เพราะระบบสอบสวนคดีอาญาล้าหลัง อัยการ ผู้พิพากษา ประชาชน จึงรับกรรม  – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

เพราะระบบสอบสวนคดีอาญาล้าหลัง อัยการ ผู้พิพากษา ประชาชน จึงรับกรรม – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์
                       

                                   เพราะระบบสอบสวนคดีอาญาล้าหลัง        อัยการ ผู้พิพากษา ประชาชนจึงรับกรรม

 

                                                                                                           พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

กรณีผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายในบ้านพักส่วนตัวที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากถูกสั่งย้ายจากศาลจังหวัดยะลาให้ไปปฏิบัติราชการที่นั่นเมื่อห้าเดือนที่ผ่านมา

คงคลายข้อสงสัยของหลายคนเรื่องการยิงครั้งแรกที่กระทำในห้องพิจารณาของศาลจังหวัดยะลา ในประเด็นที่ว่ามีเจตนายิงตัวตายจริงหรือไม่?

เนื่องจากบางคนเข้าใจหลังเกิดเหตุครั้งแรกว่า อาจเป็นเพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือทำให้เป็นข่าวเท่านั้น

และประเด็นสำคัญ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่เป็นเพราะ ความเครียดเนื่องจากปัญหาส่วนตัว อย่างที่ตำรวจผู้ใหญ่ให้ข่าว มั่วตามความเคยชิน ในแทบทุกกรณีที่มีคนฆ่าตัวตาย เพื่อให้การปิดคดีทั้งตามกฎหมายและผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายสามารถกระทำได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของ ตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวน ศพแล้วศพเล่าแต่อย่างใด!

แต่เป็นเพราะผู้พิพากษาคณากรได้ ตั้งใจฆ่าตัวตายตั้งแต่ครั้งแรกแล้วต่างหาก

โดยมีความมุ่งหวังให้เป็นประเด็นเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่ง ปฏิรูป ระบบการพิพากษาคดีของศาลไทยในเรื่อง ความเป็นอิสระ ตาม ความคิดความเข้าใจ ของท่าน

ปมปัญหามาจากเรื่องที่บอกว่าถูกแทรกแซงในการเขียนคำพิพากษา ยกฟ้อง จำเลยห้าคนในคดีฆ่าคนตายห้าศพ

ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาได้มีบันทึกแสดงความเห็นแย้งไว้ตามกฎหมายว่า น่าจะลงโทษประหารชีวิต!

แต่ท่านก็ยังเห็นว่า พยานหลักฐานไม่สิ้นสงสัยในการพิสูจน์ความผิด ของจำเลยทั้งห้าแต่อย่างใด

จึงได้ พิพากษายกฟ้อง สอดคล้องหลักกฎหมายและ ป.วิ อาญา มาตรา 227 ถือว่า ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ไป ไม่ได้ปฏิบัติตามความเห็นและคำแนะนำนั้น

ซึ่งท่านก็ระบายความในใจว่า น่าจะส่งผลร้ายต่ออนาคตและชีวิตราชการของท่านอย่างแน่นอน

กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยนั้น แม้จะมีการปฏิรูปให้ทันสมัยแล้วในระดับหนึ่ง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่ได้มีการร่างและประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเวลาต่อมาเมื่อ .ศ.2478

แต่ในความเป็นจริง การปฏิบัติของผู้ใช้กฎหมายหลายฝ่ายได้มีความเข้าใจ ผิดเพี้ยน ไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายกันมากมาย ส่งผลเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมของชาติอย่างร้ายแรงยิ่ง

อย่างเช่นเรื่องการสอบสวนที่กำหนดไว้ในมาตรา 140 ว่า

เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวน เสร็จ คือได้รวบรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วน สิ้นกระแสความ แล้ว

ก็มีหน้าที่สรุปสำนวนเสนอให้พนักงานอัยการพิจารณาต่อไป

อาจจะเป็นการเสนอให้ “สั่งฟ้อง” หรือ “สั่งไม่ฟ้อง”  แม้กระทั่ง งดสอบสวน ในกรณีที่ไม่รู้ว่าผู้กระทำผิดเป็นใคร และได้สืบสวนสอบสวน อย่างจริงจัง มานานตามสมควรแล้ว

และตามมาตรา 143 เมื่ออัยการได้รับสำนวนการสอบสวน แล้ว ก็มีหน้าที่

(1)ในกรณีมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งผู้ต้องหามาเพื่อฟ้อง

(2) ในกรณีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ออกคำสั่งฟ้อง และฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล

นอกจากนั้น ก็มีอำนาจ (ก) สั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถามได้

ปัญหาสำคัญที่เป็น จุดดับ ของกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยตลอดมาก็คือ

อัยการไทยได้ถูกกำหนดให้มีบทบาทเพียงตรวจพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ตำรวจ หรือฝ่ายใด ส่งไปให้ดู หลังการสอบสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เท่านั้น

ทำให้ ไม่มีโอกาสได้เห็นหรือรับรู้พยานหลักฐานในความเป็นจริงทั้งหมด ว่า พนักงานสอบสวนได้รวบรวมอย่างครบถ้วนหรือสุดความสามารถแล้วหรือไม่?

ต่างจากอัยการในประเทศที่เจริญทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง!

อีกทั้งเมื่อตำรวจซึ่งเป็นผู้มีอำนาจและผูกขาดการสอบสวนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แต่ เพียงฝ่ายเดียว ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยตัดอำนาจของฝ่ายปกครองผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอออกไปตั้งแต่ ยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2506 โดย จอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยเอาไว้

และถือ หลักการโบราณ เหมือนหลายร้อยปีที่ผ่านมาว่า คดีมีพยานหลักฐาน พอฟ้อง ก็เสนอให้อัยการสั่งฟ้องไป?

นั่นหมายถึงว่า แม้การสอบสวนมีข้อสงสัยว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริงหรือไม่ ก็ให้เสนอฟ้อง ส่วนจะถึงขั้นสามารถพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้ในที่สุดหรือไม่ ถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ

รวมทั้งอาจารย์และนักกฎหมายหลายฝ่ายก็เข้าใจผิดคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของอัยการด้วย!

ในความเป็นจริงปัจจุบัน หากตำรวจเสนอให้อัยการสั่งฟ้องแล้ว หากอัยการเห็นต่างและ สั่งไม่ฟ้อง โดย ยึดหลักที่สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมสากลและเจตนารมณ์ของ ป.วิ อาญาว่า พยานหลักฐานยังไม่สิ้นสงสัย

อัยการคนนั้นจะถูกมองว่า เป็นผู้มีปัญหาในการสั่งคดี  หรืออาจมีพฤติการณ์ทุจริตรับวิ่งเต้นช่วยผู้กระทำผิดไม่ให้ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย?

ส่วนใหญ่จึงถือหลัก หากคดีมีข้อสงสัยก็ สั่งฟ้องไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัยของตนเองเป็นสำคัญ!

เคราะห์กรรมจึงตกกับประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ถูกตำรวจ ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือ เสนอให้ศาลออกหมายจับ กันง่ายๆ

ไร้การตรวจสอบพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการว่า เมื่อจับตัวประชาชนคนใดมาแล้ว ในที่สุดจะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้หรือไม่?                   

คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงมีทั่วประเทศมากมายไม่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เรียกกันว่า แพะ

ทางออกต่อปัญหานี้ของรัฐไทยสำหรับ แพะ ที่ถูกคุมขังไม่ว่าในชั้นใดก็คือ สามารถไปยื่นคำร้องขอรับเงิน ค่าติดคุก จากกระทรวงยุติธรรม วันละ 500 บาท ได้

ส่วนผู้เสียหายเช่น ญาติพี่น้องของคนถูกฆ่าตาย  นอกจากได้เงินเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรมจำนวน 100,000 บาทแล้ว

ก็มีคำพูดปลอบประโลมใจว่า คดียังไม่ถึงที่สุด! ยังมีพึ่งอีกถึงสองศาล คือศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา?

แต่ว่าในความเป็นจริง เมื่อการพิจารณาในศาลชั้นต้น  พยานหลักฐานมีข้อสงสัย แล้วชั้นอุทธรณ์หรือแม้กระทั่งฎีกา อัยการจะนำหลักฐานอะไรไปแสดงต่อศาลให้พิพากษา ลงโทษด้วยความมั่นใจ ได้?

รวมทั้งที่พิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดไปแล้ว ก็มีผู้ร่ำไห้ว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด และพยายามรวบรวมพยานหลักฐานขอให้มีการนำคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ก็มีอยู่มากมาย!

 คณากร เพียรชนะ

กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยจึงมีปัญหาที่ต้องได้รับการปฏิรูป

อัยการต้องไม่ถูกกำหนดบทบาทให้มีเพียง อ่านหรือตรวจสำนวนการสอบสวน เท่านั้น ซึ่งหลายคดีเป็น  นิยายสอบสวน หรือแม้กระทั่ง นวนิยาย ก็มี!

แต่ก็ไม่มีอำนาจในการค้นหาความจริงหรือรวบรวมพยานหลักฐานอะไรนอกเหนือจากที่ตำรวจรวบรวมไว้และส่งไปให้อ่านหรือดูได้!

ตำรวจสอบบันทึกปากคำใครรวมส่งมาให้แค่ไหน  อัยการไทยก็เห็นแค่นั้น!

อ่านแล้วแม้สงสัยและไม่มั่นใจว่าจะสามารถพิสูจน์ให้ศาลพิพากษาลงโทษได้

ก็จำเป็นต้องสั่งฟ้องไป โดยเฉพาะคดีใหญ่ๆ ที่เป็นเหตุอุกฉกรรจ์ การ “สั่งฟ้อง” เป็นเรื่องที่คิดง่ายกว่า การสั่งไม่ฟ้อง ที่ต้องมีอธิบายต่อหลายฝ่ายแม้กระทั่งอัยการสูงสุดเมื่อ ตำรวจทำความเห็นแย้ง ไปมากมาย

เคราะห์กรรมจึงตกกับผู้พิพากษาและประชาชนตลอดมา 

จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งที่พยานหลักฐานไม่สิ้นสงสัย ก็ขัดต่อหลักกฎหมายและมโนธรรมสำนึกในความเป็นผู้พิพากษาที่ดี

การสั่งไม่ฟ้องทั้งของอัยการและการพิพากษายกฟ้องของศาลไทยในคดีที่พยานหลักฐานไม่สิ้นสงสัย จึงต้องอาศัย ความกล้าหาญทางจริยธรรม เป็นอย่างมาก

เพราะเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง กรรมก็ตกกับประชาชนที่เป็นผู้เสียหายอย่างร้ายแรง

เนื่องจากรัฐบาลและทุกฝ่าย ไร้คำตอบ ว่าใครคือฆาตกรที่ฆ่าหรือทำร้ายพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของเขา.

คณากร เพียรชนะ

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 9 มี.ค. 2563