ทหารและฝ่ายปกครองจับบ่อน สถานบันเทิง ‘สิงโต’ ยังนอนกิน!

ทหารและฝ่ายปกครองจับบ่อน สถานบันเทิง ‘สิงโต’ ยังนอนกิน!

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

             ปัญหาการแต่งตั้งตำรวจชั้นนายพลที่มีปัญหาคาราคาซัง จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีผลตามกฎหมาย ทำให้ต้องออกคำสั่งเป็นเพียง ผู้รักษาราชการแทน ในตำแหน่งที่ว่างไปพลางๆ รวมทั้งที่คาดว่า น่าจะว่าง

ส่งผลให้การแต่งตั้งรองผู้บังคับการไปจนถึงรองสารวัตรอีก นับหมื่นคน ยังไม่สามารถทำได้ ต้องรอกันไปอย่างไม่มีกำหนด!

ตำรวจทั่วประเทศต่างวิ่งเต้นกันจนเหนื่อยใจไปจนกระทั่งลูกเมียไม่มีกะจิตกะใจทำงานการอยู่ขณะนี้

เนื่องจากหลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่ใช้ มีปัญหาไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 260 วรรคสาม  ความว่า เมื่อครบกำหนด (6 เม.ย.61) แล้ว ถ้าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว (การปฏิรูปตำรวจ) ยังไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจดำเนินการตามหลักอาวุโสตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

                หมายความว่า ทุกตำแหน่งที่ว่าง ต้องแต่งตั้งผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นคนแรกและลำดับถัดไปเรื่อยๆ จนหมด

ไม่ใช่กำหนดหลักเกณฑ์แบ่งให้ในสัดส่วน 33 ส่วนที่เหลืออีก 67 เปอร์เซ็นต์ เป็นพวกวิ่งเต้น ด้านได้ อายอด เช่นเดิม!

ตำรวจทุกคนที่คิดว่าตน ถูกโกงตำแหน่ง ไม่ว่าจะแต่งตั้งไปแล้วหรือไม่ ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบ สามารถใช้สิทธิตาม มาตรา 213 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มติ ก.ตร. เป็นโมฆะ ได้ โดยอ้าง อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์  ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นพยาน ขอให้ศาลเรียกไปอธิบายให้ถ้อยคำอธิบายที่มาและเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าว

ไม่ต้องร้องทุกข์ต่อ ผบ.ตร. หรือ ก.ตร.ก่อนเหมือนกรณีจะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแต่อย่างใด

                เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดกับประชาชนตอนหนึ่งว่า อยากให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เพื่อขจัดคนชั่วให้หมดไปจากบ้านเมือง ขอให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตา ปิดโอกาสในการกระทำความผิด……        

                ฉะนั้น การที่ตำรวจยื่นคำร้องอะไร รวมทั้งสื่อหรือประชาชนจะช่วยกันสอดส่องส่งเสียงว่าการแต่งตั้งตำรวจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถือเป็นการช่วยนายกรัฐมนตรีตามที่บอกไว้ทั้งสิ้น 

                ปัญหาตำรวจไทยในปัจจุบันนั้น มีข่าวอื้อฉาวเน่าเหม็นมากมายจนผู้คนจดจำกันไม่หวาดไหว!

หลายเรื่องเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป สื่อหลายสำนักแทบไม่ได้เห็นเป็นเรื่องสำคัญอะไร?

อย่างกรณี ลุงอดูลย์ พรรณา ที่มีปัญหาคาใจถูกตำรวจจังหวัดนครสวรรค์จับปรับทั้งที่ ควันไม่ดำ ตามที่หน่วยตรวจสภาพรถกรมการขนส่งทางบกยืนยัน

ได้นำหลักฐานไปยื่นต่อ ผบ.ตร.ให้ตรวจสอบและขอคำชี้แจง เป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา

พบแต่ .ต.อ.เวรอำนวยการผู้น่าสงสาร ที่ตอบอะไรไม่ได้ และไม่มีผู้รับผิดชอบระดับ ตร.ยศพลตำรวจโท พลตำรวจเอกคนใดในจำนวนเกือบสามสิบคนลงมาพบลุงอดูลย์และประชาชนแม้แต่คนเดียว!    

แต่ลุงและกลุ่มประชาชนก็บอกไม่ท้อ จะขอมาใหม่ในสัปดาห์หน้า จนกว่าจะได้คำชี้แจง

                หัวหน้าตำรวจประเทศที่เจริญทั่วโลกนั้นไม่ได้มียศนายพลแบบทหารเหมือนประเทศไทย ล้วนแต่เป็นพลเรือนด้วยกันทั้งสิ้น

การเข้าพบของประชาชนเพื่อบอกเรื่องเดือดร้อนหรือขอคำชี้แจงอะไรเขาจึงง่ายกว่าตำรวจไทยมาก

อย่างหัวหน้าตำรวจกรุงลอนดอนคนปัจจุบันที่ควบคุมการปฏิบัติงานของตำรวจจำนวน 43,000 นายนั้น ชื่อ  นางเครสซีดา ดิค อายุ 56 ปี

นอกจากจะเป็นข้าราชการพลเรือนแล้ว ยังเป็นผู้หญิงอีกด้วย

                แต่เธอมีบุคลิกที่เข้มแข็งและมีจิตสำนึกเป็นผู้รักษากฎหมายตรงไปตรงมามากกว่านายพลตำรวจประเทศไทยนับสิบนับร้อยเท่า

                เรื่องการรับส่วยสินบนนั้น ถ้ามีใครไปพูดหรือเลียบเคียงถามว่าได้เดือนละเท่าไรเหมือนตำรวจไทย? เธอคงตกใจแทบช็อก!

                การปฏิรูปตำรวจให้เป็นพลเรือน ลดความเป็นศักดินา เพื่อพัฒนาระบบงานรักษากฎหมายให้ประชาชนเข้าได้ง่ายและมีประสิทธิภาพเป็นสากลเหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลกนั้น อันที่จริงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร

นอกจากหน่วยงานสนับสนุน เช่น พิสูจน์หลักฐาน แพทย์ พยาบาล และการศึกษา จะถูกกำหนดให้ เป็นตำรวจไม่มียศ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่อาจารย์มีชัยกำลังเตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว

หน่วยงานรักษากฎหมายและการสอบสวนเฉพาะทางอีก 13 หน่วย รัฐบาลก็สามารถ ตราพระราชกฤษฎีกา โอนไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติโดย .ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานมีมติไว้ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบส่งหน่วยเกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการไปแล้ว

เรื่องนี้ต้องกำหนดระยะเวลาแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือหนึ่งปี สองปี แต่ทั้งหมดต้องไม่เกินสามปี 

เมื่อโอนไปแล้ว ตำรวจเหล่านี้ก็จะกลายเป็นผู้รักษากฎหมายในระบบพลเรือนที่ประหยัดงบประมาณและมีประสิทธิภาพกว่าทันที

เช่นเดียวกับกรณีโอนงานดับเพลิงให้ กทม. งานยานพาหนะให้กรมการขนส่งทางบก และงานอาวุธปืนให้กรมการปกครองไปจัดให้เข้าที่เข้าทางเหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลก

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา นายธนวัฒน์ แสนสุวรรณ์  หนุ่มใหญ่วัย 43 ปี ได้ขึ้นไปบนโรงพักแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปแจ้งความว่าบ่อนการพนันข้างบ้านส่งเสียงดัง หวังให้ตำรวจช่วยดำเนินการตามกฎหมาย

แต่กลับถูกตำรวจสายสืบสามคนรุมสกรัมจนต้องวิ่งหนีตายเข้าห้องสอบสวน! 

เมื่อตั้งหลักได้ ก็กลับมาถอดเสื้อยืนจังก้าอยู่หน้าสถานี ประกาศ ท้าชก กับตำรวจสืบสวนกลุ่มดังกล่าวแบบตัวๆ ห้ามรุม เหมือนที่ผ่านมา มีคลิปเผยแพร่ไปทั่ว

ปัญหา ตำรวจไทยไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชน   นั้น ปัจจุบันนับเป็นเรื่องใหญ่และ เป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมของชาติที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง

ป.วิ อาญา ที่ประกาศให้ใช้เมื่อ พ.ศ.2577 แต่แรกงานสอบสวนถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง ผู้ว่าฯ นายอำเภอ โดยมีกรมตำรวจเป็นหน่วยงานตรวจตราป้องกันอาชญากรรมอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย

แต่ในช่วง พ.ศ.2502 รัฐบาลเผด็จการ ได้ออกข้อบังคับให้กรมตำรวจเป็นหน่วยสอบสวนฝ่ายเดียว ทำให้ประชาชนเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมกันแสนสาหัส

ในปี 2509 จึงต้องออกข้อบังคับใหม่ให้ ฝ่ายปกครองมีอำนาจตรวจสอบควบคุมคดีที่ประชาชนร้องเรียน และเพิ่มคดีป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติในปี 2523

                เป็นการตรวจสอบควบคุมการสอบสวนของตำรวจในส่วนภูมิภาคได้ระดับหนึ่ง 

แต่พอถึงปี 2556 การตรวจสอบในเรื่องนี้กลายเป็นมีปัญหาอย่างร้ายแรง!

เนื่องจากตำรวจแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ 419/2556    “ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเรียก” และตามมาด้วยการกำชับว่า ใครฝ่าฝืนจะถูกลงทัณฑ์ “กักยาม” หรือ “กักขัง” แบบทหาร

แต่สุดท้ายสำนักงานอัยการสูงสุดยังถือว่า ตำรวจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย และจะ ส่งคืนสำนวน หากมีการแจ้งแล้วตำรวจไม่ยอมนำสำนวนไปให้ตรวจสอบตามกฎหมาย โดยฝ่ายปกครองต้องส่งสำเนาการแจ้งนั้นให้อัยการไว้             

ปัจจุบันทั้งผู้ว่าฯ และนายอำเภอ นอกจากจะมีปัญหาเรื่องตำรวจไม่ยอมส่งสำนวนที่มีปัญหาให้ตรวจสอบแล้ว การสอบสวนความผิดกฎหมายป้องกันอาชญากรรมที่สำคัญคือ พ.ร.บ.การพนัน สถานบริการและอาวุธปืนก็ไม่สามารถสอบสวนเช่นเดิมได้ เนื่องจากมีการแก้ไขข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยให้มีอำนาจเฉพาะกฎหมาย 16 ฉบับ              จากเดิมที่มี 18 ฉบับ แต่มี คำสั่งลึกลับ ให้ตัดกฎหมายสามฉบับดังกล่าวออกไปในปีถัดมา

ทำให้ปัจจุบัน เมื่อฝ่ายปกครองจับบ่อนหรือสถานบันเทิงแล้ว ก็ต้องส่งให้ตำรวจสอบสวนฝ่ายเดียว จะสอบสาวความผิดให้ถึงตัวการหรือตำรวจที่รับส่วยสินบนคนใดระดับใดหรือไม่เพียงใด ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้?

ในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา บ่อนการพนัน และสถานบันเทิงผิดกฎหมายขายยาเสพติดทำลายสังคมรวมทั้งเด็กและเยาวชนจึงเกิดขึ้นมากมาย

                โดยที่ประชาชนไม่เคยเห็นบทบาทของ ผบก. หรือ ผบช. หรือตำรวจระดับ ตร.คนใดในการปราบปรามแหล่งเพาะอาชญากรรมเหล่านี้เลย

ทหาร ผู้ว่าฯ นายอำเภอและกรมการปกครองมีปัญญาจับ จับไป!

เมื่อจับแล้ว ก็จะเห็นแค่การออกคำสั่งให้ห้าเสือสถานีหรืออันที่จริงก็คือ “ห้าแพะ” ไปปฏิบัติงานที่ ศปก.ตร.จังหวัด หรือ ตร.ภาค ระยะหนึ่ง

ส่วน “สิงโต” ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ยังคงนอนกินกันต่อไป

                ไม่ได้สะดุ้งสะเทือนหรือต้องรับผิดชอบอะไรตามที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งกำชับหรือคาดโทษไว้หลายครั้งแต่อย่างใด?.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, November 19, 2018