พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย! นายกฯรู้หรือไม่ว่า ปัญหาแท้จริงคืออะไร?

พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย! นายกฯรู้หรือไม่ว่า ปัญหาแท้จริงคืออะไร?

ยุติธรรมวิวัฒน์

พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย! นายกฯรู้หรือไม่ว่า ปัญหาแท้จริงคืออะไร?

 

         พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ในการฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งรัฐได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่

ได้มีการฉายและจำลองภาพความสำเร็จในการต่อสู้กับศัตรูจักรวรรดินิยมชาติต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในช่วงเวลาร้อยปีที่ผ่านมา

หลักการสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งผู้นำหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองทุกยุคของเขายึดถือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันก็คือ  “การยึดมั่นต่อความจริง”

เร่งค้นหาสาเหตุของทุกปัญหา และดำเนินการแก้ไขด้วยความจริงใจหรือปฏิรูปปฏิวัติโดยเร็ว

ส่งผลทำให้การแก้ปัญหาทุกเรื่องทุกสิ่งของรัฐจีนประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง   สามารถนำพาประเทศให้พ้นจากความอดอยากยากจนมาได้

หนุ่มสาวชาวจีนพากันเดินพาเหรดสู่ความทันสมัย  ผู้นำของชาติประกาศท้าทายมหาอำนาจทุกประเทศที่คิดจะเข้ามารังแกเช่นอดีตด้วยคำพูดว่า คนจีนกว่า ๑,๔๐๐ ล้านคน “พร้อมหลั่งเลือดให้บทเรียนแก่ทุกชาติ” ที่คิดจะกระทำเช่นนั้น!

เมื่อหันมามองดูประเทศไทย  ประชาชนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าปัญหาต่างๆ สารพัดที่ถูกซุกไว้ จะถูกแก้ไขหรือปฏิรูปเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

เนื่องจากผู้นำของรัฐไทยแทบทุกคน ไม่ได้ถือปรัชญา “ยึดมั่นในความจริง”!

“ความเท็จจึงเป็น “มารดาแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เช่นในเรื่องปัญหาตำรวจและการสอบสวน  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพอีรุงตุงนังที่รัฐบาลนี้ตั้งแต่ยุคเผด็จการจนกระทั่งมีการเลือกตั้ง ได้ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นดำเนินการศึกษาและปฏิรูปมากมายหลายชุด

“ปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง” กันมากว่า ๗ ปี!

 มีแต่ผลงานการศึกษาและรายงานเป็นกองกระดาษท่วมท้น!

แต่จนกระทั่งป่านนี้  ก็ยังไม่มีวี่แววว่านายกรัฐมนตรีจะจัดการหรือดำเนินการปฏิรูปอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมได้แต่อย่างใด?

ในวันที่ ๒ ก.ค. ๒๕๖๔  เวลาประมาณ ๑๐.๔๕ น. พ.ต.ท.วีรพล  บุญยัง รอง ผกก.สอบสวน สภ.ช้างกลาง  จว.นครศรีธรรมราช  ตำรวจอาวุโสซึ่งมีอายุ ๕๔ ปี คงสิ้นหวัง  ไม่ทนรอการปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนอะไรอีกต่อไป!

ได้ตัดสินใจใช้อาวุธปืนบราวนิ่ง ๙ มม. จ่อขมับยิงหัวตัวเองในสวนหลังบ้านซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ฉวางนอนหายใจรวยรินอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราช จว.นครศรีธรรมราชจนทุกวันนี้

มีข้อมูลว่า  พ.ต.ท.วีรพลฯ เป็นตำรวจที่มีความประพฤติดีและสุภาพเรียบร้อยอย่างยิ่ง  รู้สึกเบื่อหน่ายต่องานสอบสวนมาหลายปีแล้ว  และ ต้องการขอย้ายออกจากตำแหน่งพนักงานสอบสวนไปทำหน้าที่อะไรก็ได้เพื่อให้พ้นๆ จากหน้าที่ในงานสอบสวนไป!

เขาไม่ยอมแม้แต่เข้ารับการประเมินเป็นพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ เทียบเท่า รอง ผกก. เมื่อหลายปีก่อน

โดยหวังว่า  ถ้ารอจนเข้าเกณฑ์อาวุโส ๓๓ เปอร์เซ็นต์  ก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็น รอง ผกก.ที่ไม่ใช่สายสอบสวน โดยไม่ต้องวิ่งเต้นด้วยอะไรกับใครให้เป็นบุญคุณท่วมหัวทั้งสิ้น

แต่เมื่อมีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์อาวุโส ๓๓ เปอร์เซ็นต์เขากลับถูกแต่งตั้งจาก สว.สอบสวน สภ.ไม้เรียง จว.นครศรีธรรมราช ไปเป็น รอง ผกก.สอบสวน สภ.ช้างกลางเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๐  มีหน้าที่พิมพ์สำนวนและเข้าเวรสอบสวนที่แสนเบื่อหน่ายเช่นเดิม!

ทำให้ความเครียดสะสมตัวขึ้นอย่างมาก  และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงหัวตัวเองนอนบาดเจ็บสาหัสอยู่ขณะนี้ในที่สุด

และแทบไม่น่าเชื่อว่า ในอีกวันหนึ่งถัดมาก็คือ ในวันที่ ๓ ก.ค. ๒๕๖๔  เวลาประมาณ ๑๒.๑๕ น. ได้มีผู้พบศพ ร.ต.ท.เด่น  ปรักเอโก อายุ ๔๗ ปี ผูกคอตายอยู่ใต้บันไดในบ้านพักราชการตำรวจสภ.เมืองสมุทรสงคราม

ร.ต.ท.เด่นฯ เคยเป็นตำรวจที่เรียกกันอย่างเหยียดหยามว่า “ชั้นประทวน” ทำหน้าที่ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน  ที่ อ.นางรอง จว.บุรีรัมย์  มาก่อน และพึ่งได้รับการแต่งตั้งเลื่อนเป็นชั้นสัญญาบัตรสายสอบสวนในตำแหน่งดังกล่าวเมื่อสามสี่เดือนที่ผ่านมา

การได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองสารวัตรปฏิบัติงานสอบสวนเวรประจำสถานีเช่นนี้ในขณะที่มีอายุเกือบ ๕๐ ปี และต้องจากครอบครัวไปอยู่อีกซีกหนึ่งของประเทศไทย  โดยไม่รู้ว่าจะได้ย้ายกลับไปยังภูมิลำเนาได้เมื่อใด?

ได้ทำให้ ร.ต.ท.เด่นฯ เกิดความเครียดเป็นอย่างมาก  ประกอบกับพึ่งรู้ว่า การเป็นพนักงานสอบสวนเวรผู้รับผิดชอบจริงๆ ไม่ใช่งานที่ตนถนัด และอาจเกิดความผิดพลาดเสียหายร้ายแรงที่จะก่อให้เกิดความผิดทางอาญาและวินัยทำให้ต้องถูกไล่ออกปลดออกจากราชการไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญได้

อีกทั้งไม่รู้ว่า อนาคตจะต้องเป็นพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจแห่งนี้ไปอีกนานเท่าใด และโอกาสจะขอย้ายกลับบ้านหรือเปลี่ยนสายงาน  ในความเป็นจริง ก็แทบเป็นไปไม่ได้!

และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร.ต.ท.เด่นฯ ตัดสินใจผูกคอตายในที่สุด

ก็ไม่ทราบว่า พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ในฐานะที่ท่านเป็นผู้รับผิดชอบงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยตัวเอง

ได้รับรายงานปัญหาเรื่องที่พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตายแทบจะพร้อมกันทั้งสองกรณีนี้หรือไม่?

เนื่องจาก ตำรวจผู้ใหญ่ได้สั่งให้ทุกฝ่ายปิดข่าวเป็นความลับอย่าแพร่งพรายให้ใครรู้เป็นอันขาด!

จะเห็นว่าทั้งสองกรณี  ไม่มีสื่อส่วนกลางฉบับหรือสถานีใดได้รับรายงานข่าวจากพื้นที่เลยแม้แต่แห่งเดียว

นักข่าวประจำจังหวัดได้ถูกขอร้องให้ช่วยกันปิดข่าวไว้  ไม่ต้องรายงานให้ส่วนกลางได้รู้ มีอะไรจะให้ช่วยหรือดูแลกันก็บอก!

ขอเรียนว่า ปัญหาตำรวจผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนประเทศไทยฆ่าตัวตายกันเป็นใบไม้ร่วงแค่ในช่วง ๖-  ๗ ปีมานี้ น่าจะมีจำนวนรวม๑๔ – ๑๕ คนนั้น

ปัญหาสำคัญไม่ใช่เรื่องเงินน้อยหรือจำนวนคนมีไม่พออย่างที่ตำรวจผู้ใหญ่ได้รายงานต่อท่านแต่อย่างใด

แต่หัวใจของปัญหาอยู่ที่ระบบงานสอบสวนอยู่ภายใต้การปกครองตามชั้นยศและวินัยแบบทหารที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของงานในฐานะเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมเช่นอัยการและศาล

ซึ่งทุกหน่วยงานมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและใช้ดุลยพินิจตามหลักนิติธรรม

แต่สำหรับตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนที่มียศและระบบวินัยแบบทหาร  ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มียศสูงกว่าอย่างเคร่งครัด

ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะขัดกฎหมายหรือไม่  ทุกคนก็ต้องจำใจทำ!

ความเครียดในการปฏิบัติงานจึงมักเกิดกับพนักงานสอบสวนผู้มีความรู้และความสุจริตมากกว่าผู้ที่มีนิสัยทุจริต

ทำให้บางคนต้องตัดสินใจปลิดชีวิตของตนให้พ้นจากสภาพที่ก่อให้เกิดความทุกข์และอาจทำให้ตนเองมีโอกาสติดคุกติดตะรางได้ในที่สุด

 พนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 5 ก.ค. 2564