ครม.เห็นชอบร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน กำหนดให้รมว.ยธ.เป็นประธานกรรมการฯ-ให้ฐานความผิดเป็นคดีพิเศษ

ครม.เห็นชอบร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน กำหนดให้รมว.ยธ.เป็นประธานกรรมการฯ-ให้ฐานความผิดเป็นคดีพิเศษ

เมื่อวันอังคารที่ 23 มิ.ย.2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้พิจารณาในประเด็นความจำเป็นในการใช้ระบบคณะกรรมการ ตามหมวด 2 คณะกรรมการ ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

 

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้ กำหนดความผิดฐานกระทำทรมานและความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิดดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishing) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance) โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. กำหนดบทนิยาม “การทรมาน” “การกระทำให้บุคคลสูญหาย” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” “ผู้ได้รับความเสียหาย” และ “คณะกรรมการ”
  2. กำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง กำหนดให้สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายในกรณีกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นผู้เสียหายที่สามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีได้
  3. ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน และมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นเลขานุการ รวมทั้งสมาชิกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสิทธิมนุษยชน แพทย์ และด้านจิตวิทยา รวมทั้งสิ้น 19 คน โดยมีอำนาจหน้าที่เชิงนโยบายเพื่อวางแผนเกี่ยวกับการป้องกันและการเยียวยาการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย นอกจากนี้ได้กำหนดให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ
  4. กำหนดให้ทุกหน่วยงานที่มีการจำกัดเสรีภาพบุคคลต้องจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ กำหนดเกี่ยวกับเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ และกำหนดให้มีมาตรการระงับการทรมานและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น
  5. กำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเป็นหลัก ยกเว้นกรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนแทน และหากเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจตกเป็นผู้ต้องหา ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนแทน รวมทั้งกำหนดให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
  6. กำหนดระวางโทษความผิดฐานกระทำทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหาย กำหนดเหตุบรรเทาโทษ กำหนดความผิดฐานสมคบคิด และฐานผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด รวมทั้งกำหนดโทษแต่ผู้บังคับบัญชาที่ทราบการกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายของผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วไม่ดำเนินการป้องกันหรือระงับการกระทำความผิดนั้น

ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า เห็นควรดำเนินการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาเสร็จแล้วต่อไป โดยมีเหตุผลดังนี้

  1. ในทางปฏิบัติยังพบว่า มีกรณีการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย รวมถึงกรณีที่มีการร้องเรียนไปสังสหประชาชาติ โดยเฉพาะในประเด็น “การงดเว้นโทษ” (Impunity) ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยมุ่งเน้นให้มีการดำเนินการทั้งมาตรการป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) รวมทั้งลดช่องว่างของกฎหมายที่ส่งผลให้การบังคับใช้และการดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้กับประชาชน
  2. ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกันและการเยียวยากรณีการกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นการป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้การกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐลดลงหรือหมดไป ซึ่งจะช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรม และยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนมีหลักประกันการคุ้มครองสิทธิที่มีมาตรฐานตามหลักสากล สร้างความเชื่อมั่นด้านกระบวนการยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ลดการละเมิดสิทธิ อีกทั้งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสังคมโลกอีกด้วย โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงใช้งบประมาณและอัตรากำลังบุคลากรของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดำเนินการ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ดำเนินงานตามหน้าที่อยู่แล้ว เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้น
  3. ยธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ผ่านระบบกลาง www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ 4 – 31 ธันวาคม 2562 ผ่านเว็บไซต์ www.rlpd.go.th www.humanrightscenter.go.th และ facebook webpage ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระหว่างวันที่ 4 – 31 ธันวาคม 2562 รวมทั้งจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวใน 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการและผู้เสียหาย ในภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ภาคใต้ ณ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ภาคกลาง ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 และภาคตะวันตก ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 การประชุมของคณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 และการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ (เวทีสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงเทพมหานคร ยธ. ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งได้เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าวตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เรียบร้อยแล้ว

จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ

หมายเหตุ: ภาพประกอบ นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อคดีแพะที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราจีนบุรีซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพคดีวิ่งราวทอง