หวย 30 ล้านของใคร เรื่องง่ายๆ ทำไมจึงกลายเป็นเรื่องยาก?- พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

หวย 30 ล้านของใคร เรื่องง่ายๆ ทำไมจึงกลายเป็นเรื่องยาก?- พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

หวย 30 ล้านของใคร เรื่องง่ายๆ ทำไมจึงกลายเป็นเรื่องยาก?

 

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

การเลือกนายกรัฐมนตรี แบบพิสดาร เพื่อให้ไปจัดตั้งรัฐบาลตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ลงคะแนนร่วมกับ ส.ส. ผู้แทนประชาชนจำนวน 500 คน

ผลปรากฏว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนรวมท่วมท้น 500 เสียง

ส.ว.แต่งตั้งผู้ใช้สิทธิทั้ง 249 คน ลงคะแนนให้อย่างเป็น เอกฉันท์!   

แต่ถ้านับกันเฉพาะ ส.ส. จำนวน 500 เสียง กลับ  ปริ่มน้ำ ได้เพียง 251 ในขณะที่นายธนาธรก็ได้ไม่น้อยถึง  244 เสียง

รัฐบาลจะบริหารราชการผ่านกฎหมายและลงมติต่างๆ รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นอย่างไร? จะทำงานไปได้กี่เดือนหรือกี่ปี มีแต่คนสงสัย?     

หลายคนพยายามบอกว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีสร้างปัญหาเหมือน ระเบิดเวลา ต่างไปจากสังคมประชาธิปไตยในโลกนี้ เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

โดยเฉพาะ ส.ว. ผู้ได้รับการแต่งตั้ง อ้างกันแต่ว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาลได้ผ่านประชามติแล้ว? พวกตนจึงถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้สิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน!

แต่ต่อคำถามเรื่อง ความชอบธรรมตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ได้ยินใครตอบ หรืออธิบาย?  

นอกจากนั้น ในความเป็นจริงยังมีปัญหาว่า  ประชาชนลงประชามติ “รับ” ก็เพราะ ต่างอยู่ในสภาพบังคับ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับอื่นใดให้เลือกเปรียบเทียบ   รวมทั้งเพราะส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดหรือไม่?

รัฐธรรมนูญรวม 279 มาตรา จำนวน 90 หน้า  ประชาชนได้อ่านและเข้าใจ เงื่อนแง่ต่างๆ อย่างถ่องแท้เพียงใด?

การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอุดมการณ์ยืนหยัดต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีที่มาเกี่ยวพันกับการทำรัฐประหาร   ยอมใช้ต้นทุนที่สูงลิ่ว แม้กระทั่งรู้อยู่แล้วว่า จะทำให้สูญเสียอดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญไปในการแลกกับการเข้าสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งสุดท้ายจะคุ้มกับสิ่งที่เสียไปหรือไม่? การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยจะได้รับการขานรับ ถูกกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาลในการแถลงต่อสภาและประชาชนเป็นจริงเพียงใด เป็นเรื่องที่ผู้รักประชาธิปไตยทุกคนต้องติดตาม?

รวมทั้งการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ปัญหาตำรวจและการสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 258 และ 260 ที่กำหนด ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในหนึ่งปีนับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ปฏิบัติตามนั้น! 

            ขณะนี้ได้มีร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอยู่ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ, พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญาว่าด้วยการสอบสวน โดยประธานคณะกรรมการร่างฯ คือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และนายอัชพร จารุจินดา ได้เสนอไปแต่ปลายปี 2561

เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่ง ส.ส.ทั้งรัฐบาลโดยเฉพาะ พรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายค้าน รวมทั้ง ส.ว.ผู้เห็นความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาตำรวจและการสอบสวน  ต้องช่วยกันติดตามถามไถ่กับนายกรัฐมนตรี ”ทั้งคนเดิมและคนใหม่” ในและนอกสภาว่า จะนำเข้าสู่สภาตราเป็นกฎหมายได้เมื่อใด?

วกมากรณีปัญหา ลอตเตอรี่ 30 ล้าน เป็นของใคร  เรื่องง่ายๆ ที่กลับกลายเป็นเรื่องยาก ทั้งสองฝ่ายมีการแจ้งความและฟ้องคดีแพ่งและอาญาย้อนแย้งกันไปมาอย่างสลับซับซ้อน ท้าทายประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอนอยู่ขณะนี้

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่า ครูปรีชาไม่ใช่ผู้เสียหาย ผู้มีอำนาจฟ้องคดีว่า ร.ต.ท.จรูญยักยอกและรับของโจร แต่ ไม่ได้ชี้ชัดว่าลอตเตอรี่เป็นของใคร?

ทำให้ ร.ต.ท.จรูญยังคงถือสิทธิเป็นเจ้าของต่อไปตาม   บทสันนิษฐาน ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1303 ที่บัญญัติว่า

“ถ้าบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันไซร้ ท่านว่า ทรัพย์สินตกอยู่ในครอบครองของบุคคลใด บุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆ แต่ต้องได้ทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้การครอบครองโดยสุจริต

นั่นหมายความว่า กฎหมายไม่ห้ามผู้ที่คิดว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงมีหลักฐานมั่นใจในการพิสูจน์แสดงให้ศาลเชื่อเพื่อหักล้างบทสันนิษฐานดังกล่าวแต่อย่างใด

            ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ทั้งครูปรีชาหรือไม่ว่าใคร จะสามารถพิสูจน์ว่าตนเป็นเจ้าของหรือผู้ซื้อที่แท้จริงได้หรือไม่ในที่สุด?

ต่อปัญหานี้ อันที่จริงการพิสูจน์ความจริงในชั้นสอบสวน ระดับสถานี ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ถ้าเป็นไปด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

โดยเริ่มจากหลักฐานภาพถ่ายลอตเตอรี่ฉบับเลขที่ 533726 ซึ่งถูกรางวัล 30 ล้าน ปรากฏอยู่บนแผงของนางสาวพัชริดา หรือ “เจ๊พัช” ในวันที่  30 ตุลาคม 2560 ไม่มีผู้ใดสามารถปฏิเสธได้

ส่วน “เจ๊พัช” จะขายลอตเตอรี่ฉบับนี้ให้นางสาวรัตนาภรณ์ หรือ “เจ๊บ้าบิ่น” เพื่อขายต่อให้ครูปรีชา โดยเจ๊บ้าบิ่นได้โทรศัพท์แจ้งให้ครูไปรับในวันที่ 31 ตุลาคม จริงหรือไม่ ก็สามารถพิสูจน์ได้ด้วย

1.คำให้การของ “เจ๊พัช” ต้องชัดเจนว่า จำฉลากชุดนี้ได้ว่าขายให้เจ๊บ้าบิ่นไปเพราะเหตุใด รวมทั้งผู้เห็นเหตุการณ์ 7-8 คน ที่ถือเป็น ประจักษ์พยาน Eyewitness  บอกเห็นกับตาว่าครูปรีชาไปตลาดในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ช่วงเวลา 16.30-17.00 น. จริง บันทึกคำให้การเป็นภาพและเสียงประกอบไว้ให้ปรากฏรายละเอียดชัดเจนว่า  แต่ละคนได้พบเห็นครูอย่างไร? ขณะทำอะไร? ได้มีการพูดคุยสนทนากันหรือไม่? เรื่องอะไร?

นำคำพยานทั้งหมดมาเป็นหลักฐานพิจารณาว่า มีความสอดคล้องต้องกันตามวันและเวลาเกิดเหตุน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด?

2.นอกจากนั้น ซองพลาสติกใสที่ใช้ใส่ลอตเตอรี่ ถ้าครูปรีชาเป็นผู้ซื้อและรับไปทำตกหายจริง ย่อมเป็นวัตถุพยานสำคัญที่น่าจะมีหลักฐานลายนิ้วมือหรือ ดีเอ็นเอ” ปรากฏ ให้สามารถตรวจสอบเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง

            ถ้า ประจักษ์พยาน ทุกปากให้การยืนยันสอดคล้องตรงกันว่าในวันดังกล่าวเห็นครูปรีชามาตลาด อีกทั้งตรวจพบดีเอ็นเอของครูบนซองพลาสติกดังกล่าว ก็สามารถสรุปได้ว่าครูเป็นผู้ซื้อ หรือได้ถือครอบครองลอตเตอรี่ฉบับนี้ก่อนทำหล่นหายไปอย่างแน่นอน ไม่ว่าหลักฐานการใช้โทรศัพท์จะบ่งชี้เป็นเช่นไร

เพราะการอ้างถึงเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถามให้มนุษย์ทุกคนนึกย้อนหลังย่อมบอกได้เพียงช่วงกว้างๆ  เช่นระหว่าง 16.30-17.00 น. แตกต่างจากสัญญาณไฟฟ้าที่ปรากฏเป็นวินาที เช่นกรณีนี้ปรากฏสัญญาณในเขตพื้นที่บริการโรงเรียนเวลา 16.39 น. ห่างตลาดเพียง 1.5 กม. ใช้เวลาขับรถเพียงห้านาทีเท่านั้น

แต่หากตรวจดีเอ็นเอไม่พบ เรื่องก็เป็นอันจบกันไป ครูคงอ้างได้ยากว่าตนเองเป็นผู้ซื้อ เพราะทั้งลายมือและดีเอ็นเอไม่ปรากฏ พยานบุคคลที่ เห็นว่าไปตลาด คงไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเป็นผู้ซื้อลอตเตอรี่เลขดังกล่าวได้

            แต่น่าเสียดายที่ระบบการสอบสวนของตำรวจไทยเต็มไปด้วยปัญหาสารพัด ตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบกลับปล่อยให้วัตถุพยานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสูญหายหรือถูกทำลายไปง่ายๆ!

โดยไม่มีใครออกมาชี้แจงหรืออธิบายว่า หลักฐานสำคัญดังกล่าวหายหรือถูกโจรกรรมไปจากสถานีตำรวจได้อย่างไร? ใครคือผู้รับผิดชอบ? ทั้งตำรวจผู้เก็บรักษาและผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ได้มีการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายและวินัยร้ายแรงผู้ใดไปแล้วหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร?

การที่วัตถุพยานสำคัญสูญหายถูกทำลายได้เกิดความเสียหายต่อคดีอย่างร้ายแรงดังกล่าว เพราะทำให้รัฐไม่สามารถพิสูจน์ความจริงด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถสรุปผลเป็นที่ยุติ ประชาชนสามารถเชื่อถืออย่างมั่นใจได้

ซ้ำยังสอบสวนให้ผู้เสียหายและพยานซึ่งเป็นพลเมืองดีต้องกลายเป็นผู้ต้องหาไปอย่างน่าอนาถ แต่ละคนเข็ดขยาดไปตามๆ กันอีกด้วย!

            คดีง่ายๆ หลายคดีกลายเป็นเรื่องยาก ก็เนื่องจากตำรวจสามารถสอบสวนให้หลักฐานสำคัญสูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะไม่มีผู้รู้เห็นและการตรวจสอบจากภายนอกระหว่างสอบสวนนั่นเอง.

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, June 10, 2019

หวย30ล้าน