติได้อย่าง “เป็นธรรม” คือยุติได้ด้วยดี ด้วยดีในที่นี้คือด้วยดีของผู้ที่ถูกกระทำ (passive) ไม่ใช่เพียงแต่ดีสำหรับผู้ที่กระทำ (active) เท่านั้น คำว่าเป็นธรรมสามารถอธิบายเป็นหนังสือได้ทั้งเล่ม สามารถที่จะพูดกันได้ทั้งวัน แต่มันจะเป็นประโยชน์อะไรเล่า ถ้าหากตำรวจคนนั้นไม่สามารถใช้ดุลยพินิจ ให้เกิดความเป็นธรรมและความสงบสุขในสังคมได้ด้วยการปฏิบัติต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ “ยุติ” และเกิดความเป็น “ธรรม” พร้อมกันไป

ยุติแต่ไม่เป็นธรรม ก็ไม่ยุติ มีความเป็นธรรม แต่ไม่ยุติ ก็ไม่ยุติธรรมจริง

การใช้ดุลยพินิจเพื่อหาทางออกของปัญหาหนึ่งๆ จึงจำเป็นต้องใช้ทั้งการสร้างความยุติธรรมและการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดพร้อมๆกันไปด้วย

สำหรับนายตำรวจผู้นี้ ที่ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่และอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือของทางราชการ ไปให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนเพื่อหารายได้เสริมให้แก่ตัวเอง จะถือว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของตำรวจได้หรือไม่? เพราะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการรีดไถ ข่มขู่หรือกรรโชกทรัพย์จากนักท่องเที่ยวแต่ประการใด ? เรื่องนี้เพียงแต่ตั้งกรรมการสอบวินัย หากพบว่ามีความผิดก็กระทำการลงโทษไปตามความผิดก็น่าจะเพียงพอแล้วกระมัง?
มีตำรวจอีกจำนวนไม่น้อยที่หารายได้จากการข่มขู่ รีดไถและกรรโชกทรัพย์ จากนักธุรกิจทั้งชาวไทยและชาวจีนตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ทั่วไป คนเหล่านั้นหากไม่เป็นข่าวตามสื่อมวลชนแล้วก็ไม่มีความผิด ตำรวจประเภทนี้ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากใช่หรือไม่? เราควรจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับตำรวจที่มีพฤติกรรมที่มีความผิดร้ายแรงมิใช่หรือ?

หลักคิดและหลักเกณฑ์ในการบริหารของระบบราชการสมัยใหม่ ที่ประเทศไทยหยิบยืมความคิดนี้มาจากประเทศตะวันตกตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา มีอยู่หลายประการแต่มีประการหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่โดยทั่วไปก็คือ มันเป็นสำนักงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน (public office) ซึ่งจะต้องถือปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกชั้น วรรณะ ชาติตระกูล สายเลือด ยศถาบรรดาศักดิ์ และการเลือกปฏิบัติด้วยความเสน่หาส่วนบุคคล

แต่การที่นายตำรวจผู้นี้ใช้สำนักงานของตำรวจที่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไปเป็น “ตลาดเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์สำหรับตัวเอง”(market – place oriented) จึงถือว่าเป็นการกระทำที่เรียกได้ว่าเป็นการคอรัปชั่นรูปแบบหนึ่ง

การกระทำของนายตำรวจผู้นี้ จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นบุคคลสาธารณะ (public person) อีกต่อไปได้ พฤติกรรมแห่งการกระทำของเขาขัดแย้งอย่างรุนแรงกับหลักการบริหารของระบบราชการสมัยใหม่ที่ข้าราชการถือว่าเป็น “บุคคลสาธารณะ” มิใช่ “ข้า” ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือของเจ้านายหรือของผู้บังคับบัญชาผู้ใดผู้หนึ่งอีกต่อไป เพราะเหตุว่าเงินเดือน ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ของเขานั้นมาจากเงินภาษีอากรของประชาชนโดยตรง ดังนั้นพฤติกรรมที่เป็นการทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่ยอมรับไม่ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเขา จึงไม่ใช่ตำรวจอีกต่อไปแล้ว

สิ่งที่ผมไม่ใคร่เข้าใจประการหนึ่งก็คือเมื่อมีการจับกุมข้าราชการในข้อหาทุจริต แต่กลับไม่มีการอายัดทรัพย์สินเพื่อตั้งข้อหาการฟอกเงินตามไปด้วย ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าการทุจริตด้วยการใช้อำนาจของทางราชการนั้น จะนำไปสู่การฟอกเงินเสมอไป

เงินที่มาจากการทุจริตถือว่าเป็นเงินสีดำ (black money) เสมอไป เสมอไปจริงๆครับ เพราะฉะนั้นเงินประเภทนี้จึงไม่ใช่เงินสีเทา (gray money) ที่ยังต้องมาตรวจสอบว่าเป็นสีเทาจริงหรือไม่ หรือสีเทามากน้อยแค่ไหน แต่เงินที่มาจากการ ทุจริตต้องถือว่าเป็นเงินสีดำเท่านั้น จะเป็นสีอื่นไม่ได้เลย ดังนั้นผมจึงเห็นว่าเมื่อมีการตรวจสอบว่าข้าราชการคนหนึ่งคนใดที่มีการกระทำทุจริต จำเป็นต้องมีการอายัดทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบปัญหาเรื่องการฟอกเงินทันที เพื่อมิให้จำเลยสามารถที่จะโยกย้ายทรัพย์สินเหล่านั้นไปหลบซ่อนได้ ถ้ารัฐบาลและข้าราชการ หน่วยงานด้านการตรวจสอบมีความรู้และความเข้าใจตรงกันเช่นนี้แล้ว การต่อสู้กับเรื่องของการทุจริตและการฉ้อฉลทุกประเภทจึงจะมีอนาคตขึ้นอีกหน่อยหนึ่งครับ