วงเสวนาชำแหละร่างพ.ร.บ.ตำรวจไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง แนะดึงตร.มาเป็นของประชาชน

วงเสวนาชำแหละร่างพ.ร.บ.ตำรวจไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง แนะดึงตร.มาเป็นของประชาชน

ร่างพรบ.ตำรวจ

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ปฏิรูปจริงหรือไม่ ร่างตาม รธน. หายไปไหน?” โดยมีนักการเมือง นักวิชาการ ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ พ.ศ….ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่อังคารที่ 9ก.พ.2564 และจะพิจารณาอีกครั้ง ในวันที่ 24 ก.พ. 2564  ซึ่งเป็นการตัดตอนเนื้อสาระสำคัญจากร่างเดิมของคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์  เป็นประธานฯ

 

โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจต้องปฏิรูปการแต่งตั้งโยกย้าย ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นหัวใจของการปฏิรูปตำรวจ จะออกแบบระบบแต่งตั้งโยกย้ายอย่างไรให้ขจัดตั๋ว ขจัดซื้อขายตำแหน่ง จะเป็นการขจัดทุกข์ของตำรวจ ไม่ต้องไปวิ่งเต้น เมื่อทุกข์ตำรวจขจัดได้ ก็ขจัดทุกข์ของประชาชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ การที่รัฐธรรมนูญเขียนว่าต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถ คือทุกคนจะต้องมีทั้งอาวุโสและความรู้

ร่างพรบ.ตำรวจ

นายคำนูณ มองว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ยังคงใช้ระบบแบ่งกอง ออกแบบนี้แก้ปัญหาไม่ได้ ซ้ำรอยเดิมกับระบบปัจจุบัน ต่างกับที่นายมีชัยออกแบบสร้างระบบคะแนนประจำตัวตำรวจ 100 คะแนน แบ่งเป็นอาวุโส 45 คะแนน ความรู้ความสามารถ 25 คะแนน และความพึงพอใจของประชาชน 30 คะแนน ทุกคนที่ได้รับแต่งตั้งโยกย้ายจะมี 3 ส่วนประกอบกัน ร่างนี้ระบบคะแนนหายไป ระแบบแบ่งกองยุคใหม่พัฒนาขึ้นมา จุดแตกต่างสำคัญคือระบบแต่งตั้งโยกย้าย สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ เชื่อว่าจะผ่านวาระ 1 แน่นอน แต่ในชั้นกรรมาธิการต้องถามว่าอย่างไหนถึงจะถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

 

พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สป.ยธ. กล่าวว่า หัวใจของการปฏิรูปตำรวจต้องเป็นราชการส่วนภูมิภาค แต่ปัจจุบันเป็นส่วนกลาง การที่ตำรวจไม่ยอมเอาแค่นี้ ไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจที่แท้จริง อีกทั้งงานตำรวจเป็นงานพลเรือน แต่ตำรวจไทยบริหารแบบกองทัพ ทั่วโลกไม่เป็นอย่างนี้ และเป็นงานที่ทุกกระทรวงทบวงกรมต้องทำ ต้องตราพระราชกฤษฎีกาให้โอนตำรวจไปให้กระทรวงรับผิดชอบ ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอ แต่ไม่มีใครทำ เพราะต้องผ่านมติ ก.ตร. ที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่ขยับ ร่างของนายมีชัยปฏิรูปตำรวจ 60 เปอร์เซ็นต์ ตนยังไม่ถือว่าปฏิรูปที่แท้จริง ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ยังตัดหัวใจสำคัญงานสอบสวน ต่างจากร่างของนายมีชัยที่สร้างสายสอบสวนเฉพาะทาง การตัดไปจะทำให้ยัดข้อหา ล้มคดีได้เหมือนเดิม ส่วนเกณฑ์ความรู้ความสามารถถ้าไม่เอาอาวุโสนั้น ต้องมีการสอบแข่งขัน เราต้องการเห็นตำรวจเป็นมาตรฐานสากล

 

ร่างพรบ.ตำรวจ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย  ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสมัยเป็นแกนนำ กปปส. ชุมนุมเมื่อปี 2556-2557 มีเรื่องที่พูดกันเยอะคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เราเรียกร้องให้เป็นตำรวจของประชาชน ไม่ใช่ของผู้มีอำนาจหรือนักการเมือง ความรู้สึกชาวบ้านไปโรงพักกลัวตำรวจ เขารู้สึกว่าตำรวจใช้อำนาจดลบันดาลเปลี่ยนชีวิตเขาได้ รัฐธรรมนูญ 2560 มีรากฐานความคิดจากการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปตำรวจ ถ้าเอาตำรวจกลับมาเป็นของประชาชนต้องสร้างหลักยึดโยงประชาชน ต้องสร้าง Social Contact กับประชาชนในจังหวัด ภายใน 1 ปีต้องมีการประเมินโดยประชาชน และกระจายอำนาจลงภูมิภาค โดยต้องมีระบบที่ดีพอ ไม่ไปจับมือหลงจู๊ประจำจังหวัด การสร้างสิ่งยึดโยงประชาชน ต้องสร้างกฎหมายให้มีสภาพบังคับ

 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า สภาพปัญหาตำรวจไทยทรุดตลอดมา ปัจจัยรากเหง้าคือความคิดอุดมการณ์ จากอดีตตำรวจคือประชาชน กลายเป็นไปเอาอิทธิพลผู้มีอำนาจ คือนักการเมือง นักปฏิวัติรัฐประหาร เอาตำรวจไปอยู่ในมือผู้มีอำนาจ ทำโครงสร้างระบบบังคับบัญชากึ่งทหาร ผู้บัญชาการใกล้ชิดผู้มีอำนาจ แต่งตั้งโยกย้ายในมือคนเดียว อำนาจตรวจสอบไม่มี การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นระบบอุปถัมภ์ ไม่ยึดโยงประชาชน เสนอให้นครบาลต้องเปลี่ยนมาขึ้นกับผู้ว่าฯ กทม. ได้แล้ว และต่างจังหวัดต้องลงไปถึงท้องถิ่น ทำอย่างไรให้คนที่อยู่โรงพักเป็นที่รักของประชาชน สร้างความสงบให้พื้นที่ ส่วนโครงสร้างภายใน ทำอย่างไรให้ตำรวจ 2 แสนกว่าคนได้รับความยุติธรรม ความก้าวหน้าในอาชีพ วัฒนธรรมตามน้ำ ดูแลเจ้านาย ต้องถูกทำลายโดยประชาชนท้องถิ่น ต้องกล้าคิดเพื่อประชาชน

ร่างพรบ.ตำรวจ

ขณะที่ นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย และโฆษกคณะกรรมาธิการการตำรวจ มองการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องใหญ่ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ต้องดูประชาชนจะได้อะไรจากร่างนี้ ฝันร้ายของตำรวจคือไม่มีอนาคตในการทำงาน โดนกลั่นแกล้งรังแก ละเมิดข้อกฎหมาย ส่วนเรื่องประสิทธิภาพ ตำรวจได้รับอบรมครั้งแรกจากโรงเรียนนายร้อย แต่หลังจากนั้นไม่มีหลักสูตรอบรมแต่ละส่วนถึงกฎหมายที่เปลี่ยนแปลง ทำให้คนบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เรียนรู้กฎหมาย และต้องปฏิรูปสวัสดิการ อุปกรณ์ของตำรวจ ทั้งนี้ แนะนำให้ดูตำรวจ ตชด. เป็นตัวอย่าง มีภาพลักษณ์ดีมาก เราต้องให้กำลังใจ หน่วยงานดีๆ ก็มี

 

ด้าน ดร.ธานี วรภัทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์  ม.รังสิต ระบุถึงประเด็นการสอบสวนเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนสนใจ การตอบโจทย์ปฏิรูปตำรวจต้องดูทั้งองคาพยพ ดูแค่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ร่างเดียวไม่พอ กฎหมายเชื่อมกันหมด ร่างที่เข้าสภาไม่มีสายงานสอบสวน ที่ต้องแยกแท่งการสอบสวนให้มีอิสระ ประชาชนจะได้ความจริงผิดหรือไม่ผิด กระทบต่อชีวิตของประชาชน ร่างนี้แปลงมาเยอะ สายงานสอบสวนหายไปหมด ประเทศไทยผูกขาดงานสอบสวนอยู่กับสถานีตำรวจ ทั้งที่การสอบสวนคือเรื่องสำคัญ ประชาชนสนใจ เพื่อให้กระบวนการต้นทางโปร่งใส ตรวจสอบได้

 

ส่วน นายนิรามาน สุไลมาน อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจเป็นการกำลังขย้ำผลประโยชน์ของตำรวจชิ้นใหญ่ ปัญหาการลักลอบเล่นพนัน ลับลอบนำชาวต่างชาติเข้ามา ถ้าไม่เกิดไวรัสโควิดก็ไม่รู้มีจริงเยอะขนาดนี้ เขาจะยอมหรือไม่ รัฐธรรมนูญ 2560 มีส่วนดีที่การปฏิรูปตำรวจ แต่เอาเข้าจริงปฏิรูปเพื่อประชาชนจริงหรือไม่ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้ปฏิรูปเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนคาดหวังตำรวจจะได้ปฏิรูป และการผ่านสภาจะมีเวลาอธิบายรายละเอียดอย่างรอบคอบทั่วถึง

 

ด้านพ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวสรุปช่วงท้ายเสวนาว่า อุดมคติตำรวจ พวกขายตำแหน่ง รับส่วย ยืมเงินเจ้าของซ่อง 300 ล้าน ก็ท่องกันทั้งนั้น รับส่วยกันทุกเดือน ตำรวจไทยสมัยก่อนไม่มีปัญหาร้ายแรงขนาดนี้ สมัยตนเป็นตำรวจ ประชาชนแจ้งความเรารับคดี 100 เปอร์เซ็นต์ เราจะมีเลขคดี ทุกอย่างจะถูกตรวจสอบหมด แต่ปัจจุบันพนักงานสอบสวนรับคดีไม่ได้ เจ้านายสั่งไม่ให้รับคดี ให้ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานหลอกไว้ ไม่มีเลขคดี พอไม่ถูกบังคับด้วยระบบ ทุกวันนี้ผู้นำตำรวจในทุกระดับอยู่ได้เพราะการไม่รับคดี ทำให้สถิติคดีไม่โชว์ ตอนนี้ 20 คดี รับ 1 คดี รับคนดัง ชาวบ้านไปแจ้งไม่รับคดี แต่ทำขมีขมันสอบ ไม่มีเลขคดีคือไม่มีการสอบสวน ถ้าไปขอดูอาจจะลงให้ย้อนหลัง เป็นเรื่องใหญ่คดีไม่นับหนึ่ง ร้ายแรงมาก ที่ประชาชนไปแจ้งความแล้วคดีไม่คืบหน้าเพราะไม่มีเลขคดี ไม่มีใครตรวจสอบ ผู้ร้ายลอยนวล

 

“ยกตัวอย่างว่า การล้มคดีบอส-วรยุทธ ได้ คือล้มได้ทุกคดี ขนาดพยานหลักฐานวิทยาศาสตร์ให้คิดใหม่จนถูกใจ คิดจนคนคิดงง ขอแค่ไม่แน่ใจพอแล้ว รีบสอบปากคำถือว่ามีผลต่อคดี ความเร็วก็เพี้ยนเลย พนักงานสอบสวนไทยเหมือนทาสสอบสวน เขาสั่งให้สอบแบบไหนก็สอบแบบนั้น ไม่ทำหลบไปเดี๋ยวย้ายพ้นตำแหน่งให้คนอื่นมาทำ ไม่ทำรักษาอุดมการณ์ท่องอุดมคติอยู่ไม่ได้ การย้ายตำรวจเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ย้ายไปต่างจังหวัด จงใจให้ชีวิตครอบครัวพินาศ ทุกคนสยองขวัญมาก ตนสู้กับการย้ายไปอยู่ในป่าในดง ทำให้ตนรู้ร้ายแรงมาก ไม่เหมือนย้ายผู้พิพากษาอัยการมีเทอม แต่ตำรวจย้ายแบบทำลายชีวิต ทำลายครอบครัว บางทีตำรวจต้องวิ่งเต้นขออยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่ถูกแกล้งให้ย้ายไปลำบากกว่านี้ “

ร่างพรบ.ตำรวจ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุถึงการปฏิรูปตำรวจว่า ตำรวจไทยมีคนมาก แต่คนไม่ได้ทำงานโดยเฉพาะระดับสูงชั้นนายพลขึ้นไป มีตำแหน่งรองมากมาย บช.น.มีรอง 12-13 คน ผู้กำกับประชุมทีเดินไม่ครบห้อง ต้องเลือกบางห้องมีแสงมีรังสีก็เดินห้องนั้น ห้องใกล้เกษียณผ่านไป และคำว่าตำรวจชั้นประทวนต้องเลิก เป็นคำล้อมาจากโครงสร้างทหาร เราเปลี่ยนเป็นระดับปฏิบัติการ ตำรวจจะมีศักดิ์ศรีขึ้นทันที ไม่ต้องเพิ่มเงินด้วย ชั้นประทวนไม่มีอำนาจ ตำรวจที่เจริญทั่วโลกเป็นระบบพลเรือนหมด

 

เขากล่าวอีกว่า ตำรวจลอกวินัยทหารมาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง ประพฤติตนไม่สมควร ทุกคนยอมแพ้ วันก่อนมีคนมาร้องเรียนกับตน เป็นพนักงานสอบสวน เจอผู้บังคับบัญชาในร้านอาหาร ไม่ได้เข้าไปทักทายสวัสดี ถูกรายงานหาว่ากระด้างกระเดื่อง ถูกลงโทษกักยาม การลงโทษด้วยการจำกัดอิสรภาพต้องเลิก ส่วนการพยายามจะเขียนให้นิติวิทยาศาสตร์มีอิสระ ฝากเขียนพนักงานสอบสวนต้องมีอิสระ อย่างน้อยเป็นหลักชัย สำนวนทุกวันนี้จะตั้งแท่นเขียนให้ถูกใจแล้วไปลงชื่อต่อกัน อย่างนี้ต้องปรับ ให้พนักงานสอบสวนมีอิสระ พูดได้เลยว่าคดีในประเทศไทยล้มได้ทุกคดี ถ้าเงินถึง อำนาจถึง

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวย้ำการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ว่า ฝากให้พยายามดึงประเด็นของคณะกรรมการชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ใส่ เพราะประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นความคืบหน้า เช่น ตำรวจไม่มียศ อะไรที่ไม่ปรากฏในร่างกฎหมาย ปล่อยให้เป็นดุลพินิจจะไม่เกิดขึ้น เรื่องตำรวจรักษาความปลอดภัยก็สำคัญ น่าจะเป็นองค์กรเดียวในโลกที่เกษียณแล้วต้องมีตำรวจตามไปรับใช้ ตำรวจหนักกว่าทหารออกเป็นระเบียบ ทุกวันนี้อดีต ผบ.ตร.ไปไหนยังมีรถนำ ร่างของนายมีชัยเสร็จซีโร่ใหม่ ตำแหน่งใดต้องรักษาความปลอดภัยต้องเป็นมติ ครม. เขาตัดออก ทั้งนี้ตำรวจเปิดบ่อน รับส่วย ไม่มีใครตกต่ำสักคน เป็นใหญ่ก็มี

 

ร่างพรบ.ตำรวจ