บ่อนพนัน สถานบันเทิงเถื่อนหรือฝ่าฝืนกฎหมาย’เขตห้ามตรวจ’ของตำรวจไทย!  

บ่อนพนัน สถานบันเทิงเถื่อนหรือฝ่าฝืนกฎหมาย’เขตห้ามตรวจ’ของตำรวจไทย!  

ยุติธรรมวิวัฒน์

บ่อนพนัน สถานบันเทิงเถื่อนหรือฝ่าฝืนกฎหมาย“เขตห้ามตรวจ”ของตำรวจไทย!  

  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

กรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้ “ผับเถื่อน” เมาน์เทนบี ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง  15 คน บาดเจ็บสาหัสอีก กว่าครึ่งร้อย

เป็นโศกนาฏกรรมซ้ำรอย ซานติก้าผับ ที่เกิดเหตุไฟไหม้ในย่านเอกมัยกรุงเทพมหานครเมื่อหลายปีก่อนทำให้มีคนตายไปถึง 67 คน และบาดเจ็บสาหัสไม่สาหัส กว่าหนึ่งร้อย เช่นกัน

ประเทศไทยในความเป็นจริงนั้นเป็น “ดินแดนที่แสนอันตราย”!

ไม่ว่าจะจากปัญหาอาชญากรรม ผู้คนฆ่ากันตาย หญิงถูกข่มขืน ทำอนาจาร การทำร้าย ทะเลาะวิวาท ลัก วิ่ง ชิง ปล้น การฉ้อโกง ฉ้อกล รวมไปถึงอุบัติเหตุทางถนนอาคารสิ่งก่อสร้างถล่มและภัยอีกสารพัด!

สวนทางกับสถิติคดีอาญาที่ผู้นำตำรวจทุกระดับรายงาน หลอกรัฐบาลและรัฐสภา อย่างหน้าชื่นตาบานว่า ลดลงทุกเดือนและทุกปี

กรณีไฟไหม้ ผับเถื่อนขนาดใหญ่ ในจังหวัดชลบุรี จนกระทั่งป่านนี้ ผู้มีอำนาจในระดับรัฐบาลหลายคนก็ยังงุนงง อยู่ว่า เป็นปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดและใครกันแน่?

ระหว่างฝ่ายปกครองคือกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด กับ ตำรวจแห่งชาติที่มี ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

แต่ไหนแต่ไรมา ป.วิ อาญา ได้กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าผู้รักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยทั่วราชอาณาจักร มีข้าราชการฝ่ายปกครองคือจังหวัดและอำเภอรวม ทั้ง ตำรวจก็สังกัดมหาดไทย เป็นมือไม้ในการทำงานตามนโยบายหรือที่สั่งการ รวมไปถึงงานสอบสวน

บ่อนการพนัน สถานบันเทิงเถื่อน และแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายก็ไม่ได้เกิดขึ้นมากมายจนสังคมเกิดความวุ่นวายไม่สงบเท่าปัจจุบัน

แต่วันที่ตำรวจแยกออกจากกระทรวงมหาดไทย ส่งผลทำให้ตำรวจผู้ใหญ่คิดว่า กระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของตนอีกต่อไป

แม้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2535 จะบัญญัติไว้ว่า ให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ เป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทุกหน่วยในจังหวัดและอำเภอ ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในทางปฏิบัติ

เพราะไม่ได้กำหนดบทให้คุณให้โทษกับตำรวจคนใดในจังหวัดไว้แม้แต่คนเดียว

ตำรวจแค่จ่าดาบหรือ “สารวัตรหนุ่ม” ที่ประชาชนรู้กันดีกว่ามีพฤติกรรมชอบทำทารุณกรรมหรือรีดไถ ผู้ว่าฯ ก็สั่งย้ายหรือลงโทษทางวินัยอะไรเช่นแต่ก่อนไม่ได้!

ปัจจุบันตำรวจไทยจึงกลายเป็นองค์กรอิสระในจังหวัดไปโดยปริยาย ไม่มีใครหรือองค์กรใดสามารถตรวจสอบหรือควบคุมการปฏิบัติงานหรือความประพฤติของตำรวจทุกระดับได้อีกต่อไป

ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดปัจจุบันกว่าร้อยละ 90 ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดประจำเดือนที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน รับรู้ปัญหาสารพัดอะไรในจังหวัดด้วยตัวเองเลยก็มี

หัวหน้าสถานีตำรวจส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมเข้าประชุมกับนายอำเภอรับรู้ปัญหาสารพัดในอำเภอด้วยตัวเองเช่นกัน

ปัญหาไฟไหม้ผับเถื่อนในจังหวัดชลบุรี จึงมีปัญหาโยนความรับผิดชอบกันไปมา ระหว่างผู้ว่าฯ นายอำเภอกับสถานีและกองบังคับตำรวจจังหวัด

ตำรวจผู้ใหญ่โง่ๆ บางคนบอกว่า ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ต้องรับผิดชอบ เพราะ พ.ร.บ.สถานบริการบัญญัติให้เป็นนายทะเบียนสถานบริการทุกประเภทในส่วนภูมิภาค ต่างจากใน กทม.ที่กฎหมายให้เป็นอำนาจของ ผบช.น.

ในต่างจังหวัดใครจะเปิดสถานบริการไม่ว่าประเภทใด ต้องขออนุญาตต่อนายอำเภอเป็นผู้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารสถานที่ให้ถูกต้องปลอดภัยตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนจึงอนุญาต

อันนั้นก็ใช่

แต่เมื่อได้รับอนุญาตให้เปิดแล้ว การมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ปล่อยให้เด็กและเยาวชนหญิง-ชายเข้าไปใช้บริการ หรือเปิดเกินเวลา 01.00 น. หรือมีเสพหรือค้ายาเสพติดอะไรหรือไม่

นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อยู่ในวิสัยที่จะสามารถรู้ได้

 เนื่องจากรัฐไม่ได้จัดคนและงบประมาณยานพาหนะไว้ให้อำเภอทำหน้าที่ตรวจตรารักษากฎหมายเป็นรายวัน เช่นตำรวจที่รัฐจัดให้ทั้งกำลังคน งบประมาณ และยานพาหนะ ที่เรียกกันว่ารถสายตรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบสังกัดสถานีตำรวจในแต่ละพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง

รวมไปถึงมีกองบังคับการตำรวจจังหวัด กองบัญชาการตำรวจภาค ไปจนกระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ มีนายพลตำรวจระดับต่างๆ นั่งกันอยู่คราคร่ำมากมาย

ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือสนับสนุน “เมื่อได้รับการร้องขอ”

แต่งานตำรวจแท้จริงคือการรักษากฎหมายส่วนใหญ่ ใช้กำลังคนแค่ระดับสถานีมีตำรวจยศแค่นายร้อยผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสายตรวจเท่านั้นก็สามารถจับกุมแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายทุกเรื่องได้ ไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร

แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ ตำรวจหัวหน้าสายตรวจพวกนี้ หรือแม้กระทั่งหัวหน้าสถานีตำรวจประเทศไทย  ส่วนใหญ่กลับไม่สามารถทำหน้าที่รักษากฎหมายตามอำนาจของตนได้

เพราะแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ได้ “จ่ายส่วย” รูปแบบต่างๆ ให้ตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับและหลายหน่วยที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นรายเดือนแล้วแทบทั้งสิ้น!

บ่อนการพนันและสถานบันเทิงเถื่อน จึงกลายเป็น “เขตห้ามตรวจ” ของตำรวจพื้นที่ทุกระดับไป!

สายตรวจคนใดไปขี่รถจักรยานยนต์ป้วนเปี้ยนหน้าบ่อน หรือสถานบริการเปิดเกินเวลา บางคนก็ถูกเจ้านายโทรศัพท์ด่า ต้องรีบขี่รถหนีทันทีก็มี!

นี่ถ้าไม่เกิดไฟไหม้จนมีคนตาย ก็ไม่มีใครรู้ว่า ผับแห่งนี้ที่ได้มีการต่อเติมอาคารและเปิดเป็นสถานบริการมา กว่าสองเดือน โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคิดว่านายอำเภอควรตรวจตราและสามารถจับกุมได้ แต่ไม่ทำหน้าที่ จึงต้องมีการลงโทษอย่างน้อยด้วยการย้าย

ซึ่งถ้าคิดและเข้าใจเช่นนี้ ก็ต้องโอนตำรวจแห่งชาติไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย และให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ มีอำนาจปกครองบังคับบัญชาตำรวจทุกระดับในจังหวัด

และยุบกองบัญชาการตำรวจภาคทั้งหมดลง ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณได้ปีละนับหมื่นล้านแล้ว

งานรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยในอำเภอและจังหวัดก็จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย

เนื่องจากนายอำเภอและผู้ว่าฯ จะมีเอกภาพในการบังคับบัญชาข้าราชการทุกหน่วยในจังหวัด

ไม่ต้องโยนกันไปมาว่า แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดและอำเภอเป็นหน้าที่ของใครกันเช่นทุกวันนี้!.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 8 ส.ค. 2565