111 อัยการรุ่นใหม่ เบื่อ’อ่านนิยายสอบสวน’สั่งคดี!   

111 อัยการรุ่นใหม่ เบื่อ’อ่านนิยายสอบสวน’สั่งคดี!  

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                                         111 อัยการรุ่นใหม่ เบื่ออ่านนิยายสอบสวน”สั่งคดี!

                                                                                                พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข่าว อัยการจำนวน 111 คนทุกระดับทั่วไทยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น อัยการยังเติร์กรุ่นใหม่

ได้ลงชื่อในหนังสือที่เป็นข้อเสนอเพื่อพัฒนาและปฏิรูป ระเบียบการพิจารณาและสั่งคดี ของอัยการ มิให้ ตกเป็นเหยื่อของตำรวจ ถูกหลอก ใช้เป็นเครื่องมือในการสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นผู้บริสุทธิ์! ทำให้มีผู้คนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติตกเป็น แพะ คดีอาญากันมากมาย!

หรือบางคดีก็ ต้องจำใจสั่งไม่ฟ้อง ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลไป เนื่องจากพยานหลักฐานในการสอบสวนไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้

มอบหมายให้ตัวแทนกลุ่มหนึ่งนำไปยื่นต่อ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ที่สำนักงานศูนย์ราชการ

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ประชาชนไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายๆ ถึงการ ตระหนักรู้ ของกลุ่มอัยการ ผู้มีความคิดก้าวหน้า ไม่ว่าจะมีอายุน้อยหรือมากเพียงใด

ซึ่ง ในความเป็นจริงอาจมีจำนวนมากกว่า 111 คนที่ลงชื่อในหนังสือนั้น เป็นหลักฐานรูปธรรมแสดงถึงการยอมรับว่า ระบบการสอบสวนและสั่งคดี ฟ้องหรือไม่ฟ้องของไทยนั้นมีปัญหาที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาร้ายแรงมาช้านานกระทั่งปัจจุบัน จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปโดยวิธีหนึ่งวิธีใดเท่าที่ อัยการสูงสุดจะสามารถทำได้ ในขณะนี้

โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปหรือ ปฏิลวง อะไรให้เสียเวลาเช่นที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนหรือไร้อำนาจได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอยู่ปัจจุบัน

ปัญหาสำคัญเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลได้ปล่อยให้การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจและ การพิจารณาสั่งคดีของอัยการ กลายเป็นคนละบทบาทและต่างองค์กรกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกรมอัยการและกรมตำรวจซึ่งต่างอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แยกย้ายออกไปจากฝ่ายปกครองอยู่คนละทิศคนละทางต่างคนต่างทำงานกันเช่นปัจจุบัน!

ก่อให้เกิดปัญหา อัยการไทยและฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ไม่สามารถเข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุกับตำรวจร่วมรู้เห็นพยานหลักฐานการกระทำผิดอะไร แม้กระทั่งในคดีมีคนถูกฆ่าตาย หรือไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาร้ายแรงที่กระทบต่อความสงบสุขของชุมชนและสังคมแค่ไหน? ต่างไปจากฝ่ายปกครองและอัยการในประเทศที่เจริญทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง!

ยิ่งองค์กรตำรวจไทยที่อยู่ในสภาพล้าหลัง! เนื่องจาก ถูกจัดโครงสร้างและมีระบบการปกครองตามชั้นยศแบบทหาร แม้กระทั่งผู้ปฏิบัติงานสอบสวน แต่ละคนอาจถูกสั่งให้สอบสวน หรือไม่สอบสวน รวบรวมพยานอะไรก็ได้ เจ้านายสั่งให้สรุปสำนวนเสนอไปให้อัยการแค่ไหน

อัยการไทยก็เห็นพยานหลักฐานและพิจารณาได้แค่เฉพาะตามที่ปรากฏในสำนวนที่พนักงานสอบสวนเสนอเท่านั้น!

ที่บางคนพูดกันว่า ป.วิ อาญา มาตรา 143 (2) (ก)  บัญญัติให้อัยการมีอำนาจสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมได้ในกรณีที่เห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วน จึงไม่ควรบ่นว่ามีปัญหาแต่อย่างใด?

แต่ในความเป็นจริง การที่อัยการจะสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมอะไร เป็นเรื่องที่ ทำได้อย่างจำกัดยิ่ง ตั้งแต่เรื่องระยะเวลาควบคุมตัวในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกฝากขังไม่ได้อนุญาตให้ประกัน ซึ่งถ้าตำรวจบางคนต้องการให้อัยการสั่งฟ้องแม้ว่าพยานหลักฐานจะไม่ครบถ้วนชัดเจน ก็ใช้วิธีสรุปสำนวนส่งให้ในระยะเวลากระชั้นชิดกับการครบระยะเวลาฝากขัง เหลืออีกเพียงสามวัน หรือแม้กระทั่งวันเดียวก็มี!

เป็นวิธีที่ตำรวจผู้มีพฤติกรรมทุจริตหลายคนกระทำกันมาช้านาน แม้จะมีการทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการภายในระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้วันก่อนครบฝากขังผู้ต้องหา

แต่ว่าการปฏิบัติในหลายคดีก็ไม่ได้ทำตามนั้นแต่อย่างใด?

และเมื่ออัยการได้แจ้งปัญหานี้ไปให้ผู้บังคับบัญชาตำรวจพิจารณา ก็ไม่ได้ปรากฏว่ามีการลงโทษทางวินัยอะไรที่ทำให้คนที่ปฏิบัติเช่นนั้นเกิดความเข็ดหลาบอะไร

รวมทั้งในความเป็นจริง ไม่ว่าอัยการจะมีเวลาในการพิจารณานานมากเท่าใด คดีส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถสั่งสอบสวนเพิ่มเติมอะไรไม่ว่าจะกี่ครั้ง เพื่อให้สามารถพิสูจน์การกระทำผิดของผู้ต้องหาอย่างแน่ชัดได้อย่างแท้จริง

เนื่องจาก สำนักงานอัยการสูงสุดได้ออกระเบียบกำหนดให้อัยการผู้รับผิดชอบ สั่งสอบสวนเพิ่มเติมได้เฉพาะจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน เท่านั้น

หลักฐานวิทยาศาสตร์เช่น กล้องวงจรปิดและอีกมากมาย หรือพยานบุคคลใดที่ อาจมีอยู่ในความเป็นจริง แต่ตำรวจไม่ได้บันทึกรวมไว้ในสำนวน ไม่ว่าจะมีอีกสักกี่สิบกล้อง กี่คน!

อัยการไทยไม่ว่าจะสอบเข้ามาเป็นได้ด้วยคะแนนสูงมากเท่าใด ก็ไม่สามารถรู้ได้เหมือนอัยการในนานาอารยประเทศทั่วโลก

ปัจจุบันอัยการหนุ่มสาวผู้ตื่นรู้หลายคนจึงเกิดความรู้สึกอึดอัดใจ! ตั้งแต่เริ่มรับราชการมา กลับปรากฏว่า ต้องจำใจสั่งคดี ทั้งที่ ฟ้อง และ ไม่ฟ้อง ไป โดยที่หลายคดีไม่มีความมั่นใจเลยว่า จะสามารถแสดงพยานหลักฐานให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่?

แต่ถ้าหากตัดสินใจสั่งไม่ฟ้องไป ก็รู้สึกหนักใจ! เพราะอาจถูกผู้บังคับบัญชารวมทั้งประชาชนเพ่งเล็งเอาได้ว่า มีปัญหารับวิ่งเต้นอะไรจากใครหรือไม่ จึงได้สั่งไม่ฟ้อง?

รวมทั้งอาจถูกฝ่ายตำรวจทำความเห็นแย้งเสนอให้อัยการสูงสุดวินิจฉัยทำให้เกิดปัญหาต่อตนเองได้ และจะทำให้ผู้ต้องหาซึ่งอาจเป็นผู้กระทำผิดจริงลอยนวลไป  ผู้เสียหายเกิดความคับแค้นใจแสนสาหัส!

เพราะแม้ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 147 จะบัญญัติว่า  “หากปรากฏพยานหลักฐานใหม่ที่สามารถพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้” ก็สามารถสอบสวนเพิ่มเติมส่งให้อัยการสั่งคดีใหม่เป็น ฟ้อง ได้ เช่นกรณีคดีบอส

แต่ในความเป็นจริง คดีที่อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ไม่ว่าจะมีการ แย้งแบบมั่วๆ จาก ผบช.ตำรวจภาค หรือไม่ และอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยชี้ขาดสั่งไม่ฟ้องแล้ว

ตำรวจ ไม่ได้มีระบบงานอะไรรับผิดชอบการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายในอายุความเหมือนที่ ตำรวจผู้ใหญ่ซึ่งไม่มีความรู้ทางกฎหมาย หลายคนชอบอธิบายต่อผู้เสียหายโขมงโฉงเฉงแต่อย่างใด?

คดีอาญาส่วนใหญ่ อัยการไทยจึง มักสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาไปตามที่ฝ่ายตำรวจเสนอ ไม่ว่าพยานหลักฐานจะชัดเจนหรือไม่ ประมาณว่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 95

ส่งผลทำให้สถิติคดีอาญาที่ศาลไทยพิพากษายกฟ้องสูงโดยเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณถึงร้อยละ 40!

แต่ในสามจังหวัดภาคใต้สูงมากถึงร้อยละ 80!

คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องนั้น แท้จริงไม่ใช่ความยุติธรรมแต่อย่างใด โดยเฉพาะสำหรับผู้เสียหาย เนื่องจากรัฐ ไม่ว่าทั้งอัยการ ตำรวจ หรือหน่วยงานใด ไม่เคยมีคำตอบว่า ใครเป็นผู้กระทำผิดที่ทำร้ายหรือฆ่าญาติพี่น้องของเขา?

สำหรับจำเลยที่เป็นผู้บริสุทธิ์และศาลพิพากษายกฟ้อง  ก็ถือว่าต้อง ติดคุกฟรี ในกรณีที่ไม่ได้รับการประกันตัว

นอกจากนั้น คำพิพากษาว่า ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยไป ได้กลายเป็น ตราบาป และ มลทิน ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ทุกคนที่ถูกอัยการสั่งฟ้องคดี เดินไปทางไหนก็มีแต่ผู้คนสงสัยว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริงหรือไม่?

ทางแก้ไขสำหรับอัยการสูงสุดในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นสอบสวนตามอำนาจที่มีอยู่ขณะนี้ก็คือ

1.พัฒนาระเบียบให้อัยการสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ในคดีสำคัญหรือคดีที่มีปัญหา ได้เองตั้งแต่เกิดเหตุ

2.รับและพัฒนาบุคลากรทางกฎหมายซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานอัยการ จังหวัดละไม่เกินสิบคน จัดยานพาหนะและเครื่องมือต่างๆ อย่างเพียงพอ

3.กำหนดให้มี อัยการเข้าเวรรับสำนวน แทนพนักงานธุรการปัจจุบัน ทำหน้าที่ตรวจความสมบูรณ์ครบถ้วนของพยานหลักฐาน ทำให้อัยการได้พบกับผู้ต้องหา ซึ่งอาจสามารถชี้แจงแสดงพยานหลักฐานที่ถูกตำรวจเพิกเฉยหรือละเลย ไม่ยอมสอบสวนรวมไว้ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

4.กำหนดมาตรฐานการสั่งฟ้อง โดย ต้องมั่นใจว่าจะสามารถพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้ เช่นเดียวการปฏิบัติของอัยการในประเทศที่เจริญทั่วโลกเท่านั้น.

   

111 อัยการรุ่นใหม่

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 12 ต.ค. 2563