หน่วยตำรวจหรูหราทันสมัยเท่าใดก็ไร้ค่า! ถ้าผู้นำรับส่วยสินบนและไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชน

หน่วยตำรวจหรูหราทันสมัยเท่าใดก็ไร้ค่า! ถ้าผู้นำรับส่วยสินบนและไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชน

ยุติธรรมวิวัฒน์

หน่วยตำรวจหรูหราทันสมัยเท่าใดก็ไร้ค่า! ถ้าผู้นำรับส่วยสินบนและไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชน

 

                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ระหว่างนี้ ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลหลายระดับและครอบครัวที่ได้รับตำแหน่งตามหวัง ต่างกำลังยินดีปรีดาและชุลมุนอยู่กับการ รับนัดจัดกิจกรรมรับเลี้ยงฉลอง รับกระเช้าหรือ “รับซอง” แสดงความยินดีจากพ่อค้าโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอบายมุขสีเทาหรือแม้กระทั่งสีดำ!

รวมทั้งตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาบางกลุ่ม “ที่หวังพึ่ง” เพื่อการเลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้ายไปยัง พื้นที่หรือสถานีหมายปอง ในวาระต่อไปสำหรับระดับ รอง ผบก.ไปจนถึง รอง สว.

ส่วนพวกที่ผิดหวัง ก็เดินคอตกกะปลกกะเปลี้ยส่งผลกระทบไปยันลูกเมียไม่อยากพบหน้าใคร ไร้เรี่ยวแรงไปตามๆ กัน!

แต่ตำรวจบางพวก โดยเฉพาะ “กลุ่มพนักงานสอบสวน” ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 สำเร็จการศึกษาปริญญาทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัย  และ “ตำรวจฝ่ายธุรการ” รวมทั้งตำรวจผู้น้อยที่ถูกเรียกกันอย่างเหยียดหยามว่า “ชั้นประทวน” (NonCommissioners) ซึ่งหมายถึง “ผู้ไม่มีอำนาจ” มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเดียวนั้น

ต่างเฉยๆ และไม่เคยรู้สึกผิดหวังอะไรกับใครในการแต่งตั้งทุกครั้ง!

เนื่องจากรู้ตัวดีว่า ตนไม่ได้อยู่ใน เครือข่ายอุปถัมภ์หรือซุ้มใด ที่จะได้ลุ้นตำแหน่งอะไรกับเขาไม่ว่าจะเป็นปีหรือวาระใด

ได้แต่ นั่งรอนับปีให้เข้าเกณฑ์อาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่จะได้เป็นสารวัตร ผกก.หรือ ผบก. ได้เลื่อนยศเป็นพันตำรวจเอกกับเขาบ้าง แม้ชื่อท้ายตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งจะมี อก. หรือ อำนวยการ ไม่มีงานการอะไรให้ทำเป็นชิ้นเป็นอันก็ยังดี

สำหรับบางคนที่มีอายุราชการเหลืออีกไม่มาก และไม่อยากลุ้นอะไรให้ต้องย้ายไปรับตำแหน่งไกล ก็พยายามกัดฟันก้มหน้าทำงานไป รวมทั้ง ทำใจ รอแต่ว่า เมื่อไหร่จะถึงวันเกษียณรับบำนาญ หรือได้จังหวะลาออกจากราชการตามโครงการเออร์ลีฯ ได้ยศเพิ่มไปประดับบ้านอีกหนึ่งชั้น

ปัญหาตำรวจไทยนั้น ปัจจุบัน ในความเป็นจริงสำหรับประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน นับว่าหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผู้นำรัฐบาล รับรู้อย่างยิ่ง!

กองบัญชาการตำรวจแต่ละแห่งที่สร้างกันขึ้นมาด้วยราคาที่แสนแพงใหญ่โตโอ่อ่าและตกแต่งกันอย่างหรูหรา อาจกล่าวได้ว่า แทบจะหาคุณค่าอะไรต่อประชาชนรวมทั้งตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่ได้เลย!

ซ้ำในความเป็นจริง ยังสร้างภาระและปัญหาดูดทรัพยากรราชการไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการบำรุงอาคารสถานที่ ยานพาหนะและบุคคลทั้งตำรวจหญิงหรือตำรวจชายได้ถูกสั่งให้ไปช่วยราชการ เดินถือหมวก ถือโทรศัพท์ ขับรถหรือนั่งหน้าห้องนายพลแต่ละคนกันมากมายสิ้นเปลืองเงินภาษีของประชาชนโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

เนื่องจาก งานตำรวจที่แท้จริง หัวหน้าสถานีที่มีความรู้ทางกฎหมายเพียงพอทุกคนล้วนทำหน้าที่ให้จบได้ในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองแทบทั้งสิ้น

เริ่มจากงานป้องกันอาชญากรรม ที่จำเป็นต้องประสานงานกับอำเภอซึ่งเป็นฝ่ายปกครองท้องที่โดยเฉพาะกำนันและผู้ใหญ่บ้าน กำจัดแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาชญากรรมและยาเสพติดสารพัด

สำหรับการสอบสวนดำเนินคดีอาญา กรณีที่ไม่สามารถป้องกันการกระทำผิดได้ แม้แต่คดีฆ่าคนตายซึ่งถือว่าร้ายแรงสุด หัวหน้าสถานีก็สามารถสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนส่งให้อัยการฟ้องศาลลงโทษแม้กระทั่งประหารชีวิตได้ ทำกันมาแล้วมากมาย

หน่วยตำรวจหรูหรา

หน่วยตำรวจที่สูงไปกว่านั้น โดยเฉพาะกองบัญชาการ  ไม่ได้มีความจำเป็นหรือหน้าที่อะไรในการสอบสวนดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายเลย

ต่อการตรวจสอบประเมินผลการทำงานของสถานี ถ้าปฏิรูประบบให้ดี มีเพียงกองบังคับการตำรวจและ ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ถือว่าเหลือเฟือแล้ว

ปัจจุบันปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และยังไม่มีผู้นำตำรวจคนใดคิดแก้ไขก็คือ การไม่รับคำร้องทุกข์ จากประชาชน โดยเฉพาะคนยากจนแทบจะแจ้งความกันไม่ได้ หรือลำบากยากเย็นแสนเข็ญ!

แต่ละคนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญา ไม่ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำหรือไม่ เมื่อไปแจ้งความร้องทุกข์  พนักงานสอบสวนก็จะทำกันเพียงแค่ ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน ไว้เท่านั้น!

อาจกล่าวได้ว่ากว่าร้อยละ 90 ไม่ได้มีการ ออกเลขคดีอาญา บันทึกเข้าสารบบราชการของสถานีนั้นกันแต่อย่างใด

นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ร้ายแรงอย่างยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยในปัจจุบัน

การกระทำผิดทางอาญาที่ประชาชนเสียเวลาไปแจ้งความที่สถานีตำรวจไม่ได้ถูกสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยไม่ชักช้าตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 130 บัญญัติไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พยานหลักฐานต่างๆ สูญหายหรือเลอะเลือนไป เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว

ซึ่งตามกฎหมายการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่แท้จริงจะเริ่มขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการบันทึกเลขคดีอาญาเข้าสารบบราชการแล้วเท่านั้น

ใครที่ไปแจ้งความพูดคุยเล่าปัญหาการกระทำผิดกฎหมายกับพนักงานสอบสวน แล้วมีการลงบันทึกประจำวันไม่ว่าจะเล่มใด แต่อ่านแล้วบอกไม่ได้ว่าได้รับคำร้องทุกข์เป็น “คดีอาญาเลขที่เท่าใดในปีปัจจุบัน”

มีความหมายเท่ากับ ไม่ได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษนั้นกันแต่อย่างใด!

เพราะพนักงานสอบสวนไม่จำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดของบุคคลใด สรุปสำนวนแม้กระทั่งเป็นนิยาย เสนอให้พนักงานอัยการสั่งคดีไม่ว่าจะเป็นกรณีเสนอ ฟ้อง-ไม่ฟ้อง หรือ งดสอบสวน กรณีที่สืบสอบมานานแล้ว ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิดก็ตาม

เป็นการตัดตอนและทำลายกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของชาติลงอย่างย่อยยับด้วย “คำสั่งลึกลับ” ที่ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์จากประชาชนง่ายๆ

เพื่อจะได้มีตัวชี้วัดความสำเร็จในการป้องกันอาชญากรรมที่ดูดีรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและสภา

บนสถานีตำรวจที่ใหญ่โตโอ่อ่าและทันสมัย มีนโยบายและโครงการที่หน่วยตำรวจทั้งส่วนกลางและกองบัญชาการกำหนดไปให้ทำมากมาย!

แต่ไม่เคยมีใครพูดหรือสั่งกำชับให้ทุกสถานี รับคำร้องทุกข์ จากประชาชน รวมทั้ง ขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบ และ ส่วยสินบน ทุกรูปแบบแต่อย่างใด?

หรือแม้กระทั่งพูดในการประชุมว่า ไม่ต้องนำมาให้ ก็ไม่ได้ยิน?

ปัจจุบัน หน่วยตำรวจแต่ละระดับที่ใหญ่โตโอ่อ่าและหรูหราทันสมัย จึงหาคุณค่าอะไรต่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงไม่ได้เลย!.

หน่วยตำรวจหรูหรา
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 4 ต.ค. 2564