ชมคำพิพากษายกฟ้อง’จาตุรนต์’วางหลักสิทธิเสรีภาพเป็นบรรทัดฐานป้องปรามรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต

ชมคำพิพากษายกฟ้อง’จาตุรนต์’วางหลักสิทธิเสรีภาพเป็นบรรทัดฐานป้องปรามรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต

 

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2563 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการที่ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ถูกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 116 กรณีแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557  มีเนื้อหา ดังนี้

 

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2557 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้แถลงข่าวที่สำนักข่าวต่างประเทศ (FCCT ) ว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และถูกฟ้องดำเนินคดีเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3055/2562 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง จำเลย ในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

 

คำพิพากษาในคดีนี้ได้วางหลักไว้ 2 ประการ

 

  1. สิทธิและเสรีภาพ ในการพูด

จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า การพูดแถลงข่าวของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ได้ละเมิดต่อกฎหมายและบุคคลอื่น สามารทำได้ภายใต้กฎหมายและการรับรองด้วยหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ให้ความคุ้มครองไว้ตามหลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

  1. การแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดี

จะเห็นจากคำพิพากษาแสดงให้เห็นว่า การกระทำของตำรวจในการแจ้งข้อหาดำเนินคดีจับกุมนายจาตุรนต์ ฉายแสง ในข้อหา ป.อ. มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นการแจ้งข้อหาที่เกินต่อความเป็นจริงหรือพฤติกรรมของคดี ซึ่งในคำพิพากษาได้เขียนไว้ชัดเจนว่า “การแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับจำเลยจึงเป็นการกระทำที่มีพฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการพูดหรือเพื่อควบคุมจำเลยซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง” นอกจากนี้ยังเขียนต่อไปว่า “การดำเนินคดีกับจำเลยจึงมิได้อยู่บนหลักการพื้นฐานของหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม การใช้อำนาจจึงไม่สัมพันธ์และได้สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลักความได้สัดส่วนนี้ จึงเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นกรอบควบคุมหรือข้อจำกัดการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรัฐ มิให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งจะมีผลเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจที่ไม่พึงประสงค์ หรือบิดเบือนการใช้อำนาจ หรือมีการใช้อำนาจผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย” อีกทั้งยังเขียนว่า “รัฐจึงต้องมีมาตรการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาว่าการกระทำความผิดนั้นได้ก่อน เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีแล้ว กระบวนการให้ได้ตัวจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีนั้น ถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะนำคดีมาฟ้องศาล”

 

โดยรวมจะสรุปได้ว่า การร้องทุกข์ดำเนินคดีซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา หากพนักงานสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ก็ไม่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้และไม่สามารถยื่นคำร้องออกหมายจับหรือขอออกหมายเรียกให้มาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาได้ หากเจ้าพนักงานทำจะถือว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมในการปิดกั้น สื่ออิสระ ในการพูดและบิดเบือนการกระทำ เจ้าพนักงานอาจถูกดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

ผมในฐานะทนายความนายจาตุรนต์ ฉายแสง ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้พิพากษาที่ได้เขียนคำพิพากษาฉบับนี้ไว้ ด้วยความเคารพที่ท่านเขียนไว้โดยละเอียดโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่มีกฎหมายรองรับไว้ และที่มีความสำคัญมากกว่านั้นคือการแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีในประเด็นเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาที่ต้องได้สัดส่วนกับมูลเหตุ หากไม่ได้สัดส่วนก็ไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ และหากเจ้าพนักงานของรัฐยังฝ่าฝืนที่จะทำ จะมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งกรณีการได้สัดส่วนผมก็ไม่ค่อยเคยเห็นว่ามีการเขียนไว้ในคำพิพากษาศาลยุติธรรม คดีนี้น่าจะเป็นเรื่องแรกที่เอาสัดส่วนของเหตุที่เกิดขึ้นมาพิจารณาประกอบการร้องทุกข์ดำเนินคดีและแจ้งข้อกล่าวหา และเป็นคำพิพากษาที่เขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการพูดซึ่งมีกฎหมายรับรองไว้อย่างชัดเจน

 

สุดท้ายนี้ จากคำพิพากษาฉบับนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบยุติธรรมและในคดีอื่น ๆ อันถือเป็นบรรทัดฐานเพื่อกำหนดแนวทางป้องปรามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจกับประชาชนเกินขอบเขต แต่จะกลับเป็นตัวอย่างเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจในการแจ้งข้อหา และดำเนินคดีให้เป็นไปตามหลักสัดส่วนของเหตุที่เกิด มาพิจารณาประกอบการร้องทุกข์ดำเนินคดี เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างเคร่งครัดและถูกต้อง