พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองยื่น’มีชัย’ขวางร่างพรบ.สอบสวนคดีอาญา พิลึก!ให้ฝ่ายปกครองส่งพยานหลักฐานให้ตำรวจชี้ขาดโวยจำกัดช่องทางถ่วงดุลขัดรธน.-ป.วิอาญา

พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองยื่น’มีชัย’ขวางร่างพรบ.สอบสวนคดีอาญา พิลึก!ให้ฝ่ายปกครองส่งพยานหลักฐานให้ตำรวจชี้ขาดโวยจำกัดช่องทางถ่วงดุลขัดรธน.-ป.วิอาญา

เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2563 ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์ ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ได้ทำหนังสือเสนอความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …ถึง ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ….ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ มีเนื้อหาดังนี้

ด้วยชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ได้ติดตามข่าวสารทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ทราบว่า ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. เสร็จแล้ว โดยอยู่ระหว่างการเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2563

 

ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นข้าราชการฝ่ายปกครองที่มีความรู้ ความเข้าใจ และเคยปฏิบัติหน้าที่ในด้านการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน โดยเฉพาะภารกิจในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว รู้สึกมีความกังวลใจและใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านคณะกรรมการฯ ได้โปรดพิจารณาความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

ประเด็นที่1 หลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ….

เหตุผลในบันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. มีใจความสำคัญว่า “โดยที่มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านกระบวนการยุติธรรมให้เกิดผล โดยปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจน เพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา และเพื่อให้ระบบการสอบสวนคดีอาญาสามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สมควรให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญาของข้าราชการตำรวจ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานสอบสวนระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง และยกระดับการให้ บริการแก่ประชาชนที่ดีและมีมาตรฐาน”

ดังนั้น หลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงมีเป้าหมายสำคัญ 5 ประการ คือ

1.1 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

1.2 เพื่อให้ระบบการสอบสวนคดีอาญาสามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

1.3 เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานสอบสวนร่วมกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง

1.4 เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนที่ดีและมีมาตรฐาน

1.5 เพื่อให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญาของข้าราชการตำรวจ

ซึ่งชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง มีความเห็นว่า จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (2) มิได้เจาะจงว่าต้องเป็นพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ให้อำนาจทั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองทำการสอบสวนคดีอาญาได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18) อีกทั้งระบบการสอบสวนคดีอาญาที่จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการพัฒนาระบบการบริหารงานสอบสวนร่วมกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องนั้น ยังมีพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองที่สามารถอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน แต่จากเนื้อหาภายในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดเพียงอำนาจสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการตำรวจเท่านั้น โดยมีสาระสำคัญในหลายมาตราเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งในส่วนที่เป็นผลดีต่อประชาชน ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมีความเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ในส่วนที่มีผลต่อการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนในอำนาจหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครอง เห็นว่า ไม่สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น

(1) มาตรา 10 วรรคหก แห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ ที่ได้รับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาในเรื่องใด ให้มีหน้าที่ส่งข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานนั้นให้แก่พนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้หมายถึง พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเท่านั้น ดังนั้น เสมือนหนึ่งว่าถ้าพนักงานฝ่ายปกครองพบการกระทำความผิดอาญาในเรื่องใด แทนที่จะสามารถทำการสอบสวนคดีอาญาตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 18 กลับต้องส่งข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานนั้นให้แก่พนักงานสอบสวน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการใช้อำนาจสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจกับพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน

(2) มาตรา 23 แห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่ง ไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์หรือไม่ฎีกาฯ และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอัยการสูงสุด ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งให้ผู้บังคับการสอบสวนพิจารณาฯ ทั้งที่ในอดีตการตรวจสอบถ่วงดุลคำสั่งไม่ฟ้องในลักษณะนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีและมีความเป็นกลางที่จะให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งกฎหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดดำเนินการ แต่หลักการในส่วนนี้ก็จะยิ่งส่งผลให้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจในลักษณะนี้อีกต่อไป เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในเชิงโครงสร้างของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ขัดกับหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 ที่รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร ฯลฯ

นอกจากนี้ คำว่า “กฎหมายกลาง” ย่อมหมายความว่าเป็นกฎหมายที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีอาญาจักต้องนำมาใช้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในกระบวนการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งปัจจุบันการสอบสวนคดีอาญาถือหลักการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีทั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่มีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงควรรวมทุกหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญา จึงจะเป็นกฎหมายกลางที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยแท้จริง

 

ประเด็นที่2 ผู้มีอำนาจวินิจฉัยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (มาตรา 8 )

2.1 ในอดีต หากมีกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นมีอำนาจชี้ขาด (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 21)

2.2 ต่อมาในปัจจุบัน สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 21/1 เพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557)

จากข้อ 2.1 และข้อ 2.2 นั้นหมายความว่า ปัจจุบันสำหรับคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้บัญชาการเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาด ในส่วนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานฝ่ายปกครองหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นๆ ที่มีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา ผู้ว่าราชการจังหวัดยังคงเป็นผู้ที่มีอำนาจชี้ขาด

แต่จากเนื้อหาที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 แห่งร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. จะเห็นได้ว่า แม้ว่าคดีนั้นจะอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายตำรวจหรือฝ่ายปกครอง ผู้บังคับการสอบสวนมีอำนาจสั่งการ/ชี้ขาด ตั้งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ ซึ่งเท่ากับว่าบทบัญญัติในส่วนนี้ขัดกับหลักการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดไว้

 

ประเด็นที่3 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ ฯลฯ ส่งข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานกรณีพบการกระทำความผิดอาญาให้แก่พนักงานสอบสวน (มาตรา 10 วรรคหก)

มาตรา 10 วรรคหก แห่งร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. กำหนดให้ “ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ ฯลฯ ได้รับข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาในเรื่องใด ให้มีหน้าที่ส่งข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานนั้นให้แก่พนักงานสอบสวน และให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนนั้นที่จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานนั้นประกอบการสอบสวนและรวมหลักฐานการส่งข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย”

ซึ่งในประเด็นนี้ ทางชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง มีความกังวลใจว่า จะทำให้เกิดปัญหาอุปสรรค โดยทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอไม่สามารถใช้อำนาจสอบสวนคดีอาญา เพื่ออำนวยความเป็นธรรมในคดีให้กับประชาชน จึงเป็นการขัดกับมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้อำนาจพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้

นอกจากนี้ ยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 ที่วางหลักการสำคัญไว้ว่า “รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และ ไม่เลือกปฏิบัติและให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ โดยสะดวก รวดเร็ว ฯลฯ” ซึ่งการสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ เป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐมีหลักประกันในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนในชั้นสอบสวน

ดังนั้น หากบทบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ จะทำให้เกิดการตีความสับสนกันในภายหลังว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ จะต้องปฏิบัติเช่นไรระหว่างทำการสอบสวนคดีอาญาตามอำนาจหน้าที่ หรือเพียงแค่ต้องส่งข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานนั้นไปให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลถึงหลักประกันในการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนอย่างชัดเจน

 

ประเด็นที่4 การให้พนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวน (มาตรา 16)

มาตรา 16 แห่งร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. กำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจไปเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนเฉพาะคดีดังต่อไปนี้

(1) คดีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น

(2) คดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

(3) คดีอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ดังนั้น การกำหนดประเภทคดีเช่นนี้จะไม่ตอบสนองการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เพราะเป็นการจำกัดช่องทางการตรวจสอบถ่วงดุลคดีประเภทอื่นที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษที่น้อยกว่าก็ตาม

จึงเห็นควรนำหลักการของคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมาย และระบบการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ได้มีข้อเสนอเรื่อง “การให้พนักงานอัยการมีอำนาจร่วมสอบสวนคดีอาญา” มากำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนมากกว่า โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

กระบวนการ “สืบสวน”และ “สอบสวน” เป็นภารกิจที่ต้องสอดประสานดำเนินการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา จึงควรให้มีการพัฒนาปรับปรุงระบบงานให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 ง. (2), (4) โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานอัยการมีอำนาจร่วมสอบสวนคดีอาญา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 การสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ ให้พนักงานอัยการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ระดับ ดังต่อไปนี้

(1) เข้าร่วมในการถามปากคำพยาน ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวน

(2) เข้าร่วมการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน หรือ

(3) เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

ส่วนที่ 2 คดีที่ต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาให้มีการสอบสวนร่วมระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ได้แก่

(1) คดีความผิดทางอาญาที่บุคคลซึ่งเป็นหรือเคยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา

(2) คดีความผิดทางอาญาที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือผู้มีส่วนได้เสียได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการฯ ว่าพนักงานสอบสวนไม่รับดำเนินคดีหรือการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่มีความเป็นธรรม

(3) คดีความผิดทางอาญาที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าเพื่อประสิทธิภาพในการปราบปราบการกระทำความผิด และ

(4) คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาให้มีการสอบสวนร่วมระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ประกอบด้วย

  1. ในจังหวัดหนึ่ง กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือ ผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธาน และมีกรรมการซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 3 คน
  2. ในกรุงเทพมหานคร ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย เป็นประธาน และมีกรรมการซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งไม่เกิน 3 คน

ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งข้าราชการของที่ทำการปกครองจังหวัดหรือข้าราชการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง แล้วแต่กรณี หนึ่งคนเป็นเลขานุการหรือเป็นผู้ช่วยเลขานุการด้วยก็ได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหลักการดังกล่าวข้างต้น มีความเหมาะสมที่จะช่วยให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานอัยการกับพนักงานสอบสวนได้มากกว่า ทั้งจะเป็นการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

 

ประเด็นที่5 การทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้อง (มาตรา 23)

มาตรา 23 แห่งร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. บัญญัติไว้ดังนี้

– วรรคแรก “ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอัยการสูงสุด ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งให้ผู้บังคับการสอบสวนพิจารณา ฯลฯ”

– วรรคสอง “ในกรณีตามวรรคหนึ่งสำหรับกรุงเทพมหานคร ให้อำนาจของผู้บังคับการสอบสวนในการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการสอบสวน ฯลฯ”

– วรรคสาม “ในกรณีตามวรรคหนึ่งสำหรับจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ถ้าผู้บังคับการสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ อำนาจของผู้บังคับการสอบสวนในการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้เป็นอำนาจของผู้บัญชาการสอบสวน ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งสูงกว่าผู้บังคับการสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อำนาจของผู้บังคับการตามวรรคหนึ่งเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ”

– วรรคสี่ “ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน มาใช้บังคับกับการแย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์หรือไม่ฎีกา และการถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์หรือถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม ฯลฯ

– วรรคห้า “พนักงานสอบสวนซึ่งดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจทำความเห็นแย้งตามมาตรานี้ จะมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ทำความเห็นแย้งแทนก็ได้ ฯลฯ”

ในประเด็นนี้ แต่เดิมอำนาจการทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดมาโดยตลอด ตามหลักการ “ถ่วงดุลสามฝ่าย” แต่ปัจจุบันหลักการดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนไป ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 โดยเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา มาตรา 145/1 ให้เป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคหลายประการ เช่น

  1. ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมในคดีอาญาให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งขัดกับหลักการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด รวมถึงการถ่วงดุลอำนาจที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมของประชาชน
  2. การให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นการรวมศูนย์อำนาจเพียง 9 ภาค ซึ่งเดิมเคยแบ่งมอบอำนาจให้จังหวัด เพื่อให้จังหวัดดูแลความเป็นธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่
  3. ขัดกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมของรัฐบาล ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 96/2557 และการนำภารกิจของรัฐไปปฏิบัติในเขตอำนาจของจังหวัดที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้รวดเร็วในระดับพื้นที่จังหวัด โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 (เดิม) กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจทำความเห็นแย้งคดีที่พนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ ถอนฎีกา

นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัด ยังมีอำนาจทำความเห็นแย้งคดีที่พนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ ถอนฎีกา ในคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงและศาลเยาวชนและครอบครัว หากร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. มาตรา 23 นี้ มีผลใช้บังคับ จะส่งผลให้อำนาจทำความเห็นแย้งของผู้ว่าราชการจังหวัดข้างต้นสิ้นสุดลงทันที

ซึ่งมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านกระบวนการยุติธรรมให้เกิดผลโดยปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสมและสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนรวมถึงในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น หากร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. มาตรา 23 มีผลใช้บังคับจะส่งผลเสียต่อระบบถ่วงดุลอำนาจในการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งแต่เดิมเมื่อพนักงานอัยการหรือตำรวจค้านในสำนวนคดีเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะเข้าไปเป็นคนกลางในการค้านหรือไม่ค้านได้ แต่เมื่อตัดอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดออกไป จะเกิดความเสียหายต่อสมดุลระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครอง ทั้งบทบัญญัติในมาตรานี้จะส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมในคดีอาญาให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อีก ซึ่งขัดต่อหลักการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด รวมถึงการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมอีกด้วย

 

โดยสรุป คือ ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง เห็นว่าโดยภาพรวมแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นทั้งกฎหมายหลักและกฎหมายกลางโดยแท้จริง หากเนื้อหาสาระสำคัญใดในร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. …. มีประโยชน์ต่อประชาชน ก็ควรจักนำไปเพิ่มเติมแก้ไขไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือจะออกเป็นกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจักเหมาะสมกว่า ไม่จำต้องออกเป็นร่างพระราชบัญญัติแยกต่างหากจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้เกิดความซ้ำซ้อนในทางกฎหมายอีกต่อไป

 

ทั้งนี้ ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ขอขอบพระคุณที่ท่านและคณะกรรมการฯกรุณารับฟังความคิดเห็น และทางชมรมฯ ยินดีที่จะสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภารกิจในด้านการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาของพนักงานฝ่ายปกครองโดยละเอียดต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

ขอแสดงความนับถือ

(ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์)

ประธานชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง

 

ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง

โทร/โทรสาร ๐-๒๓๕๖-๙๕๕๔