‘คำนูณ’เปิดคำสั่ง’ประยุทธ์’เกี่ยวกับตำรวจรวม 8 ครั้ง ไม่มั่นใจร่างพรบ.ตำรวจฯจะก้าวหน้า

‘คำนูณ’เปิดคำสั่ง’ประยุทธ์’เกี่ยวกับตำรวจรวม 8 ครั้ง ไม่มั่นใจร่างพรบ.ตำรวจฯจะก้าวหน้า

เมื่อวันที่27ส.ค.2564 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ชอบ บัญชา/คามิน การ์ตูน ชิ้นนี้มาก
คมกริบ !!

บัญชา คามิน
แต่อยากจะเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมว่าอันที่จริง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลยเกี่ยวกับตำรวจมาในรอบ 7 หรือ 8 ปีหรอก

ทำมากพอสมควรทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำโดยอำนาจพิเศษ
กล่าวคือ ได้มีการใช้อำนาจพิเศษสั่งการในรูปแบบประกาศคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช.รวม 5 ครั้ง แยกเป็นประกาศ 2 ครั้ง คำสั่ง 3 ครั้ง
และยังได้ใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 260 ในรูปแบบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีอีก 1 ครั้ง
อีก 2 ครั้งที่เหลือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามปกติ
สรุปรวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง
ในรอบ 8 ปีระหว่างปี 2557 – 2564
เพียงแต่ทั้ง 8 ครั้งนี้ ผมเห็นว่ายังไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็น ‘การปฏิรูปตำรวจ’ ทั้งในความหมายที่เป็นจริง ในความหมายที่ประชาชนคาดหวัง และในความหมายที่ตรงกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560
โดยเฉพาะในครั้งที่ 5 และ 6 นี่เจ็บปวดมาก เพราะส่งผลให้เป้าหมายของการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ห่างไกลออกไปลิบลิ่วทีเดียว
เรามาไล่เรียงกันดู
ครั้งที่ 1 – ประกาศคสช.ที่ 88/2557 แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) โดยเพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาเป็นกรรมการด้วย และสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 11 คนเหลือ 2 คน รวมทั้งแก้ไขให้ผบ.ตร.เป็นผู้เสนอรายชื่อผบ.ตร.คนใหม่ต่อกตช.แทนที่นายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 2 – ประกาศคสช.ที่ 111/2557 แก้ไขในประเด็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น โดยเป็นการปรับถ้อยคำให้บทบาทของท้องถิ่นมีน้ำหนักเบาลง
ครั้งที่ 3 – คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 7/2559 ให้ยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวน และเงินประจำตำแหน่งพนักงานสอบสวน โดยให้ตำแหน่งพนักงานสอบสวนกลับไปลื่นไหลไปสู่ตำแหน่งอื่น ๆ ได้ไม่ต้องมีตำแหน่งเฉพาะเป็นแท่งของตัวเอง
ครั้งที่ 4 – คำสั่งคสช.ที่ 21/2559 ให้อำนาจผบ.ตร.เป็นผู้สั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับรองผู้บัญชาการลงไปจนถึงผู้กำกับการ โดยสามารถกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งได้เอง
ทั้ง 4 ครั้งนี้เป็นการแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
ครั้งที่ 5 – ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561
ครั้งที่ 6 – คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 20/2561 เรื่องมาตรการสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความต่อเนื่อง
ครั้งที่ 7, 8 – คณะรัฐมนตรีมีมติในเดือนกันยายน 2563 และมกราคม 2564 เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับแก้จากร่างของคณะกรรมการชุดท่านอาจมีชัย ฤชุพันธุ์ และนำเสนอต่อรัฐสภาจนผ่านวาระ 1
4 ครั้งแรกเป็นการแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ไม่ได้มีความหมายในเชิงปฏิรูปมากนัก บางมุมมองอาจเห็นเป็นการสวนทางการปฏิรูปด้วยซ้ำ
ครั้งที่ 5 และ 6 ส่งผลให้เป้าหมายของการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ห่างไกลออกไปลิบลิ่ว รายละเอียดเรื่องนี้ถ้าจะเล่าให้สะเด็ดน้ำคงยาว เอาเป็นว่าผมได้เคยเขียนโพสต์ ณ ที่นี้เมื่อเกือบ 1 ปีที่แล้ว และได้เคยอภิปรายในวุฒิสภาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ท่านที่สนใจจริง ๆ เปิดอ่านและฟังกันได้ตามลิงก์ข้างล่าง
https://www.facebook.com/100001018909881/posts/3257209870989611/

เมื่อบทเร่งรัดกึ่งลงโทษตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไร้ผลด้วยการใช้อำนาจพิเศษดำเนินการเรื่องตำรวจครั้งที่ 5 และ 6 เมื่อครม.ส่งร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่ปรับแก้จากร่างฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาสู่ที่ประชุมรัฐสภา ความหวังจึงเหลือริบหรี่เลือนรางมาก
เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจยังคงดำเนินไปตามที่เคยเป็นมา
และการแต่งตั้งโยกย้ายในร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ฉบับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับแก้ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในวาระสำคัญ
สรุปคือผลเหมือนกันทั้งขึ้นทั้งล่อง
กฎหมายใหม่ไม่ผ่าน การแต่งตั้งโยกย้ายก็ดำเนินไปตามเดิม ไม่เปลี่ยน ไม่กระทบ ใครจะร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ เพราะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.รับรองไว้แล้วว่าถูกต้อง
กฎหมายใหม่ถ้าผ่านออกมาตามร่างที่ผ่านวาระ 1 สาระก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก
แม้จะมีกรรมาธิการบางคน อย่างน้อยก็ผม และท่านอาจารย์วิชา มหาคุณ จะเตรียมการเสนอความเห็นให้แก้ไขนำระบบใหม่ที่เคยอยู่ในร่างพระราชบัญญัติฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ที่ถูกวิสามัญฯไปกลับมาแทนที่ ก็ยังไม่รู้ว่าจะชนะในชั้นกรรมาธิการหรือชั้นรัฐสภาวาระ 2 หรือไม่
เรื่องราวก็เป็นเช่นนี้แหละครับพี่น้อง
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
28 สิงหาคม 2564