ภารกิจตำรวจ คือ’รักษาความสงบตามรัฐธรรมนูญ บำบัดทุกข์บำรุงสุขและพิทักษ์สันติราษฎร์’-พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

ภารกิจตำรวจ คือ’รักษาความสงบตามรัฐธรรมนูญ บำบัดทุกข์บำรุงสุขและพิทักษ์สันติราษฎร์’-พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

 

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2564 พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความ เรื่อง  ภารกิจตำรวจ คือ “รักษาความสงบตามรัฐธรรมนูญ บำบัดทุกข์บำรุงสุขและพิทักษ์สันติราษฎร์” มีรายละเอียดดังนี้

 

ปฏิบัติการตำรวจสลายการผู้ชุมนุมที่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เมื่อค่ำวันที่ 20 มีนาคม 2560 มีการเผยแพร่ภาพผ่านสื่อต่างๆ ปรากฏภาพข้าราชการตำรวจใช้กระบองเข้าไปรุมทุบตีประชาชนทั้งๆที่บุคคลดังกล่าวล้มนอนกับพื้นอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถหลบหนีได้แล้ว เป็นภาพที่สะเทือนใจ และเป็นการกระทำน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ตำรวจไทยมี “อัตลักษณ์ และค่านิยม” ที่ดีงาม ตาม “อุดมคติตำรวจ” ได้แก่

 

“เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดำรงตนในความยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต”

 

และคำปฏิญาณตำรวจ ตอนหนึ่งที่ว่า “จะยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อระงบทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชนตามหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

 

อุดมคติและคำปฏิญาณดังกล่าว ได้เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ตำรวจทุกคคยึดถือปฏิบัติ แต่ได้ถูกทำลายไปจนเป็นปัญหาปัจจุบัน รากเหง้าที่เป็นสาเหตุที่สำคัญที่เคยแสดงความเป็นไปแล้ว  คือ

 

1.หลักคิดปรัชญาและอุดมการณ์ของตำรวจได้เปลี่ยนแปลงไปจาก “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ หรือการรักษาความสงบคือประชาชน ประชาชนคือผู้รักษาความสงบ” ซึ่งโจเซฟ กัปตันซามูเอล โจเซฟ โรเบริต ชาวอังกฤษที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงให้มาปฏิรูปตำรวจในครั้งแรก ที่ยังเป็นปรัชญาสมัยใหม่ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เปลี่ยนไปจากรับใช้ประชาชนเป็นการรับใช้ผู้มีอำนาจและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

 

2.อิทธิพลอำนาจเผด็จการของนักปฏิวัติ รัฐประหาร และอิทธิพลทางการเมืองระดับประเทศครอบงำดึงตำรวจที่เคยเป็นตำรวจของประชาชนไปอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ

 

3.ภาวะผู้นำตำรวจ อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่การปฏิวัติยึดอำนาจ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ตำรวจถูกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ และผู้มีอำนาจจะไม่ไว้วางใจต้องแต่งตั้งพวกพ้องเป็น อธิบดีกรมตำรวจ (อ.ตร) หรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร ) ในปัจจุบัน ล้วนต้องได้รับความเชื่อใจส่วนตัวจากผู้มีอำนาจก่อนและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ภาวะผู้นำตำรวจจึงอ่อนแอ ถูกผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ประกาศและคำสั่ง หน คสช ก็ให้อำนาจ ผบ.ตร แต่งตั้งโยกย้ายเพียงคนเดียว ทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลตำรวจ ที่ถูกพัฒนามานานเป็นระบบคุณธรรม ได้พังทลายหายไป อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลไม่มี ภารกิจหลักของตำรวจในการรักษาความสงบสุข ที่เป็นสุดยอดความปรารถนาของประชาชน ถูกเปลี่ยนเป็นอิทธิพลของผู้มีอำนาจ ปรัชญาของตำรวจไทยที่ดีงามในอดีต ที่ว่า “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” ได้สูญหายไป

 

 

4.ปัญหากฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทั้ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ตาม มาตรา 6 ) ที่สภากำลังพิจารณา กำหนดภารกิจบทบาทอำนาจหน้าที่ตำรวจ ตาม“(6) ช่วยเหลือการพัฒนาประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย” เห็นควรแก้ไขเปลี่ยนหลังการสำคัญยิ่งคือ “หน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และดูแลรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ” ที่เป็นปรัชญาตำรวจออกไปจากภารกิจของตำรวจ และตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาทุกฉบับ มีกฎหมายจำนวนมากที่ขัดหลักการสิทธิมนุษยชน ต้องการบังคับกดทับให้คนในสังคมอยู่ในความสงบเรียบร้อย ที่กฎหมายมักจำกัดการสิทธิเสรีภาพไม่เป็นประชาธิปไตย ตำรวจจึงถูกมองว่าเป็นผู้รับใช้ผู้มีอำนาจไม่รับใช้ประชาชน เช่น พรบ. ฉุกเฉินในมาตรา 16 และ 17 ที่ให้อำนาจไปจับกุมคุมขัง จำกัดสิทธิเสรีภาพ คุ้มครองทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย และไม่สามารถฟ้องศาลปกครองไม่ได้ เป็นต้น

 

5.การแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นระบบอุปถัมภ์ ยังมีการแสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตำแหน่ง มีการสำรวจพบว่าตำรวจชั้นประทวนที่ทำงานในภูมิลำเนาบ้านเกิดจะมองว่า ทำอย่างไรให้สังคมมีความสุข แต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ทำอย่างไรให้ตำแหน่งของเราอยู่ ทำยังไงให้รักษาตำแหน่งหรือไปตำแหน่งที่ดีขึ้น เพราะว่าความมั่นคงไม่ได้อยู่ที่ประชาชนแต่อยู่ที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง

 

งานตำรวจไม่ได้ทำงานใน “สุญญากาศ” ตำรวจคือประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ภารกิจตำรวจต้องถูกกำหนดโดยประชาชนและสังคม ไม่ใช่จากนายกรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันตำรวจถูกใช้ในภารกิจควบคุมและสลายการชุมนุม ที่เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้กฎหมายเล็กอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและเหนือความยุติธรรม หวังผลการจับกุม คุมขังจำกัดอิสรภาพ ข่มขู่ ให้ออกจากสังคม ไม่ได้หวังผลในการสั่งฟ้องผู้กระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรม มุ่งรักษาความสงบเพื่อให้ผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศ ไม่ได้มุ่งความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียม ภาพพจน์ตำรวจตกต่ำมาก

 

บุคคลากรในองค์กรตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ แต่วิกฤติที่เกิดกับองค์กรตำรวจในขณะนี้มาจากเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์และหลักการตำรวจไปจากรับใช้ประชาชนเป็นรับใช้ผู้มีอำนาจและใช้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมแก้ปัญหาปรัชญาที่ถูกต้องและเป็นสากลสู่องค์กรตำรวจ ได้แก่  “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” เพื่อรักษาความสงบตามรัฐธรรมนูญ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนตามหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์