ไม่มีตำรวจภาค ไม่มีบ่อน! – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ไม่มีตำรวจภาค ไม่มีบ่อน! – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

ประชาชนคนไทยในเวลานี้  นอกจากส่วนใหญ่จะมีปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง  แต่ละคนล้วนชักหน้าไม่ถึงหลัง  เงินออมที่พอมีอยู่บ้าง  กำลังจะหมดลงในไม่ช้า

สำหรับบางคนบางครอบครัว  เหมือนการนับเวลาถอยหลัง!

ผู้คน โดยเฉพาะคนยากจน  ต่างอยู่ในสภาพท้อแท้และสิ้นหวังต่อระบบการปกครองและสถานการณ์ของบ้านเมือง  มองไม่เห็นอนาคตว่าจะเดินไปทางไหน  หรือรอรัฐบาลชุดใด?

เนื่องจากปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ได้ออกแบบโครงสร้างการปกครองประเทศไว้อย่าง พิลึกพิลั่น  ผู้มีอำนาจอ้างกันแต่ว่ามีความจำเป็น  ยังปล่อยให้สังคมเป็นประชาธิปไตยเหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลกไม่ได้

ขอต่อเวลาไปอีกเพียงห้าปี!

ระหว่างนี้จำเป็นต้องมี “วุฒิสมาชิกแต่งตั้ง” 200 คน  ผู้ไม่ได้มีที่มาประชาชนร่วมออกเสียงลงคะแนนกับผู้แทนราษฎร 500 คน  ในการเลือกบุคคลผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบบริหารบ้านเมือง

รวมไปถึงการผ่านกฎหมายใดๆ ที่จะมีผลเป็นการปฏิรูปประเทศในทุกด้านด้วย!

ก่อให้เกิดปัญหา รัฐธรรมนูญและรัฐบาล ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างแท้จริง

ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคง  ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปได้ยาก

ปัญหาง่ายๆ หลายเรื่อง อย่าง ระบบงานตำรวจที่สุดล้าหลัง  สร้างความเดือดร้อนให้กับตำรวจผู้น้อยและประชาชนอย่างแสนสาหัสในปัจจุบัน

ช่วงนี้  ตำรวจระดับ รอง ผบก.ไปจนถึง รอง สว.แต่ละคนก็เฝ้าฟังกันแต่เรื่องการแต่งตั้ง  คนสมหวังก็ฉลองกันเจ็ดวันสิบวันไม่เลิกรา  พ่อค้านายบ่อน เจ้าของสถานบันเทิงมารอหน้าบ้านหัวหน้าสถานีแทบทุกเช้าก็มี

ส่วนคนที่ผิดหวัง  ก็เดินคอตกกะปลกกะเปลี้ย  ลูกเมียเห็นแล้วหดหู่เสียใจ

บางคนก็เกิดความคับแค้นใจ เพราะถูกย้ายไปแสนไกลโดยไม่รู้ตัว  เพิ่มค่าใช้จ่าย  ไม่เคยรู้จักใครในหน่วยงาน อำเภอหรือจังหวัดนั้น  จะไปทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้ชุมชนกันอย่างไร?

ภาพสะท้อนปัญหาประสิทธิภาพงานรักษากฎหมายของตำรวจได้เป็นอย่างดีก็เช่น  กรณีผู้ร้ายหนีคดีสำคัญมีหมายจับที่ลอยนวลอยู่หลายคน

ซึ่งประชาชนไม่เคยได้ยินว่ามี  “นายพลตำรวจนักสืบหรือมือปราบคนไหน”  สนใจติดตามจับตัวแต่อย่างใด  ไม่ได้ยินแม้แต่คำพูดว่า ได้พยายามสืบหาที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศแล้ว  แต่ละคนได้ผลอย่างไร จะจับตัวมาได้เมื่อใด?

ผู้ร้ายหลายคนก็ไม่ได้หนีไปไหนไกล  บางคนยังมีฐานะเป็น ส.ส.อยู่ อยากไปประชุมสภาวันใด ก็นั่งรถไปและกลับที่พักได้สบายๆ!

ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำรวจจับตัวแต่อย่างใด!

อยากเรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ ปัญหาตำรวจที่สำคัญและร้ายแรงอย่างยิ่งที่ท่านควรสนใจก็คือ  การไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชน!

เพราะนอกจากพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่จะเสียขวัญและกำลังใจ อยู่ในอาการคอตกกะปลกกะเปลี้ย  อันเป็นผลมาจากคำสั่ง คสช.ที่ 7/2559   ให้ยุบตำแหน่งและสายงานสอบสวนลงทั้งหมด

ทำให้กลายเป็นงานที่ไร้อนาคตในเวลาชั่วข้ามคืนแล้ว

ยังต้องปฏิบัติตาม คำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย ของเจ้านายหลายระดับ  เรื่องไม่ให้รับคำร้องทุกข์ ออกเลขคดี ให้ประชาชนง่ายๆ  เป็นทั้งวิธีที่ทำให้ไม่ปรากฎสถิติคดีอาญาเพื่อตบตารัฐบาลและประชาชนว่าป้องกันอาชญากรรมอย่างได้ผล  รวมทั้งสามารถล้มคดีช่วยผู้กระทำผิดไม่ให้ต้องรับโทษได้อย่างง่ายดายอีกด้วย!

หลายคนจึงได้ตัดสินใจใช้ปืนยิงหัวฆ่าตัวตายให้พ้นๆ ไป และอีกจำนวนหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณา!

ดีกว่าทนอยู่เป็นข้าทาสต่อไป  ไม่ว่าจะได้เงินเพิ่มอีกเท่าใด  ก็ไม่ต้องการ?

เพราะสุดท้ายอาจโดนไล่ออก  หรือถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่รับคำร้องทุกข์  ไม่ได้บำเหน็จบำนาญตามสิทธิในบั้นปลายชีวิต

ไม่น่าเชื่อว่า  ปัญหาตำรวจสารพัดเหล่านี้  ประชาชนไม่เคยได้ยิน นายกรัฐมนตรี หรือนักการเมืองผู้รับผิดชอบคนใดพูดว่า จะจัดการแก้ไขทั้งในระยะเฉพาะหน้ารวมทั้ง  “ปฏิรูป” อย่างไร?

เช่น พฤติกรรมของ พ.ต.อ.กร่าง เมื่อเร็วๆ นี้ที่ ยิงปืนขึ้นฟ้าขู่ฆ่าประชาชน บนถนนกลางเมืองหลวง   ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้  ก็ไม่มีใครทราบว่าคดีอาญาและวินัย ดำเนินไปถึงไหน ได้มีการปฏิบัติเหมือนตำรวจผู้น้อยและประชาชนทั่วไปเช่นเดียวกับ “เสก โลโซ” ที่ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อแก้บนหรือไม่?

หรือในกรณี การตั้งด่านขวางถนน  แล้วมีตำรวจสองคนขึ้นไปตรวจค้นบนรถสิบล้อ โดยพลการ จนเกิดปัญหาพบยาบ้า 1 เม็ดในช่องเก็บของข้างคนขับ

ไม่มีใครทราบว่า เป็นของตำรวจผู้ตรวจค้น ตามที่นายโสภณ คนขับรถบรรทุกกล่าวหาจริงหรือไม่?

ตามมาด้วยกรณีตำรวจทางหลวงตั้งด่าน “พกคัตเตอร์”  เอาไว้กรีดยางรถประชาชนจนระเบิดใส่หน้าตัวเองบาดเจ็บ

นอกจากนี้  เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 19.45 น. นายอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ก็ได้นำกำลัง อส. และชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ไปจับบ่อนใหญ่ในเขตอำเภอ ได้ผู้ต้องหากว่าห้าสิบคน พร้อมเงินของกลางนับล้านบาท มีนักพนันนำรถมาจำนำหลังเล่นเสียอยู่นับสิบคัน

บ่อนแห่งนี้ “เจ๊รุ้ง” ผู้เป็นเจ้าของ ได้คุยให้ลูกค้าผู้เล่นฟังโขมงโฉงเฉงว่า เคลียร์หมดทุกหน่วยแล้ว ขอเชิญมาเล่นได้ตามสบาย ไม่ต้องห่วงว่าจะมีตำรวจหน่วยไหนมาจับ

ปัญหาบ่อนการพนันและอบายมุขผิดกฎหมายที่มีอยู่มากมายระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายในปัจจุบันทุกปีทั้งที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

เนื่องจากตำรวจแต่ละคนต้องดิ้นรนหาปัจจัยไว้ใช้จ่ายประกอบการวิ่งเต้นนั้น

ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ประชาชนแทบไม่เคยได้ยินว่า มีตำรวจหน่วยใดทั้งอำเภอ จังหวัด ตำรวจภาค หรือสอบสวนกลาง สนใจในการจับกุมเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมตามหน้าที่ของตนแต่อย่างใด

รวมทั้งไม่ได้ยินพลตำรวจโทหรือพลตำรวจเอกผู้รับผิดชอบคนไหนพูดถึงปัญหาหัวหน้าหน่วยตำรวจระดับต่างๆ ปล่อยปละละเลยบกพร่องต่อหน้าที่และได้มีการลงโทษทางวินัยอย่างจริงจังเลย

หรือแม้กระทั่ง “การมีพฤติการณ์รู้เห็นเป็นใจให้เปิดบ่อน”จนฝ่ายปกครองต้องไปจับแทน ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินคดีอาญาหรือ ลงโทษวินัยร้ายแรง ไล่ออก ปลดออก ตำรวจคนใดแม้แต่คนเดียว!

ในความเป็นจริง แหล่งอบายมุขเหล่านี้ เป็นที่รู้กันดีทั้งในหมู่ตำรวจผู้น้อยและประชาชนว่าล้วนต้อง “จ่ายส่วย” รูปแบบต่างๆ ให้หัวหน้าตำรวจผู้รับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนจะไม่เห็นความเอาใจใส่ในการจับกุมแหล่งอบายมุขเหล่านี้เพื่อป้องกันอาชญากรรมของหน่วยตำรวจต่างๆ เลย

ปัจจุบันกลับกลายเป็นบทบาทของฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และอาสาสมัครแทนตำรวจสารพัดหน่วยไปแล้ว!

ถ้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เห็นว่า การจับบ่อนพนันและแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายของฝ่ายปกครองแทนตำรวจเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ได้ถือว่าเป็นกรณีที่มีปัญหาต้องสั่งการแก้ไข หรือเร่งปฏิรูปอะไร

สภาก็ควรพิจารณาตัดงบประมาณกองบัญชาการตำรวจภาคในปี 2563 ที่จะถึงนี้ลงทั้งหมด

หรือปรับลดในระยะแรกลง 50 เปอร์เซ็นต์

จะทำให้มีงบประมาณเหลือไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้าน ปรับไปใช้เบิกจ่ายตรงที่สถานีแทนทั้งหมด

การแก้ปัญหาในระยะยาวต้องแก้กฎหมายให้ตำรวจสังกัดจังหวัด ทั้งกองบังคับการและสถานี มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งหัวหน้าตำรวจให้ปฏิบัติงานรักษากฎหมายตามหน้าที่ และตรวจสอบประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมได้

ผู้ว่าฯ ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง  ต้องมีอำนาจสั่งโยกย้ายตำรวจในจังหวัด ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัด (กต.ตร.จังหวัด) ที่ผู้ว่าฯ เป็นประธานอยู่ปัจจุบัน

ทำกันได้แสนง่าย แค่แก้ไขระเบียบ ก.ตช. เพิ่มอำนาจคณะกรรมการอีกเพียง 1 ข้อเท่านั้น

เมื่อผู้ว่าฯ มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัดแล้ว หากพบว่ามีบ่อนการพนันและแหล่งอบายมุขในตำบลหรืออำเภอใด ก็สามารถสั่งให้ตำรวจทั้งสถานีและกองบังคับการจัดการได้

ไม่ต้องใช้วิธี “ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้” แต่ “แอบกระซิบ” ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ไปจับแทนเช่นปัจจุบัน

เนื่องจากไม่สามารถสั่ง หรือแม้แต่แจ้ง “ขอกำลัง” ตำรวจไม่ว่าจากหน่วยใด แม้แต่ตำรวจภาคไปช่วยจับได้

ด้วย กลัวว่าความลับจะรั่วไหล รู้ไปถึงหูนายบ่อนก่อนเข้าจับกุมทุกครั้ง!.

ไม่มีตำรวจภาค ไม่มีบ่อน

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 9 ธ.ค. 2562