อดีตจเรตำรวจยิงสนั่นกลางศาลจันทบุรี2ทนายดังเสียชีวิตเจ็บอีก2ก่อนโดนยิงสวนดับ ศาลยุติธรรมเร่งเพิ่มมาตรการรปภ.พื้นที่ศาล

อดีตจเรตำรวจยิงสนั่นกลางศาลจันทบุรี2ทนายดังเสียชีวิตเจ็บอีก2ก่อนโดนยิงสวนดับ ศาลยุติธรรมเร่งเพิ่มมาตรการรปภ.พื้นที่ศาล

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 12 พ.ย.2562 เกิดเหตุมีการใช้อาวุธปืนยิงกันภายในห้องพิพากษา บัลลังก์ที่  2 ศาลจังหวัดจันทบุรี ระหว่างรอกระบวนพิจารณาคดีพิพาทมรดกที่ดิน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 2 ราย

ต่อมา พล.ต.ต.จรัล จิตเจือจุน รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (รอง ผบช.ภ.2) พร้อมด้วยนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี, พล.ต.ต.เสถียร บุญค้ำ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี (ผบก.ภ.จว.จันทบุรี) พร้อมกำลังตำรวจวิทยาการ กองพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจสืบสวนภูธรจังหวัด สืบสวน สภ.เมืองจันทบุรี ร่วมเดินทางตรวจสอบ

จากนั้น พล.ต.ต.จรัลได้เปิดแถลงการณ์เบื้องต้นว่า จากการสอบสวนของ ร.ต.อ.หญิงปัญญาพร ศรีชาย รอง สว.สส.(สอบสวน) สภ.เมืองจันทบุรี ทราบชื่อผู้ก่อเหตุ ผู้บาดเจ็บ ตลอดจนผู้เสียชีวิตตามไทม์ไลน์ ประกอบด้วย ผู้ที่ลงมือก่อเหตุคือ พล.ต.ต.ธานินทร์ จันทราทิพย์ อดีตจเรตำรวจเกษียณราชการ อายุ 67 ปี ส่วนคู่กรณีที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 4 คน คือ นายบัญชา ปรมีคณาภรณ์ เป็นโจทก์, นางสุภาพร ปรมีคณาภรณ์ ภรรยานายบัญชา, นายวิจัย สุขรมย์ ทนาย และนายวิชัย อุดมธนภัทร ทนาย ส่วนสาเหตุการก่อเหตุสืบเนื่องจากคดีฟ้องแพ่งที่ดินกันมานานกว่า 10 ปี ครั้งนี้แตกสาขาเป็นคดีอาญาข้อหาฟ้องเท็จ

จากการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบอาวุธที่พล.ต.ต.ธานินทร์ใช้ในการก่อเหตุครั้งนี้ เป็นอาวุธปืนพกสั้น ปืนกล็อก 22.40 จำนวน 1 กระบอก ต่อมา พล.ต.ต.ธานินทร์ถูกตำรวจศาลยิงบาดเจ็บภายหลังจากก่อเหตุใช้อาวุธยิงผู้อื่นในศาลก่อนถูกนำตัวส่ง รพ.พระปกเกล้า และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

โดยเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย คือ  นายบัญชา, นายวิจัย และ พล.ต.ต.ธานินทร์ บาดเจ็บอีก 2 ราย คือ นางสุภาพร และนายวิชัย

หลังจากนั้นคณะผู้พิพากษาศาล จ.จันทบุรี พร้อมด้วย พล.ต.ต.จรัล จิตเจือจุน รอง ผบช.ภ.2, พล.ต.ต.เสถียร บุญค้ำ ผบก.ภ.จว. จันทบุรี พร้อมกำลังตำรวจวิทยาการกองพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจสืบสวนภูธรจังหวัด สืบสวน สภ.เมืองจันทบุรี ประชุมรวบรวมและประเมินสถานการณ์ชนวนเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนยิงกันภายในศาล ทั้งในเรื่องการที่ผู้ก่อเหตุพกพาอาวุธปืนผ่านจุดตรวจจับเข้าไปภายในศาลได้อย่างไร

ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น สืบเนื่องจากคู่ความทั้งสองฝ่ายพิพาทกันหลายคดีต่อเนื่องมานานหลายปี เริ่มต้นจากคดีแพ่งพิพาทเกี่ยวด้วยที่ดิน และทั้งสองฝ่ายมีการฟ้องคดีอาญากันอีกหลายคดี รวมถึงคดีที่มีนัดพิจารณาวันนี้ด้วย โดยคดีนี้เป็นการฟ้องคดีอาญา ข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ อยู่ระหว่างการสืบพยานฝ่ายจำเลย โดยได้รับรายงานว่า ในการพิจารณาคดีที่ผ่านมามีการโต้เถียงกันของทั้งสองฝ่ายอยู่บ่อยครั้ง ขณะเกิดเหตุวันนี้ องค์คณะผู้พิพากษายังไม่ได้ขึ้นนั่งพิจารณาคดี เนื่องจากคู่ความในคดียังเดินทางมาไม่ครบ ในช่วงที่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์เดินออกจากห้องพิจารณาคดี พล.ต.ต.ธานินทร์ จำเลยที่ 3 ได้ก่อเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลได้รับบาดเจ็บ

“สำนักงานศาลยุติธรรมขอเรียนว่า จะดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อปรับปรุงมาตรการการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาล และบุคลากรที่ทำงานอยู่ในอาคารศาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว

ขณะที่นายสุรินทร์ ชลพัฒนา เลขาธิการประธานศาลฎีกา ได้เข้าพบนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เพื่อรายงานเหตุดังกล่าว จากนั้นนายสุรินทร์เผยว่า ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกาให้แถลงกับสื่อมวลชนว่า ประธานศาลฎีการู้สึกไม่สบายใจและมีความกังวลใจ ทั้งมีความเป็นห่วงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์ขณะนี้ ก็ได้สั่งการให้สำนักงานศาลยุติธรรมทบทวนตรวจทานดูระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวบุคลากรหรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข

นายสุรินทร์กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจากหัวหน้าศาลจังหวัดจันทบุรีว่า เหตุครั้งนี้เกิดขึ้นเวลาก่อนลงมือสืบพยานจำเลยนัดแรก หลังจากสืบพยานโจทก์มาแล้ว 20 นัด จำเลยที่ 3 คือ พล.ต.ต.ผู้ก่อเหตุ ช่วงเวลาเดียวกัน อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 2 กำลังตรวจเยี่ยมศาลจังหวัด โดยหัวหน้าศาลกำลังกล่าวรายงานได้ยินเสียงปืนหลายนัด ทราบภายในเวลาต่อมาว่าจำเลยที่ 3 ใช้ปืนพกสั้นที่ซุกซ่อนมิดชิดจ่อยิงโจทก์ ทนายโจทก์ตาย และกระสุนถูกภรรยา ทนายโจทก์บาดเจ็บ

“ในเวลาเดียวกัน ตำรวจจาก สภ.เมืองจันทบุรีวิ่งเข้าหน้าห้องพิจารณา แต่เกิดอาการไม่สบายทันด่วน เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง ทางเสมียนทนายโจทก์เห็นจึงขอปืนจากตำรวจยิงใส่จำเลยที่ 3 ผ่านกระจกประตูห้องพิจารณา ถูกร่างจำเลยที่ 3 ถึง 6 นัด ทราบภายหลังว่าจำเลยที่ 3 เสียชีวิต”

เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุร้ายแรงไม่คาดฝัน คนร้ายอาศัยช่องว่างของการตรวจสอบตรวจค้นอาวุธเข้าไปได้ ซึ่งปกติจะเข้าไปได้ยาก ประกอบกับคนที่จ้องจะกระทำ กับคนที่ระวัง คนที่จ้องก็อาศัยโอกาสกระทำ ที่เอื้ออำนวยเหมาะสม เป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ขอฝากยังประชาชนว่า ศาลยังเป็นสถานที่ซึ่งมีความปลอดภัยเสมอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเรื่องของมาตรการความปลอดภัยบริเวณศาลนั้น ภายหลังจากที่เกิดเหตุ 3 ผู้ต้องขังชาย-หญิง คดียาเสพติด หนีจากห้องควบคุมตัวในศาลจังหวัดพัทยา โดยมีอาวุธปืนและมีดที่ลักลอบนำเข้าไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณศาลได้รับบาดเจ็บไปเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ลงนามในหนังสือถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดศาลยุติธรรม ให้แต่ละศาลเพิ่มมาตรการความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยภายในบริเวณศาลให้มากขึ้นกว่าเดิม ให้ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาล หรือ ผอ.สำนักงานประจำศาล เพิ่มความระมัดระวัง โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่รักษาปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลให้มีการตรวจค้นตัวและสิ่งของอย่างละเอียด และให้ถือปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2550 อย่างเคร่งครัดต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนพกสั้นก่อเหตุพยายามฆ่าตัวตาย เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ หลังพิพากษาคดีความมั่นคง ณ ห้องพิจารณา 4 ศาลจังหวัดยะลา ซึ่งต่อมาคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว

ด้านนายสราวุธ เบญจกุล กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา เรากำลังตรวจสอบให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง เพื่อหามาตรการความเข้มงวดรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณศาลที่รัดกุม โดยการดูแลความเรียบร้อยในศาลมีด้วยกัน 3 ส่วน ส่วนผู้ต้องขัง จะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จากกรมราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมดูแลความปลอดภัยบริเวณศาล และในส่วนของศาลเองมีเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่จัดสรรการจ้างมาจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ซึ่งไม่มีอาวุธประจำกาย จะดูแลความเรียบร้อยทั่วไปบริเวณศาล ซึ่งปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด

ขณะที่ในส่วนของศาลนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมก็กำลังพัฒนาระบบเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ตมาร์แชล (COURT MARSHAL) ซึ่งปัจจุบันนี้มีข้าราชการที่รับโอนมาผ่านการฝึกอบรมพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้วทั้งสิ้น 35 ราย โดยในปี 2563 เราจะคัดเลือกบุคคลให้ได้อย่างน้อย 300 คน เพื่อที่จะนำอัตรากำลังในส่วนนี้ที่ศาลจัดดำเนินการเอง กระจายไปประจำการยังศาลภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่มีอยู่ 275 แห่ง ซึ่งตั้งเป้าว่าจะจัดกำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาลประจำศาลภูมิภาคแต่ละศาล 1-2 นาย ก็จะเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยของศาลต่างๆ ด้วยความเข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะจัดกำลังเท่าที่กระจายไปยังศาลภูมิภาคเท่าที่จำเป็นก่อน โดยภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้จะได้ผลสรุป