วงเสวนาจี้รัฐแก้ปัญหาอุ้มหายซ้ำซากไม่ปล่อยคนผิดลอยนวลดูแลทุกคนให้ปลอดภัย

วงเสวนาจี้รัฐแก้ปัญหาอุ้มหายซ้ำซากไม่ปล่อยคนผิดลอยนวลดูแลทุกคนให้ปลอดภัย

 

ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  วันที่ 15 พ.ย. 2563 องค์กร Protection International และเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ (PPM) จัดนิทรรศการภาพถ่าย”แด่นักสู้ผู้จากไป” ที่นำเสนอเรื่องราวของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวไทย 58 คนที่ถูกลอบสังหารหรือบังคับให้สูญหาย พร้อมเวทีเสวนา หัวข้่อ“แด่นักสู้ผู้จากไป ประชาธิปไตยแบบไหน ที่จะไม่ลอยนวลพ้นผิด

 

โดยนางสอน คำแจ่ม ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภรรยาของกำนันทองม้วน คำแจ่ม แกนนำคัดค้านการสร้างเหมืองหิน “ดงมะไฟ” ที่ถูกลอบสังหารเมื่อปี 2542ยืนยันถึงสิทธิ์ในการต่อสู้เพื่อครอบครัวและชุมชน แม้สูญเสียผู้นำครอบครัวไปแล้ว และมีภาระต้องดูแลลูกทั้ง 4 คน แต่ก็จะต่อสู้แม้โดดเดี่ยวเดียวดาย และลูกสาวคนโตที่เรียนอยู่ ปวส. ต้องเสียสละทิ้งการเรียนมาช่วยแม่ทำมาหากิน ด้วยการรับจ้างทั่วไป และทำงานก่อสร้าง เพื่อเลี้ยงน้องอีก 3 คน และหวังให้น้องๆ ได้เรียนสูงๆ

 

นางสอน  กล่าวยืนยันว่า ต้องการให้ “ดงมะไฟ” มีความเจริญกว่าเดิมและจะถอยไม่ได้แล้ว เพราะถ้าถอย ผู้ที่กระทำผิดทั้งสังหารสามีของตน และคุกคามทรัพยากรโดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ก็จะ “ลอยนวลพ้นผิด” จึงอยากให้ผู้มีอำนาจหน้าที่นำตัวคนกระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย แต่ก็รู้สึกอบอุ่นและดีใจที่มีเครือข่ายภาคประชาชนหลายเครือข่ายร่วมต่อสู้และให้กำลังใจกันและกัน

 

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่เราต้องลุกขึ้นมาเหมือนกับการพันธนาการที่ไม่กล้ามองอนาคต การก้าวพ้นภาระเพื่อออกมาลุกขึ้นยืนปกป้องคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมามีคนสูญหายมากมาย แต่ประเทศไทยไม่มีการบังคับคดีเรื่องการสูญหาย และการค้นหาความจริง ที่ผ่านมาชาวบ้านทำได้เพียงแค่สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเตือนใจ และประจานรัฐบาล การสูญหายไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายนั้นหายไปแล้ว ทั้งนี้ ตนไม่เชื่อมั่นว่าภายใต้รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะสามารถออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ เพราะสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) พยายามแสดงความจริงใจผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองผู้สูญหาย แต่เมื่อเช้าสนช.กลับล่าช้า และมีการหยิบร่างกฎหมายนี้ออกไป

 

นางอังคนา กล่าวต่อว่า การบังคับสูญหายต้องเป็นกฎหมายที่ไม่หมดอายุความ แต่ที่ผ่านมาการออกกฎหมายมาก็เพื่อคุ้มครองผู้กระทำความผิด เอื้อต่อการงดเว้นโทษ ทำให้ผู้กระทำผิดยังคงเกิดขึ้น กฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนี้ต้องให้ญาติ และเหยื่อจำเป็นต้องมีส่วนร่วม และรัฐบาลต้องรับฟัง เมื่อคนกระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่ง่ายเลยในการดำเนินคดี และไม่มีการคุ้มครองพยานแต่กลับมีการคุกคาม เราจะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้หรือ ไม่ว่ารัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลประชาธิปไตยล้วนแต่มีการละเมิดสิทธิ แต่กลไกรัฐบาลประชาธิปไตยการตรวจสอบจะเข้มแข็งกว่า ใครจะด่ารัฐบาลหรือด่านายกฯ ทางนายกฯต้องรับฟังไม่ใช่ออกมาโต้ตอบ ในขณะนี้มีกระบวนการลดทอนความน่าเชื่อถือคนที่ท้าทายอำนาจรัฐ ทำให้ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี เป็นทนายโจร เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ล้มล้างสถาบัน ต่อต้านการพัฒนา หากคนเหล่านี้ถูกทำให้สูญหายก็จะไม่มีใครออกมาปกป้อง เพราะสังคมเชื่อว่าเป็นคนไม่ดี

 

“ไปถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่าใครบ้างคือนักปกป้องสิทธิฯ เพราะกระทรวงยุติธรรมยังเถียงไม่จบว่าคนนี้สีดำ คนนี้สีเทา และคนนี้สีขาว รัฐบาลกลับไม่รู้ สิ่งที่รัฐบาลพยายามแก้ไขคือทำตัวเลขผู้สูญหายน้อยลง แต่ไม่ทำให้ความจริงเปิดเผยและนำคนผิดมาลงโทษ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 60 นายกฯตั้งกรรมการปกป้องสิทธิฯ ถามว่าทำอะไรบ้างจนหมดวาระและตั้งชุดใหม่ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่การเมืองเป็นแบบนี้ เราต้องทำหน้าที่ของเรา เพราะเราคือพยานการละเมิดสิทธิฯที่เกิดขึ้น เพื่อมอบสังคมให้คนรุ่นใหม่ที่พูดได้โดยไม่กลัว และรัฐต้องดูแลทุกคนให้มีความปลอดภัยเท่ากัน”นางอังคนา กล่าว

 

น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก ทายาท “ครูเตียง ศิริขันธ์” เหยื่ออุ้มฆ่า  กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่จึงออกมาเรียกร้องว่าคนต้องเท่าเทียมกันผ่านการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยการเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน หรือการจัดงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันที่เกิดความจำเป็น ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปที่ไม่ได้รับสิทธิต่างๆ แถมบางคนยังถูกทำร้าย และสูญหาย ทั้งนี้ พวกเราต้องการเรียกร้องการพูดคุยและประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ แตกต่างจากผู้มีอำนาจที่ออกมาพูดว่าอยากให้มีการประนีประนอมแต่ความอยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนประนีประนอมไม่ได้ ดังนั้นข้อเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่จึงถูกต้อง

 

“ไม่ว่าเราจะทำอะไร ทุกอย่างคือการเมือง ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เด็กเรียกร้องเคลื่อนไหวเพื่อให้การเมืองดีขึ้น เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ สิทธิการเข้าถึง การขนส่ง การเดินทางสาธารณะ แต่รัฐกลับปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะนำรถเมล์มาสกัดกั้นทดแทนกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ มีเจ้าหน้าที่มาเช็คประวัติข้อมูลนักศึกษา เราต้องการสร้างสังคมที่พูดคุยกันได้ และพื้นที่ปลอดภัย เราต้องเติบโตไปในอนาคต ตอนนี้สังคมยังบิดเบี้ยวไม่หยุด ข้อเรียกร้องเราต้องเกิดผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สายธารการเปลี่ยนแปลงกำลังไหลเข้ามาที่ผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ในอนาคตเราอยากเห็นประเทศไปได้ไกลกว่านี้ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายและรัฐธรรมนูญ” น.ส.จุฑาทิพย์ กล่าว

 

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนและที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได กล่าวว่า หลักการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องภาคประชาชน ขมวดได้ 3 ประเด็นคือ ประชาธิปไตยกินได้, ประชาธิปไตยที่ใช้กฎหมายยึดโยงกับหลักนิติรัฐนิติธรรม และประชาธิปไตยของประชาชนที่มีการกระจายอำนาจการปกครอง แต่ปัญหาคือ ระบบราชการไทย ที่แม้กฎหมายคุ้มครองพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งโบราณสถานต่างๆ แต่ในภาคปฏิบัติก็มีกฎหมายอีกส่วนให้ข้อยกเว้น  ซึ่งเหมือน “ใบอนุญาตฆ่าชุมชน” คือ การไม่บังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องตามตัวบทที่มีอยู่ มีการงดเว้นละเว้นต่างๆเพื่อต้องการให้นายทุนเข้าไปคุกคามและตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงทำให้ “ฉนวนที่จะป้องกันความรุนแรงหายไป”

 

นายเลิศศักดิ์  กล่าวว่า  การละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 นั้น ยืนยันว่า การฟ้องส่วนราชการเพื่อเอาโทษนั้นยากแสนยาก กระทั่งใช้ทั้งชีวิตคดีที่เกี่ยวข้องก็อาจจะยังไม่จบ เพราะกลไกของรัฐคุ้มครองข้าราชการที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาเสมอ ส่วนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและองค์กรอิสระที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น และน่าเศร้าและน่าสมเพชสิ้นดี ที่โลโก้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม. มีชฎาครอบ

 

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ และคุณูปการของบุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการพูดถึงหรือถูกยกย่อง เป็นเพราะเราเพิกเฉยกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เรื่องแบบนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำๆ หลายกรณีที่ผู้กระทำผิดไม่เคยถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นด้านกลับของสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งบอกได้ว่าประชาชนไม่ได้มีความหมายไร้ค่าในสายตาชนชั้นนำ ประชาชนจึงไม่ได้รับการปกป้อง ตนจึงเสนอสิ่งที่ต้องทำ 3  ประเด็น คือ 1.ต่อสู้เชิงประเด็นให้เป็นวาระเชิงสังคมมากขึ้น 2.ต่อสู้เชิงระบบ ซึ่งการต่อสู้เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริง เป็นเรื่องจำเป็น โดยที่ทุกส่วนต้องเกี่ยวโยงกัน ไม่ว่าการมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ต้องเป็นของประชาชน การปฏิรูประบบราชการ กระบวนการยุติธรรม รวมถึงการสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อให้คนมีความมั่นคงในชีวิต และ3.ต่อสู้เชิงวัฒนธรรม ที่ต้องปลูกฝังค่านิยมพลเมืองร่วมกัน ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน

 

“การสร้างวาทกรรมการเมืองเป็นเรื่องสกปรก เพื่อให้คนไม่สนใจการเมือง เมื่อคนไม่สนใจการเมืองอำนาจก็เป็นของผู้มีอำนาจ ซึ่งคอยสร้างคำพูดว่าให้มีชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อที่ตัวเองจะรักษาโครงสร้างอำนาจ ทั้งนี้ การต่อสู้เชิงวัฒนธรรมทำได้ทุกที่ อย่าให้วัฒนธรรมอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม คืบเข้ามาอีก เราจึงต้องช่วยกันทุกมิติ”นายธนาธร กล่าว