แต่งตั้งตำรวจมีปัญหา’วิ่งเต้น ซื้อขาย ด้านได้ อายอด’เพราะ ‘อาวุโส’ถูกทำให้กลายเป็น ‘ไร้ความสามารถ’

แต่งตั้งตำรวจมีปัญหา’วิ่งเต้น ซื้อขาย ด้านได้ อายอด’เพราะ ‘อาวุโส’ถูกทำให้กลายเป็น ‘ไร้ความสามารถ’

ยุติธรรมวิวัฒน์

แต่งตั้งตำรวจมีปัญหา “วิ่งเต้น ซื้อขาย ด้านได้ อายอด”เพราะ “อาวุโส” ถูกทำให้กลายเป็น “ไร้ความสามารถ”

                                                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ระยะนี้ตำรวจกลุ่มที่เรียกกันว่า ชั้นสัญญาบัตร ตั้งแต่ระดับ รองผู้บังคับการลงไปจนถึงรองสารวัตร ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนรวมกันน่าจะ ประมาณเจ็ดแปดหมื่นคน

ส่วนใหญ่ไม่มีใครมีกะจิตกะใจ ทำงานรักษากฎหมาย ให้ประชาชนตามอุดมคติหรืออุดมการณ์ที่ถูกผู้บังคับบัญชาบังคับให้บ่นท่องอยู่แทบทุกวันกันแต่อย่างใด!

เนื่องจากจิตใจของแต่ละคน โดยเฉพาะผู้มีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์เลื่อนตำแหน่งได้หรือถูกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สมัครใจแต่ละระดับ เฝ้าแต่คอยจับจ้องมองความเคลื่อนไหวเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย

คำถามที่ก้องหูผู้คนอยู่แทบทุกเวลาเมื่อนายตำรวจกลุ่มนี้พบหน้ากัน ซึ่งประชาชนและตำรวจผู้น้อยที่ถูกเรียกกันว่า “ชั้นประทวน” ได้ยินจนเบื่ออยู่แทบทุกปีก็คือ 

“คำสั่งนี้จะได้ขึ้นไหม หรือถ้าไม่ได้จะย้ายไปที่ไหน ชัวร์ตามเป้าหรือไม่ วิ่งใคร สายไหน มีค่าใช้จ่ายมากน้อยเท่าใด?”

ใครที่มีเจ้านายสายตรงได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผบช. หรือ  ผบก.ในการแต่งตั้งครั้งที่ผ่านมา หรือ เป็นคนที่คอยเดิน “ถือหมวก ถือโทรศัทพ์” ทั้งชายหญิงที่นั่งหน้าห้อง ต่างกระหยิ่มยิ้มย่อง

ขอจองหน่วยตำรวจ จังหวัดหรือโรงพักทำเลทอง ตรงนั้นตรงนี้ หลังจากที่คอยเฝ้าติดตามรับใช้เพื่อจะได้โอกาสตามหวังมานานหลายปี

และอาจอยู่ในข่ายได้รับสมนาคุณไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายพิเศษอะไร?

ส่วนตำรวจที่ไร้เส้นสายหรือไม่อยู่ใน เครือข่ายอุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันหรือรุ่น นรต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพนักงานสอบสวนซึ่งส่วนใหญ่ทุกระดับสำเร็จการศึกษาปริญญาทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยกระจายอยู่ตามสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศรวมประมาณ 10,000 คน

แม้มีคุณสมบัติครบสามารถเลื่อนตำแหน่งได้มานานหลายปี แต่ก็ไม่มีโอกาสได้จอง หรือแม้กระทั่ง ได้ลุ้น เพื่อลิ้มรสตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ ที่ว่าดีๆ อะไรกับเขา!

แต่ละคนได้แต่ เฝ้านั่งนับปีอาวุโสว่าจะเข้าหลักเกณฑ์ 33 เปอร์เซ็นต์เมื่อใด จะทันก่อนเกษียณหรือไม่  แม้ได้แล้วจะรู้สึกอับอายผู้คน ก็จำต้องทน!

และเมื่อเข้าเกณฑ์ได้เลื่อนตำแหน่งแล้ว ก็ยังกลุ้มใจ ไม่รู้จะได้อยู่ที่ไหนสายงานใด?

ไม่อยากได้ฝ่ายอำนวยการเพราะเป็นงานที่ไม่ถนัดชำนาญหรือย้ายไปจังหวัดห่างไกลทำให้ครอบครัวเดือดร้อน จะต้องวิ่งเต้นกับใครอีกหรือไม่ ควรทำอย่างไร?

นอกจากนั้น การทนทำงานเป็นพนักงานสอบสวนต่อไป ก็นับวันแต่จะมีปัญหาการกระทำผิดกฎหมายและระเบียบสารพัดเพิ่มขึ้นมากมาย!

ถ้าตัดสินใจขอลาออกก่อนเกษียณได้ยศเพิ่มอีกหนึ่งชั้นจะดีกว่ากันหรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสำคัญที่กระชั้นใกล้ตัวพนักงานสอบสวนทุกคนเข้าทุกที ก็คือเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งผิดกฎหมายของเจ้านายไม่ให้รับคำร้องทุกข์จากประชาชนออกเลขคดีเพื่อให้ มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งอัยการตรวจสอบตามกฎหมาย ง่ายๆ!

ปัจจุบันได้ถูกประชาชนจำนวนมากโวยวาย ร้องเรียนกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาและวินัยร้ายแรง มีตัวอย่างให้เห็นมากขึ้นทุกวัน!

ขอเรียนว่า ปัญหาการแต่งตั้งทั้งเลื่อนตำแหน่งและโยกย้ายตำรวจไทยในอดีตเมื่อประมาณสามสิบปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้รุนแรงและเลวร้ายเท่าปัจจุบัน

เนื่องจากได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งที่สำคัญให้พิจารณาจาก อัตราเงินเดือนและอาวุโสการครองตำแหน่งในแต่ละสายงานที่ถูกกำหนดคุณสมบัติเฉพาะไว้ เป็นลำดับแรก

เนื่องจากการได้เลื่อนเงินเดือนสูงกว่าและครองตำแหน่งในสายงานเดียวกันก่อน ถือว่าเป็นผู้มีความสามารถมากกว่าคนที่มีขั้นเงินเดือนต่ำและได้ครองตำแหน่งภายหลัง

ซึ่ง โดยหลักการนอกจากวิธีทดสอบความรู้และความสามารถแข่งขันกันเหมือนตำรวจในประเทศที่เจริญทั่วโลกแล้ว

การยึดหลักอาวุโสในการเลื่อนตำแหน่งถือเป็นตรรกะในการบริหารราชการที่ถูกต้องในทุกองค์กร

ถ้าใครบอกว่าไม่ใช่ เพราะเรื่องได้สองขั้นอาจเนื่องมาจากการวิ่งเต้น หรือแม้กระทั่งซื้อขายกันก็ได้ มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย!

นั่นหมายถึงว่า องค์กรตำรวจไทย “ไม่มีความจริง” และ “คุณธรรมความดี” อะไรให้ผู้คนเชื่อถือกันได้อีกต่อไปแล้วทั้งสิ้น!

หลักเกณฑ์แต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งที่ให้ยึดอาวุโสในแต่ละสายงานเป็นหลักมานานเกือบศตวรรษ ซึ่งถือว่าเป็น หลักประสิทธิภาพและคุณธรรมที่เป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่

เพราะทำให้แต่ละคนไม่ต้องเสียเวลาวิ่งเต้นกับเจ้านายหรือหาเส้นสาย แม้กระทั่ง หาเงินหรือทรัพย์สินราคาแพงรูปแบบใด มาจ่ายให้เจ้านายผู้มีอำนาจแต่งตั้งทุกครั้งที่จะมีคำสั่ง

ได้ถูก กลุ่มผู้นำตำรวจชั่ว เมื่อประมาณสามสิบปีที่ผ่านมา สุมหัวกัน แก้ไขเสียใหม่ให้กลายเป็นถ้อยคำว่า “พิจารณาตามความรู้ความสามารถ”

โดยนำคำว่า “อาวุโส” ไปใส่ไว้เป็นคุณสมบัติลำดับสุดท้าย!

ทำให้เกิดปัญหาและการโวยวายขึ้นในหมู่ตำรวจที่ทำงานมานานแต่ไร้เส้นสายมากมาย

เพราะแต่ละคนทำงานในตำแหน่งและพื้นที่ใดมานานแค่ไหนก็ไม่ถือว่ามีความสามารถมากกว่าตำรวจรุ่นหลัง โดยเฉพาะตำรวจมีอาวุโสน้อยที่อยู่นอกสายงานและพื้นที่รับผิดชอบเสียที

เป็นเหตุให้ต้องมีการแก้ไข โดยแบ่งแบบอายๆ ให้พวกอาวุโส 25 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ ในอีกสามสี่ปีต่อมา

กลายเป็นว่า หลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจไทยมีทั้งใช้อาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ไม่มีเส้นสายหรืออยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ใดๆ

ในส่วนที่เหลือ 67 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นพวกมีความสามารถที่ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องอะไร?

นำมาซึ่ง ปัญหาการซื้อขายตำแหน่งและวิ่งเต้นกันอย่างอุตลุดแบบ “ด้านได้ อายอด” ในตำรวจกลุ่มนี้

ไม่มีใครเข้าใจว่าเหตุใด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี จึงไม่มีความคิดที่จะแก้ไขกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจให้เกิดความเป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่

 สร้างขวัญและกำลังใจให้พวกเขา โดยที่ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการเพิ่มเงินเดือนหรือค่าตอบแทนใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อข้าราชการอีกหลายหน่วยในพื้นที่เดียวกัน

ซึ่งในความเป็นจริง ทั้งหญิงและชายทำงานหนักและเสี่ยงภัยกว่าตำรวจหลายเท่าด้วยซ้ำ!.

แต่งตั้งตำรวจ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 18 ต.ค. 2564