มิติใหม่การสอบสวน 6 หน่วยงานลงนาม MOU อำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา หนุนอัยการแสวงหาความจริง

มิติใหม่การสอบสวน 6 หน่วยงานลงนาม MOU อำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา หนุนอัยการแสวงหาความจริง

เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด โดย นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม โดยนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม โดย พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย โดยนายแพทย์สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา 6 หน่วยงาน

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า นอกจากพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา 6 หน่วยงานแล้ว วันนี้ได้จัดเวทีเพื่อแสดงผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยฯ จากการศึกษาวิจัยและสอบถามอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่ในคดีอาญา 2 ครั้งรวมกว่า 1900 ท่าน มากกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่สุดในการอำนวยความยุติธรรมคือ อัยการไม่สามารถทราบความจริงหรือความเท็จในคดีและไม่มีเวลาและข้อมูลเพียงพอที่จะสั่งสอบสวนเพิ่มเติมได้สาเหตุทั้งเกิดจากระบบที่ไม่ได้มาตรฐานและจากการจงใจทุจริตคอร์รัปชัน ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ดร.น้ำแท้ กล่าวว่า ความยุติธรรมและความเสมอภาคเป็นรากฐานและเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองฯ จึงไม่ใช่เรื่องที่ผูกขาดโดยหน่วยงานใดแต่เป็นสิ่งที่ภาครัฐและประชาชนจะต้องร่วมมือกัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานวิชาการได้รับการประสานจากกรมพระธรรมนูญ เพื่อพัฒนาความร่วมมือโดยอาศัยศักยภาพ กำลังพลและภารกิจของกระทรวงกลาโหมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาความจริงของพนักงานอัยการให้ครอบคลุมและกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยร่วมกับ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาฉบับ 6 หน่วยงานฉบับนี้ เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้พนักงานอัยการสามารถแสวงหาความจริงและทราบความจริงหรือความเท็จแห่งคดีอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์

“สามารถสั่งสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างถูกต้องครบถ้วน แลกเปลี่ยนข้อมูลและให้คำปรึกษาเพื่อการอำนวยความยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดการบิดเบือนคดี ป้องกันการสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อยัดข้อหาคนบริสุทธิ์และป้องกันการทำลายพยานหลักฐานที่แท้จริงเพื่อช่วยคนรวยหรือคนมีอิทธิพล เมื่อสามารถบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีได้อย่างตรงไปตรงมา ประชาชนจะมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ส่งผลให้สามารถปราบปรามอาชญากรรม การทุจริตคอรัปชั่นและผู้มีอิทธิพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วตรงไปตรงมา จะทำให้สามารถพัฒนาประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆด้าน ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนจะดีขึ้น”

ดร.น้ำแท้ กล่าวว่า จากการศึกษาระบบการดำเนินคดีทั้งประเทศที่ใช้ระบบไต่สวนและระบบกล่าวหาพบว่ามีมาตรฐานสากลที่สอดคล้องกันในเรื่องระบบการแสวงหาความจริงในคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ

1) แจ้งเหตุอาชญากรรมให้อัยการและฝ่ายปกครองในท้องที่ทันที (เพื่อป้องกันการบิดเบือนทำลายพยานหลักฐานโดยหน่วยงานเดียว)
2) แจ้งการจับให้อัยการและฝ่ายปกครองทราบเพื่อตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิผู้ถูกจับ
3) หมายจับ ขัง ค้น ต้องได้การรับรองความจำเป็นในการออกหมายว่าไม่ละเมิดสิทธิประชาชนเกินสมควรจากอัยการก่อนที่จะไปขอหมายจากศาล
4) อัยการและหลายหน่วยงานสามารถตรวจสอบพยานหลักฐานได้ทันทีในที่เกิดเหตุ (เพื่อตรวจสอบภารกิจตามหน้าที่ของตน)
5) หลายหน่วยงานมีอำนาจสอบสวนคดีตามกฎหมายที่ตนรับผิดชอบส่งอัยการได้โดยตรงเพราะมีความเชี่ยวชาญกฎหมายของตนดีและป้องกันการสอบสวนทำลายหลักฐานเพื่อปกป้องช่วยเหลือพวกกันเอง
6) หากพบว่าเจ้าหน้าที่กระทำความผิดหรือไม่มั่นใจการสอบสวน อัยการสามารถทำการสอบสวนเองได้เพื่อป้องกันการสอบสวนบิดเบือนพยานหลักฐานช่วยเหลือกัน
7) อัยการจะสั่งฟ้องต่อเมื่อพยานหลักฐานมั่นใจว่าจะพิพากษาลงโทษได้ตามหลักการสากลที่ดำเนินคดีได้เพียงครั้งเดียว

“เมื่อพยานหลักฐานถูกรวบรวมเก็บรักษาได้ครบถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์และวาทะกรรมที่กล่าวไว้ว่าคุกขังได้เฉพาะคนจน ความยุติธรรมเข้าถึงยากใช้เวลานาน ราคาแพงจะหมดสิ้นไป ประชาชนจะเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย”ดร.น้ำแท้ กล่าว

สำหรับ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาระหว่าง 6 หน่วยงาน มีรายละเอียด ดังนี้

โดยที่ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ กำหนดให้มีการบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงและพัฒนาปรับปรุงหลักการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคมโดยทุกภาคส่วนมีบทบาทเชิงรุกร่วมกันในการเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยปรับกระบวนการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้อง ทุกขั้นตอนของการค้นหาความจริง การสืบสวนสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และบูรณาการทรัพยากรและกระบวนการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินงานอย่างสอดประสานในทิศทางเดียวกันโดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการทำงานให้เกิดความโปร่งใสเพื่อให้การพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านการอำนวยความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและสังคม ตามกรอบในการพัฒนาประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นให้สังคมมีความมั่นคง สงบสุข ยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชาชนมีความเสมอภาค เท่าเทียม ปลอดภัยในทุกระดับ

ทั้งนี้ การดำเนินงานของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม และสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ต่างมีภารกิจ หน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกัน แต่หน่วยงานทั้ง ๖ ฝ่าย มีบทบาทและพันธกิจสำคัญร่วมกันในการสร้างสังคมที่มีความมั่นคง เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมสังคมให้มีความเสมอภาค เท่าเทียมกันปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมดำเนินไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และประชาชน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ การประสานความร่วมมือของหน่วยงานทั้ง ๖ ฝ่ายในการค้นหาความจริงในคดีอาญาจึงเป็นกลไกและหัวใจสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและครบถ้วนเพื่อใช้ในการพิสูจน์ความจริง ส่งผลให้การบริหารจัดการระบบงานยุติธรรมและการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาของประเทศดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมาย เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้น เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานและเพื่อให้การค้นหาความจริงในคดีอาญา การอำนวยความยุติธรรมทางอาญามีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน หน่วยงานทั้ง ๖ ฝ่ายจึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการเชื่อมโยงระบบรับส่งข้อมูลและติดตามผล เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ประสานงานและบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 เพื่อสนับสนุนพันธกิจยกระดับการบริหารจัดการการอำนวยความยุติธรรม ในคดีอาญาของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเสมอภาค
1.3 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของแต่ละหน่วยงานด้านการศึกษา การวิจัย และการฝึกอบรม
1.4 เพื่อให้การรวบรวมพยานหลักฐานและการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงในคดีอาญาเป็นไปอย่างรวดเร็วมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้อง
1.5 เพื่อพัฒนาระบบงานยุติธรรม การอำนวยความยุติธรรม และปกป้องคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรม
1.6 เพื่อส่งเสริมการสร้างกลไก การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาคีเครือข่าย และพัฒนาระบบปฏิบัติการแจ้งเหตุอาชญากรรมผ่านระบบ Mobile Applicationเพื่อการเฝ้าระวังเหตุ

2. แนวทางการดำเนินงาน
2.1 ภารกิจร่วมกันของหน่วยงานทั้ง ๖ ฝ่าย
– ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม คู่มือความรู้เบื้องต้น และแนวทางปฏิบัติด้านนิติวิทยาศาสตร์ นิติเวช สืบสวนสอบสวน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากรในแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ ภาคีเครือข่าย รวมถึงหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพและกู้ภัย
– ร่วมกันสนับสนุนวิทยากรในการจัดประชุม สัมมนา และสนับสนุนให้บุคลากร เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน
– ร่วมกันสนับสนุนและจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมประจำจังหวัด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อบูรณาการประสานความเข้าใจ สร้างความร่วมมือในการอำนวยความยุติธรรมด้านต่าง ๆ ตามบันทึกข้อตกลงนี้และแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในแต่ละพื้นที่เมื่อมีเหตุอาชญากรรมสำคัญหรือเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น
– ร่วมกันสนับสนุนและมอบหมายหน่วยงานภายในของแต่ละฝ่ายให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรฐานการดำเนินงานร่วมกันเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมระดับจังหวัดและการดำเนินการอื่นใดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามบันทึกข้อตกลงนี้ตามที่เห็นสมควร

2.2 ภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุด
– ศึกษา สนับสนุน และผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานดิจิทัล (Digital Forensic Center) ที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานดิจิทัลที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ ให้กับสำนักงานอัยการท้องที่เพื่อใช้ในการดำเนินคดี
– ศึกษาและผลักดันให้มีระเบียบแต่งตั้งแพทย์นิติเวชเป็นคณะที่ปรึกษาเพื่อให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ (Tele-Consultation) ในคดีที่สำคัญหรือมีข้อสงสัยว่าเป็นการฆาตกรรม หรือฆ่าตัวตาย หรือ ตายตามธรรมชาติ
– ศึกษาและผลักดันให้มีระเบียบจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่เป็นกรรมการ และให้มีหน่วยเลขานุการตั้งอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัด
– ศึกษาและผลักดันให้มีระเบียบว่าด้วยเจ้าพนักงานคดีเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพนักงานอัยการในการสอบสวนเพิ่มเติม การตรวจสถานที่เกิดเหตุ การรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุและจัดทำสำนวนการสืบสวนเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้รับก่อนการรับสำนวนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2.3 ภารกิจของกระทรวงยุติธรรม
– สนับสนุนและจัดทำข้อมูลพันธุกรรมบุคคล (ดีเอ็นเอ: DNA) รวมถึงพยานหลักฐานที่ได้ดำเนินการจัดเก็บและตรวจพิสูจน์เรียบร้อยแล้วให้กับพนักงานอัยการที่เป็นเจ้าของสำนวนเพื่อประกอบการพิจารณาสำนวนคดีของพนักงานอัยการทั้งนี้ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
– สนับสนุนการตรวจพิสูจน์และจัดส่งพยานหลักฐานที่รวบรวมได้จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีที่มีความจำเป็นพนักงานอัยการอาจร้องขอให้ดำเนินการจัดเก็บและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานและการสอบสวนของพนักงานอัยการ
– ส่งเสริมและสนับสนุนให้แพทย์นิติเวชในสังกัดกระทรวงยุติธรรมร่วมเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ (Tele-Consultation) ในคดีที่สำคัญหรือคดีที่มีประเด็นไม่แน่ใจว่าเป็นการฆาตกรรมหรือฆ่าตัวตายหรือตายตามธรรมชาติ
– จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านระบบการแจ้งเหตุอาชญากรรมวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรวบรวมพยานหลักฐานด้านนิติเวชในที่เกิดเหตุและวิธีการแจ้งเหตุให้แก่หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนมูลนิธิภาคีเครือข่ายรวมถึงหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพและกู้ภัย

2.4 ภารกิจของกระทรวงมหาดไทย
– สนับสนุนและจัดส่งข้อมูลทะเบียนบุคคล อาวุธปืน หรือพยานหลักฐานอื่นใด ที่อยู่ในความครอบครองซึ่งได้มาจากกระบวนการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่นายทะเบียนการสืบสวนสอบสวนของพนักงานฝ่ายปกครองเพื่อนำมาใช้ประกอบสำนวนคดีของพนักงานอัยการในการพิจารณาทำความเห็นและคำสั่งในคดี
– สนับสนุนและจัดเก็บพยานหลักฐานเบื้องต้น ด้วยการสำรองข้อมูล ภาพถ่าย และไฟล์
กล้องวงจรปิด ระบุพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์หรือเกี่ยวข้องในที่เกิดเหตุ นำส่งพนักงานอัยการ เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความครบถ้วนสมบูรณ์ของพยานหลักฐานในสำนวน
– สนับสนุนและจัดส่งข้อมูลเมื่อพบว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้กับพนักงานอัยการในพื้นที่ทราบเพื่อตรวจสอบพยานหลักฐานและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของประชาชน
– สอดส่อง กำกับดูแล แจ้งเหตุ รวบรวม และจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบุคคล หรือพยานหลักฐานอื่นใดที่พนักงานฝ่ายปกครองทราบข้อมูลเบาะแสเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดให้กับพนักงานอัยการในพื้นที่ได้โดยตรงทั้งก่อนและภายหลังการรับสำนวนคดี

2.5 ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข
– สนับสนุนการตรวจพิสูจน์และจัดส่งพยานหลักฐานที่รวบรวมได้จากการตรวจศพและผู้บาดเจ็บ ในกรณีมีความจำเป็นพนักงานอัยการอาจร้องขอให้ดำเนินการจัดเก็บและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานและการสอบสวนของพนักงานอัยการ
– ส่งเสริมและสนับสนุนให้แพทย์นิติเวชในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ (Tele- Consultation) และให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในคดีที่สำคัญหรือคดีที่มีประเด็นไม่แน่ใจว่าเป็นการฆาตกรรมหรือฆ่าตัวตายหรือตายตามธรรมชาติ
– ร่วมจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านระบบการแจ้งเหตุอาชญากรรมวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล และการรวบรวมพยานหลักฐานด้านนิติเวชในที่เกิดเหตุและวิธีการแจ้งเหตุให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ ภาคีเครือข่าย รวมถึงหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพและกู้ภัย

๒.๖ ภารกิจของกระทรวงกลาโหม
– สนับสนุน และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการในกระบวนการยุติธรรมทหาร – ประสานงานนายทหารเหล่าพระธรรมนูญตามสายการบังคับบัญชาในการอำนวยความยุติธรรมตามอำนาจหน้าที่ อีกทั้งให้นายทหารเหล่าพระธรรมนูญร่วมกับพนักงานอัยการ ให้ความรู้และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ข้าราชการทหาร และประชาชนทั่วไป – ร่วมจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และสนับสนุนบุคลากรบรรยายพิเศษตามที่หน่วยงานต่าง ๆขอรับการสนับสนุน

๒.๗ ภารกิจของสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย
– ประสานความร่วมมือในการทำบัญชีแพทย์นิติเวชที่สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้ข้อมูลในคดีที่สำคัญโดยสมาคมจะคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ อาจให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ (Tele- Consultation) หรือในรูปแบบองค์คณะ

3. การเปลี่ยนแปลงแก้ไข และหรือเพิ่มเติม
หน่วยงานทั้ง ๖ ฝ่ายจะต้องปฏิบัติภารกิจร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงฯ และตามกรอบอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย หากสถานการณ์และนโยบายมีการเปลี่ยนแปลง สามารถปรับเปลี่ยน ทบทวน แก้ไขภารกิจในบันทึกข้อตกลงฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายนั้นได้ เมื่อได้รับความยินยอมร่วมกันของหน่วยงานทั้ง ๖ ฝ่าย ทั้งนี้ ให้จัดทำเป็นบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมแนบท้ายบันทึกข้อตกลงฉบับนี้และให้ถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมเป็น ส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลงฯ และให้มีผลใช้บังคับได้

4. การเก็บรักษาข้อมูล
หน่วยงานทั้ง ๖ ฝ่ายตกลงว่าจะเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับ โดยจะไม่เปิดเผย เผยแพร่ โดยไม่ได้รับความยินยอม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล หรือเป็นการเปิดเผยตามบทบัญญัติของกฎหมายกรณีหากนำข้อมูลไปใช้ผิดจากข้อตกลงหรือลักษณะที่ส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลหากฝ่าฝืนหรือเกิดความรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญาผู้ขอข้อมูลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะ ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายชั้นต้นและเป็นผู้รับผิดชอบทางแพ่ง

5. การใช้บังคับ
เพื่อให้การดำเนินการของหน่วยงานทั้ง ๖ ฝ่ายบรรลุตามวัตถุประสงค์หน่วยงานทั้ง ๖ ฝ่าย จะได้มีคำสั่งให้บุคลากรและหน่วยงานในสังกัดถือปฏิบัติตามนัยแห่งบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ต่อไป หากเกิดปัญหาหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ทั้ง ๖ ฝ่ายจะร่วมพิจารณาหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นจำนวน ๖ ฉบับ โดยมีข้อความถูกต้องตรงกันทุกประการ ผู้มีอำนาจลงนามของทั้ง ๖ ฝ่ายได้อ่านและเข้าใจข้อความโดยละเอียดแล้ว เห็นว่าถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ทุกประการผู้มีอำนาจลงนามของทั้ง ๖ ฝ่าย จึงได้ร่วมลงนามไว้เป็นสำคัญ และได้เก็บรักษาไว้ฝ่ายละหนึ่งฉบับ โดยให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป