‘สตช.-ป.ป.ส.-พม.’ขานรับแนวทางตรวจค้นและตรวจหาสารเสพติด ณ ด่านตรวจ ตามข้อเสนอแนะกสม.

‘สตช.-ป.ป.ส.-พม.’ขานรับแนวทางตรวจค้นและตรวจหาสารเสพติด ณ ด่านตรวจ ตามข้อเสนอแนะกสม.

 

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการ กสม. แถลงข่าวประจำสัปดาห์ กรณีนี้ สืบเนื่องจาก กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนรวม 20 คำร้องในปี 2563 กล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ ด่านตรวจของสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่งปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจหาสารเสพติดในร่างกายหรือการตรวจค้นยานพาหนะโดยละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เช่น มีการเลือกตรวจหาสารเสพติดเฉพาะบุคคลเพศชาย ไม่แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงาน ไม่แจ้งเหตุอันควรสงสัย ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้วาจาไม่เหมาะสมต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ ไม่มีห้องน้ำสำหรับการจัดเก็บปัสสาวะที่มิดชิด หรือไม่มีห้องน้ำเฉพาะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 จึงมีข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดพื้นที่ที่เหมาะสมในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อให้การตรวจค้นและการตรวจหาสารเสพติดมีการปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล และในส่วนของการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะควรจัดให้มีสถานที่มิดชิด นอกจากนี้ยังเสนอให้ สตช. และสำนักงาน ป.ป.ส. ปรับปรุงวิธีการในการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดของเจ้าหน้าที่ให้มีความเหมาะสม โดย สตช. ควรกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นไปตามระเบียบและมาตรการปฏิบัติที่ถูกต้องของ สตช. อย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำบันทึกการค้นไว้ทุกครั้งเพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา พม. มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงาน กสม. ระบุว่า พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำนักงาน ป.ป.ส. และ สตช. ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ กสม. ในกรณีนี้ สรุปได้ดังนี้

1) สำนักงาน ป.ป.ส. จะดำเนินการโดยเร่งด่วนในการปรับปรุงแก้ไขอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับวิธีการและเงื่อนไขการตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งจะมีการกำหนดให้มีสถานที่ตรวจหรือห้องน้ำที่มิดชิดโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ เพศสภาวะ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งการใช้กิริยาวาจาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องสุภาพและละเว้นการล้อเลียนหรือดูหมิ่นในความแตกต่างทางเพศของบุคคล

2) สตช. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังตำรวจภูธรภาค 3 และภาค 4 ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม. โดยแจ้งแนวปฏิบัติในบริเวณจุดตรวจที่ไม่มีห้องน้ำให้มีการนำผู้ได้รับการตรวจไปยังบริเวณใกล้เคียงที่มีห้องน้ำหรือนำไปที่สถานีตำรวจ ให้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่บริเวณจุดตรวจ และให้ใช้กิริยาวาจาที่สุภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น

ทั้งนี้ สตช. และสำนักงาน ป.ป.ส. จะนำแนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ไปปรับใช้เพิ่มเติมในการจัดทำแนวปฏิบัติการตรวจหาสารเสพติดและแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจหาสารเสพติดเพื่อให้การปฏิบัติงานคำนึงถึงการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันสอดคล้องตามข้อเสนอแนะของ กสม.ต่อไป.