ประชาสังคมอาเซียน ออกแถลงการณ์ อำนาจนิยม ระบบทหาร กับวิกฤตโควิด 19 ความท้าทายต่อภารกิจร่วมกัน

ประชาสังคมอาเซียน ออกแถลงการณ์ อำนาจนิยม ระบบทหาร กับวิกฤตโควิด 19 ความท้าทายต่อภารกิจร่วมกัน

กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม และปัจเจกบุคคลในภูมิภาคอาเซียน ได้ออก แถลงการณ์ร่วม มหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน 2021 เรื่อง อำนาจนิยม ระบบทหาร กับวิกฤตโควิด 19: ความท้าทายต่อภารกิจร่วมกันของภาคประชาชน ในการเผชิญหน้ากับความไม่เสมอภาค ที่เพิ่มมากขึ้น กับสภาวะการลดทอนพื้นที่ของภาคประชาสังคม ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังการประชุมออนไลน์ ระหว่าง 15-17 ตุลาคม 2564

พวกเรา กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม และปัจเจกบุคคลในภูมิภาค ได้ร่วมกันจัดการประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน 2021 เมื่อวันที่ 15-17 ตุลาคม 2564 ผ่านการประชุมระบบโทรภาพสื่อสารทางไกล โดยนางฮัจจะห์ มอร์เดีย จัคกลา ผู้แทนคณะกรรมการประสานงานของภาคประชาสังคม แห่งบรูไนดารุสลาม ทำหน้าที่กล่าวเปิดการประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน การประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วยการประชุมใหญ่ 5 วาระ 4 พื้นที่เวทีการแลกเปลี่ยน และ 8 การประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมมหกรรมประชาชน ที่ได้ลงทะเบียนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 640 คน จากองค์กรภาคประชาสังคม ในภูมิภาคอาเซียนและติมอร์ตะวันออก และประเทศอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 รายเข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบ Zoom และอีกว่า 50,000 รายเข้าร่วมโดยผ่านการถ่ายทอดสดในระบบสื่อสารสังคม (Social Media) มหกรรมภาคประชาสังคมมีเป้าหมายในการเปิดพื้นที่และเชื่อมสัมพันธภาพให้กับภาคส่วนต่างๆ ข้ามพรมแดนในมิติต่างๆ ของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศติมอร์ตะวันออก (ติมอร์ เลสเต) และร่วมกันประมวลและนำเสนอข้อเรียกร้องต่อสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) รัฐภาคีของอาเซียน และติมอร์ตะวันออก ให้มีความใส่ใจในปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และให้การช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ยากของประชากรกลุ่มเปราะบาง คนชายขอบ ในบริบทปัจจุบัน

[1] การประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน พบว่ารูปแบบและกลไกการกดขี่ ขูดรีด และ ควบคุมประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 นี้มีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกครอบงำจากกลุ่มชนชั้นนำ คณาธิปไตย และกลุ่มทุนธุรกิจ ที่มีอำนาจการปกครองได้กระชับอำนาจรัฐให้แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยที่ระบอบอำนาจนิยม ประกอบด้วยตัวชี้วัด 4 ประการ อันได้แก่ รัฐที่ขาดศรัทธาต่อการปฏิบัติประชาธิปไตย รัฐที่กดดันบีบคั้นและปราบปรามผู้มี

ความเห็นต่าง รัฐที่ยอมรับการใช้มาตรการความรุนแรงในการจัดการปัญหา และรัฐที่พยายามลดทอนพื้นที่ของภาคประชาสังคมรวมทั้งสิทธิเสรีภาพและบทบาทของสื่อมวลชน ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคม พบว่าการขยายตัวของระบบอำนาจนิยมใน

ภูมิภาคที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น อีกทั้งความถดถอยของกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่การล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน การขยายตัวของระบอบอำนาจนิยม และระบอบทหาร-เสนานิยม ซึ่งปรากฏอย่างชัดแจ้งและเฉียบพลันที่สุดในตัวอย่างเช่น กรณีของประเทศพม่า และประเทศอื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้ระบอบประชานิยมก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเบี่ยงเบนความรับผิดชอบของรัฐที่มีต่อประชาชนและสังคมอีกด้วย ในประเทศต่างๆ ที่มีความเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมการขับเคลื่อนทางสังคม ผลักดันข้อเสนอแนะ และ ปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขัน แม้ว่าจะประสบกับการกดดัน ข่มขู่ คุกคาม ปราบปรามในรูปแบบต่างๆ ทั้งการจับกุม คุมขัง ลักพาตัว บังคับให้สูญหาย หรือใช้ความรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิต

[2] ประชาชนชาวพม่า มองเห็นว่าการประชุมมหกรรมภาคประชาสังคม ในระดับภูมิภาค ถือเป็นพื้นที่ในการสร้างเสริมความเข้าใจ และสัมพันธภาพอันดีกับเพื่อนพ้องในประเทศต่างๆ ซึ่งจะได้เข้าใจถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนชาวพม่าที่กำลังเผชิญหน้ากับระบอบทหารที่ยึดอำนาจโดยมิชอบ ระบอบทหารพม่าได้ปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง ด้วยความรุนแรงอย่างโหดร้ายทารุณ สังหารและทิ้งระเบิดชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เยาวชนกลุ่มแนวหน้า รักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ประชาคมเหล่านี้ได้ปฏิเสธการยอมรับอำนาจของกลุ่มทหารกบฏ ด้วยการจัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เดินขบวน นัดหยุดงานประท้วง และขบวนปฏิบัติการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) ปกป้องตนเอง และมาตรการต่างๆ นับแต่การรัฐประการเป็นต้นมา เพื่อปฏิเสธการที่กลุ่มทหารกบฏแอบอ้างการครอบครองอำนาจรัฐอย่างไร้ความชอบธรรม “การปฏิวัติแห่งฤดูใบไม้ผลิ” (Spring Revolution) ที่คนรุ่นใหม่เรียกขานกันนั้น ถือเป็นปฏิบัติการต่อต้านลัทธิทหาร ของประชนชาวรากหญ้าของพม่าที่ไร้ผู้นำ ซึ่งเป็นการแผ้วถางอนาคตใหม่บนหลักการ “สหพันธรัฐ” “ประชาธิปไตย” และ “ความเสมอภาค” ระบอบทหารต้องเผชิญหน้ากับขบวนการของประชาชนที่มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว และมีความหลากหลายของผู้คนในประเทศพม่า แต่น่าสนใจว่าระบอบทหารกลับตอบโต้ประชาชนเหล่านี้ด้วยความรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

[3] การประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้คร่าชีวิตผู้คนและก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ภูมิภาคนี้ในหลากหลายมิติ รัฐภาคีอาเซียนและติมอร์ตะวันออกได้นำนโยบายและมาตรการใหม่ๆ มาใช้ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อ เช่น การให้ความช่วยเหลือ เยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดีที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ก็ตระหนักดีถึงข้อจำกัดในด้านทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชากรทุกภาคส่วน ยังผลให้ประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงวัย ผู้หญิง เด็ก เยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย ผู้ย้ายถิ่น ลูกจ้างทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ (เช่น กลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน พนักงานขับรถ พนักงานในแวดวงบันเทิง เป็นต้น) กลุ่มคนข้ามเพศ ผู้พิการ และคนไร้บ้าน ยังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดังตัวอย่างเช่น เด็กๆ ชายขอบ โดยเฉพาะเด็กหญิง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในบรรดากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลจากการปิดโรงเรียน เพราะเด็กกลุ่มนี้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว และถูกบังคับให้แต่งงานแต่วัยเยาว์ และขาดโอกาสในการศึกษา การเข้าถึงสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลถูกจำกัด อีกทั้งความเครียดก็เพิ่มมากขึ้น และยังต้องรับภาระในการทำงานบ้านเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

[4] นอกจากนี้ ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ยังพบว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังถูกใช้เป็นข้ออ้างในหลายประเทศในการปราบปรามประชาชนในภูมิภาคนี้ สถานการณ์โรคระบาดทำให้รัฐต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ในการยกเว้นระเบียบกลไกปรกติ ซึ่งรวมไปถึงการละเว้นสิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประชาชน สถานการณ์โรคระบาดยังได้

สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอในการพัฒนาประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจ และการเมืองในอาเซียนอีกด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ยังพบว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เช่น การเข้าถึงอาหาร ยาและเวชภัณฑ์อย่างเสมอภาค พื้นที่ทางสังคมของพลเมืองถูกบีบให้แคบลง นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น และการชุมนุม และการรวมกลุ่มเป็นองค์กร เป็นอาทิ นโยบายด้านโควิด 19 จึงถูกรัฐใช้เป็นเหตุในการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมประท้วงในประเทศกัมพูชา ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน มีข้อเสนอแนะต่อรัฐภาคีของอาเซียน ผู้นำแห่งรัฐ และติมอร์ตะวันออก ในการดำเนินการตามข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้

[5] ด้านสถานการณ์ที่น่าเวทนาและความรุนแรงที่ขยายตัวยิ่งขึ้นในพม่านั้น ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เรียกร้องให้รัฐภาคีของอาเซียนได้ทบทวนหลักการการไม่แทรกแซง แต่ให้ยึดมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในกฎบัตรอาเซียน มิฉะนั้นวิกฤตการณ์ดังกล่าวก็จะก่อผลกระทบที่เสียหายและขยายตัวไปทั่วภูมิภาคอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ดังเช่น กรณีวิกฤตโรฮิงญา เป็นต้น ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เรียกร้องให้รัฐภาคีอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศในการดำเนินการตัดความสัมพันธ์กับระบอบทหารของพม่าโดยทันที และกำหนดมาตรการในการคว่ำบาตรระบอบทหาร และบีบบังคับให้มีการปลดอาวุธเพื่อยุติความรุนแรง และจากนั้นให้สละอิทธิพลในการครอบงำการเมือง และให้รับผิดชอบต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่ได้ก่อให้กับประชาชนและชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งชุมชนโรฮิงญา เมื่อฉันทมติ 5 ประการของอาเซียนประสบความล้มเหลว จนมิอาจนำไปสู่การปฏิบัติได้ อาเซียนจะต้องใช้ความพยายามที่หนักกว่าเดิมในการยุติความรุนแรงและการลบล้างความผิดในเมียนมาร์ ไม่เพียงแต่อาชญากรรมที่ได้ก่อไว้นับแต่การรัฐประหารเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา แต่รวมถึงความเป็นธรรมที่พึงมีพึงได้รับ อันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนในอดีตอีกด้วย

[6] ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่ในพม่า เท่านั้น หากแต่รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วย ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับหลักการตามกฎบัตรอาเซียนด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียนยังเรียกร้องถึงสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและสันติ และในการแสดงออกเพื่อความก้าวหน้าของสังคม โดยไม่ต้องหวั่นเกรงการถูกยัดเยียดข้อหาอาชญากรจากการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียนยังขอประณามการประทำที่ไม่เป็นธรรม ที่ตั้งข้อหาอาชญากรต่อสมาชิกใดๆ ในสังคม โดยมิอาจเข้าถึงสิทธิกระบวนการยุติธรรมได้ การดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมยังนำไปสู่การจำกัดพื้นที่สาธารณะของภาคประชาสังคมอีกด้วย

[7] นอกจากนี้ ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เสนอแนะให้มีการฟื้นกลไกการพบปะระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม กับรัฐภาคีของอาเซียน เพื่อเกื้อหนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลายในสังคม

[8] ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ยังเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง รวมทั้งผู้ร่วมชุมนุมประท้วง และสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย พม่า ติมอร์ตะวันออก ไทย และฟิลิปปินส์ โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ขอให้มีหลักประกันความปลอดภัยในอนาคต โดยรัฐต้องขจัดรูปแบบต่างๆ ที่ใช้ในการข่มขู่ คุกคามประชาชน และครอบครัวของเขา สิ่งเหล่านี้จะประสบผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีหลักประกันที่ชัดแจ้งในการใช้สิทธิเสรีภาพใยการแสดงออก รวมทั้งการปกป้องสิทธิในการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่มีอคติเจือปนใดๆ และการใช้กฎหมายปกป้องข้อมูลข่าวสาร และสิทธิในการจัดการชุมนุมโดยสงบและสันติ เพื่อเป็นหลักประกันในการคงไว้ซึ่งพื้นที่สาธารณะของภาคประชาสังคมให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเต็มที่

[9] ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เรียกร้องให้รัฐภาคีของอาเซียน ได้เข้าเป็นภาคีและให้สัตยาบันต่อกติกากรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยมิชักช้า ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจ และมุ่งมั่นที่จะขจัดวัฒนธรรม “ลบล้างความผิดแล้วลอยนวล” (Impunity) อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่จะต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ นี่ถือเป็นความห่วงใยที่สำคัญยิ่งในการจัดการกับปัญหาโศกนาฏกรรมของมนุษย์ ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน จึงมีความยินดีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะได้มีการไต่สวนและพิจารณาความผิดทางอาญาของ มิน อ่อง ลาย และโรดริโก ดูเตอร์เต ในอาชญากรรมที่เขาทั้งสองได้ก่อขึ้น

[10] การดำเนินการกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 และการขยายตัวของอิทธิพลระบอบอำนาจนิยม ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เรียกร้องให้มีการทบทวนแบบแผนของการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเร่งด่วน เพื่อให้หลักประกันการปกป้องคุ้มครองทางสังคมอย่างถ้วนหน้า และความมั่นคงทางสังคม (universal social protection/ social security) เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักประกันทางสังคม ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 23 ณ กรุงบรูไน ประเทศบรูไน ดารุสลาม เมื่อปี 2013 (พ.ศ. 2556) และกรอบความร่วมมือที่มุ่งเน้นสิทธิมนุษยชนสากลต่อหลักประกันทางสังคม ซึ่งครอบคลุมถึงการเข้าถึงอาหาร ยา และเวชภัณฑ์อย่างเสมอภาค การเข้าถึงระบบบริการอินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงการศึกษา และโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านโลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ขอเรียกร้องให้รัฐภาคีอาเซียนและติมอร์ตะวันออก ได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม องค์การพัฒนาภาคเอกชน และองค์กรความร่วมมือ สหกรณ์ เพื่อให้มีหลักประกันในการร่วมกันบรรเทาปัญหาจากวิกฤตโควิด 19 ผ่านการปฏิบัติการร่วมในการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟู เพื่อร่วมกันสร้างชุมชนที่ปรับตัวได้เป็นอย่างดี และเป็นหลักประกันในความผาสุกสำหรับทุกคน ไม่เพียงเพื่อคนจำนวนน้อยนิด นอกจากนี้การจัดสรรทรัพยากรเพื่อสังคมรัฐสวัสดิการจะต้องได้รับการพิจารณาให้มีความสำคัญในอันดับต้นๆ ด้วย

[11] ด้านหลักประกันสุขภาพ ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เรียกร้องให้รัฐภาคีของอาเซียน และติมอร์ตะวันออกได้จัดให้มีการบริการสุขภาพถ้วนหน้า (universal healthcare) ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน และได้รับการบริการที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากอคติใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ เช่นนักโทษทางการเมือง ผู้สูงวัย สตรี และเด็ก เยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย ผู้ย้ายถิ่น ลูกจ้างทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ กลุ่มคนข้ามเพศ ผู้พิการ คนไร้บ้าน ผู้ลี้ภัย และคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ ทั้งนี้รวมถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการวัคซีนที่มีคุณภาพสูง โครงการตรวจสอบหาเชื้อและบริการทางการแพทย์ทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ พัฒนาระบบการเก็บรวบรวม และประมวลข้อมูลสุขภาพ การยกระดับคุณภาพการบริการและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพและสมาชิกของชุมชน ตลอดจนการระดมทุนและทรัพยากรรวมถึงการมีส่วนร่วมและการตอบรับที่ดีจากชุมชน

[12] ด้านความมั่นคงทางรายได้ และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เรียกร้องให้รัฐภาคีของอาเซียนและติมอร์ตะวันออกได้ตระหนักถึงความทุกข์ระทมของกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งรวมทั้งผู้ย้ายถิ่น ลูกจ้างทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ยังเรียกร้องให้รัฐภาคีของอาเซียนและติมอร์ตะวันออกได้เพิ่มการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มคนชายขอบ โดยการเพิ่มการให้บริการชุดอุปกรณ์นิรภัยเพื่อการป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment (PPEs), โครงการเสริมทักษะวิชาชีพ เพิ่มเงินทุน และขยายโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่หลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ว่าเขาจะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจอย่างไร ในเรื่องนโยบายการคัดเลือกเข้าทำงาน ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เรียกร้องให้รัฐภาคีของอาเซียนดำเนินการตามหลักการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน ตามหลักการทั่วไปขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทนต่างๆ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามข้อตกลงทวิภาคี หรือ พหุภาคีตามแต่ลักษณะและประเภทงาน นอกจากนี้ ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ยังเรียกร้องให้มีการพัฒนากรอบข้อตกลงที่เป็นมาตรฐานในเรื่องการเดินทางซึ่งมีผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ยังเรียกร้องรัฐภาคีของอาเซียนได้ดำเนินการให้เกิดความเสมอภาคด้านระบบการคุ้มครองทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับกลุ่มคนชายขอบ ด้วยการใช้มาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความช่วยเหลือทางการเงิน อาหาร น้ำ และบริการทางการแพทย์ เป็นต้น

[13] ด้านการจัดการโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรม ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน มีข้อเสนอแนะต่อรัฐภาคีของอาเซียนและติมอร์ตะวันออกให้ดำเนินการ “การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม” ที่ไม่มีผู้ใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน เสนอแนะให้รัฐภาคีของอาเซียนและติมอร์ตะวันออก ดำเนินการให้มีกลไกการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ความคืบหน้าในการเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภูมิภาค เพื่อการเสริมสร้างและกระชับความร่วมมือให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรจะต้องมุ่งใสใจในความหลากหลายของแหล่งอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบการผลิต/ ระบบฟาร์มที่สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถตอบสนองต่อศักยภาพและความพร้อมของเกษตรกรรายย่อย ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคอีกด้วย รัฐภาคีของเซียนและติมอร์ตะวันออกพึงต้องพัฒนาระบบอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งเกษตรกรชาวนาชาวไร่รายย่อยต้องเป็นเป้าหมายหลักที่ควรจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงนี้ ตามแนวทางนิเวศวิทยาการเกษตร

[14] ที่ประชุมมหกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน ยังเรียกร้องให้รัฐภาคีอาเซียน ได้ทบทวน และยุติโครงการลงทุนขนาดยักษ์ รวมทั้งแผนงานและข้อตกลงทางการค้าเสรี การลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชีวิตของประชาชนนับล้านคนภูมิภาค