เปิดตัว’สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ ‘ดร.วิเชียร’นั่งประธาน’วิรุตม์’เลขาธิการ’อ.คณิต’ประธานที่ปรึกษา เดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

เปิดตัว’สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ ‘ดร.วิเชียร’นั่งประธาน’วิรุตม์’เลขาธิการ’อ.คณิต’ประธานที่ปรึกษา เดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

สปยธ.

 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562   ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล พญาไท  กรุงเทพฯ  สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) หรือ Police Watch และมหาวิทยาลัยบูรพา จัดงานเสวนาวิชาการ “จะปฏิรูปงานสอบสวนและการสั่งคดีของอัยการอย่างไรให้เกิดความยุติธรรม ให้ประชาชนเชื่อถือเชื่อมั่น” พร้อมกับเปิดตัว สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เรียกย่อๆว่า สป.ยธ. ภาษาอังกฤษ คือ Institute for Justice Reform หรือ IJR  และหนังสือ “ปัญหาการสอบสวนไทยกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนและการปฏิรูป”เขียนโดยพ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสป.ยธ.

โดย ผศ. ร.ต.อ.ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  กล่าวเปิดงานว่า สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่เชื่อร่วมกันว่ากระบวนการยุติธรรม ถือว่าเป็นหลักชัยในการบริหารบ้านเมือง ประเทศใด ที่มีกระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ถือว่าประเทศนั้นจะเป็นประเทศที่เป็นที่ยอมรับของอาณาอารยประเทศ ในประเทศไทยนั้นจะพบว่ากระแสการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นกระแสที่พูดถึงอย่างมากเป็นระยะเวลา 10  ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปตำรวจก็ดี การปฏิรูปการทำงานของตำรวจร่วมกับ อัยการก็ดี หรือแม้กระทั่งในเรื่องของการคุมประพฤติ หรือการคืนคนดีสู่สังคม หรือการ แก้ไขคนในกระบวนการระหว่างที่ถูกจองจำอยู่ในราชทัณฑ์

ประธานสป.ยธ. กล่าวว่า ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นสิ่งซึ่งคณะบุคคลที่ร่วมก่อตั้ง สป.ยธ.ตระหนักดีว่ามี ความสำคัญในสังคมไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพัฒนาประเทศในด้านอื่น จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2560 ซึ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ของรัฐธรรมนูญที่พูดถึงการปฏิรูปประเทศ  ในหมวดที่ 16 มาตรา 258 เขียนไว้ชัดเจน ในหมวด “ง”  ในวงเล็บ (1) (2) (3) (4) พูดถึงการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการ ยุติธรรมไว้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญถือเป็น หลักฐานเชิงประจักษ์ว่าประเทศไทยคงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เป็น รูปธรรมอย่างแท้จริง

นอกเหนือจากนั้นรัฐบาลที่ผ่านมาที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งก็ได้ แถลงไว้ในนโยบาย 12 ด้าน ปรากฏอย่างชัดเจนในด้านที่ 12 เป็นการแถลงของท่าน นายกรัฐมนตรีว่ารัฐบาลสนับสนุนให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดังปรากฏใน นโยบายที่ 12.2 ซึ่งเป็นการแถลงในรัฐสภาที่ผ่านมา  สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นหลักฐานเชิง ประจักษ์ เป็นข้อผูกพัน ข้อผูกมัดที่รัฐ ไม่ว่ารัฐบาลใดๆต้องปฏิบัติตาม เพราะมัน ปรากฏในรัฐธรรมนูญว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย

ทั้งนี้กฎหมายจะไม่เป็นจริงได้ถ้าไม่มีการขับเคลื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาครัฐ ภาค ประชาสังคม ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังและยั่งยืน   ดังนั้นเราจึงจัดงานสัมมนาเพื่อนำสิ่งที่มีอยู่ในหลายหัวข้อให้สังคมไทยร่วมกันคิดร่วมกันถก เถียงในเรื่องของบทบาทอัยการในการสอบสวนคดีอาญา เป็นสิ่งสำคัญมาก  ก็ขอให้ การสัมมนาวันนี้เป็นไม้ขีดก้านแรกที่จุดกองไฟให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็น ไปตามรัฐธรรมนูญ

“สป.ยธ ต้องขอกราบขอบคุณผู้เข้าร่วมสัมมนา ขอบคุณศาสตราจารย์คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมของไทย  ขอบคุณดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดกาญจนบุรี และ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สป.ยธ. และขอให้การสัมมนาวันนี้ทุกท่านมีส่วนร่วมให้เป็นประโยชน์ ต่อสังคมไทย”ผศ. ร.ต.อ.ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล กล่าว

สปยธ.

จากนั้น ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และประธานที่ปรึกษาสป.ยธ.  แสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิกฤติกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย จะปฏิรูปอย่างไร?” โดยอ.คณิต เสนอว่า ถึงเวลาต้องปฏิรูป”สายพาน”กระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล และ กรมราชทัณฑ์

หลังจากนั้น มีการเสวนาหัวข้อ “จะปฏิรูปงานสอบสวนและการสั่งคดีของอัยการอย่างไร ให้เกิดความยุติธรรม ประชาชนเชื่อถือเชื่อมั่น” โดย ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี และ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นวิทยากรหลัก โดยคุณชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ เป็นผู้ดำเนินรายการ (รายละเอียดติดตามจากหมวดฟอรั่มยุติธรรม)

สปยธ.

ทั้งนี้ มีตัวแทนจากหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมและองค์กรที่เกี่ยวข้อง มาร่วมเสวนา กว่า  50 คน ประกอบด้วยตัวแทนจาก สำนักงานอัยการสูงสุด ,สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ปปท.),สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.),กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ,กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ,กรมราชทัณฑ์,กรมการปกครอง,กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.),สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.),สภาทนายความ ,สมาพันธ์ทนายแห่งประเทศไทย,สมาคมนักปกครอง ,สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ,มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ,คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.),มูลินิธิเด็ก ,มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต,กลุ่มธรรมาธิปไตย,องค์กร Centre for Humanitarian Dialogue, L4U Service Thailand , สถานทูตเบลเยียม, สถานทูตเดนมาร์ก ร่วมเสนอข้อมูลปัญหา ซักถาม และเสนอแนวความคิดในการปฏิรูป แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ฯ เลขาธิการสป.ยธ.กล่าวว่า  ช่วงนี้นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทุกฝ่ายรวมทั้งนายกรัฐมนตรี  มีความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหากระบวนการยุติธรรมของชาติ  ที่อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤติผู้คนทั้งคนไทยและชาวชาติขาดความเชื่อถือเชื่อมั่นอย่างร้ายแรงยิ่ง ประเทศชาติจะเจริญได้อย่างแท้จริง  ต้องมีพื้นฐานมาจากการที่สังคมมีความยุติธรรมที่ได้รับเชื่อถือยอมรับจากทุกฝ่ายด้วยกันทั้งสิ้น การยอมรับปัญหา ทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

เลขาธิการสป.ยธ. กล่าวอีกว่า เป็นที่ยอมรับกันว่ากระบวนการยุติธรรมอาญาไทยในปัจจุบันมีจุดอ่อนสำคัญอยู่ที่การสอบสวน ซึ่งทั้งถูกผูกขาดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ซ้ำยังขาดการตรวจสอบจากภายนอกไม่ว่าจะโดยฝ่ายปกครองหรือพนักงานอัยการตามหลักสากลอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้น การที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อสภาว่า  จะเป็นผู้กำกับควบคุมงานตำรวจรวมทั้งการปฏิรูปด้วยตนเอง  และจะต้องพิจารณาไปถึงอัยการและศาลด้วย  จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนและความหวังที่สำคัญของชาติและประชาชนอย่างยิ่ง

“สป.ยธ.จะเฝ้ามองและติดตามความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปของรัฐบาลอย่างไกล้ชิด  รวมทั้งจะพยายามให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจำเป็น เพื่อช่วยให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของชาติเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไปสู่ความมีมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ โดยจะนำความคืบหน้ามารายงานให้พี่น้องประชาชนทราบเป็นระยะๆ ต่อไป”พ.ต.อ.วิรุตม์  กล่าว

สำหรับวัตถุประสงค์การก่อตั้ง สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  (สป.ยธ.) มีดังนี้

1.เพื่อศึกษา วิจัยปัญหา และพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคกัน และเกิดความสงบสุขในสังคม

2.เพื่อเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม องค์กรภาครัฐ ภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคสิชาการและวิชาชีพ แบ่งปันข้อมูล ความเห็น ประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างภูมิปัญญา ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และนำไปสู่ปฏิบัติการจริงที่เอื้ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

3.เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ จัดกิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิผล

4.เพื่อรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูปกระบวนการบุติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพ

 

โครงสร้างคณะกรรมการ ประกอบด้วย ศ.ดร.คณิต ณ นคร   ประธานที่ปรึกษา สมชาย หอมลออ  ที่ปรึกษา ศ.ดร. บรรเจิด  สิงคะเนติ  ที่ปรึกษา ศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต  ที่ปรึกษา   รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต   ที่ปรึกษา ดร.น้ำแท้  มีบุญสล้าง ที่ปรึกษา

ผศ.ร.ต.อ.ดร. วิเชียร  ตันศิริคงคล ประธานกรรมการ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  กรรมการและเลขาธิการ สมศรี หาญอนันทสุข  กรรมการ ปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร กรรมการ  สุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการ  บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ กรรมการ

สปยธ.

ติดต่อประสานงาน  สมศรี หาญอนันทสุข 081 810 5306 ,บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ 081 866 2136

Email :                  ijrforum2019@gmail.com

Website :              www.ijrforum.org

Facebook :          ปฏิรูปยุติธรรม