4ผู้ผ่านการสรรหาเป็นกสม.ยื่นสภาทนายช่วยหลังสนช.ตีตกชี้ปฏิบัติมิชอบจ่อร้องศาลเป็นบรรทัดฐาน

4ผู้ผ่านการสรรหาเป็นกสม.ยื่นสภาทนายช่วยหลังสนช.ตีตกชี้ปฏิบัติมิชอบจ่อร้องศาลเป็นบรรทัดฐาน

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2561 ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน นางสมศรี หาญอนันทสุข ผศ.ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก 4 ผู้ผ่านการสรรหาเสนอชื่อเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ไม่ผ่านการรับรองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง กสม.ยื่นหนังสือต่อนายนคร ชมพูชาติ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความฯ เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีนายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความฯ และนายนคร เป็นผู้รับเรื่อง

 

โดยคำร้องระบุว่า กรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 สนช. ได้มีมติรับรองผู้ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่ง กสม. จำนวน 2 คน ได้แก่ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ และนางปิติกาญจน์ สิทธิเดช และมีมติไม่รับรองผู้ผ่านการสรรหา จำนวน 5 คน ได้แก่ นางสมศรี หาญอนันทสุข นายไพโรจน์ พลเพชร ผศ.ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก โดยมติของที่ประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมลับ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและเหตุผลในการลงมติให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งผู้ที่ผ่านการสรรหาทุกคนด้วย

 

ปรากฏว่า ในการพิจารณาของ สนช.ดังกล่าว มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อมาทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกับกรรมการสรรหา อันถือได้ว่ากระทำการขัดต่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ทำให้ข้าพเจ้าทั้งสี่คนได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำของ สนช. ดังกล่าว ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก อีกทั้งพฤติกรรมการลงมติมีลักษณะที่เหมือนกับการเตรียมการในการลงคะแนนเสียงมาก่อน ซึ่งเป็นการไม่ชอบ ทำให้ข้าพเจ้าทั้งสี่คนไม่อาจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกสม. ได้ จนดูราวกับว่า สนช. ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับและไม่ประสงค์ให้นักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการสรรหาอย่างถูกต้องจากกรรมการสรรหา ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไกของกฎหมายที่กำหนดไว้ เป็นการทำลายประวัติการทำงานและชื่อเสียงของข้าพเจ้าทั้งสี่ อีกทั้งเป็นการลงโทษที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถกลับไปสมัครเป็นผู้รับการสรรหาเป็น กสม.ได้อีก รวมทั้งอาจส่งผลต่อการสมัครเป็นกรรมการในองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย

 

“การกระทำของ สนช. ดังที่กล่าวมาย่อมถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เที่ยงธรรมและไม่โปร่งใส เป็นการกระทำที่ผิดหลักการในเรื่องการเปิดเผยตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ตลอดจนหลักการและกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องโดยข้อเท็จจริงทั้งหมด ขอให้สภาทนายความพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการต่อหน่วยงานต่างๆ หรือการดำเนินคดีทางศาล เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานและอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม”หนังสือคำร้องระบุ

 

ภายหลังรับเรื่อง นายนคร กล่าวว่า เมื่อสภาทนายความฯ ได้รับเรื่องแล้ว จะไปพิจารณาประเด็นร้องเรียนเข้าหลักเกณฑ์ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร มีผลกระทบต่อประชาชนแค่ไหน ให้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาเพื่อหาวิธีดำเนินการต่อไป โดยรายละเอียดเราจะสอบผู้ร้องเรียนให้ชัดเจนอีกครั้ง เรื่องนี้คู่กรณีคือ สนช. ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา ไม่ได้มีปัญหากับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ สนช. ดูเหมือนสร้างแนวบรรทัดฐานที่จะเป็นปัญหา

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงคณะกรรมาธิการที่ทางผู้ร้องเรียนระบุว่าสนช. ตั้งขึ้นมาซ้ำซ้อน นายนคร กล่าวว่า เป็นคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ โดยทั่วไปกรณีอื่นๆ อาจพอยอมรับได้ที่ สนช. จะตรวจสอบเพิ่มเติม แต่ในกรณีสรรหา กสม. จุดเริ่มต้นมาจากกรรมการสรรหาที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. กำหนดให้มีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ตำแหน่งฐานะสูงมาก ปกติสรรหาได้แล้ว สนช. น่าจะนำรายงานสรรหานี้มาพิจารณา ส่วนกรณีนี้มีการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบอีกครั้ง เหมือนทำหน้าที่ซ้ำและดูจะมีอำนาจมากกว่า ถ้าตั้งกรรมาธิการศึกษารายงานผลการสรรหาพอฟังได้ แต่ตั้งกรรมาธิการตรวจสอบอีกครั้งซึ่งแตกต่าง เวลานำเสนอ สนช. ก็ไม่ทราบว่าเสนออย่างไร เป็นการประชุมลับ รายงานก็ไม่เปิดเผย

 

“ ถ้ากรรมการสรรหาไปหามาใหม่จะหาแบบไหนที่ สนช. ต้องการและสอดคล้องกับกฎหมาย ตามข้อบังคับมีหลักเกณฑ์อยู่ แต่ไม่ควรทำงานซ้ำ ใช้อำนาจเหนือคณะกรรมการสรรหา การทำงานของ สนช.บางเรื่องก็ดี บางเรื่องก็ต้องรับฟังประชาชน บางเรื่องต้องรู้ขอบเขตอำนาจตัวเอง ใช้ปัญญาให้ตรงกับความรู้นั้นๆ มากที่สุด ทำแล้วเปิดเผย ไม่เหมาะสมอย่างไรก็ควรเปิดเผย เพราะ กสม. เป็นตำแหน่งที่ทั่วโลกเฝ้ามองอยู่ เราถูกจัดอันดับที่ไม่สามารถร่วมประชุมกับเขาได้ สรรหามาแล้วออกมาในลักษณะนี้อันตรายที่สุด มีผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติ”นายนคร กล่าว

 

นายดำรงศักดิ์ กล่าวว่า สภาทนายความฯ มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม เรื่องนี้ได้ให้สายงานกรรมการสิทธิฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องโดยตรง การพิจารณาว่าจะรับช่วยเหลือหรือไม่ต้องผ่านกระบวนการคณะกรรมการ วันนี้รับเรื่องไว้ก่อน ช่วยเหลืออย่างไรจะได้ติดตามกันต่อไป

 

 

ด้าน ผศ.ดร.จตุรงค์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. มาตรา 13 (3) คณะกรรมการสรรหาต้องหาผู้ที่มีประสบการณ์ ทัศนคติ เขียนชัดเจนให้ทำการตรวจสอบความประพฤติของผู้สมัคร ดังนั้นอำนาจหน้าที่ตรวจสอบความประพฤติถูกกำหนดไว้แล้ว มาตรา 14 ให้นำเสนอผู้มีความเหมาะสมจำนวน 7 คน มาตรา 16 สนช.มีหน้าที่ในการรับรองผู้ผ่านคณะกรรมการสรรหา จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การที่ สนช. มีมติให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความประพฤติอีกชั้นเป็นการทำงานซ้ำซ้อน เรื่องนี้ใช้ข้อบังคับการประชุมเป็นตัวเริ่มต้นในการตั้ง ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เราถูกตรวจสอบเรียกไปสัมภาษณ์นั้นบรรยากาศไม่ดี เหมือนมีการตั้งเป้าหาความผิดที่จะไม่รับรองพวกเรา ที่มาร้องสภาทนายความฯ มีมิติทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาถกกัน สนช. มีอำนาจตั้งข้อบังคับแต่สมควรหรือไม่ แล้วถ้าจะมีการสรรหา กสม. รอบ 2 แทนพวกเรา กระบวนการคงจะเหมือนเดิม ถ้าเราไม่ถกว่าสมควรหรือไม่สมควรทำ ทั้งที่คณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่โปร่งใสมีรายงานออกมา แต่ที่ สนช. ตั้งคณะกรรมการอีกชุดที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาไปอีกทาง

 

ขณะที่นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นายกฯ ได้ประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ปี 2561 ไทยเป็นประธานอาเซียน ที่ผ่านมา กสม. ถูกลดไปอยู่ระดับบี เป็นหน้าที่ทุกฝ่ายต้องขยับไปสู่ระดับเอ หนึ่งในสาเหตุลดระดับคือการสรรหา ที่ต้องมีคนจากทุกภาคส่วนมาร่วมกัน รัฐธรรมนูญร่างออกมาได้ดี หนึ่งในหลักการคือสรรหาต้องโปร่งใส การเลือกไม่เลือกต้องบันทึกเหตุผลและเผยแพร่ต่อสาธารณชน แต่น่าเสียดายที่ สนช. ไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไปพิจารณาลับ ไม่เปิดเผยเหตุผลเลือกไม่เลือกเพราะอะไรแก่สาธารณชน รวมถึงพวกตน แม้การเปิดเผยพวกตนจะได้รับผลกระทบมากกว่าในการพูดเรื่องไม่ดี  ตนก็ยินดี รวมถึงที่ผ่านมาเช่นการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ชี้แจงเหตุผล เรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่รับรองและไม่รับรองโดยไม่ให้เหตุผล

 

เมื่อถามว่าเบื้องต้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมายใดและต้องฟ้องต่อศาลใด นายนคร กล่าวว่า ถ้าเป็นมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจจะต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนมติ ขึ้นอยู่กับประเด็นที่จะร้องขึ้นไป สนช. เป็นตำแหน่งทางการเมือง การกระทำใดๆ อาจจะต้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนในทางแพ่งอาจจะให้เพิกถอนมติ และทางอาญาจะถึงขั้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ เมื่อมีการดำเนินคดีจะชี้ว่าทำได้แค่ไหน เป็นเรื่องใหญ่ต้องวางบรรทัดฐานให้ชัด ให้วุฒิสภาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเป้าหมายคือเพิกถอนมติ ส่วนปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ต้องดูกันต่อไป