ค่าปรับจราจร สะท้อนความอยุติธรรมไทย –  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ค่าปรับจราจร สะท้อนความอยุติธรรมไทย – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์


                           ค่าปรับจราจร สะท้อนความอยุติธรรมไทย

 

                                                       พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                กรณีพ่อค้าส้ม พลเมืองดี ไปแจ้งตำรวจคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีว่า เจอยาบ้าในลังส้มที่รับมาจำหน่าย   แต่กลับกลายเป็นผู้ต้องหาค้ายาเสพติด ถูกจับนำตัวไปขอศาลฝากขังส่งตัวเข้าเรือนจำ เมียต้องหอบลูกมาร่ำไห้ขอความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชนนั้น!

สะท้อน ความวิปริตของระบบตำรวจและงานสอบสวน ประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด

เป็นปัญหาที่มีสาเหตุมาจากทั้งตัวบุคคลและ “ระบบงาน” ที่รัฐบาลไม่ว่าชุดใดต้องให้ความสนใจและดำเนินการปฏิรูปโดยเร็วที่สุด

คดีดังกล่าวใครเป็นผู้กล่าวหาจับกุม อาศัยพยานหลักฐานใดในการกล่าวหาว่านายพิชิตกระทำความผิดที่ มีโทษถึงประหารชีวิต ครอบครองยาบ้า 50,000 เม็ดเพื่อจำหน่าย ไม่ใช่การพบโดยบังเอิญตามที่ไปแจ้งกับตำรวจแต่อย่างใด?

การสอบสวนพบประวัติเคยเป็นผู้ค้ายาหรือไม่ รับของกลาง โดยเจตนารู้อยู่แล้วว่าเป็นยาบ้า มาจากใคร ที่ใด กำลังจะไปส่งหรือจำหน่ายให้ใครในขณะเร่ขายส้ม ฐานะเศรษฐกิจดีน่าสงสัยว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่หรือไม่?

การที่พนักงานสอบสวนชุดใหม่ตรวจสอบแล้ว ไม่พบหลักฐานการกระทำผิดและได้มีการสั่งให้ผู้รับผิดชอบไปยื่นคำร้องต่อศาลให้ “ปล่อยตัว” จากเรือนจำตามที่ได้ขอฝากขังไว้

นั่นหมายถึงว่า การสอบสวนที่ผ่านมา เป็นการแจ้งข้อหาโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่านายพิชิตมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทำผิด

ถ้าผู้ปฏิบัติและผู้สั่งการรู้อยู่แล้ว ว่า คดีไม่มีหลักฐานในการแจ้งข้อหา ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ  ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษจำคุกถึงสิบปี ไม่ว่าจะด้วยมีเจตนาสร้างผลงานจับผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ หรือหวังผลอื่นใด

แต่ถ้าทำไปเพราะเหตุ โง่เขลาเบาปัญหา หรือ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ก็มีความผิดตามมาตรา 311 ข้อหา  “กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย” มีโทษจำคุกถึงหนึ่งปี

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกรณีถือว่า ได้มีการกระทำความผิดอาญาและวินัยตำรวจร้ายแรงเกิดความเสียหายต่อรัฐเกิดขึ้นแล้ว

เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบทุกระดับ ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายและวินัยราชการเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง เป็นการยับยั้งการปฏิบัติมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท เป็นเหตุให้บุคคลเสื่อมเสียเสรีภาพ ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต้องตกเป็น “แพะ” กันมากมายอย่างปราศจากความรับผิดชอบเช่นทุกวันนี้

                นอกจากนั้น รัฐก็ต้องปฏิรูปด้วยการแก้ไข ป.วิ อาญา ว่าด้วยการสอบสวน กำหนดให้พนักงานอัยการตรวจสอบให้ความเห็นชอบ การแจ้งข้อหา หรือ เสนอศาลออกหมายจับ บุคคล เมื่อเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องพิสูจน์ความผิดให้ศาลลงโทษได้เหมือนอารยประเทศทั่วโลกเท่านั้น

นอกจากปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่คนไทยกำลังให้ความสนใจกันอย่างมากในเวลานี้แล้ว

กฎหมายจราจรเพิ่มเติมฉบับที่ 12 ที่ให้อำนาจตำรวจมากมายในการจับ ยึด อายัด ออกใบสั่ง รวมทั้งประสานข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกไม่ต่อภาษีประจำปีให้ ในกรณีเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถไม่ไปจ่ายค่าปรับเหมือนที่ผ่านมา

นัยว่าเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับกฎหมายจราจรให้มากขึ้น จากที่ออกใบสั่งสารพัดข้อหาไปกว่าหนึ่งล้านสองแสนใบ แต่มีผู้ไปจ่ายค่าปรับไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

โดยหลักการถือเป็นเรื่องดี ถ้าได้มีการปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดและเสมอภาคกับทุกคน

ตำรวจและทหารชั้นนายพันนายพลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ทุกคัน เมื่อถูกตรวจพบการกระทำผิดกฎหมายจราจรไม่ว่าข้อหาใด ตำรวจก็ต้องออกใบสั่งส่งลงทะเบียนถึงบ้านให้ไปจ่ายค่าปรับ 400 หรือ 1,000 บาทเช่นเดียวกับประชาชนด้วยเช่นกัน!

การลบข้อมูล หรือถูกสั่งให้เพิกเฉยไม่ส่งใบสั่งให้บุคคลผู้มียศระดับนั้นระดับนี้ ต้องกระทำไม่ได้อีกต่อไป!

และที่สำคัญ การแก้ไขกฎหมายต้องไม่ได้มีเจตนามุ่งให้ตำรวจได้ค่าปรับเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปแบ่งกันในรูปของรางวัลการจับแบบ “ปรับมาก ได้มาก ปรับน้อย ได้น้อย” เป็นการปฏิบัติราชการโดยมีประโยชน์ทับซ้อนและไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างยิ่ง

เรื่องส่วนแบ่งค่าปรับจราจรนี้ เป็นสิ่งที่ผู้คนทั้งประเทศอึดอัดใจและทำให้ไม่เคารพเชื่อถือตำรวจไทยตลอดมา

เพราะแทนที่จะถูกมองว่าเป็นผู้รักษากฎหมาย แต่กลับกลายเป็น นักล่าเงินรางวัลให้ตำรวจผู้ใหญ่ ถูกมองในภาพนี้มาหลายสิบปี

ทั้งที่งานจับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรไม่ได้ซับซ้อนที่ต้องใช้ความพยายามในการสืบสวนเหมือนของหนีภาษีที่ พ.ร.บ.ศุลกากร หรือ พ.ร.บ.ป่าไม้ กำหนดให้มีรางวัลส่วนหนึ่งไว้เป็นแรงจูงใจสำหรับผู้ปฏิบัติในการจับกุม

ไม่มีประเทศใดในโลกที่ตำรวจผู้รับเงินเดือนจากรัฐมีรายได้เพิ่มจากค่าปรับจราจร งานที่กระทำกันได้ง่ายๆ แม้กระทั่งการใช้กล้องถ่ายภาพติดไว้ในถนนหนทางต่างๆ เหมือนตำรวจไทย

ได้ทราบว่า ขณะนี้กำลังมีการพิจารณาจะยกเลิกส่วนแบ่งดังกล่าวทั้งหมด และหันไปจ่ายเป็นค่าล่วงเวลาแทน ในกรณีที่ตำรวจจราจรจำเป็นต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมงในแต่ละวัน ได้ชั่วโมงละห้าสิบบาท วันละไม่เกิน 4 ชั่วโมง     ข่าวนี้ทำให้ตำรวจจราจรผู้น้อยดีใจกันใหญ่!               

เพราะในความเป็นจริง ปัจจุบันพวกเขาได้ส่วนแบ่งค่าปรับจราจรน้อยมาก ขนาดสถานีตำรวจใหญ่ในนครบาล ได้กันแค่เดือนละสี่ห้าพันเท่านั้น

เนื่องจากหัวหน้าสถานีส่วนใหญ่ใช้วิธีเบิกและจัดสรรเงินรางวัลกันแบบพิสดาร  โดยกันส่วนหนึ่งไปให้ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ผู้ไม่มีหน้าที่หรือมีสิทธิในการได้เงินดังกล่าวด้วย

ในระบบการปกครองบังคับบัญชาตำรวจไทยที่มี ชั้นยศและวินัยแบบทหาร รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายที่กระทำกันอย่างไร้หลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม ทำให้การจะเรียกร้องสิทธิของตำรวจอะไรแม้กระทั่งตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะร้องเรียนไปยังบุคคลหรือหน่วยงานใด แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี

เพราะนอกจากการสอบสวนจะไม่ได้ผลแก้ปัญหาหรือทำให้ได้รับความเป็นธรรมอะไรแล้ว ยังจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัวหนักกว่าเดิมอีกด้วย!

การปฏิรูปตำรวจด้วยการโอนหน่วยงานจราจรในเมืองหลวงไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ทำให้เป็นงานพลเรือน และในเมืองใหญ่ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครหรือเมือง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำเพื่อให้การบริหารและการบังคับใช้กฎหมายจราจรสอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่นตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไว้

รวมทั้งร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับที่นายมีชัยได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปเมื่อปลายปี 2561 ด้วย

การจัดตั้งศาลจราจร ให้การพิจารณาความผิดและกำหนดค่าปรับเป็นอำนาจของศาล ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคิดเพื่อความยุติธรรม

ชาวนาและนักเรียนในจังหวัดยโสธร สกลนคร และพื้นที่ยากจนอีกมากมาย ต้องจ่ายค่าปรับในอัตราเดียวกับคนกรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งแพงกว่าพ่อค้าหรือเศรษฐีภูเก็ต หาดใหญ่ ตามที่ตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ ไม่ต่ำกว่า 400 หรือ 1,000 บาท

พนักงานสอบสวนก็ต้องสั่งปรับคนยากจนตามนั้น โดยไม่สามารถใช้ดุลยพินิจให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนตามพฤติการณ์การกระทำผิด รวมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละบุคคลและจังหวัดได้ 

เป็นปัญหาที่เลวร้าย และไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างยิ่ง!. 

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:Monday, June 03, 2019

 

ค่าปรับจราจร
ขอบคุณ ภาพ จาก อมรินทร์ ทีวี