‘อังคณา’ครวญ16ปีเหตุการณ์ตากใบไร้ซึ่งความยุติธรรมแนะทุกฝ่ายเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน

‘อังคณา’ครวญ16ปีเหตุการณ์ตากใบไร้ซึ่งความยุติธรรมแนะทุกฝ่ายเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน

 

เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2563 นางอังคณา นีละไพจิตร  อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาดังนี้

#16ปีตากใบไร้ซึ่งความยุติธรรม : #เมื่อเรื่องเล่าและความทรงจำคือการทวงถามถึงความยุติธรรม #TakbaiTragedy

ตุลาคม เป็นเดือนที่มีเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (atrocity crime) เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งต่างเวลา ต่างสถานที่ และต่างความทรงจำ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหยื่อ ครอบครัวรวมถึงสังคมเรียกร้องมาตลอด คือ การคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียหาย การรักษาความทรงจำของเหยื่อ แม้จะเป็นความทรงจำของบาดแผลที่เจ็บปวด (traumatic memory) แต่การรักษาความทรงจำถือเป็นการส่วนหนึ่งในการเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชน และเพื่อยุติการลอยนวลพ้นผิด

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของเดือนรอมฎอน  หรือเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ในวันนั้น …  ผู้ชายหลายคนออกจากบ้านเพื่อซื้ออาหารเตรียมละศีลอด  เด็กหนุ่มหลายคนออกไปหาซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แม่ หรือคนรัก เพื่อใส่ในวันรายอที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน แต่หลายคนกลับถึงบ้านในเย็นวันรุ่งขึ้นในสภาพที่ปราศจากลมหายใจ หลายคนบาดเจ็บ หลายคนพิการ … นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่ 16 ปีแล้วยังไม่มีใครได้พบเห็น และพวกเขากลายเป็นบุคคลสาบสูญ  และไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกเลย

16 ปีผ่านไป แต่ภาพของการสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้า สถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยังคงติดตาของผู้คนจำนวนมาก ภาพของชายชาวมลายูมุสลิมที่ถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกบังคับให้ต้องคลานไปกับพื้นดินที่ร้อนระอุ ขณะที่พวกเขากำลังอยู่ในช่วงถือศีลอด ภาพการขนย้ายประชาชนโดยให้นอนทับซ้อนกัน 4-5 ชั้น บนรถบรรทุกของทหารที่มีผ้าใบคลุมปิดทับ และมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธควบคุมอยู่ท้ายรถโดยไม่ฟังเสียงร้องคร่ำครวญของคนที่ถูกกดทับที่อยู่ชั้นล่างของรถ จนหลายคนเสียชีวิตก่อนถึงจุดหมายปลายทาง

ข้อมูลรายงานคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ ระบุตัวเลขผู้ได้รับความเสียหาย โดยมีผู้เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนระหว่างการสลายการชุมนุม 7 ราย มีผู้ถูกควบคุมตัวไปสอบสวน 1,370 คน  มีผู้เสียชีวิตบนรถระหว่างการเคลื่อนย้าย 78 คน มีผู้สูญหาย 7 คน นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมากซึ่งหลายคนกลายเป็นผู้พิการในเวลาต่อมา

รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตากใบ ยังได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนทั้ง 85 คน ความบางตอนว่า

“คณะกรรมการเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต้องถือว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก ละเลยไม่ดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อยที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์ และมุ่งเพียงปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปเท่านั้นโดยกไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนจึงไม่อาจคาดได้ว่าจะเกิดการตายเช่นนี้”

“เมื่อพิจารณาถึงวิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธ ใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์และทหารพรานซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการสลายการชุมนุมนั้น คณะกรรมการอิสระเห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนและวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล”

แม้ที่ผ่านมา พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะได้ออกมากล่าวคำขอโทษพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนรัฐบาลทักษิณ ชิณวัตร และต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ให้การชดใช้เยียวยาด้านการเงินแก่ญาติผู้เสียชีวิต ผู้พิการ ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหาย แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยความจริง และไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนั้น …  ผ่านมา 16 ปี ยังคงไม่มีคำตอบว่าใครคือผู้กระทำผิด และจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และการหายสาบสูญของประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่

ภายหลังเหตุการณ์ตากใบ บรรดาญาติผู้เสียชีวิต และชาวบ้านตากใบได้สิทธิทางศาลเพื่อหาความยุติธรรม โดยมีคดีที่น่าสนใจ คือ

(1) คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน เหลือ 58 คน) ในข้อหายั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย แต่ต่อมาอัยการได้ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 โดยให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า “…การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีนี้ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะและอาจกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ”

(2) สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จำนวน 7 คน ซึ่งพนักงานสอบสวนสรุปว่าไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในช่วงเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างการชุมนุม พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้งดการสอบสวน และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด

(3) สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งไต่สวนการตาย เนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมของเจ้าหน้าที่ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 ปรากฏว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า “สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่” ทำให้ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นมีความเห็นพ้องกับอัยการ ทำให้คดีถึงที่สุด

เหตุการณ์ตากใบ

ในโอกาสครบ 16 ปี เหตุการณ์ตากใบ ดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนระบบยุติธรรมกรณีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (atrocity crime) เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีก และเพื่อคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อและครอบครัว ทั้งนี้ตามหลักอายุความคดีอาญามีอายุความ 20 ปี กรณีตากใบเราจึงมีเวลาอีก 4 ปี ในการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม เพื่อเป็นการเปิดเผยความจริงในเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น คืนความเป็นธรรมให้ผู้ถูกละเมิด และคืนศักดิ์ศรีให้คนมลายูมุสลิมใน จชต. … แต่คำถามคือแล้วใครที่จะเป็นโจทก์ในการฟ้องร้องดำเนินคดี

เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ญาติผู้เสียชีวิตเคยมาร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้เสียหาย แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นญาติๆซึ่งแทบทั้งหมดเป็นหญิงได้ขอถอนเรื่องร้องเรียนเนื่องจากกลัวความไม่ปลอดภัย จำได้ว่าญาติบางคนได้กล่าวไว้อย่างน่าสะเทือนใจว่า

“#ถึงฟ้องไปเราก็ไม่มีทางชนะรัฐได้หรอก แต่เราอยากบอกว่าถึงแม้เราไม่ฟ้องคดีในศาล เราก็รู้อยู่ว่าใครเป็นคนผิด ใครเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบ เราเชื่อในพระเจ้าของเรา เราเชื่อว่าพระเจ้าเท่านั้นที่จะให้ความยุติธรรมแก่เราได้”

“จนทุกวันนี้รัฐก็ยังมองว่าพวกเราเป็นโจร รัฐไม่เคยไว้ใจเรา ทุกปีในช่วงท้ายของเดือนรอมฎอน และในวันที่ 25 ตุลาคม เราก็ยังคงคิดถึงเหตุการณ์ตากใบ คิดถึงลูกหลานที่เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย หลายครอบครัวยังร้องไห้ เราไม่เคยลืม เรายังจำได้ดีถึงความไม่เป็นธรรม แม้รัฐจะให้เงินเยียวยา แต่เงินไม่ได้ทำให้เราลืมเรื่องที่เกิดขึ้น”

การสลายการชุมนุมตากใบจนเกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมากถือเป็น อาชญากรรมโดยรัฐ และ #รัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้ประชนชน ซึ่งถือเป็นการเยียวยาด้านตุลาการ (judicial remedy) และเป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้เสียหายและครอบครัว การนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลไม่ใช้เพื่อการแก้แค้น หรือเพื่อประจานบุคคลใดหรือหน่วยงานใด แต่การนำคดีขึ้นสู่ศาลที่มีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (fair trial) จะนำไปสู่การเปิดเผยความจริง และนำไปสู่ความพร้อมรับผิด (accountability) และยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ (Cultural of Impunity)

25 ตุลาคมปีนี้ชาวบ้านตากใบและชาวบ้านใกล้เคียงจะมารวมตัวกันเพื่อละหมาดขอพรให้ผู้เสียชีวิต น่าเสียดายที่เดิมชาวบ้านคิดว่าจะจัดการพูดคุยเพื่อรำลึกเหตุการณ์เมื่อ 16 ปีที่แล้วเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดผ่านเรื่องเล่าของผู้ผ่านประสบการณ์การสูญเสีย แต่น่าเสียดายที่ความคิดดังกล่าวต้องล้มเลิกเนื่องจากแกนนำชาวบ้านถูกหลายฝ่ายห้ามไม่ให้จัดการพูดคุยถึงเรื่องราวในอดีต ชาวบ้านจึงทำได้แค่เพียงการละหมาดเพื่อขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้ความจริงได้ปรากฏ และผู้ถูกละเมิดจะได้รับความยุติธรรม

ในโอกาส 16 ปีตากใบ ดิฉันเขียนบันทึกฉบับนี้ด้วยหัวใจที่ปวดร้าวและไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนดิฉันยังหวังที่จะเห็นครอบครัวผู้เสียชีวิตลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ อยากเห็น #ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมของระบบยุติธรรมไทย อยากเห็นความกล้าหาญในการพร้อมรับผิดของผู้กระทำผิด ทั้งนี้ มิใช่เพื่อการแก้แค้น แต่เพื่อการเข้าถึงความจริงของเหยื่อ เพื่อปลดพันธนาการจากความคลุมเครือ และเพื่อยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ

การจัดงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบในปีที่ 16 จึงมีความหมายอย่างยิ่งทั้งต่อเหยื่อและครอบครัว และจะเป็นการส่งสาส์นไปถึงบรรดาผู้มีอำนาจว่า ชาวตากใบยังคงเก็บรักษาความทรงจำที่ขมขื่น และรอคอยความยุติธรรม โดยย้ำเตือนผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายให้ตระหนักถึงคุณค่าในการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน ซึ่งความยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในคุณค่าและศักดิ์ศรีนั้น

อังคณา นีละไพจิตร

25 ตุลาคม 2563

#AKN #16ปีตากใบ

เหตุการณ์ตากใบ

ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก Angkhana Neelapaijit