ช็อกตุลาการ!ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจ.ยะลายิงตัวคาบัลลังก์ เลขาศาลยุติธรรมรุดเยี่ยมเผยอาการปลอดภัยแล้ว

ช็อกตุลาการ!ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจ.ยะลายิงตัวคาบัลลังก์ เลขาศาลยุติธรรมรุดเยี่ยมเผยอาการปลอดภัยแล้ว

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.2562  ศูนย์รวมข่าว สภ.เมืองยะลา รับแจ้งว่ามีเหตุใช้อาวุธปืนภายในห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดยะลา จึงได้แจ้ง พ.ต.อ.นราวี บินแวอารง ผกก.สภ.เมืองยะลา พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวน และเจ้าหน้าที่จากศูนย์พิสูจน์หลักฐานที่ 10 ยะลา เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที

และเมื่อถึงที่เกิดเหตุ ทราบว่าผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลาไปก่อนหน้าแล้ว ทราบชื่อคือ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ถูกยิงด้วยอาวุธปืนยังไม่ทราบขนาดเข้าที่ใต้ราวนม 1 นัด อาการสาหัส โดยจากการสอบสวนทราบว่า นายคณากรได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองหลังพิจารณาคดีเสร็จภายในห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดยะลา ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุของการยิงว่าเกิดจากสาเหตุใด

ส่วนที่ รพ.ศูนย์ยะลา แพทย์ยังคงดูแลอาการนายคณากรอย่างใกล้ชิด โดยมีญาติและบุคลากรในศาลเดินทางมาดูอาการในห้องไอซียู ขณะที่ รพ.ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ห้องไอซียูโดยเด็ดขาด

ขณะที่ในโลกออนไลน์ต่างแชร์ข้อมูลคำแถลงของนายคณากรในคดีหมายเลขดำที่ 3428/2561 จำนวน 25 หน้า ซึ่งเป็นคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดยะลาเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายซูกรี มูเซะ ที่ 1, นายสาแปอิง สะเดาะ ที่ 2, นายแวอาแซ แวยูโซะ ที่ 3, นายมัสสัน เจะดือเระ ที่ 4 และนายอับดุลเล๊าะ มะสาเม๊าะ ที่ 5 เป็นจำเลยในความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลหุโทษ โดยในแถลงการณ์ดังกล่าวได้ให้รายละเอียดในคดีดังกล่าว และขั้นตอนการดำเนินการ รวมทั้งเผยถึงการถูกบีบถูกกดดันจากผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ให้แก้ไขคำพิพากษา และปัญหาด้านการเงินของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงท้าย ในแถลงการณ์นายคณากรได้เรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.ให้สภานิติบัญญัติออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใดๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา และ 2.ให้สภานิติบัญญัติ และนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้พิพากษาบางกลุ่มจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่มีข้อขัดข้องไม่สามารถส่งออกจากศาลยุติธรรมเพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีได้

“ผมขอฝากถ้อยคำถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยและผู้รักความยุติธรรมทุกท่านไว้ 2 ประโยค คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน คำแถลงของผมอาจมีน้ำหนักเบาเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลงขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน”นายคณากรทิ้งท้าย

 

ต่อมาเมื่อวันเสาร์  ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมนายคณากร โดยนายวันนอร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เยี่ยมให้กำลังใจเพื่อคารวะแก่นักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เราต้องการหาคนแบบนี้ เพื่อช่วยหาความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน และผดุงไว้เพื่อความสูงส่งของกระบวนการยุติธรรม

จากนั้นจึงได้เข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้พิพากษาภายในห้องไอซียูชั้นสอง โดยที่สื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปบันทึกภาพภายในได้ ซึ่งนายวันนอร์ใช้เวลาในการเข้าเยี่ยมประมาณ 10 นาที ก่อนที่จะออกมาพร้อมระบุว่าท่านผู้พิพากษาอาการปลอดภัย แต่ยังคงมีอาการบาดเจ็บ ได้มีการพูดคุยกันเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ตนเองก็ให้กำลังใจและให้ท่านพักผ่อนเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น

และเมื่อวันที่ 6 ต.ค. เวลา 10.50 น. ที่โรงพยาบาลยะลา  นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม ได้เดินทางมาเยี่ยมอาการ นายคณากร เพียรชนะ ซึ่งล่าสุดนายคณากร  แพทย์ได้ย้ายไปพักผ่อนที่ห้องพิเศษ และไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าเยี่ยมแต่อย่างใด

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ได้เดินทางมาเยี่ยมท่านผู้พิพากษาที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้อาการปลอดภัยดีแล้วอยู่ในระหว่างการดูแลของแพทย์  และต้องเรียนให้ทราบว่าการทำหน้าที่ของศาลยุติธรรม ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ฉะนั้นสามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาไม่เฉพาะที่ยะลา แต่ทุกศาลทั่วประเทศไทยภายใต้การดูแลของท่านประธานศาลฎีกา ที่สามารถให้คำแนะนำท่านผู้พิพากษาได้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญความเป็นกลางของผู้พิพากษา  สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางสำนักงานศาลจะตรวจสอบข้อเท็จจริงหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และหาแนวทางแก้ไขต่อไป ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในวันพรุ่งนี้ตนก็จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งภาพปัญหาทั้งหมด

“สำหรับอาการของท่านขณะนี้รับทราบจากท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่าดีขึ้นแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะต้องอยู่พักรักษาตัวอีกนานเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับทางแพทย์ ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ได้พูดคุยกับท่าน เพียงแต่เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจท่านเท่านั้น ไม่ได้ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าท่านคงจะยังไม่พร้อมที่จะพูด  ทั้งนี้ตนเองรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอเรียนให้พี่น้องประชาชนให้ทราบว่ากระบวนการทำงานของศาลยุติธรรม จะเคารพต่อการพิจารณาของท่านผู้พิพากษา ฉะนั้นการแทรกแซงก็จะมีการระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น ในวัฒนธรรมการทำงานของผู้พิพากษาการดำเนินการต่างๆก็มีเขียนไว้ในกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 183  ว่าถ้าผู้พิพากษามีความเห็นที่แตกต่าง สามารถทำความเห็นแย้งได้ และการทำความเห็นแย้งจะต้องทำเป็นหนังสือ”

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในมาตรา 184 ในคดีอาญา ทางผู้พิพากษาสามารถที่จะปรึกษาหารือกัน และถ้ามีความเห็นแตกต่างกันในคดีอาญา คนที่เห็นเป็นผลร้ายกับจำเลยมากกว่าต้องยอมตามความเห็นของผู้พิพากษาที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า หมายความว่า ถ้าคิดต่างกัน คนหนึ่งเห็นว่ายกฟ้อง คนหนึ่งเห็นว่าควรลงโทษ คนที่เห็นว่าควรลงโทษต้องยอมตามคนที่พิพากษายกฟ้อง  ที่เป็นหลักปฏิบัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายมาตราที่ 183 184  หลักเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดเอาไว้มีความชัดเจน พี่น้องประชาชนจะได้รับความยุติธรรม  ศาลยุติธรรมพิพากษาด้วยความบริสุทธิ์ ปราศจากการแทรกแซง และนอกจากนี้จะเห็นว่าคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีความ คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องกับลงโทษ กว่าครึ่งที่ศาลพิพากษายกฟ้อง  ตนขอย้ำว่าศาลมีความเป็นกลาง และมีความอิสระอย่างแท้จริง

เลขาธิการศาลยุติธรรม  กล่าวอีกว่า  สำหรับคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีระบบกระบวนการวิเคราะห์และรายงานตลอดเวลา ปัจจุบันศาลยุติธรรมพิจารณาคดีทั้งประเทศประมาณเกือบสองล้านคดี ฉะนั้นคดีในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนาภาคใต้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรม และมีฐานข้อมูลทั้งหมด ในวันนี้นโยบายของท่านประธานศาลฎีกา ที่ให้พิพากษาคดีให้รวดเร็ว แต่จะต้องมีความรอบคอบ มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว  ส่วนกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ต้องรับฟังทุกฝ่าย รอบด้าน