ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ‘ปฏิรูป’ หรือที่แท้แค่ ‘ปฏิลวง’ ถ่วงเวลาหลอกประชาชน!

ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ‘ปฏิรูป’ หรือที่แท้แค่ ‘ปฏิลวง’ ถ่วงเวลาหลอกประชาชน!

ยุติธรรมวิวัฒน์

ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ‘ปฏิรูป’หรือที่แท้แค่’ปฏิลวง’ถ่วงเวลาหลอกประชาชน!

 

                                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

กรณี “น้องแตงโม” ถูกผู้อื่นทำให้ตาย จนถึงขณะนี้ การสอบสวน คดีอาญา “ค้นหาความจริงของรัฐ” ก็ยังไปไม่ถึงไหน อัยการ ยังไม่สามารถ สั่งฟ้องข้อหาประมาท กับใครตามที่ศาลออกหมายจับและตำรวจแจ้งข้อหาได้!

เพราะไม่รู้จะบรรยายฟ้องและแสดงพยานหลักฐานการกระทำผิดของแต่ละคนให้ศาลรับฟังจนสิ้นสงสัย รวมทั้งชี้แจงอธิบายให้ประชาชนทราบและเข้าใจได้อย่างไร?

หากขืน สั่งฟ้องมั่วๆ ตามที่ตำรวจเสนอไป เพราะไม่ต้องการให้ผู้บัญชาการตำรวจภาคทำความเห็นแย้งเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา และในที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง

นอกจากจะเป็นการ โยนบาปให้น้องแตงโม ว่าไปนั่งปัสสาวะท้ายเรือ ประมาทเอง แล้ว!

ยังทำให้ผู้กระทำผิดซึ่งอาจเป็น ข้อหาอื่นที่มีโทษสูงกว่า”ลอยนวล” ไม่ต้องรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่งอะไรชดใช้ค่าสินไหมให้ คุณแม่ แม้แต่บาทเดียวอีกด้วย!

ปัญหาทั้งปวงเกิดจากการปฏิบัติแต่แรกที่ไม่ถูกต้องตามครรลองของการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน

ตั้งแต่การไม่อายัดเรือนำไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย ทำให้ผู้คนไม่เชื่อถือ เมื่อเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจไม่พบวัตถุพยานบ่งชี้ว่ามีการกระทำผิดทางอาญาอะไรในเวลาต่อมา?

ในการผ่าชันสูตรศพซึ่งต้องส่งไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ตามระบบปกติ

ก็กลับมี คำสั่งลึกลับ ไร้คำอธิบายให้ คุณเอกพันธ์  บรรลือฤทธิ์ เลี้ยวรถกลับนำไปส่งที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจแทน ก่อให้เกิดปัญหา แพทย์ผ่าตรวจทำรายงาน แล้วผู้คนตั้งคำถามกันมากมาย!

ระหว่างที่อัยการรีรอต่อการสั่งคดีฟ้องหรือไม่ฟ้องใครตามกฎหมาย บอกให้รอฟังกันในวันที่ 23 มิ.ย.2565 นั้น  ก็ได้มีผู้หวังดี ทำหน้าที่นักสืบแข่งกับตำรวจ เกิดขึ้นกันมากมายหลายสำนัก

ส่งผลทำให้ประเด็น พฤติการณ์แห่งความตาย กระจายกลายเป็นทั้ง ถูกขึ้นฝั่งไปฆาตกรรม และ การทำร้ายโดยใช้มีดหรือของมีคมแทงขาบนเรือ แล้วผลักตกน้ำไป ฯลฯ!

บางคนบอกมีคลิปเหตุการณ์เป็นหลักฐานสำคัญ  พร้อมจะเปิดให้ดูกันรอให้ถึงวันนั้นวันนี้ แต่ก็ยังไม่เห็นมีใครเปิดให้ประชาชนดูหายสงสัยเสียที?

ระหว่างนี้ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของทั้งสองสภาในวาระแรกรับหลักการ นำไปสู่การตั้ง กมธ.วิสามัญ แปรญัตติและถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาใน วาระ 2 และ 3 วันที่ 9-10 มิ.ย.2565  นี้ ที่หลายคนโดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลพูดว่า เป็นการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

แต่แท้จริง หาใช่เป็นการปฏิรูป “ระบบตำรวจและงานสอบสวน” ที่จะสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแสนสาหัสในปัจจุบันได้แต่อย่างใด

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญา กรรม โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นทั่วประเทศมากมาย พนักงานสอบสวนไม่ยอมรับคำร้องทุกข์จากประชาชน ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยไม่ชักช้าตามที่ ป.วิ อาญา บัญญัติไว้เพื่อมิให้พยานหลักฐานเสียหายหรือสูญหายไป

รวมทั้งไม่สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องต้องการที่สำคัญของประชาชนเรื่องให้ ตำรวจสังกัดจังหวัด

ผู้ว่าฯ ทั้งที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้งต้องมีเอกภาพในการบังคับบัญชา มีอำนาจสั่งราชการและแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทุกระดับในจังหวัดได้เมื่อผ่านความเห็นชอบของ “คณะกรรมการตำรวจจังหวัด”

นอกจากนั้น หน่วยตำรวจเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจจราจร สำนักงานตรวจค้นเข้าเมือง ตำรวจน้ำ ตำรวจทางหลวง ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ตำรวจเศรษฐกิจ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจเทคโนโลยี ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ ต้องถูกโอนไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย  กีระนันทน์ เป็นประธาน และได้ทำรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ ปลายปี 2558

โดยคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติส่งให้ สตช.และกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวรายงานผลให้ทราบโดยเร็ว

สาเหตุที่ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจแทบไม่ได้เป็นไปตามเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชนอะไร เนื่องจาก ไม่ใช่ร่างฉบับที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งล่าสุดแต่งตั้งคณะกรรมการชุดที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เป็นผู้จัดทำขึ้นและเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งถือว่ามีเนื้อหาที่เป็นการปฏิรูประบบตำรวจของประเทศให้ดีขึ้นระดับหนึ่งประมาณว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญเช่น

1.กำหนดให้ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน แพทย์พยาบาล และการศึกษาโรงเรียนตำรวจต่างๆ เป็นข้าราชการตำรวจประเภทที่ไม่มียศ เพื่อให้การทำงานทางวิชาการมีความเป็นอิสระตามวิชาชีพอย่างแท้จริง

รวมทั้งเป็นการเริ่มปฏิรูปให้ตำรวจบางหน่วย เป็นระบบพลเรือนสอดคล้องกับสภาพของการทำงาน ที่ไม่จำเป็นต้องมียศและวินัยรวมทั้งการปกครองแบบทหารเพื่อบัญชาการรบเป็นหมวดหมู่ต่อสู้กับข้าศึกศัตรู

2.กำหนดให้ Set Zero จัดแถวตำรวจติดตามและรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญใหม่ทั้งหมด

หากบุคคลตำแหน่งใดมีความจำเป็น ให้ทำได้โดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ใช่ให้มีอำนาจสั่งตำรวจไปเดินตามหรือคอยรับใช้ใคร ตามใจของ ผบ.ตร.กันเช่นทุกวันนี้

หรือแม้กระทั่งมีการออก ระเบียบภายในให้จัดตำรวจไปรับใช้ผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นไปทุกคนได้ “จนตาย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและเอาเปรียบประชาชน น่าละอายอย่างยิ่ง!

3.กำหนดระยะเวลาให้โอนตำรวจบางหน่วยไปให้ส่วนราชการ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามฎหมาย ได้แก่ ตำรวจรถไฟ ตำรวจทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำรวจจราจร และงานนายทะเบียนธุรกิจรักษาความปลอดภัย

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับมีชัยดังกล่าว เมื่อถูกเสนอไปให้นายกรัฐมนตรีนำเข้าสู่สภา เพื่อตราเป็นกฎหมาย แต่กลับ ถูกส่งไปให้ สตช.ตรวจและพิจารณา

ซึ่งกลายเป็นว่า “ตำรวจผู้ใหญ่” ได้แสดงความไม่เห็นด้วยแทบทุกเรื่อง

ซ้ำมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ขึ้น โดยตัดสาระสำคัญๆ ในร่างฉบับมีชัยออกไปหลายประเด็น

เช่นการ Set Zero ตำรวจติดตามและรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ให้กำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรี การให้ตำรวจสายวิชาการ เช่น แพทย์ พยาบาล พิสูจน์หลักฐาน และการศึกษาเป็นข้าราชการตำรวจไม่มียศแบบทหาร รวมทั้งการโอนหน่วยตำรวจเฉพาะทางไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ

ซึ่งแม้จะได้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญร่วมกันทั้งสองสภา เพื่อพิจารณาแปรญัตติ แต่ คนเป็นประธาน กมธ.ก็กลายเป็นวุฒิสมาชิกแต่งตั้ง ยศพลตำรวจเอกคนเดิม

ส่งผลทำให้การแก้ไขหรือแปรญัตติเพื่อให้มีเนื้อหาที่สำคัญตามร่างฉบับมีชัย ซึ่งแม้ไม่ใช่การปฏิรูปอะไรตามเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ก็ยังเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสองสภาฉบับนี้  จึงไม่ได้มีเนื้อหาที่เป็นการ “ปฏิรูประบบตำรวจและงานสอบสวน” อะไรที่จะทำให้สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนทั้งของตำรวจผู้น้อยและประชาชนได้ส่งผลให้ระบบงานรักษากฎหมาย รวมทั้งกระบวนยุติธรรมทางอาญาของชาติมีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากประชาชนแต่อย่างใด!.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:ฉบับวันที่ 6 มิ.ย. 2565