‘ตำรวจ’ ข่มขู่ ‘อัยการ’ เพราะ ‘กระบวนการยุติธรรมไทยวิปริต’

‘ตำรวจ’ ข่มขู่ ‘อัยการ’ เพราะ ‘กระบวนการยุติธรรมไทยวิปริต’

ยุติธรรมวิวัฒน์

“ตำรวจ” ข่มขู่ “อัยการ”เพราะ “กระบวนการยุติธรรมไทยวิปริต”

 

                                                                 พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

สถานการณ์ประเทศไทยในวันนี้ ไม่มีใครรู้แน่ว่าปัญหาความขัดแย้งหลักเชิงโครงสร้างทางการเมืองและสังคม จะพัฒนาไปและ จบลงอย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จะเกิดขึ้นได้อย่างสันติ โดยที่ไม่มีประชาชนคนใดหรือใครต้องบาดเจ็บและล้มตายกันมากมายได้หรือไม่?

ปัจจุบัน คนมีอำนาจ ได้แต่พูดจาโขมงโฉงเฉงว่า ปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยกำลังได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ทุกคนจึงควรช่วยกันประคับประคองบ้านเมืองให้เดินต่อไปได้ ไม่ควรส่งเสียงร้องหรือชุมนุมเอะอะอะไรให้เกิดความวุ่นวาย!

ปัญหาคือ จริงหรือไม่ที่ว่า ประเทศนี้กำลังเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปด้วยดีตามที่ “คนมีอำนาจ” และ “คนมีเงิน” พูดกรอกหูกันอยู่เสมอ?

เพราะประชาชนซึ่งเป็น “กลุ่มคนความคิดใหม่” โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกและคิดหรือเชื่อเช่นนั้นกันแต่อย่างใด?

แค่เฉพาะประเด็นปัญหา ขบวนการค้ามนุษย์ ที่ถูก นายรังสิมันต์  โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล นำไปอภิปรายในสภา ว่า นายพลตำรวจผู้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนที่ทำคดีนี้ ถึงขนาด ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ!

ด้วยเหตุผลที่ เจ้าตัวบอก ต่อสังคมว่า ไม่แน่ใจในความปลอดภัยเกรงกลัวอันตรายจาก แก๊งอาชญากรมีเครื่องแบบ ที่เป็นผู้ต้องหาหรือว่าที่กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานจะเสนอศาลออกหมายจับ นายพลตำรวจและทหารยศใหญ่ เพิ่มอีกหลายคน

โดยที่รัฐบาลไม่ได้คิดช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองอะไรกับตนและพนักงานสอบสวนทุกคนแต่อย่างใด!

ซ้ำ ผบ.ตร. หรือหัวหน้าผู้รักษากฎหมายของประเทศ นอกจะ “ช่วยย้าย” ให้ “ไปอยู่ในพื้นที่อันตราย”เพื่อ “ให้ง่ายต่อการถูกลอบสังหาร” ตามที่เขาเข้าใจแล้ว!

ยังแนะนำในทางที่ดีคือ บอกให้ลาออก แล้วไปใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ อีกด้วย!

เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ถือว่า สุดวิปริต ของกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย

น่าเสียดายที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบหรือชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ในสภาให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจว่าจริงหรือไม่? แม้แต่คำเดียว!

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ อัยการประจำศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ สภ.ท่ายาง ว่าถูกตำรวจส่งข้อความทางโทรศัพท์ไป ข่มขู่และคุกคามสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิต!

ถือเป็นความผิดตาม กฎหมายอาญา มาตรา 392 มีโทษจำคุกถึงหนึ่งเดือน และปรับถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งไม่ทราบว่า จนกระทั่งบัดนี้ ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดได้ดำเนินการสอบสวนแจ้งข้อหา ดำเนินคดีอาญาและวินัย กับตำรวจคนที่ส่งข้อความนั้นกันแล้วหรือไม่อย่างไร?

สาเหตุเกิดจากปัญหาคดีที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาไม่ครบถ้วน และส่งสำนวนไปไกล้ครบกำหนดฝากขัง น่าจะ ทำให้ไม่มีเวลามากพอที่อัยการคนนั้นจะทำหนังสือสั่งเป็นหลักฐาน ให้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมได้

จึงใช้วิธีง่ายๆ แบบไทยๆ ด้วยการ ประสานงาน ทางโทรศัพท์ แจ้งให้พนักงานสอบสวนมารับสำนวนไปดำเนินการ

แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใด พนักงานสอบสวนคนนั้นเกิดความหงุดหงิดใจและคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องแจ้งข้อหาตามที่อัยการว่า พร้อมทั้งตอบโต้ท้าทายว่า หากอยากจะให้สอบสวนเพิ่มเติมอะไรก็ให้ทำเป็นหนังสือสั่งมา

ซึ่งตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย อัยการในประเทศไทยทุกคนก็ น่าจะถือปฏิบัติ เช่นนั้น

ตำรวจข่มขู่อัยการ

การใช้วิธีโทรศัพท์หรือแม้กระทั่งพูดบอกให้พนักงานสอบสวนดำเนินการโน่นนี่ โดยที่ไม่มีหลักฐานการสั่งอะไร ไม่ใช่วิธีการทำงานของอัยการที่ดีตามระบบสากลแต่อย่างใด!

นอกจากนั้น คนส่วนใหญ่ก็งงว่า พยานหลักฐานที่จะได้มาจากการแจ้งทางโทรศัพท์ของอัยการ จะถูกรวมเข้าสู่สำนวนการสอบสวนที่ ตำรวจหัวหน้าสถานีผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน สรุปส่งไปให้แล้วได้อย่างไร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ในการสั่งให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเล็กน้อยเพียงใด อัยการไทยทุกคนไม่ควรคิดอยู่บนพื้นฐานความเกรงใจตำรวจว่า หากใช้วิธีสั่งเป็นหนังสือแล้วจะก่อให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้า จะไม่ทันครบกำหนดเวลาฝากขัง

ก็ในเมื่อตรวจพบว่าการสอบสวนของตำรวจยังไม่ครบถ้วน หรือพยานหลักฐานไม่สิ้นกระแสความพอที่จะสั่งฟ้องพิสูจน์ให้ศาลพิพากษาลงโทษผู้ต้องหาได้

อัยการก็มีหน้าที่ ทำหนังสือ “สั่งไปยังหัวหน้าพนักงานสอบสวน” ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ไม่ใช่ “สั่งฟ้องกันมั่วๆ ไป” ด้วยความเกรงใจ ทำให้ผู้ต้องหาหรือแม้กระทั่งผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อน เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามหลักกฎหมายที่ ป.วิ อาญา มาตรา 227 บัญญัติไว้

ปัญหาเรื่องอัยการไทย ถูกตำรวจใช้เป็นเครื่องมือสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งที่การสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานที่เพียงพอในการพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้นั้น เกิดขึ้นทั่วประเทศมากมาย!

ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุตำรวจส่งสำนวนใกล้ครบกำหนดฝากขัง ทำให้ไม่มีเวลาที่จะสามารถสั่งสอบสวนเพิ่มเติมได้หรือจุดอ่อนในระบบการสอบสวนอื่นใด

ทางแก้ไขของสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยวิธีทำข้อตกลงกับตำรวจแห่งชาติให้สั่งพนักงานสอบสวนส่งสำนวนก่อนครบเวลาฝากขังเท่านั้นเท่านี้วัน

นั่นหาใช่ทางแก้ปัญหาการสั่งคดีที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมแท้จริงแต่อย่างใด

เพราะไม่ว่าอัยการจะมีเวลาพิจารณานานนับเดือนหรือแม้กระทั่งนับปี แต่เมื่อไม่มีร่องรอยหรือแม้แต่ชื่อของพยานคนใดในสำนวนให้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อค้นให้พบความจริงได้ เวลาที่มีอยู่มากมายก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด!

ทางแก้ไขให้อัยการไทยสั่งฟ้องทุกคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลกก็คือ

การ แก้ไข ป.วิ อาญา ในส่วนที่ว่าด้วย การเสนอศาลออกหมายจับ

“ต้องได้รับการตรวจพยานหลักฐานและความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ โดยอัยการต้องมั่นใจว่า เมื่อจับผู้ต้องหาคนใดมาแล้วจะสามารถพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้” เท่านั้น.

ตำรวจข่มขู่อัยการ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 21 ก.พ. 2565