ยุบตำรวจภาค ลดภาระตำรวจ และเงินภาษีประชาชน ป้องกันการรับส่วยสินบน

ยุบตำรวจภาค ลดภาระตำรวจ และเงินภาษีประชาชน ป้องกันการรับส่วยสินบน

สืบเนื่องจากบทความ “กรมการปกครองสืบจับบ่อน ผับบาร์ ยาเสพติดแทนตำรวจ ยุบตำรวจภาคเถอะ” ของ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมน์นิสต์ “เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ” นสพ.ไทยโพสต์ ซึ่งแนวคิดยุบตำรวจภาค ไม่ใช่มาจาก พ.ต.อ.วิรุตม์ฯ ผู้เขียนเท่านั้น ในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ก็มีการเสนอยุบตำรวจภาค ด้วยเช่นกัน

 

โดยตัวแทนจากตำรวจเป็นผู้เสนอเอง เพราะในโลกยุค 4.0 การติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย การสั่งการต่างๆ จากส่วนกลางไม่ว่าจากรัฐบาลหรือ สตช. ไม่จำเป็นต้องผ่าน ตำรวจภาคให้เกิดความล่าช้าเป็นการเพิ่มขั้นตอนที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว สามารถสั่งตรงไปยังจังหวัดได้ทันที

 

หากยุบเสียนอกจากจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งเงินเดือนและสิทธิสวัสดิการบำเหน็จบำนาญผู้บังคับบัญชารวมทั้งยานพาหนะค่าบำรุงรักษาอาคารสถานที่และค่าใช้จ่ายในแต่ละปีมากมายรวมทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทแล้ว ยังสามารถนำกำลังพล 400 – 500 คน ของแต่ละภาค ไปปฏิบัติงานที่สถานีตำรวจให้มากขึ้นด้วย

 

สำหรับการแต่งตั้งโยกย้าย ก็ปล่อยให้เป็นอำนาจของจังหวัด โดย ผวจ. ผ่านคณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัดที่มีหัวหน้าส่วนราชการที่ที่เกี่ยวข้องและตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วม โดยให้ ผบก.ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการเสนอข้อมูลความเห็น

 

คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะรู้ปัญหาในจังหวัดทั้งสถานการณ์พื้นที่และพฤติกรรมของบุคคลดีกว่า ผบช.ภาค ที่อยู่ห่างไกล ไม่ได้มีความคุ้ยเคยกับประชาชนหรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องอะไรในจังหวัด ก่อให้เกิดปัญหาการแต่งตั้งคนไม่เหมาะสมกับงานและพื้นที่ บางคนไปรับตำแหน่งแล้วเดินเป็น “หมาหลง” ไปไหนไม่ถูก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการอยู่ทุกวันนี้

 

สำหรับปัญหาการจับกุมสถานบริการผิดกฎหมาย ต้องเข้าใจก่อนว่าปกติฝ่ายปกครองไม่มีหน้าที่ตรวจจับสถานบริการ เพราะไม่ได้มีการจัดองค์กร บุคลากรและงบประมาณที่จะสามารถเข้าเวรตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมงแบบตำรวจได้

 

ในส่วนภูมิภาคฝ่ายปกครองมีฐานะเป็นเพียงนายทะเบียนออกใบอนุญาตการเปิดสถานบริการเท่านั้น ส่วนการเปิดสถานบันเทิงเถื่อน หรืออนุญาตแล้วเปิดเกินเวลา เป็นหน้าที่ของตำรวจซึ่งมีการจัดงบประมาณและคนไว้ตรวจตรารักษากฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดตามมา

 

เหมือน พ.ร.บ.การพนัน ฝ่ายปกครอง ก็แค่เป็นนายทะเบียนออกใบอนุญาต ส่วนบ่อนผิดกฎหมาย ตำรวจมีหน้าที่ตรวจจับ หรือ กรมการขนส่ง ออกใบอนุญาตยานยนต์ ตร.ก็มีหน้าที่ตรวจจับผู้ขับรถที่ทำผิด (ตร.ผู้ใหญ่ก็ชอบด้วย เพราะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่าตำรวจผู้น้อย แม้จะไม่มีสิทธิได้ก็ตาม)

 

แต่ทำไมหน่วยตำรวจเหล่านี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่ของตน ต้องให้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่มีหน้าที่ตรวจป้องกันอาชญากรรมอีกทั้งเป็นหน่วยงานส่วนกลางไปทำหน้าที่แทน

 

ทุกวันนี้ ปกครองทำตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/58 เท่านั้น ถ้าคิดว่าการจับกุมแหล่งอบายมุขเป็นหน้าที่ของนายอำเภอ-ผู้ว่าฯ ผู้เป็นนายทะเบียน ก็ต้องโอนสถานีตำรวจไปสังกัดอำเภอ-จังหวัด ให้นายอำเภอ-ผู้ว่าฯ มีอำนาจปกครองบังคับบัญชาตำรวจเหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลก รวมทั้งให้มีอำนาจสอบสวนความผิดเกี่ยวกับอบายมุขทุกชนิดด้วย

 

หากฝ่ายปกครองมีอำนาจเช่นนั้นแล้ว ถ้าหน่วยงานส่วนกลางไปจับกุมได้ จึงจะถือว่านายอำเภอและ ผวจ.บกพร่องต่อหน้าที่ได้

 

ส่วนใน กทม.นั้น ผบช.น. เป็นทั้งนายทะเบียนผู้อนุญาตและมีอำนาจบังคับบัญชาตำรวจนครบาลเกือบสามหมื่นคน มี บก. และสถานีตำรวจพื้นที่ มีหน่วยสืบสวนพิเศษสารพัดอยู่ในความรับผิดชอบ ทั้งมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายทุกฉบับ

 

เมื่อปรากฏการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับอบายมุขบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายเกิดขึ้นทั้งในภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร คุณคิดว่าต้องทวงถามความรับผิดชอบจากใคร?

 

ถ้าตำรวจผู้ใหญ่ระดับต่างๆ ไม่รับส่วยสินบนทั้งทางตรงหรือทางอ้อมคุ้มครองแหล่งอบายมุขเหล่านี้ คุณคิดว่าเขาจะเปิดกันได้อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายกันมากมายได้ไหม?

 

เมื่อมีการจับกุมสถานบันเทิงผิดกฎหมาย แล้ว หลังจากนั้นก็มีการสั่งให้ตำรวจผู้ผิดชอบหรือที่เรียกว่า 5 เสือ (จริงๆ คือ 5 แพะ) ไปปฎิบัติราชการที่ ศปก.ต่างๆ มากมาย แต่คุณเคยได้ยินการลงโทษไล่ออก ปลดออก ตำรวจคนใดบ้างหรือไม่?

 

บางท้องที่ (สน.โครกคราม) ย้าย 5 แพะ ไปเดือนเดียวย้ายกลับแล้วก็โดนจับอีก หมายความว่าอย่างไร?

 

เดิมปกครองมีอำนาจสอบสวนตาม พ.ร.บ.19 ฉบับ ซึ่งรวม พ.ร.บ. การพนัน และ พ.ร.บ.สถานบริการด้วย ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มี พล.ต.ท.ชัชก์ กุลดิลก เป็น รมช. มหาดไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็น รมว.มหาดไทย ได้มีการออกกฎกระทรวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ไม่ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดตามกฎหมายสถานบริการ การพนัน และอาวุธปืนต่อไป

 

เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจสอบสวนความผิดกฎหมาย 3 ฉบับดังกล่าว ก็กลัวว่าการสอบสวนจะสาวถึงต้นตอว่าใครรับส่วย สินบน จะนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาตำรวจผู้ใหญ่ระดับต่างๆ ได้

 

ตาม ป.วิ อาญา แม้ฝ่ายปกครองจะมีอำนาจจับ แต่ปกติก็ไม่ได้ทำ ทั้งๆ ที่อยากทำ เพราะถูกประชาชนร้องเรียนกดดันอยู่ตลอด แต่ก็รู้ว่าหัวหน้าสถานี ผบก. และ ผบช. รับส่วยกันอยู่ กลัวจะมีปัญหาไม่ได้รับความร่วมมือในการทำงานด้านต่างๆ ในจังหวัด

 

ก็ลองถามนายบ่อนและผู้ประกอบสถานบันเทิงทุกคนดูซิว่า แต่ละเดือนเขาต้องจ่ายส่วยให้ใครบ้าง ถ้าไม่ใช่ตำรวจสารพัดหน่วยรวมไม่ต่ำกว่า 13 หน่วย ยิ่งกว่าฝูงอีแร้งเสียอีก

 

เวลาฝ่ายปกครองสนธิกำลังกับทหารไปจับจึงไม่สามารถบอกให้ ตร.ท้องที่หรือตำรวจหน่วยใดรู้ได้ เพราะกลัวว่าข่าวจะรั่ว ตำรวจจะไปบอกนายบ่อนและผู้ประกอบการให้รู้ตัวล่วงหน้าแทบทุกครั้ง จริงไหม?