‘วิรุตม์’แฉตร.รับส่วยเหตุโควิดระบาด จี้นายกฯฟันอาญา-สำรองราชการ

‘วิรุตม์’แฉตร.รับส่วยเหตุโควิดระบาด จี้นายกฯฟันอาญา-สำรองราชการ

 

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวว่า  กรณีมีหลักฐานปรากฎชัดว่า  การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด -19 รอบที่สามครั้งนี้ซึ่งมีที่มาจากสถานบันเทิงผิดกฎหมายขนาดใหญ่สองแห่งในเขต สน.ทองหล่อ พื้นที่รับผิดของ บช.น.มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน   จนกระทั่งทำให้เด็กหนุ่มสาวทั้งคนทำงานและผู้เข้าไปใช้บริการรวมทั้งนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงหลายคนต้องติดโรคกันไปโดยไม่รู้ตัว  เป็นพาหนะแพร่เชื้อไปทั่วประเทศมากมาย  ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของชาติและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างร้ายแรงครั้งนี้

 

เป็นที่ทราบกันดีในวงการตำรวจว่ามีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลยรวมทั้งการทุจริตประพฤติมิชอบของตำรวจผู้ใหญ่ในการ “รับส่วยสินบน” จากแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย  ทั้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้และอีกมากมายไม่ต่างไปจากปัญหา “บ่อนการพนัน” สารพัดรูปแบบที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย   จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติในวงการตำรวจไปแล้วนั้น

 

ถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีต้องคิดทบทวนได้แล้วว่า  เหตุใดกว่าเจ็ดปีที่ผ่านมานับแต่ท่านทำการปฏิวัติยึดอำนาจจนกระทั่งปัจจุบัน  จึงไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง ตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับยังคงใช้อำนาจตามกฎหมายในการหาประโยชน์จากแหล่งอบายมุขกันจนหลายคนร่ำรวยเข้าขั้นเศรษฐีมากมาย  และเมื่อเกิดเรื่องขึ้น  นอกจากการสั่งย้ายให้หัวหน้าสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบไปช่วยราชการอีกที่หนึ่งชั่วคราวแล้ว   ก็ไม่เคยปรากฎว่าได้มีการดำเนินคดีอาญาและลงโทษทางวินัยมีตำรวจคนใดถูกไล่ออก หรือปลดออกจากราชการแม้คนเดียว

 

และในความเป็นจริง การสั่งย้ายให้ตำรวจผู้รับผิดชอบไปช่วยราชการเช่นนี้  ยังถือเป็นพฤติกรรม “การคุ้มครอง” ตำรวจผู้กระทำผิดทั้งทางอาญาและวินัยอีกด้วย!ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจจริงที่จะกำจัดแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายซึ่งเป็นทั้งสถานที่แพร่ระบาดของโรคร้าย ทำลายเด็กเยาวชนและก่อปัญหาอาชญากรรมต่างๆ มากมาย  สิ่งแรกที่ต้องทำ  นอกจากการดำเนินคดีกับผู้จัดการสถานบันเทิงซึ่งมีฐานะเป็นเพียง “ลูกจ้าง” หรือ “ตัวแทนเชิด”   ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ประกอบการที่แท้จริงทั้งที่เป็นคนมีสีและไม่มีสีเช่นกรณีคริสตัลคลับ และ เอมมอรัล  ก็คือ

 

การสั่งให้มีการ “ดำเนินคดีอาญา” และ “ลงโทษทางวินัยร้ายแรง” รวมทั้งสั่ง  “สำรองราชการ”  ตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบตั้งแต่หัวหน้าสถานี ผบก.และ ผบช.ในทุกพื้นที่ที่เกิดปัญหาให้ปรากฏ   มิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อตำรวจคนอื่นในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือมีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบกันเช่นเดิมต่อไป

 

รวมทั้งต้องเร่งดำเนินการ “ปฏิรูประบบตำรวจ” โดยสร้างระบบตรวจสอบจากองค์กรภายนอกที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงขึ้น  เช่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทั้งเข้าและออกจากจังหวัด  โอนสำนักงานจเรตำรวจให้เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อที่นายกฯ และปลัดสำนักนายกฯ จะสามารถสั่งการใช้เป็นมือไม้ในการตรวจสอบ สอบสวนและประเมินผลการปฏิบัติงานของ ผบ.ตร. รวมทั้งหน่วยตำรวจต่างๆ

 

รวมทั้งเร่งแก้ไข ป.วิ อาญา ให้อัยการมีอำนาจเข้า “ตรวจสอบ” การสอบสวน “คดีสำคัญ”  หรือ  “กรณีที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน” ว่าการสอบสวนได้กระทำโดยมิชอบ ไม่เป็นธรรม  หรือ “พนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์” หรือ “ไม่ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย” เช่นเดียวกับระบบการสอบสวนคดีอาญาสากลเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลกด้วย