สมคิด พุ่มพวง ฆ่าคน 6 ศพได้เพราะระบบตำรวจไทยมีปัญหาร้ายแรง –  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

สมคิด พุ่มพวง ฆ่าคน 6 ศพได้เพราะระบบตำรวจไทยมีปัญหาร้ายแรง –  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร


ยุติธรรมวิวัฒน์

    กรณี นายสมคิด พุ่มพวง ก่ออาชญากรรมซ้ำซาก  ฆ่าคนตายได้ถึง 5 ศพภายในระยะเวลาหนึ่งปี แต่กลับได้รับโทษจำคุกจริงเพียง 14 ปี ทำให้มีโอกาสฆ่าเป็นศพที่ 6 อีกนั้น

ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากประชาชนมากมายพร้อมทั้งคำถามว่า เหตุใดการก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่ผ่านมาเขาจึงไม่ถูกลงโทษสาสมกับความผิด

ฆ่าคนตายหลายศพขนาดนี้ ทำไมจึงไม่ถูกประหารชีวิตให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป สังคมจะได้ปลอดภัย!

รายแรก ที่เขาฆ่า เมื่อ 30 ม.ค.48 น.ส.วารุณี พิมพะบุตร นักร้องคาเฟ่ ถูกจับมัดและกดน้ำตายในห้องพักโรงแรมเขตอำเภอเมืองมุกดาหาร และหลบหนีไป

เป็นคดีที่มีการสืบสอบจนรู้ตัวผู้กระทำผิด และ ศาลได้ออกหมายจับไว้ ใช้เวลาไม่นาน 

แต่ก็ไม่ได้ถูกจับ หรือ มีตำรวจหน่วยใดติดตามจับตัวอย่างต่อเนื่องและจริงจัง แต่อย่างใด?

อาจเป็นเพราะผู้ตายเป็นเพียงนักร้องคาเฟ่!

ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยเป็นลูกหลานหรือญาติพี่น้องของคนมีเงินมีอำนาจที่จะทำให้ตำรวจทุกหน่วยตั้งแต่สถานี กองบังคับการ กองบัญชาการ รวมไปถึงตำรวจกองปราบ สอบสวนกลาง ผบ.ตร. รองฯ และผู้ช่วยต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย  ต้องกระวีกระวาดควบคุมให้ผู้รับผิดชอบทุกระดับตามจับตัวมาให้ได้เหมือนหลายคดีที่มีการสั่งการจากนายกรัฐมนตรี

เมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือน

เขาจึง มีโอกาส ฆ่าคนเป็น รายที่สอง ทำซ้ำจนเกิดความชำนาญ

ในวันที่ 4 มิ.ย.48 น.ส.ผ่องพรรณ ทรัพย์ชัย หมอนวดแผนโบราณ ถูกบีบคอตายในโรงแรม อ.เมือง จ.ลำปาง

ต่อมาเพียง 7 วันหลังจากนั้น วันที่ 11 มิ.ย.48 เขาก็ฆ่าอีก 1 ศพ คือนางพัชรีย์ อมตนิรันดร์ นักร้องคาเฟ่ ถูกรัดคอด้วยสายไฟในห้องพักโรงแรมเขต อ.เมือง จ.ตรัง  เป็น รายที่สาม

และถัดมาอีกเพียง 7 วันเช่นกัน วันที่ 18 มิ.ย.48 ก็ได้ฆ่า น.ส.พรตะวัน ปังคะบุตร หมอนวดแผนโบราณ ถูกจับกดน้ำตายเป็น รายที่ 4ในห้องพักโรงแรมเขต อ.เมือง จ.อุดรธานี

3 วันต่อมา 21 มิ.ย.48 ก็ฆ่า น.ส.สมปอง พิมพรภิรมย์ หมดนวดแผนโบราณ เป็น รายที่ 5ในห้องพักแมนชั่นเขต อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

การก่ออาชญากรรมคดีนี้ ทำให้นายสมคิดถูกจับตัวได้

นำไปสู่การเชื่อมโยงกับคดีที่ 1-4 ส่งให้อัยการฟ้องศาลลงโทษ

นายสมคิดรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล  เป็นเหตุให้ได้รับการลดโทษจากประหารชีวิตเป็น จำคุกตลอดชีวิต ในชั้นฎีกา

เป็นหลักการลดโทษที่ทุกศาลยึดถือกันตลอดมา

เนื่องจากการรับสารภาพของจำเลยทุกคน เป็นประโยชน์ต่อศาลในการ พิพากษาลงโทษด้วยความมั่นใจ ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงอย่างแน่แท้

แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละศาล อาจวินิจฉัยแตกต่างกันได้

อย่างไรก็ตาม หากสมคิดไม่รับสารภาพทั้งห้าคดี ศาลก็คงมีคำพิพากษาประหารชีวิตไปแล้ว เนื่องจากไม่มีเหตุที่จะลดโทษใดๆ

ส่วนจะประหารจริงนำไปฉีดยาพิษให้ตายแบบ นายมิก หลงจิ ที่ปฏิเสธยันชั้นฎีกา ซึ่งปัจจุบันยังมีเงื่อนงำว่า เป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่?

ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐเกี่ยวกับบังคับโทษประหารที่ยังมีอยู่ในกฎหมายไทย

และมีผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตในความผิดต่างๆ รอการประหารจริง อยู่อีกประมาณ 200 คน

ผู้ต้องคำพิพากษาประหารชีวิต ตราบใดที่ยังอยู่ในขั้นตอนขอพระราชทานอภัยโทษ กรมราชทัณฑ์ก็ยังไม่นำตัวไปประหาร

หลักการลดโทษผู้ต้องขังเป็นเรื่องที่เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด

ไม่ใช่กระทำกันตามอำเภอใจของใคร แม้แต่อธิบดีกรมราชทัณฑ์

จำเลยทุกคนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าจะตลอดชีวิตหรือกี่ปี ล้วนมีสิทธิได้รับการลดโทษตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดนั้นด้วยกันทั้งสิ้น

และหลักในการพิจารณาลดโทษก็ใช้ข้อมูลความประพฤติของผู้ต้องโทษขณะอยู่ในเรือนจำเป็นสำคัญ

ไม่ได้เน้นเรื่องพฤติกรรมอาชญากรรมในอดีตว่าโหดร้ายหรือไม่ สร้างความเสียหายต่อบุคคลและสังคมมากน้อยเพียงใด

ทุกคนที่ ประพฤติตัวอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามระเบียบ เชื่อฟังผู้คุม ไม่สร้างปัญหาหรือก่อเหตุร้ายใดๆ ก็มีสิทธิได้รับการลดโทษด้วยกันทุกคน

โดยปกติผู้ต้องขังที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต  ถ้าถูกจัดว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี จะได้รับการลดโทษในโอกาสต่างๆ หลายครั้ง ส่วนใหญ่ในที่สุดจะถูกจำคุกจริงเฉลี่ย 14-15 ปี

ถือว่าเป็นระยะเวลาที่ถูกจำกัดอิสรภาพมากพอที่จะทำให้ความคิดและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะด้วย วัยที่ร่วงโรยไปตามกาล รวมทั้ง สิ่งแวดล้อม ที่เป็นสาเหตุให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในอดีต

ฉะนั้น การที่สมคิดถูกศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต  แต่ติดคุกจริง 14 ปี เนื่องจากเป็นนักโทษชั้นดี ได้รับการลดโทษปล่อยตัวจากเรือนจำตามกฎหมายและระเบียบราชการ

จึงไม่ใช่ความผิดหรือความบกพร่องของใคร และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ไม่จำเป็นต้องออกมาพูดขอโทษประชาชนให้เกิดความงุนงงแต่อย่างใด?

ถ้าสังคมไทยคิดว่า อาชญากรที่ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ไม่ควรได้รับการลดโทษใดๆ ควรนำไปประหารจริง หรือให้คุมขังไว้เรือนจำจนกว่าจะสิ้นใจตาย

ก็ต้องแก้ไขกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการลดโทษเสียก่อน

กำหนดเพิ่มว่าคดีอาญาร้ายแรงประเภทใดจะไม่มีการลดโทษให้ใครไม่ว่าจะประพฤติตัวดีแค่ไหนแม้แต่วันเดียวไม่ว่าในกรณีใดๆ!

หรือกำหนดว่าคดีมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ต้องติดคุกจริง ไม่ต่ำกว่า 30 ปี ก็ว่าไป

นักโทษทั้งหญิงชายไม่ว่าจะแก่เฒ่าอายุ 90 หรือเจ็บป่วยใกล้ตายแค่ไหน ก็ไม่มีการลดโทษให้หรือ “พักโทษ” อย่างเด็ดขาด

แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งก็คือ นอกจากจะมีนักโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมากขึ้นแล้ว การควบคุมก็จะกระทำได้ยากอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าใครจะทำดีหรือทำชั่วแค่ไหนก็ต้องถูกจำคุกตามระยะเวลาของคำพิพากษาไม่ต่างกัน

การที่ศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิตแล้วรัฐไม่ได้นำตัวไปประหารจริง หรือคดีมีโทษถึงประหารแต่จำเลยรับสารภาพแล้วศาลลดเป็นจำคุกตลอดชีวิต รวมทั้งการลดโทษและพักการลงโทษด้วยความสุจริตตามหลักเกณฑ์ที่ราชการกำหนด

ไม่ใช่เรื่องมีปัญหาเลวร้ายที่ต้องแก้ไขหรือปฏิรูปอะไรอย่างที่หลายคนแม้กระทั่ง รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรมเข้าใจ?

ถ้าสมคิดก่อคดีแรกแล้วถูกตำรวจผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทุกหน่วยขวนขวายสืบจับตัวนำมาส่งให้อัยการฟ้องศาลให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตได้ เขาจะไม่มีโอกาสฆ่าคนเป็นรายที่สอง สาม สี่ และห้า อย่างแน่นอน

หรือแม้แต่ก่อคดีที่ห้า ได้รับโทษจำคุกจริง 14 ปี แล้วปล่อยตัวมา ถ้า ระบบติดตามบุคคลพ้นโทษ ของตำรวจแห่งชาติมีประสิทธิภาพอย่างที่ตำรวจผู้ใหญ่หลายคนคุยโขมงโฉงเฉงต่อสื่อจริง

 สมคิด พุ่มพวง

ผู้เคยก่ออาชญากรรมสำคัญพ้นโทษออกมา มีบ้านพักอยู่หรือไม่ หรือไปพักอาศัยกับใคร ที่ใด ประกอบอาชีพอะไรแล้วหรือยัง คบสมาคมกับบุคคลหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดเช่นเดิมหรือไม่?

ถ้าหัวหน้าตำรวจจังหวัดและหัวหน้าสถานีตำรวจประเทศไทย ไม่ต้องวิ่งเต้นเลื่อนตำแหน่งหรือแม้กระทั่งซื้อขาย แต่ละคนถูกย้ายไปย้ายมาอยู่กันแต่ละที่เพียงปีสองปี ในสมองมีแต่เรื่องการหาเงิน เก็บส่วยถอนทุน และสร้างความร่ำรวยให้ครอบครัวรวมทั้งส่งเจ้านาย หลายระดับ    

ไม่มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ว่าฯ นายอำเภอและปลัดอำเภอฝ่ายปกครอง

 ไม่เข้าร่วมประชุมกับกรมการจังหวัด อำเภอ แม้กระทั่งการประชุมกำนันและผู้ใหญ่บ้านทุกเดือน ส่วนใหญ่ไม่รู้จักแม้แต่ชื่อกำนันและผู้ใหญ่บ้านเช่นทุกวันนี้!

ข้อมูลปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ รวมทั้งระเบียบและคำสั่งต่างๆ ที่กำหนดไว้ ก็จะมีแต่ จ่าดาบ ที่อยู่ในพื้นที่นานหลายสิบปี แต่ไม่มีอำนาจอะไร

 เป็นผู้แบกรับภาระในการปฏิบัติ และ “นั่งเทียน” เขียนรายงานเสนอตามลำดับชั้นหลอกผู้บังคับบัญชากันไปวันๆ เท่านั้น!.

 สมคิด พุ่มพวง
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 23 ธ.ค. 2562