วงเสวนาชำแหล่ะ!การพิสูจน์หลักฐานวิทยาศาสตร์พบคดีดังขั้นตอนพิสูจน์ยังไม่สิ้นสงสัย เสนอรัฐลงทุนด้านนิติวิทยาศาสตร์

วงเสวนาชำแหล่ะ!การพิสูจน์หลักฐานวิทยาศาสตร์พบคดีดังขั้นตอนพิสูจน์ยังไม่สิ้นสงสัย เสนอรัฐลงทุนด้านนิติวิทยาศาสตร์

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2562 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย   มีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ การพิสูจน์หลักฐานวิทยาศาสตร์ของไทย เชื่อถือได้แค่ไหน? ควรปฏิรูปอย่างไร?” (กรณีศึกษาคดีเกาะเต่า คดีน้องหญิง และอีกหลายคดี) จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.), เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) และคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ดำเนินรายการ

 

น.พ.กฤติน มีวุฒิสม แพทย์นิติเวชศาสตร์ประจำ โรงพยาบาลจังหวัดระนอง  กล่าวเปิดประเด็นว่า ในกระบวนการดำเนินการทางอาญา ยังมีปัญหาในการตรวจหลักฐานไปจนถึงชั้นการแปลผล  ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้มีปัญหาความผิดพลาดได้หมด ต้องมีการพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยเสียก่อน ให้หลักฐานข้อเท็จจริงนิ่งเสียก่อนที่จะให้ความเห็นออกสื่อ

นพ.กฤติน มีวุฒิสม
นพ.กฤติน มีวุฒิสม

นายสัญญา เอียดจงดี ทนายความจำเลยสองแรงงานชาวเมียนมาร์ในคดีเกาะเต่า ได้หยิบยกคดีเกาะเต่าที่เป็นผลให้คนงานพม่า 2 คนต้องโทษประหารชีวิตในคดีข่มขืนแล้วฆ่า2 ศพ  ยังมีข้อโต้แย้งมากในเรื่องพยานหลักฐาน  ไม่ว่าจะเป็นการชันสูตรพลิกศพ หรือขั้นตอนอื่นๆที่ยังไม่ “สิ้นสงสัย”   เจ้าหน้าที่รัฐไปดำเนินการโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล  เริ่มตั้งแต่ 1.การจับกุมในเรื่อง “เข้าเมืองผิดกฎหมาย” ซึ่งเป็นความผิดอื่น แล้วมาสอดแทรกในคดีอาญาเข้าไป  ซึ่งเป็นปัญหา  2. การนำบุคคลมาทำแผน แถลงข่าว  อ้างว่ารับสารภาพทั้งๆ เป็นการสอบปากคำในฐานะพยาน  แล้วมาแจ้งข้อหาภายหลัง 3. ล่ามที่ใช้  มีปัญหามาก  ทุกคนไม่สามารถเขียนและอ่านภาษาไทยได้   4. มีการเก็บหลักฐานตอนตีห้าของวันที่ 3 โดยไม่สมัครใจ มีการปิดตา ผู้ต้องหาบอกว่าถูกซ้อมทรมานด้วย การสอบปากคำน่าเชื่อถือแค่ไหน  5. กระบวนการตรวจ DNA ที่เจ้าหน้าที่บอกว่าสอดคล้องกับผู้ตายทั้งสองคน นำมาใช้ได้หรือไม่  มีกระบวนการแปลผลอย่างไร ไม่มีใครเห็นกราฟที่พิมพ์ออกมาเป็นหลักฐาน

“เรื่อง DNA จะมีความน่าเชื่อถือเมื่อผู้ตรวจเป็นผู้เชี่ยวชาญ และต้องตรวจสอบได้   แต่โจทย์ไม่ยอมนำมาแสดง”นายสัญญา กล่าว

 นายสัญญา เอียดจงดี
นายสัญญา เอียดจงดี

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า คดีเกาะเต่ายังมีข้อสงสัยสำหรับผู้รักความยุติธรรมมากมาย  แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก็ตาม  ชาวเมียนม่าร์ยากจนทำไมรับสารภาพในชั้นสอบสวนแล้วจึงกลับเป็นปฏิเสธในชั้นศาล สู้คดียันฎีกา  เพราะถ้ารับก็ได้ลดโทษกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว   จึงมีคำถามว่า การทำแผนประกอบคำรับสารภาพนั้น ทั้งสองทำไปด้วยความสมัครใจและตรงกับข้อเท็จจริงของการเกิดเหตุจริงหรือ  การใช้จอบสั้นตีฝรั่งผู้ชายจนตาย แล้วมาตีผู้หญิงจนสลบเพื่อข่มขืนเป็นไปได้จริงหรือ?      และทำไมด้ามจอบที่เป็นอาวุธในการทำร้ายหรือฆ่า ไม่ปรากฎหลักฐาน DNA  ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติ  แม้กระทั่งเสื้อผ้าของจำเลยก็ไม่มีแม้กระทั่งคราบเลือด  ของผู้ตายทั้งสองที่ถูกตีใบหน้าเละเทะเลย  เป็นไปได้อย่างไร?

พ.ต.อ.วิรุตม์  กล่าวต่อว่า  อีกหลายเรื่อง เช่น คดีครูจอมทรัพย์ ก็มีปัญหาเรื่องวัตถุพยานเป็นหลักฐานว่ารถครูไม่ได้ชนกับรถจักรยานอย่างชัดเจน  หรือคดีหวย 30 ล้านที่อ้างหลักฐานการใช้โทรศัพท์มือถือมาหักล้างประจักษ์พยานหลายปาก  ข้อเท็จจริงการใช้โทรศัพท์เป็นหลักฐานแวดล้อมเท่านั้น ไม่ได้มีความแน่นอนแม่นตรงอะไร  ไม่ใช่นิติวิทยาศาสตร์  ส่วนซองหวยที่เป็นวัตถุพยานสำคัญที่สุด พนักงานสอบสวนกลับทำให้หายไป การสอบสวนเกิดความสับสนอลหม่านไปหมด ในคดีฆ่า”น้องเพลง”ที่จังหวัดตรังเมื่อหลายปีที่แล้วก็เช่นกัน พนักงานสอบสวนก็รายงานต่อศาลในการขอหมายจับว่า “หลักฐานดีเอ็นเอใกล้เคียง”  ซึ่งเป็นเรื่องตลกมาก

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

หรือคดี”น้องหญิง”  (น.ส.นรีกานต์ ยาวิราช หรือน้องหญิง อายุ 19 ปี เสียชีวิตปริศนา หลังกลับจากเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่งใน จ.อยุธยา โดยมีนายสุรพล ดาราคำ หรืออ๊อฟ อายุ 23 ปี เป็นผู้ขับรถเทรลเลอร์พาไปส่งบ้าน) ก็เช่นกัน มีการรายงานว่ามีบาดแผลเกิดจากการถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย  ทำให้นายอ๊อฟกลายเป็นผู้ต้องหา ออกข่าวกันเอิกเกริก  และอัยการสั่งฟ้อง  แต่ศาลกลับยกฟ้องเนื่องจากไม่มีหลักฐานเรื่องการทำร้าย   แต่อาจจะเป็นกรณีทำให้เกิดความกลัวน้องกระโดดลงมา

ส่วนคดีมิก หลงจิ  (นายธีรศักดิ์ หลงจิ หรือ มิก อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาฆ่านายดนุเดช อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 เพื่อชิงทรัพย์ โดยเหตุเกิดภายในสวนสาธารณะในเขตเทศบาลเมืองตรัง เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 55 โดยศาลพิพากษาประหารชีวิตผู้ต้องหา และกรมราชทัณฑ์ได้ประหารชีวิต เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.61) หลังถูกประหารชีวิตแล้ว  ก็มีบุคคลที่เป็นประจักษ์พยานออกมาบอกว่านายมิก ไม่ใช่คนแทง  ตัวเองเห็นว่าเป็นคนอื่น  และยังก็ขี่จักรยานยนต์สวนกับนายมิกในวันเกิดเหตุ และปรากฎคำพยานผู้หญิงที่ขี่รถมารับคนร้ายเรียกชื่อ “บิ๊ก” ไม่ใช่ “มิก”  แต่อย่างใด

“ปัญหาสำคัญของไทยเราคือไม่พยายามค้นหาความจริงหรือข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างถึงที่สุด  ในระบบงานตำรวจมีปัญหาเรื่องสายการบังคับบัญชา ต้องทำงานตามคำสั่งแม้ว่าจะไม่ถูกต้องก็ต้องทำกั้น  ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งในสายงานต่างๆ  โดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานระดับต่างๆ จำนวนมาก ไม่ได้จบการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ จบนิติศาสตร์หรือ โรงเรียนนายร้อยรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นได้หมด  คนทำงานขาดขวัญ  ความยุติธรรม ก็คือการยุติด้วยความจริงที่แม่นยำ  โดยเฉพาะการสอบสวนและบันทึกปากคำบุคคล ในความเป็นจริงมีปัญหาความคลาดเคลื่อนอย่างมาก  ที่พูดไม่จด  ที่จดไม่ได้พูด ก็มาก  พนักงานสอบสวนเป็นผู้ให้การแทนก็มี  พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

น.พ.กฤติน  กล่าวเพิ่มเติมว่า  การรวบรวมหลักฐาน ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ  ปกติแพทย์นิติเวชจะกระจายตัวอยู่ทั่วไป แต่หลายจังหวัดไม่มีหมอนิติเวช  มีประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ก็ใช้หมอทั่วไปซึ่งมีโอกาสผิดพลาดได้  เราต้องผลิตแพทย์นิติเวชให้มากกว่านี้   พนักงานสอบสวน อัยการ  ก็ต้องมีความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สำนวนมีความน่าเชื่อถือ ไม่นำไปสู่การยกฟ้อง ส่วนการแปลผล  เช่น คดีห้างทอง มีการแปลผลออกมาไม่เหมือนกัน

“กรณีน้องเมย หรือนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารปีที่ 1 เสียชีวิตระหว่างอยู่ในโรงเรียน ที่หนึ่งบอกว่าไม่พบการถูกทำร้าย อีกที่หนึ่งบอกถูกตีด้วยของแข็ง ตำรวจก็เห็นแย้งกัน  ดังนั้น การให้มีการตรวจสอบย้อนหลังเมื่อมีการร้องขอ  ควรจะให้ทำได้ เพื่อให้ความชัดเจนปรากฏ ให้จำเลยสามารถร้องขอได้  ตรวจสอบซ้ำได้ ไม่เสียหายอะไร ถ้าผลออกมาเหมือนเดิมก็จะยิ่งทำให้พยานหลักฐานมัดจำเลยแน่นมากขึ้น”  นพ.กฤติน   กล่าว

นพ. สุรเชษฐ์ สถิรมัย
นพ. สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย

น.พ. สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ หากถูกต้องก็จะมีประโยชน์ น่าเชื่อถือ  หลายกรณีก็สรุปไม่ได้ว่าตายเพราะอะไร  ระบบคุณภาพ พัฒนามาจากวิศวกร คนทำ คนอ่าน เครื่องมือต้องถูกต้อง เจ้าหน้าที่ต้องรู้วิธีการเก็บหลักฐานอย่างถูกต้อง รักษาความเย็น ส่วนเครื่องมือต้องถูกตรวจสอบว่ายังใช้ได้อย่างถูกต้อง  ส่วนกระบวนการและผลที่ออกมาต้องมีคุณภาพ มีความไว  ทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานตามหลักวิทยาศาสตร์  และนิติเวชที่เป็นส่วนหนึ่งในนิติวิทยาศาสตร์นั้น มันกว้างมาก รวมทั้งมีนิติทางเคมี  ชีวะ ด้วย   ในกระบวนการต้องมีระบบถ่วงดุล  มีหน่วยรับตรวจ ที่เป็น balance กัน

 

น.พ.กฤติน   กล่าวเสริมว่า  มีกรณีของน้องหญิงที่เกิดเหตุที่บางประอิน เริ่มจากพนักงานสอบสวนบอกว่าน้องหญิงตกรถ แต่ญาติและสื่อยังสงสัย มองว่าเป็นฆาตกรรมอำพราง เพราะจำเลยเป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับผู้ตาย และจำเลยก็ปฏิเสธ   จึงมีการขอให้พนักงานสอบสวนส่งตรวจที่คณะกรรมการกลาง  จำเลยร้องไปที่นิติวิทยาศาสตร์ด้วย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง  แล้วภายหลังมาร้องแพทยสภา ซึ่งผลออกมาแล้ว แต่ไม่แสดงความเห็น  จะเห็นข้อจำกัดทั้งหมดว่าต้องคอยให้ศาลออกหมายมาเท่านั้น และไม่มีการให้ตรวจสอบซ้ำ  ความผิดพลาดเกิดได้ทุกขั้นตอน  สำหรับเวชระเบียน ประชาชนขอได้ แต่ใบชันสูตรบาดแผลยังเป็นปัญหา เขาอ้างว่าทำตามคำขอของพนักงานสอบสวน ต้องส่งให้ หากต้องการก็ให้ไปขอจากเขา

“ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ยึดหลักให้ใบบันทึกการชันสูตรบาดแผลหรือศพแก่ญาติสายตรง แต่ที่อื่นส่วนใหญ่ไม่ให้   อันที่จริงให้หรือไม่ให้ก็ไม่ผิดกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม ควรมีการออกระเบียบเรื่องนี้ให้ชัดเจน  ยอมรับหลักการเรื่อง second opinion ”นพ.กฤติน   กล่าว

 

น.พ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า  มีกฎหมายพื้นฐานห้ามเปิดเผยความลับของผู้ป่วย หรือศพ  ยกเว้นผู้ป่วยเป็นคนขอเอง   มันมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โอกาสของคนจนมีอยู่น้อยมาก  สมัยก่อนไม่มีการเยียวยาใดๆ   ขอ เสนอให้อ่านหนังสือที่ อ.คณิต ณ นคร เคยเขียนถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นต้นธารของความเหลื่อมล้ำ   ประเทศไทยมีคนไร้รัฐ 7 แสนคนมากที่สุดในอาเซียน  แต่ละคนต้องใช้เงินในการตรวจดีเอ็นเอ 5,000 บาท และการแปลผลก็ไม่ง่าย เรามีนักโทษต่อประชากรที่เป็นผู้หญิงมากที่สุดในโลก   เรามีกรณียาเสพติดในเรือนจำมากที่สุด การอำนวยความยุติธรรมต้องลงทุนมากกว่านี้   ยังมีคำถามด้วยว่าเรามีมาตรฐาน internal and external audit ดีพอหรือไม่

นายนิรมาน สุไลมาน
นายนิรมาน สุไลมาน

นายนิรมาน สุไลมาน  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เราเจอเรื่องที่พูดไม่ได้ในสามจังหวัดภาคใต้  เรื่องรายงานการชันสูตรศพ   ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ควรจะเปิดให้เข้าถึงได้จริง  ตอนนี้สภาพสังคม มีการกระทำกฎหมายเกิดขึ้นมากมาย พวกเราเองยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะไปปรับโครงสร้างอะไร  แต่อย่างไรก็ตาม ควรสะท้อนเรื่องที่คุยกันวันนี้ไปยังรัฐบาล ทำไมจึงมีความยุ่งยากในการขอ second opinion ทำอย่างไรให้กระบวนการขอหลักฐานในการพิสูจน์ความจริง เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมีขั้นตอนมากมาย

 

ดร.วิเชียร  ตันศิริคงคล  ประธาน สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.)   กล่าวว่า เห็นด้วยกับการหยิบยกประเด็นความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมขึ้นเป็นวาระ ความน่าเชื่อถือของหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ ความยุติธรรมในการเข้าถึง ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ตกเป็นผู้ต้องหา สามารถเข้าถึงข้อมูลพยานหลักฐานได้   เมื่อ human error มันมีจริง เราจะทำอย่างไรให้มีการตรวจสอบ มีการประกันคุณภาพ  และตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

 

นายสัญญา  กล่าวว่า คดีเกาะเต่ามีปัญหาในเนื้อหาจริงๆ คุณหมอวี บอกว่าต้อง 99.9999 การตรวจสอบ   DNA ที่ด้ามจอบ ไม่พบ DNA ของผู้ต้องหา  เสื้อของคนร้ายควรจะมีเลือดติดอยู่ด้วย ถึงแม้จะซักแล้วก็ยังมีคราบเลือดติดอยู่ และที่เกิดเหตุยังมีถุงยางอนามัยที่ใช้แล้วไม่พบ DNA ของอสุจิของจำเลยทั้งสอง  ประเทศอังกฤษตรวจซ้ำศพของผู้ตายผู้หญิง มีหลายจุดที่ไม่ตรงกันกับของไทย

“พนักงานสอบสวน ไม่มีองค์ความรู้ว่าอะไรเป็นพยานหลักฐาน หรือไม่ เจออะไรก็จะหยิบจับเลย เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานสอบสวน  หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสองส่วนคือ กองพิสูจน์หลักฐาน และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ต้องได้รับงบประมาณมากพอ งบในการดูแลรักษาเครื่องมือก็ถูกตัดลงทุกปี การให้ความสำคัญของสิทธิจำเลย และเหยื่อ ทายาทโดยธรรมของทั้งสองฝ่ายควรมีสิทธิโดยตรงที่จะเข้าถึงขั้นตอนเหล่านี้   รวมทั้ง พรบ.ข้อมูลข่าวสาร   การรับฟังพยานหลักฐาน  ศาลจะเชื่อใคร มีการพูดถึงระบบมาตรฐาน และระบบความน่าเชื่อถือของบุคลากร  ในอดีตถ้ามี

 

ช่วงท้าย ดร.วิเชียร  กล่าวสรุป   กระบวนการยุติธรรมมันไม่สมบูรณ์โดยตัวของมันเอง ต้องปรับปรุงอีกมาก มีคำพูดว่าคุกมีไว้ขังคนจน ก็ไม่ผิด  มีการตั้งข้อกล่าวหาจับไว้ก่อน   ทำให้มีการจับแพะเกิดขึ้นมาก  กระแสสังคมก็เป็นปัญหาใหญ่   เจ้าพนักงานของรัฐบางคนต้องการเป็น hero   หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีทางได้เห็น  ติดคุกไปก่อนแล้วค่อยไปสู้คดีเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมในชั้นศาล หรือแม้กระทั่งหักล้างในชั้นอุทธรณ์ แล้วจำเลยจะมีปัญญาไปหา second opinion หรือไม่  ควรเอางบประมาณที่ไปใช้กับคนไปติดคุก นำไปเสริมเรื่องนิติวิทยาศาสตร์จะดีกว่าหรือไม่  เราต้องลงทุนในการพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้มากกว่านี้

ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล