เปิดผลศึกษาปัญหาระบบศาลยุติธรรม ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นมากเฉียด40% พิพากษายืนเพียง42.90%เหตุขาดระบบตรวจสอบ

เปิดผลศึกษาปัญหาระบบศาลยุติธรรม ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นมากเฉียด40% พิพากษายืนเพียง42.90%เหตุขาดระบบตรวจสอบ

 

จากกรณีนายคณากร  เพียรชนะ  อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา  ยิงตัวเองภายในห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดยะลาจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 4ต.ค. 2562  ก่อนก่อเหตุยิงตัวเองซ้ำในบ้านพักที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 จนเสียชีวิต  เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้บริหารศาลยุติธรรมใช้อำนาจเข้าแทรกแซงในการพิจารณาสั่งคดี ฆ่า 5 ศพ ที่ จ.ยะลา และได้เรียกร้องให้คืนความอิสระให้ผู้พิพากษา

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 ศาลจังหวัดยะลาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีหมายเลขดำ 312/2563 ที่พนักงานอัยการจังหวัดยะลา เป็นโจทก์ ฟ้องนายซูกรี มูเซะ อายุ 33 ปี, นายสาแปอิง สะเตาะ อายุ 39 ปี, นายแวอาแซ แวยูโซะ อายุ 34 ปี, นายมัสสัน เจะดือเระ อายุ 29 ปี และนายอับดุลเล๊าะ มะสาเม๊าะ อายุ 30 ปี เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดต่อชีวิต และความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ

โดยคดีนี้ จำเลยทั้งห้าถูกฟ้องจากเหตุการณ์จ่อยิงหัวชาวบ้านดับ 5 ศพพร้อมกัน เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2561 ที่ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ ซึ่งเป็นคดีที่ นายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้า หลังจากนั้นนายคณากร ก็ยิงตัวเองภายในห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดยะลาจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อปี 2562 ก่อนก่อเหตุยิงตัวเองซ้ำที่บ้านในปี 2563 จนเสียชีวิต

โดยคำพิพากษาระบุว่า  จำเลยทั้งห้ายอมรับต่อพนักงานสอบสวนว่าร่วมกระทำความผิดคดีนี้โดยมีผู้นำศาสนาเข้าร่วมรับฟังการสอบสวน คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 ฐานอั้งยี่ จำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 1, 3, 4 ฐานซ่องโจร คนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนฯ คนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนฯ คนละ 2 ปี ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 2, 5 ฐานสนับสนุนร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุก 33 ปี 4 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 1, 3, 4 ตลอดชีวิต และเมื่อรวมโทษทุกกระทงของจำเลยที่ 2, 5 คงจำคุกคนละ 35 ปี 4 เดือน ริบของกลาง

 

ทั้งนี้ภายหลังนายคณากร ยิงตัวเองภายในห้องพิจารณาคดี ได้มีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา ตามข้อเรียกร้องของนายคณากร เพียรชนะ

จากปัญหาดังกล่าวพบว่า เมื่อปี 2548 นายศุภชัย ภู่งาม ประธานศาลฎีกา เคยมีคำสั่งศาลฎีภา ที่11/2548 เรื่องแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาผลกระทบ จากการปรับโครงสร้างและปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระบบศาลยุติธรรมและแนวทางแก้ไข โดยมีนายโสภณ รัตนากร เป็นประธานฯ

สำหรับ ผลการพิจารณาปัญหาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างและปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระบบศาลยุติธรรมและแนวทางแก้ไข มีรายละเอียดดังนี้

๑. ปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นและศาลอาญา

๑.๑  สภาพปัญหา

เดิมศาลยุติธรรมมีระบบการพิจารณาตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นและศาลชั้นสูง โดยการแต่งตั้งผู้พิพากษาระดับศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารศาลชั้นต้น และแต่งตั้งผู้พิพากษาระดับศาลฎีกาดำรงตำแหน่งผู้บริหารศาลชั้นอุทธรณ์ ทั้งนี้ เพื่อใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมานาน ช่วยเหลือ แนะนำ และตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลที่รับผิดชอบดูแลให้เป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรม และผู้บริหารศาลมีอำนาจตามกฎหมายที่จะตรวจสอบสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาได้ ทำให้คำพิพากษามีการตรวจสอบความถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังเป็นการถ่ายทอดความรู้จากผู้บริหารศาลที่มีประสบการณ์สูงไปสู้ผู้พิพากษารุ่นหลังอันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาคดีให้ถูกต้องเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

 

ต่อมาเมื่อมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๓๖ ซึ่งมีหลักการว่า ห้ามมิให้ผู้พิพากษาที่มิได้นั่งพิจาณาคดีลงชื่อในคำพิพากษาประกอบกับมีพระราชบัญญัติข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดขั้นและชั้นเงินเดือนผู้พิพากษาที่เป็นอุปสรรคต่อการแต่งตั้งให้ผู้พิพากษาในศาลชั้นสูงไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารในศาลชั้นต้นทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นขาดการตรวจสอบจากผู้บริหารที่มีประสบการณ์สูง และยังมีปัญหาการตีความเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมว่า ผู้บริหารศาลมีอำนาจตรวจสอบและให้คำแนะนำผู้พิพากษาเกี่ยวกับงานพิจารณาพิพากษาคดีได้หรือไม่ เมื่อระบบการตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีเปลี่ยนไปดังกล่าว ย่อมธรรมดาที่จะเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นลดลง ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เคยกล่าวแสดงความคิดเห็นไว้ว่าจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

นอกจากนั้น มีข้อมูลย้อนหลัง (ปี ๒๕๓๖-๒๕๔๗) พบว่า ในปี ๒๕๓๖ ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงร้อยละ ๒๐.๐๗ และพิพากษายืนร้อยละ ๖๕.๑๔ แต่ในปีต่อๆ มา มีอัตราการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปี ๒๕๔๗ ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นมากขึ้นถึงร้อยละ ๓๙.๖๐ พิพากษายืนเพียงร้อยละ ๔๒.๙๒ อีกทั้ง ยังมีข้อมูลว่า มีคดีที่ศาลชั้นอุทธรณ์ต้องสั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขข้อผิดพลาดอีกมาก รวมทั้งระบบการพิจารณาความดีความชอบยึดหลักอาวุโสค่อนข้างเคร่งครัดและกฎหมายที่กำหนดให้ผู้พิพากษามีเงินเดือนใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้พิพากษาขาดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้มีสถิติข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาชั้นศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาจำนวนมากไม่สามารถเรียงคำพิพากษาได้ถึงจำนวนที่กำหนดตามมาตรฐาน

๑.๒ สาเหตุแห่งปัญหา

ปัญหาประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เพราะเหตุที่กฎหมายกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและอธิบดีผู้พิพากษาภาค รวมทั้งรองอธิบดีฯ ต้องคัดเลือกมาจากผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นซึ่งมีประสบการณ์ใกล้เคียงกับผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นด้วยกัน และไม่ได้บัญญัติชัดเจนว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจในการตรวจสำนวนคดีได้หรือไม่ อักทั้งหากจะทำให้กระบวนการตรวจสอบสำนวนคดีในภาคมีความละเอียดรอบคอบ ก็ยากที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคจะดำเนินการได้ เนื่องมาจากตามกฎหมายปัจจุบันไม่มีตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคช่วยเหลือ นอกจากนี้ การที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและอธิบดีผู้พิพากษาภาคในทุก ๆ ปี เนื่องจากต้องเลื่อนตำแหน่งตามลำดับอาวุโสไปดำรงตำแหน่งในศาลชั้นอุทธรณ์ ทำให้การกำหนดแผนพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นและการนำแผนดังกล่าวมาปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากขาดความต่อเนื่องในการบริหารงาน สำหรับการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลในชั้นอุทธรณ์ก็ยากที่จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากจำนวนรองประธานศาลอุทธรณ์และรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคมีจำนวนน้อยไม่ได้สัดส่วนกับปริมาณคดีที่ต้องรับผิดชอบ

๑.๓ แนวทางการแก้ไขปัญหา

คณะกรรมการฯ จึงเห็นสมควรให้มีการแก้ไขพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๘, ๑๑, ๑๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๑ เพื่อจัดให้มีระบบการตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น โดยกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและอธิบดีผู้พิพากษาภาคต้องเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาและผ่านงานในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี และให้มีอำนาจตรวจสำนวนคดีประเภทต่าง ๆ ได้ตามระเบียบที่กำหนดไว้ และในการตรวจสำนวนให้มีการจัดทำบันทึกให้ความเห็นพร้อมเหตุผลประกอบการตรวจสำนวนทั้งเห็นควรกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคเพื่อช่วยอธิบดีผู้พิพากษาภาคในการตรวจสำนวนในภาคนั้น ๆ หรือให้เป็นผู้พิพากษาอาวุโสช่วยตรวจสำเนา ทั้งนี้ ควรคัดเลือกรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคจากผู้พิพากษาระดับศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคขึ้นไป และต้องปฏิบัติหน้าที่ระดับนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

๑. ปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชำนัญพิเศษ ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายในปัจจุบันทำให้ผู้พิพากษาในศาลชำนัญพิเศษไม่สามารถสร้างความชำนาญกฎหมายเฉพาะด้านได้ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ผู้พิพากษารวมทั้งอธิบดีผู้พิพากษาในศาลชำนัญพิเศษเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้เมื่อผู้พิพากษาในศาลชำนัญพิเศษอาวุโสจนถึงระดับผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ก็ต้องโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ต้องไปทำหน้าที่พิจารณาคดีทั่วไป

คณะกรรมการฯ เห็นควรมีการวางระบบเพื่อให้สามารถสร้างความชำนัญพิเศษแก่ ผู้พิพากษาในศาลชำนัญพิเศษ โดยเริ่มตั้งแต่การเลือก การอบรมและจัดให้ผู้พิพากษาเหล่านั้นสามารถเลื่อนตำแหน่งในศาลชำนัญพิเศษได้โดยไม่ต้องโยกย้ายไปศาลอื่น จนกระทั่งอาวุโสถึงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา จึงสามารถได้รับการพิจารณาให้ย้ายไปยังแผนกคดีพิเศษในศาลฎีกาได้ โดยให้แก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมพ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๓ ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคให้ได้รับเงินเดือนชั้น ๔ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น ให้ได้รับเงินเดือนชั้น ๓ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ให้ได้รับเงินเดือนชั้น ๒-๓ โดยให้เริ่มรับเงินเดือนในขั้นต่ำของชั้น ๒ เว้นแต่ผู้พิพากษาในศาลชำนัญพิเศษให้ได้รับเงินเดือนจนถึงชั้น ๔ ได้

๒. ปัญหาด้านบุคลากร อันเกิดจากการที่ผู้พิพากษาขาดความรู้ความเชียวชาญในการปฏิบัติงาน ระบบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งไม่สร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน การพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งใช้ระบบอาวุโสมากเกินไป โดยมิได้ให้ความสำคัญต่อข้อมูลประวัติการทำงานของผู้พิพากษาอย่างจริงจังทำให้ผู้พิพากษาขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ผู้พิพากษาในศาลชั้นสูงบางท่านอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ขาดการพัฒนาคุณภาพผู้พิพากษาอย่างเป็นระบบ แม้จะมีการจัดการอบรม แต่หัวข้อการอบรมหรือวิทยากรไม่สอดคล้องกับความต้องการในทางปฏิบัติ การจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการอบรมผู้พิพากษาในแต่ละหลักสูตรหลายชุด ทำให้การอบรมเกิดความซ้ำซ้อนและแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการอบรมไม่สอดคล้องกัน ผู้พิพากษาเกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในเรื่องการเลือกรูปแบบคำพิพากษา ซึ่งปัจจุบันมีหนังสือเกี่ยวกับรูปแบบคำพิพากษาอันเป็นผลจากการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางพัฒนารูปแบบการเขียนคำพิพากษา แต่ขาดคำแนะนำที่ชัดเจน จึงทำให้มีการเลือกรูปแบบคำพิพากษาตามอำเภอใจ เป็นผลให้คำพิพากษาไม่มีความชัดเจนและขาดเหตุผลจึงควรแก้ไขดังนี้

– ควรพัฒนาคุณภาพผู้พิพากษา โดยพัฒนาระบบการอบรมผู้พิพากษาทั้งระบบโดยให้ ก.ต. มีอำนาจดูแลในส่วนการพัฒนาบุคลากรในส่วนของตุลาการทั้งหมด และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการถาวรเพื่อพัฒนาและกำกับหลักสูตรการอบรมทุกหลักสูตรเพื่อให้มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกัน

– ก.ต ต้องให้ความสำคัญต่อข้อมูลประวัติการทำงานของผู้พิพากษาเพื่อใช้ในการประเมินความดีความชอบและพิจารณาตำแหน่งอย่างจริงจัง และกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาในทุกชั้นศาล กำหนดหลักเกณฑ์ในด้านผลงานของผู้พิพากษา โดยพิจารณาทั้งจากปริมาณและคุณภาพของคำพิพากษา ในศาลสูงควรกำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยในเรื่องความยากง่ายของสำนวนคดี ทำให้มีการกระจายงานเพื่อมิให้ตกหนักแก่ผู้พิพากษาท่านหนึ่งท่านใด

– ควรเสนอให้ประธานศาลฎีกาออกคำแนะนำในการเลือกรูปแบบคำพิพากษา ให้เหมาะสมแก่ประเภทคดีในทุกชั้นศาล

– ควรพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยในการทำงานของศาลให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคำพิพากษาและสถิติคดี นอกจากนี้ ควรกำหนดให้ศาลชั้นต้นส่งแผ่นดิสก์ที่บันทึกข้อมูลคำพิพากษามาให้ศาลสูงเพื่อประกอบการพิจารณา ในกรณีที่มีการอุทธรณ์-ฎีกาคดีนั้น ๆ มายังศาลสูง

– ควรพัฒนาระบบนิติกรในศาลสูง โดยคัดเลือกบุคคลที่มีคุณภาพและจัดการอบรมนิติกรในศาลชั้นสูงให้เป็นระบบ

อนึ่ง การสำรวจความคิดเห็นของผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ และตำรวจ จัดทำโดยคณะกรรมการฯ มีข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหา กล่าวคือ ผู้พิพากษาร้อยละ ๖๖.๓๐ อัยการร้อยละ ๘๘.๘๙ ตำรวจร้อยละ ๙๖.๒๕ และทนายความร้อยละ ๙๓.๑๐ เห็นว่า ควรให้ผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์สูงช่วยพัฒนาประสิทธิภาพ ในการพิจารณาพิพากษาคดีขององค์คณะในศาลชั้นต้น โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสำนวนและคำร่างคำพิพากษา แนะนำ และทักท้วงได้ อัยการร้อยละ ๘๘.๘๙ ตำรวจร้อยละ ๘๙.๗๖ ทนายความร้อยละ ๕๕.๑๕ เห็นว่า ควรให้อธิบดีและรองอธิบดีศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษา โดยอัยการร้อยละ ๖๗.๕๙ ตำรวจร้อยละ ๖๓.๑๔ ทนายความร้อยละ ๗๕.๓๓ เห็นว่า อธิบดีและรองอธิบดีผู้พิพากษาระดับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา และผู้พิพากษาส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๕.๗๙ อัยการร้อยละ ๙๓.๕๒ ตำรวจร้อยละ ๙๕.๒๒ ทนายความร้อยละ ๘๖.๖๐ เห็นตรงกันว่า ประสบการณ์ของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีที่มีจำนวนมาก ย่อมมีผลต่อการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ถูกต้องและเป็นธรรมได้ดีขึ้น อีกทั้งอัยการร้อยละ ๘๓.๓๓ ตำรวจร้อยละ ๘๙.๔๒ ทนายความร้อยละ ๗๙.๔๕  เห็นว่า ระดับความอาวุโสของอธิบดีและรองอธิบดีศาลชั้นต้นย่อมมีผลต่อความน่าเชื่อถือของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว นอกจากนั้นการกำหนดคุณสมบัติให้อธิบดีและรองอธิบดีศาลชั้นต้นต้องได้รับการแต่งตั้งจากผู้พิพากษาในศาลสูงจะทำให้การเลื่อนไหลของตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นไปสู่ระดับสูงได้เร็วขึ้น.