ชำแหละ!ร่างกฎหมายป้องกันอุ้มฆ่า’ฉบับรัฐ’คุ้มครองประชาชนไม่ได้ ถ้าไม่มีสาระสำคัญให้’คว่ำ’เสียดีกว่า

ชำแหละ!ร่างกฎหมายป้องกันอุ้มฆ่า’ฉบับรัฐ’คุ้มครองประชาชนไม่ได้ ถ้าไม่มีสาระสำคัญให้’คว่ำ’เสียดีกว่า

วงเสวนา ชำแหละ! “ร่างกฎหมายป้องกันอุ้มฆ่า ทำทารุณ ฉบับรัฐ คุ้มครองประชาชนไม่ได้!”  จวก  “รัฐบาล” ไม่จริงใจ  เรียกร้อง “กมธ.ทุกพรรค”  แปรญัตติ นำเนื้อหาในร่างกมธ.กฎหมายฯ ไปใส่  ถ้าไม่มีสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ ให้ “คว่ำ” เสียดีกว่า  ค่อยว่ากันใหม่เมื่อได้รัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตยแท้จริง  เผย “ต่างชาติ” จับตามอง “ไทย” ในเรื่องนี้อย่างไกล้ชิดจี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

 

​เมื่อ 25 กันยายน 2564 –  สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมเสวนา เรื่อง “กฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่า ทำทารุณคุ้มครองประชาชนได้จริงหรือไม่?” โดย  นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล , นายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ สส.พรรคพลังประชารัฐ , นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สส.พรรคเพื่อไทย , น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) , ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนฯ สำนักงานอัยการสูงสุด และ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สป.ยธ. ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล ประธาน สป.ยธ.

นายอาดีลัน กล่าวว่า ตนมาจากภาคใต้เป็นทนายความทำคดีมาตลอด เห็นสภาพปัญหาข้อเรียกร้อง ต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ว่า มีพฤติการณ์ที่ไม่ชอบมาพากลเรื่องกฎหมาย ของเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม สภาพปัญหาของการใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งกฎหมายทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก 2 ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่สุ่มเสี่ยง ให้เกิดการละเมิดกับประชาชนในพื้นที่ เพราะมาตรฐานในการคุ้มครองประชาชน น้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญาปกติ และเป็นที่มาของข้อเรียกร้อง ข้อร้องเรียนมาตลอดก่อนหน้านี้ หลายส่วนมีความพยายามจะเรียกร้อง ให้มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองสิทธิ

นายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ
นายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ

“โดยเฉพาะกฎหมายป้องกันและปราบปราม การทรมานและการสูญหาย อยากให้มีการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน  ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัตินั้น เราได้ยินบ่อยว่ากฎหมายฉบับนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากขึ้น แต่ในทางกลับกันผมกลับมองว่าคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย ไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดหรือใช้กฎหมายไม่สุจริตมากกว่า” นายอาดีลัน กล่าว

 

​นายชวลิต กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า การซ้อมทรมานบุคคลและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เกิดขึ้นในสังคมไทยมาช้านาน แต่ก็ยังมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นระยะ จนมาถึงคดีล่าสุด ที่ทำให้เรื่องกฎหมายซ้อมทรมานร้อนฉ่า คือ  คดีผู้กำกับโจ้ใช้ถุงดำกลุ่มหัว ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด และส่งผลให้ถึงแก่กรรมตาย จนเป็นเหตุให้ประเทศไทยได้รับการจับตามองมากยิ่งขึ้นจากทั่วโลก นานาประเทศติดตามเรื่องนี้

นายชวลิต วิชยสุทธิ์

​นายชวลิต  กล่าวว่า   กฎหมายการซ้อมทรมานจำเป็นต้องมีตามข้อผูกพัน ในอนุสัญญา 2 ฉบับที่ประเทศไทยได้ไปลงนามไว้ คือ สัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ ซึ่งสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองไว้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 และ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ที่ยังมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองไว้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม  2527

 

​“รัฐต้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและร่างกายบุคคลทั่วไปโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้การทรมานการกระทำให้บุคคลสูญหาย รัฐจะต้องดำเนินการป้องกันและปราบปราม ชดเชยเยียวยา คืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหาย ซึ่งการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ  การกระทำให้บุคคลสูญหายไปและบทกำหนดโทษรวมถึงบทลงโทษผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องรับโทษด้วยหากไม่สอดส่องดูแลผู้บังคับบัญชา ไม่ให้ทำผิดกฎหมาย  และประการสำคัญคือการกำหนดอัตราโทษ ที่ได้กระทำความผิดร้ายแรง”

 

​ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า  การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นหัวใจสำคัญที่จะส่งผลให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขร่มเย็น การถ่วงดุลในระหว่างองค์กร กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น จำเป็นจะต้องดำเนินการ อย่างน้อยในระบอบประชาธิปไตย  ยังมีการถ่วงดุลระหว่าง 3 อำนาจ คือ บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ดังนั้นในกระบวนการวิธีชั้นต้น ในอดีต ป.วิอาญา มีการถ่วงดุลเอาไว้ ทั้งฝ่ายปกครอง คือ ตำรวจ อัยการ แต่พอมีการปฏิวัติรัฐประหารก็มีคำสั่ง คสช.มาเปลี่ยนแปลง ​จนป่านนี้ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ผ่านมาปีกว่าที่จะต้องแก้ไข ก็ยังไม่เรียบร้อย อยู่ในขั้นที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนั้นอยากเห็นกระบวนการยุติธรรม มีการถ่วงดุลกันมาในคดีสำคัญ

 

ด้านนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขอให้กรรมาธิการทุกพรรค คิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ว่าเราจำเป็นต้องผลักดันกฎหมาย  ไม่ใช่เพื่อการตอบโจทย์อนุสัญญาระหว่างประเทศ ในทุกทุกฉบับ แต่เราจำเป็นต้องทำกฎหมายฉบับนี้ เพื่อตอบโจทย์ที่จะลบการซ้อมทรมาน การใช้ความรุนแรง การใช้กระบวนการที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การบังคับอุ้มหายตลอดจนการฆ่าคนที่ อาศัยช่องว่างโดยใช้กฎหมายหรือกระบวนการ ของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างไร

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า  แม้ว่าในส่วนของคณะกรรมการระดับชาติ เราอาจจะไม่สามารถลบองค์ประกอบ ที่มาจากภาครัฐทั้งหมด  แต่ถ้านำคนที่มีเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายมากที่สุด และมีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรงมากที่สุด มาเป็นกรรมการ มันก็จะดูย้อนแย้งกันเอง ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  อย่างไรก็ตาม นับจากนี้เสียงที่จะเปลี่ยนในชั้นกรรมาธิการได้ ต้องมาจากเสียงของประชาชน ตัวแทนของประชาชนและคนที่เคยมีประสบการณ์ การถูกซ้อมทรมานหลายเคส

 

​ด้านน.ส.สัณหวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานตั้งแต่ปี 2550 หลังการปฏิวัติรัฐประหาร 2549 และยาวนานจนมาถึงปัจจุบัน เราก็ยังไม่มีกฎหมายนี้ หลังจากนั้นปี 2555 ประเทศไทยก็ไปลงนามอนุสัญญาการอุ้มหาย แต่ยังไม่เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศบอกว่าเค้าออกกฎหมายภายในประเทศก่อน  กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หัวใจหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาการต่อต้านการทรมาน , อนุสัญญาการต่อต้านการอุ้มหาย , กติกาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิทางการเมือง ดังนั้นในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องนี้เป็นหัวใจ  แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากประเทศไทย ไปลงนามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ยูเอ็นขอให้กลับมาแก้ประมวลกฎหมายอาญาก่อน พอแก้ประมวลกฎหมายตรงนี้ ก็กลับไปรายงานยูเอ็นในปี 2557 ว่าเราแก้ไขแล้ว

น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด
น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด

​น.ส.สัณหวรรณ กล่าวว่า แต่ยูเอ็นวิจารณ์ร่างประมวลกฎหมายอาญารอบนั้น ว่าบทนิยามของเราก็ยังไม่ตรงกับเขา บทนิยามเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ตรงกลไกการป้องกัน ก็ยังไม่มีเขียนไว้ อายุความก็ต้องไม่มีเขียนไว้ และนอกนี้ต้องไปสอบสวนให้เห็นความจริง  และแก้ไขปัญหาใน3 จังหวัดชายแดน และกฎหมายพิเศษ คือ กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งสหประชาชาติมองว่ากฎหมายพิเศษ เป็นตัวที่เปิดช่องว่างให้มีการทรมานและการอุ้มหาย โดยเฉพาะมาตราที่ยอมให้มีการจับกุมคุมขังคนได้ยาวนาน โดยที่ไม่ได้ไปศาล ยูเอ็นเคยทักทวงมาหลายครั้ง

​คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาได้ทำรายงานสิทธิมนุษยชน ของประเทศไทยทุกปี ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีความยาว 50 หน้าได้ศึกษาสิทธิเลือกสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย คือ เรื่องการทรมานอุ้มหายและการคุมขัง โดยใช้กฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉิน โดยรายงานพูดถึงกรณี 3 จังหวัดใช้แดนใต้ , บิลลี่และทหารเกณฑ์ที่ถูกทำร้าย  ในสายตาต่างประเทศเรื่องการทรมานอุ้มหาย และปัจจัยรอบด้านที่จะเกิดการทรมานอุ้มหาย  อยู่ในความสนใจของเขาตลอดเวลา และเป็นหนึ่งในเกณฑ์ในการประเมิน

 

​“ต่างประเทศคอมเม้นต์เรา ซ้ำๆ 3 ประเด็นหลักๆคือ ออกกฏหมายโดยเร็วและต้องเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ , ต้องกลับไปสืบสวนสอบสวนต้องมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ และต้องยุติการคุมขังโดยพละการคือการคุมขังที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ คุมขังในที่ผิดปกติ และศาลมีบทบาทน้อยในการเข้ามาควบคุมดูแล”กล่าว น.ส.สัณหวรรณ กล่าว

 

​ดร. น้ำแท้ กล่าวว่า หากจะเปรียบเทียบการรับมือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ  การรับมือกับอาชญากรรมในเครื่องแบบยากกว่า เพราะเขามีอาวุธ ชอบธรรมด้วยกฎหมาย มีงบประมาณ มีอำนาจรัฐ มีกฎหมายในมือ สิบสวน สอบสวนได้ เองหากถูกจับถูกร้องเรียนก็ยังมีปปช.ที่ตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้นประชาชนต้องรู้เท่าทัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เราถูกกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมาน ใช้กำลังจับกุม เกินสมควรให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดำเนินการพิสูจน์ โดยติดกล้องวงจรปิด ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อพิสูจน์ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งในต่างประเทศเคยมีกรณีเช่นนี้ ระบุไว้ว่าผู้ที่สืบสวนสอบสวนต้องติดกล้อง และผู้ร่วมงานต้องติดกล้อง รถปฏิบัติงานก็ต้องติดกล้องและกล้องต้องไม่เสียพร้อมกันทุกคนอย่างแน่นอน และนำเดินการเปิดกล้องในการปฏิบัติงาน

ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้า
ดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง

​“ขอเสนอว่าเรื่องที่จะต้อง เร่งดำเนินการ คือ ให้เจ้าหน้าที่ติดกล้องในระหว่างการจับกุม และให้เจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่ในการพิสูจน์   จะต้องแจ้งเรื่องการจับให้อัยการทราบทันที และอัยการก็ต้องไปปฏิบัติตามป.วิอาญามาตรา 90 ไปตรวจสอบการจับ ว่ามีการบังคับมีการซ้อมทรมานและมีการจับกุม โดยไม่ชอบหรือไม่ และผู้ที่สอบสวนต้องเป็นไปตามอนุสัญญา และคดีนี้ต้องไม่มีการขาดอายุความ  ต้องจำกัดโดยเขียนระบุว่าบรรดาข้อยกเว้นความรับผิดชอบ การกระทำเจ้าหน้าที่  ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ให้ใช้บังคับเพื่อไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ไปแพ้ทาง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ถ้าไม่มีห้าข้อนี้ ขอให้คว่ำกฎหมายฉบับนี้ไปเลยดีกว่า รอไปผลักดันตอนที่เรามีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยแท้ๆดีกว่า ” ดร.น้ำแท้ กล่าว

 

 

​พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ควรออกมานานแล้ว แต่อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่มีความจริงใจเลย  เพราะตัวเองและข้าราชการในความรับผิดชอบโดยเฉพาะตำรวจทหารก็มีการละเมิดอยู่เสมอหลายฝ่ายหลงดีใจว่า  ร่างกฎหมายนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระหนึ่ง ซึ่งตนก็ลุ้นว่าเป็นร่างฉบับใด  เป็นร่างของคณะรัฐมนตรีหรือคณะ กมธ.กฎหมาย ซึ่งจะยินดีมากหากเป็นร่างของกมธ.กฎหมายผ่านการพิจารณา  เพราะมีความสมบูรณ์สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมาก  และอาจถูกปรับแต่งเพิ่มเติมเล็กน้อย   แต่น่าเสียใจที่เป็นร่างของคณะรัฐมนตรีที่ร่างโดยกระทรวงยุติธรรม

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

เมื่อพิจารณาแล้วไม่มีสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การป้องกันได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีอายุความ  การให้อัยการเป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบคดี  องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ที่มีปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผบ.ตร. ร่วมอยู่  รวมทั้งคำนิยามเรื่่องการทรมาณที่รวมถึงการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่้จะมีโทษทางอาญาด้วยก็ถูกตัดออกหมด   หากร่างรัฐบาลผ่านไปตามนั้นจริง  ตนคิดว่า “ไม่มีเสียยังจะดีกว่า” แล้วค่อยว่ากันในรัฐบาลใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  รวมทั้งจะเกิดแรงกดดันจากนานาชาติให้ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล  แม้แต่ประเทศฟิลิปปินส์ และอูกานดา กฎหมายเขาก็ยังดีและก้าวหน้ากว่าร่างของ ครม.ฉบับนี้เลย

 

​“ต้องเข้าใจว่าเรื่องของการทรมาน หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย แท้จริงก็คือ “การฆาตกรรมอำพราง”  ประชาชนทั่วไปทำไม่ได้แน่นอน  ต้องมีอำนาจรัฐและกระทำโดยเจ้าพนักงานของรัฐผ่านระดับนโยบาย แม้กระทั่งด้วยการสั่งการหรือรู้เห็นเป็นใจของผู้นำรัฐบาล   การให้กรมสอบสวนคดีพิเศษที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน จึงไม่มีทางนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ “ พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

​พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าววอีกว่า ส่วนเรื่องของคณะกรรมการฯ ก็ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง แต่กลับตั้งบุคคลที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่อยู่ในฐานะต้องสงสัยว่ามีส่วนรู้เห็นร่วมเป็นกรรมการ  คดีที่เกิดขึ้นก็คงดำเนินไปด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงไม่ได้ ส่วนนิยามเกี่ยวกับการทรมานก็ไม่ปรากฏชัด  รวมทั้งการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะต้องถือว่าเป็นการทรมาณที่มีโทษทางอาญาอย่างหนึ่ง เช่น การจับตัวผู้ต้องหาแล้วเอาถุงดำมาคลุมหัว การพูดจาเหยียดหยาม  การขนย้ายที่กระทำอย่างแออัดเหมือนสัตว์ชนิดหนึ่ง และอีกมากมาย   ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้สิ่งนี้มีอำนาจทางกฎหมายขึ้นจริง ไม่ใช่เป็นวาทะกรรมสวยหรูอยู่แต่ในรัฐธรรมนูญ  ก็กลับถูกร่างฉบับรัฐบาลตัดออกไป   ซึ่งตนเห็นว่า ถ้าสภาจะผ่านร่างกฎหมายฉบับ ครม.ที่มีเนื้อหาเพียงเท่านี้  สส.ก็ลงมติ “คว่ำ” เสียดีกว่า  เพื่อให้เกิดแรงกดดันจากนานาชาติในการร่างใหม่  ให้มีความสมบูรณ์สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเมื่อประเทศได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ เมื่อ วันที่ 16 ก.ย. 64 ที่ปประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ในวาระที่หนึ่ง และได้ตั้งคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างฯ จำนวน 25 คน