ศาลสั่งจำคุกคนละ10ปี3ตำรวจสภ.สุไหงปาดี ทุจริตต่อหน้าที่เรียกเงิน5แสนกลางโรงพัก แลกไม่เอาผิดยัดข้อหายาเสพติด

ศาลสั่งจำคุกคนละ10ปี3ตำรวจสภ.สุไหงปาดี ทุจริตต่อหน้าที่เรียกเงิน5แสนกลางโรงพัก แลกไม่เอาผิดยัดข้อหายาเสพติด

เมื่อวันที่25 ก.ย.2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค9 จ.สงขลา อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่อท.15/2562คดีหมายเลขแดงที่อท.38/2562 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต1ภาค9 โจทก์  ร.ต.อ.ธรณ์ธันย์ หนูสุวรรณ์ ร.ต.อ.สุวิทย์ อิสโร และส.ต.ท.กานต์ ผลสิทธิ์ จำเลยที่ 1-3 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเสรีภาพ

สารีดา บินบือเฮง
สารีดา บินบือเฮง ร้องศูนย์ดำรงธรรม

คำฟ้องระบุว่า โดยขณะเกิดเหตุจำเลยที่1ที่2รับราชการตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน จำเลยที่3 รับราชการตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส วันที่14 มกราคม 2562เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันตั้งด่านตรวจค้นบริเวณตรงข้ามกับโรงพยาบาลสุไหงปาดี จำเลยทั้งสามแสดงตัวและขอตรวจค้นรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน รุ่นนาวาร่า  หมายเลขทะเบียน ผต 21 สุราษฎร์ธานี ซึ่งน.ส.สารีดา บินบือ เฮง ผู้เสียหายกับพวกขับมาถึงบริเวณดังกล่าว แล้วจำเลยทั้งสามเชิญผู้เสียหายกับพวกพร้อมยึดรถยนต์คันนี้ไปยังสภ.สุไหงปาดี และควบคุผู้เสียหายกับพวกไว้ในห้องสืบสวน สภ.สุไหงปาดี เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตโดยใช้อำนาจครอบงำผิดครองธรรม ข่มขืนใจหรือจูงใจผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายมอบเงินให้500,000 บาท แก่จำเลยทั้งสาม โดยอ้างว่าค้นพบสิ่งผิดกฎหมายภายในรถดังกล่าว

 

ความจริงแล้วตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และร่วมกันควบคุมผู้เสียหายกับพวกไว้ในห้องสืบสวนอันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แล้วจำเลยทั้งสามให้ผู้เสียหายโทรศัพท์ไปหามารดาของผู้เสียหาย โดยมารดาของผู้เสียหายโทรศัพท์ไปหาน.ส.สูรีนา แซและ ให้นำทองรูปพรรณมามอบให้ผู้เสียหายเพื่อนำไปขายและได้เงินมา 236,000 บาท และมารดาของผู้เสียหายให้เพื่อนนำเงินสด130,000 บาทมามอบให้ผู้เสียหาย รวมทั้งมารดาของผู้เสียหายยังโอนเงินสดอีก 340,000 บาท  เข้าบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น40,000บาท จากนั้นผู้เสียหายนำเงิน400,000 ไปมอบให้แก่จำเลยทั้งสามเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวผู้เสียหายกับพวกไป เหตุเกิดที่ตำบลปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ,90, 148 ,157 ,310

 

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธว่า จำเลยทั้งสามรับว่าร่วมตรวจค้นรถกระบะคันดังกล่าวจริง เนื่องจากได้รับรายงานว่ารถยนต์กระบะคันนี้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและใช้เวลาการตรวจค้นนานแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย จึงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายโกรธแค้นและจำเลยทั้งสามไม่ได้เรียกเงินจากผู้เสียหาย

 

ทางไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นข้อยุติว่า เมื่อวันที่14 มกราคม 2562 เวลาประมาณ15นาฬิกา น.ส.สารีดา บินบือเฮง ผู้เสียหาย กับพวกเดินทางโดยรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน รุ่นนาวาร่า สีแดง หมายเลขทะเบียน ผต.21 สุราษฎร์ธานี ไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนายอิบรอเฮ็ม ดอเลาะ เป็นคนขับ เมื่อรถยนต์แล่นผ่านสี่แยกไฟแดงข้างโรงพยาบาลสุไหงปาดีถึงบริเวณทางโค้ง เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.สุไหงปาดี เรียกให้หยุดรถแบะแสดงตัวเป็นเจ้าหนักงานตำรวจ ขอตรวจค้นรถยนต์ หลังจากตรวจค้นได้สักครู่หนึ่งเจ้าพนักงานตำรวจก็นำรถยนต์ดังกล่าวพร้อมผู้เสียหายกับพวกไปที่ห้องสืบสวนสภ.สุไหงปาดี พร้อมกับตรวจค้นรถยนต์คันนี้โดยละเอียด ซึ่งคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า การตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ผู้เสียหายอ้างว่า จำเลยที่1 เรียกเงิน 500,000 บาท จากผู้เสียหาย หากไม่ให้จะจับผู้เสียหายกับพวกทั้งหมดมาดำเนินคดี ต่อมาผู้เสียหายมอบเงินให้400,000 บาท โดยจำเลยที่2 เป็นผู้เจรจายอมรับเงินดังกล่าว ส่วนจำเลยที่3เป็นผู้ตรวจนับเงิน

 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่ และร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้ผู้เสียหายมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่  ได้ความจากสำนวนการสอบสวนและผู้เสียหาย นายอิบรอเฮ็ม ดอเลาะ นายอาซือมิ่ง มะสาและ ต่างเบิกความว่า เมื่อวันที่14 มกราคม 2562 เวลาประมาณ 15นาฬิกา พยานทั้งสามเดินทางไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยใช้รถยนต์กระบะนิสสิน รุ่นนาวาร่า สีแดง หมายเลขทะเบียน ผต 21 สุราษฎร์ธานี เป็นยานพาหนะ มีนายอิบรอเฮ็ม เป็นคนขับ มีน.ส.รอบียะ การียา น.ส.ไอโอนี ดอเลอะ และเด็กอีก 4 คน โดยสารร่วมเดินทางไปด้วย เมื่อรถยนต์แล่นผ่านด่านตรวจฉัตรวารินได้สักครู่ เจ้าพนักงานนอกเครื่องแบบ2คน เรียกให้หยุดรถและขอตรวจค้นรถยนต์ จากนั้นมีเจ้าพนักงานตำรวจเดินทางมาโดยรถยนต์กระบะและรถจักรยานยนต์อีกประมาณ 4คน หนึ่งในเจ้าพนักงานตำรวจที่ตรวจค้นบอกว่ามีสิ่งผิดกฎหมายและเชิญพยานทั้งสามและพวกทั้งหมดไป สภ.สุไหงปาดี โดยให้นายอิบรอเฮ็ม กับนายอาซือมิ่ง นั่งรถยนต์กระบะของเจ้าพนักงานตำรวจ ส่วนผู้เสียหายกับพวกที่เหลือนั่งรถยนต์คันเดิม โดยเจ้าพนักงานตำรวจเป็นคนขับ เดินทางไปถึง สภ.สุไหงปาดี เวลาประมาณ 16 นาฬิกา

 

เจ้าพนักงานตำรวจพยายามให้พยานทั้งสามกับพวกทั้งหมดเข้าไปในห้องสืบสวน จำเลยที่1ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 เครื่อง จากพยานทั้งสามกับพวกไป ระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจทำการตรวจค้นรถยนต์กระบะ จำเลยที่1 เรียกเงิน 500,000 บาท จากผู้เสียหายโดยบอกผู้เสียหายมีสิ่งผิดกฎหมาย หากผู้เสียหายไม่ให้เงินจะจับผู้เสียหายกับพวกทั้งหมดดำเนินคดี ผู้เสียหายกลัวจึงขอพูดกับน.ส.ดอรียะ ดอเลอะ มารดาของผู้เสียหายก่อน จำเลยที่1 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ผู้เสียหาย1เครื่อง ผู้เสียหายใช้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวติดต่อดับน.ส.รอดียะ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง แต่น.ส.รอดียะไม่มีเงิน แต่ให้นำทองคำที่ฝากไว้กับญาติ คือ นางไหมมูเน๊าะ ดอเลาะ ไปขาย ผู้เสียหายบอกนายอิบรอเฮ็มว่าเจ้าพนักงานตำรวจเรียกเงิน 500,000 บาท หลังจากนั้นไม่นาน น.ส.สูรีนา แซและ บุตรของนางไหมหมูเน๊าะ ขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่ สภ.สุไหงปาดี พาไปขายทองคำที่ร้านห้องทองยินดี อ.สุไหงโก-ลก ได้เงิน236,000 บาท

 

จากนั้นผู้เสียหายได้โทรศัพท์ติดต่อกับน.ส.รอดียะว่าเงินได้ไม่ครบ น.ส.รอดียะ บอกว่าจะยืมเงินจากเพื่อนน.ส.รอดียะ และให้ผู้เสียหายรอที่ร้านทองดังกล่าว ถัดมามีผู้หญิงขับรถจักรยานยนต์มาหาผู้เสียหายแล้วถามผู้เสียหายว่าเป็นลูกของกะยะหรือไม่ ผู้เสียหายบอกว่าใช่ ผู้หญิงคนดังกล่าวจึงมอบเงินให้ผู้เสียหาย 130,000 บาท ผู้เสียหายโทรศัพท์ติดต่อน.ส.รอดียะอีกครั้งว่าได้รับเงินแล้ว แต่เงินยังไม่ครบจำนวนที่ต้องการ นางรอดียะจึงโอนเงินเข้าบัญชีผู้เสียหาย 34,000 บาท ผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติ2ครั้ง แล้วเดินทางไปที่ สภ.สุไหงปาดี ผู้เสียหายฝากเงินทั้งหมดไว้กับน.ส.สูรีนา แล้วผู้เสียหายเข้าไปในห้องสืบสวนเพียงคนเดียว และได้พูดกับจำเลยที่1ว่าสามารถนำเงินมาได้ 400,000บาท ขอให้ปล่อยตัวพวกของผู้เสียหายไปก่อน จำเลยที่2 ยอมรับเงินจำนวนดังกล่าว หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจขับรถพาพวกผู้เสียหายออกจาก สภ.สุไหงปาดี ผู้เสียหายโทรศัพท์ติดต่อให้น.ส.สูรีนานำเงินมาให้ที่ห้องสืบสวน เมื่อ น.ส.สูรีนา เข้ามาในห้องสืบสวนก็ถูกยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ แล้ว น.ส.สูรีนา มอบเงินให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็มอบเงินให้จำเลยที่2  จากนั้นจำเลยที่3 เป็นผู้นำเงินไปนับ

 

เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่2 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครอ.สุไหงปาดี ว่าพื้นที่ หมู่ที่7ต.ปอเนาะ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส มีผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่และใช้รถยนต์นิสสัน นาวาร่าสีแดง หมายเลขทะเบียน ผต 21 สุราษฎร์ธานี เป็นยานพาหนะในการขนยาเสพติด จำเลยที่ 2จึงรายงานเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ตามบันทึกข้อความหมายเลข จ.13 จนกระทั่งวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจพบรถยนต์คันต้องสงสัยผ่านมาจึงเรียกตรวจที่ใกล้กับจุดตรวจฉัตรวาริน หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจเชิญผู้เสียหายกับพวกไปที่ห้องสืบสวน สภ.สุไหงปาดี และค้นรถยนต์อีกครั้งที่บริเวณหน้าห้องสืบสวน จำเลยทั้งสามกับเจ้าพนักงานตำรวจจึงมีเหตุแห่งการค้นรถยนต์คันนี้อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ การค้นใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายจึงไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสามต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

ผู้เสียหายกับพวกควรเดินทางออกจาก สภ.สุไหงปาดีหลังจากนั้นไม่นานนัก แต่กลับได้ความว่าผู้เสียหายโทรศัพท์ติดต่อกับน.ส.รอดียะซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายเพื่อขอความช่วยเหลือ และเมื่อน.ส.รอดียะเสนอวิธีช่วยเหลือให้ผู้เสียหายนำทองคำที่ฝากไว้กับญาติไปขาย จากนั้นไม่นานน.ส.สูรีนาญาติของผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่สภ.สุไหงปาดี แล้วเดินทางไปร้านทองยินดีที่อ.สุไหงโก ลก เพื่อขายทองคำในเวลาที่ร้านทองจะปิดบริการแล้ว และให้น.ส.ดอรียะพูดโทรศัพท์กับเจ้าของร้านทอง ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ตรงกับคำเบิกความของน.ส.สูรีดาทั้งสอดคล้องกับคำให้การของนายไพบูลย์ รัตนพิธาน ผู้รับซื้อทองคำว่าผู้เสียหายกับน.ส.สูรีนาได้นำทองคำมาขายที่ร้านทองยินดีในช่วงเวลาประมาณ17ถึง18นาฬิกา และก่อนซื้อขายทองคำมารดาของนายไพบูลย์พูดโทรศัพท์กับบุคคลคนหนึ่งจริงและรับซื้อทองคำไว้ในราคา 236, 000 บาท ตามบันทึกคำให้การของนายไพบูลย์เอกสารหมายเลขจ.27 และมีภาพที่บันทึกจากกล้องวงจรปิดขณะผู้เสียหายขายทองคำภายในร้านระบุเวลา 18นาฬิกา ซึ่งช้ากว่าเวลาจริงไป 39.18 นาที ตามภาพถ่ายหมายเลขจ.44 ภาพที่ 4 แสดงให้เห็นถึงการเร่งรีบและความจำเป็นต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วนของผู้เสียหาย

 

และเมื่อผู้เสียหายเห็นว่าจำนวนเงินที่ได้จากการขายทองคำไม่เพียงพอก็ยังโทรศัพท์ติดต่อขอความช่วยเหลือจากน.ส.รอดียะอีก ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ได้ความจากน.ส.รอดียะว่า พยานได้ขอยืมเงินจากนางกาย๊ะ ตาปู 150,000 บาท แต่นางกาย๊ะ ให้ยืมเพียง130,000 บาท ซึ่งตรงกับคำเบิกความของนายกาย๊ะ และคำให้การของน.ส.รอดียะกับนางอาย๊ะ ตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.25 และจ.26 นอกจากนี้หลังจากผู้เสียหายได้รับเงิน130,000บาท แล้ว น.ส.รอดียะยังโอนเงินเข้าบัญชีผู้เสียหายอีก34,000 บาท และผู้เสียหายได้เบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกไปจากบัญชีวันเดียวกันตามรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารเอกสารหมายเลขจ.58 แผ่นที่58

 

หลังจากนั้นผู้เสียหายกับน.ส.สูรีนาเดินทางไป สภ.สุไหงปาดี โดยผู้เสียหายฝากเงินไว้กับน.ส.สูรีนาแล้วเดินเข้าไปห้องสืบสวนเพียงลำพัง ส่วนน.ส.สูรีนารอยู่นอก สภ.สุไหงปาดี เมื่อผู้เสียหายพูดกับจำเลยที่1 ว่า สามารถหาเงินได้เพียง 400 ,000 บาท จำเลยที่2 ตกลงยินยอมที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าว ผู้เสียหายให้จำเลยทั้งสามปล่อยตัวพวกของผู้เสียหายก่อน หลังจากที่พวกของผู้เสียหายเดินทางออกจาก สภ.สุไหงปาดี ผู้เสียหายได้โทรศัพท์ติดต่อให้น.ส.สูรีนานำเงินมาให้ที่ห้องสืบสวน เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินแล้วก็ส่งให้จำเลยที่3 ไปนับเจือสมและตรงกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ว่าเห็นผู้เสียหายกับน.ส.สูรีนา เดินสวนกับจำเลยที่3 เข้าไปในห้องสืบสวนและตรงกับคำให้การของจำเลยที่3 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมายเลขจ.17 และจ.58 แผ่นที่ 26 ระบุว่า ต่อมาเวลาประมาณ19 นาฬิกา หญิงคนดังกล่าวได้กลับมาโดยมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งมาด้วย และในขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 เห็นรถยนต์คันที่ถูกตรวจค้นแล่นออกจาก สภ.สุไหงปาดี จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้ยินเสียการพูดคุยระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหาย ทั้งยังตรงกับคำให้การครั้งแรกของส.ต.อ.บุรินทร์ ศิริรัตน์ และส.ต.ท.พรหมมนัส แผ้วสะอาด ตามบันทึกให้การของพยานเอกสารหมายจ.58 แผ่นที่17 และ21 ว่า หลังจากปฏิบัติการซุ่มโป่งจนกระทั่งเวลาประมาณ19 นาฬิกา ก็เดินทางกลับ สภ.สุไหงปาดีและเห็นรถยนต์คันที่ถูกตรวจค้นยังจอดอยู่ซึ่งการตรวจค้นดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น จึงไม่มีเหตุอันใดที่รถยนต์คันดังกล่าวยังจอดอยู่ที่หน้าห้องสืบสวนในเวลาดังกล่าวอีก และไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะกลับมาที่ห้องสืบสวนอีกครั้งในเวลาดังกล่าวเพียงเพื่อสอบถามจำเลยที่1 และที่ 2ว่าใครเป็นผู้แจ้งว่าผู้เสียหายมียาเสพติดตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง

 

นอกจากนี้หลังจากมีข่าวว่า ผู้เสียหายได้ร้องเรียนเจ้าพนักงานตำรวจชุดตรวจค้น ภาพที่บันทึกไว้ในกล้องวงจรปิดของ สภ.สุไหงปาดี ในวันเกิดเหตุไม่สามารถเปิดดูได้ แต่ภาพหลังวันเกิดเหตุยังเป็นปกติ ซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างว่ากล้องวงจรปิดที่สภ.สุไหงปาดี เสียเป็นประจำจึงไม่มีการบันทึกภาพในวันเกิดเหตุ แต่ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ได้ความจากคำให้การของนายนูรุดดีน หะยีดือเระ ตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมายเลขจ.29 ว่า นายนูรุดดีน เพิ่งติดตั้งกล้องวงจรปิดที่สภ.สุไหงปาดี เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 8 จุด มีกล่องควบคุม DVR ที่ห้อง CCTV ระบบการทำงานจะบันทึกตลอดเวลาหมุนเวียนประมาณ1 เดือน สามารถย้อนภูภาพได้ประมาณ1เดือน จึงไม่น่าเชื่อว่ากล้องวงจรปิดที่เพิ่งติดตั้งก่อนเกิดเหตุไม่นานจะบันทึกภาพวันเกิดเหตุไม่ได้เพราะชำรุดตามที่จำเลยที่1 ต่อสู้ แต่น่าจะเกิดจากบุคคลที่ทำการลบภาพที่บันทึกไปก่อนประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจที่ค้นรถยนต์คันนี้มีจำนวนหลายคนแต่ผู้เสียหายกลับชี้ระบุจำเลยทั้งสามเท่านั้นมีส่วนร่วมในการเรียกรับเงินจากผู้เสียหายตามบันทึกการชี้รูปผู้ต้องหาเอกสารหมายจ.9 และไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน  ส่วนพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับรายละเอียดภายหลังเดินทางออกจาก สภ.สุไหงปาดีเพื่อกลับบ้านเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังความผิดได้สำเร็จแล้ว

 

พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยการค้นรถยนต์คันดังกล่าวโดยทุจริตและเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบข่มขืนใจผู้เสียหายอ้างว่าพบสิ่งผิดกฎหมายในรถยนต์และจะดำเนินคดีผู้เสียหายกับพวกทั้งหมดหากผู้เสียหายไม่ให้เงิน500,000 แก่จำเลยทั้งสาม จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวยอมมอบเงิน 400,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสาม

 

พฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148  เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามมาตรา 148 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วย่อมไม่จำต้องปรับบทมาตรา157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

 

ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายกับพวกหรือไม่ ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสามว่า หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นรถยนต์ครั้งแรก เจ้าพนักงานตำรวจเชิญผู้เสียหายกับพวกไปที่ห้องสืบสวน สภ.สุไหงปาดีและได้ทำการตรวจค้นรถยนต์คันนี้อีกครั้ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นปรากฏว่า ผู้เสียหายกับพวกยังสามารถเดินเข้าออกห้องสืบสวนได้ตามปกติ ไม่ได้ถูกกักขังแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายตามฟ้อง

 

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ประกอบมาตรา83 จำคุกคนละ 10 ปี ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก